น้ำประปาเค็ม'ต้ม'ไม่ลดโซเดียม ต้องจัดการอย่างไร

น้ำประปาเค็ม'ต้ม'ไม่ลดโซเดียม ต้องจัดการอย่างไร

สถานการณ์น้ำประปาเค็ม หรือ‘กร่อย’ ผู้บริโภคจะต้องทำอย่างไร เอาไปต้มก็ยิ่งกร่อย เรื่องนี้มีคำแนะนำในการใช้น้ำและการบริโภคต้องมีระดับโซเดียมเท่าไร 

"การนำน้ำประปาไปต้ม ไม่ได้ช่วยให้น้ำประปาหายเค็ม ยิ่งน้ำระเหยไปมากเท่าไร สัดส่วนความเค็ม หรือ ความกร่อยก็เพิ่มมากขึ้น" คมกฤช ทินกร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาน้ำประปาเค็ม ที่มีคนแนะนำให้ไปต้ม ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแต่อย่างใด

 

  • สาเหตุน้ำประปาเค็ม

"สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นระลอกตลอดเดือนกุมภาพันธ์ส่งผลให้รสชาติน้ำประปากร่อยเป็นบางช่วงเวลาในบางพื้นที่ กปน. (การประปานครหลวง) ได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน และสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ในการร่วมปฏิบัติการกระแทกน้ำ (Water Hammer of Chao Phraya River Flow Operation : กระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา) เพื่อผลักดันน้ำเค็มให้ไกลจากบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแลให้มากที่สุด" รองผู้ว่าการการประปานครหลวง พูดถึงที่มาของน้ำประปาเค็ม และว่าการต้มน้ำประปาไม่สามารถลดความเค็มได้ เช่น น้ำ 1 ลิตรมีเกลือ 200 มิลลิกรัม เมื่อนำไปต้ม น้ำระเหยไป แต่เกลือเท่าเดิม

161320290894

"ที่บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 วัดค่าความเค็มได้ 0.25 กรัมต่อลิตร เนื่องจากน้ำทะเลที่หนุนสูงเข้ามา ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีค่าความเค็มเพิ่มสูงขึ้นกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง อีกทั้งในปีนี้ปริมาณต้นทุนน้ำใน 4 เขื่อนหลัก มีน้ำน้อย ต้องสำรองไว้อุปโภคบริโภค เพื่อรักษาระบบนิเวศ ไม้ผล ไม้ยืนต้น เป็นหลัก จึงไม่เพียงพอต่อการนำไปผลักดันน้ำเค็มได้ตลอดเวลา

4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อย, เขื่อนป่าสัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,992 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,296 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาณน้ำรวมกัน" สมศักดิ์ ปัสนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม การประปานครหลวง (กปน.) กล่าวถึงปริมาณน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้

"ภัยแล้ง ฝนตกน้อย ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อย กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการระบายน้ำ เพื่อให้มีน้ำเหลือเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝน อีกทั้งมีการใช้น้ำระหว่างทางมาก ทำให้เหลือไม่เพียงพอต่อการผลักดันลิ่มความเค็มที่รุกสูงขึ้นมาจากน้ำทะเลหนุนสูง

บางวันมีการขึ้นลงสองครั้งต่อเนื่อง (double peak) มีปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัว (surge) เสริมให้น้ำทะเลรุกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น ไม่สามารถควบคุมได้

แหล่งจัดหาน้ำดิบของการประปานครหลวง เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำประปา จะส่งจ่ายให้กับผู้ใช้น้ำในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ มีอยู่ด้วยกัน 2 แหล่ง คือ เขื่อนแม่กลอง และ แม่น้ำเจ้าพระยา 

ส่วนที่ได้รับผลกระทบคือ น้ำดิบฝั่งตะวันออกลุ่มน้ำเจ้าพระยา น้ำเค็มรุกสูงถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล ส่วนฝั่งตะวันตกลุ่มน้ำแม่กลองไม่ได้รับผลกระทบ" ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม อธิบาย

 

  • วิธีแก้ปัญหา

รักษ์ศักดิ์ สุริยหาร รองผู้ว่าการ (ผลิตและส่งน้ำ) การประปานครหลวง (กปน.) กล่าวถึงการจัดการปัญหาครั้งนี้ว่า 

"แม้ว่าน้ำทะเลหนุนสูงส่งผลให้น้ำประปาบางช่วงเวลาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีรสชาติเปลี่ยนแปลงไป แต่น้ำประปายังคงสะอาดปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) กปน. ได้ตั้ง ‘ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์น้ำ’ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยมีมาตรการรองรับสถานการณ์ 4 ประการด้วยกัน ดังนี้

  1. บริหารจัดการการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ที่มีลิ่มความเค็มสูงเข้ามาในคลองประปาให้น้อยที่สุด หลบเลี่ยงได้ 4 ชั่วโมงเพื่อให้ทุกพื้นที่ให้บริการของ กปน. ทั้งกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ มีน้ำประปาใช้อย่างไม่ขาดแคลน
  2. ร่วมมือกับกรมชลประทาน และสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ปฏิบัติการกระแทกน้ำ (Water Hammer of Chao Phraya River Flow Operation : กระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา) ผลักดันน้ำเค็มให้ไกลจากบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล
  3. เปิดจุดบริการน้ำประปาดื่มได้ให้บริการฟรี ให้ประชาชนสามารถนำภาชนะมารับน้ำประปาได้ที่สำนักงานทั้ง 18 แห่ง
  4. แจ้งข้อมูลคาดการณ์คุณภาพน้ำประปารายวัน ผ่านทาง facebook / twitter /IG / Line : MWAthailand /แอปพลิเคชัน MWA onMobile และ www.mwa.co.th

 

ทางด้าน อธิบดีกรมอนามัย ให้คำแนะนำว่า อย่าตื่นตระหนก แต่ต้องคอยระวัง อย่าบริโภคโซเดียมมากเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้

"ในปีที่แล้วและปีนี้ มีภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูงเข้าสู่ระบบน้ำดิบทำน้ำประปา ทำให้คุณภาพน้ำประปาได้รับผลกระทบมีระดับค่าของความเค็ม ที่เรียกว่า ‘กร่อย’ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งความเค็มดังกล่าวมาจากโซเดียมคลอไรด์"

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดค่าแนะนำยอมรับการบริโภคในน้ำประปาไว้ว่าควรมีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งทางโภชนาการและการแพทย์แนะนำว่า ควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ปัจจุบันน้ำประปามีโซเดียมประมาณ 100-150 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนปกติจะดื่มน้ำประปาจนได้รับโซเดียมเกินกว่าที่กำหนด

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย อธิบายว่า ผู้ที่มีสุขภาพปกติ สามารถบริโภคน้ำประปาได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 

"ส่วนกลุ่มเสี่ยง มีร่างกายไวต่อระดับโซเดียมที่เพิ่มขึ้น เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้มีโรคประจำตัว โรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต โรคทางสมอง สัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก ต้องระมัดระวังการดื่มน้ำประปาในช่วงนี้ เพราะอาจได้รับปริมาณโซเดียมฯเกินปริมาณ ส่งผลกระทบกับโรคที่เป็นอยู่ ให้เปลี่ยนมาดื่มน้ำบรรจุขวดปิดสนิทแทน

การดื่มน้ำกร่อยอาจทำให้เราได้รับโซเดียมเพิ่มเติมจากปกติ จึงควรลดปริมาณสารปรุงแต่งอาหารที่มีความเค็มลง เช่น เกลือ, น้ำปลา, ซีอิ๊ว, ซอสปรุงรส, ผงปรุงรส งดการบริโภคอาหารโซเดียมสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ, มันฝรั่งทอด

สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่รับบริการฟอกไตที่โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบการกรองแบบ Reverse Osmosis (RO) ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ มั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย"