‘มโหระทึก’กลองศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่มีวันตาย อายุกว่า 3,000 ปี

‘มโหระทึก’กลองศักดิ์สิทธิ์  ที่ไม่มีวันตาย อายุกว่า 3,000 ปี

เครื่องดนตรีโบราณที่มีความเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในการประกอบพิธีกรรมของชาวสุวรรณภูมิ แม้จะมีอายุหลายพันปี ก็ยังร่วมสมัย ปัจจุบันถูกแปรเปลี่ยนเป็นสินค้าในโลกศตวรรษที่ 21 เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์

"มโหระทึกในวันนี้ มีความหมายอยู่ในกลุ่มของดนตรี 1)ทำหน้าที่เป็นเครื่องดนตรีทั้งทางตรงและทางอ้อม 2)ทำหน้าที่เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในโลกอดีตและโลกปัจจุบัน 3) เป็นของมีค่า นำมาซื้อขาย (Trading) ในอดีตนำไปแลกกับสินค้า แลกลูกสาว ไปจนถึงแลกเมือง ปัจจุบันสามารถหาซื้อขายกันได้ในตลาดออนไลน์ 4)ใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง 5)ถูกแปรรูปเป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์" อานันท์ นาคคง อาจารย์คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ศิลปินศิลปาธร ปี 2562 ) พูดถึง บทบาทของมโหระทึกในปัจจุบัน ในงานเสวนา ‘สืบสายสัมพันธ์แห่งเสียง ดนตรีสุวรรณภูมิ 3000 ปี’ ที่ ศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564

  • วัตถุศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม

"ย้อนกลับไป 2,500-3,000 ปีที่แล้ว สุวรรณภูมิ หมายถึง South East Asia ที่มีอาณาเขตครอบคลุมไปถึงตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง ประเทศจีน แต่ถูกราชวงค์ถังยึดไปรวมกับจีนในสมัยทวาราวดี พ.ศ.1150 ที่ผาลาย หรือผาฮวาซาน มณฑลกวางสี มีภาพเขียนสีมโหระทึก เป็นรูปวงกลมมีแฉกๆ อยู่ข้างใน มีภาพคนเต้นเลียนแบบท่ากบ กลุ่มชาติพันธุ์จ้วงเป็นผู้วาดไว้

มีนิทานเกี่ยวกับกบ มีพิธีกรรมเอามีดมาเขียนตัวให้ผิวหนังขรุขระ เป็นกบ เป็นคางคก เพราะว่ากบเรียกฝนได้ มีภาพคนเล่นดนตรี มโหระทึกที่อยู่ในภาพบอกได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่ใหญ่มาก"  ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เล่าถึงความสำคัญมโหระทึกในอดีต

1613361761100

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

"ตรงกลางของมโหระทึกคือเฉลว สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ไล่ผี ป้องกันสิ่่งชั่วร้าย ใช้วางปักลงไปในยา กินแล้วจะดีขึ้น เป็นลายที่สานขึ้นมาจากเครื่องจักสาน คติความเชื่อนี้มีอยู่ทั่วทั้งโลก เรียกว่า Endless Knot ปมที่ไม่มีที่สิ้นสุด

จากการขุดพบหม้อเขียนสีแดงที่บ้านเชียง จ.อุดรธานี ในหลุมฝังศพจะมีลายเส้นรูปเดียวกับมโหระทึก พัฒนามาเป็นลายวนๆ เรียกว่า ‘ขวัญ’ เวลาที่เราเจ็บป่วยหนักๆ คนโบราณจะเรียกหมอขวัญ มาทำพิธีเรียกขวัญ ส่วนคนตายขวัญออกจากร่าง เวลาฝังศพจึงต้องมีหม้อเขียนลายขวัญไว้"  ศิริพจน์ เล่า

 

  • สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ในมโหระทึก

"ภาพที่ผาลาย ยังมีขบวนแห่ ที่มีรูปเรือ, สัตว์เลื้อยคลาน, บ้าน, กบ สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ มีหูเป็นลายเครื่องจักสาน ด้านข้างเป็นรูปเรือ ชาวจีน, เวียดนาม, พม่า, ลาว บางกลุ่มเวลาคนตายจะแกะสลักรูปเรือให้กำหรืออมไว้ หรือทำโลงเป็นรูปเรือ แล้วมีรูปนก ฟ่งเฟย (หงส์) สัญลักษณ์ของจักรพรรดินี

ปัจจุบันยังมีคติความเชื่อเรื่องนกหัสดีลิงค์ใช้ในงานศพ มีเครื่องดนตรีแคนใช้ด้วย เพราะในพิธีศพ ต้องมีมโหรสพ มีโขน ความตายรวมกับความยิ่งใหญ่ เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ให้คุณให้โทษเราได้ ในช่วงแรกพบมโหระทึกอยู่ 3 ที่คือ กวางสี, ยูนนาน, ดองซอน เวียดนามเหนือ แต่ตอนหลังพบว่ามีตลอดแนวแม่น้ำโขง ปี 2553 กรมศิลปากรขุดพบ แม่พิมพ์ทำมโหระทึกได้ที่จ.มุกดาหาร" นักวิชาการ อธิบาย

"มโหระทึกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสียงที่ตี ลายที่อยู่บนกลอง ทำให้มีพลัง แต่บางชิ้นก็ไม่ได้มีไว้ตี มโหระทึกชิ้นเอกที่ยูนนาน บนหน้ากลองประดับไปด้วยประติมากรรมเล็กๆ เยอะแยะมากมาย เพื่อเล่าเรื่องมโหระทึกว่าใช้ทำอะไร มีหญิงสาวเป็นประธานในพิธี มีแท่นเสา จับมัดคนไว้บูชายัญ

มโหระทึกใบที่สองของยูนนาน ก็มีประติมากรรมเล็กๆ เช่นเดียวกัน แต่เล่าเรื่องขบวนแห่ มีประธานนั่งอยู่บนเสลี่ยง มีเสาเป็นศูนย์กลาง นี่คือเสาหลักเมือง ทุกที่เวลาสร้างเมืองจึงต้องมีการบูชายัญ เพราะความตายเป็นเรื่องเดียวกับความอุดมสมบูรณ์

มโหระทึกมักถูกใช้ในพิธีกรรม  ที่แหล่งโบราณคดีโปเฮีย ประเทศกัมพูชา ขุดพบมโหระทึกไม่ต่ำกว่า 50 ชิ้น ภายในบรรจุกระดูกคน ห่อเสื่อฝังไว้ ที่ประเทศอินโดนีเซีย มี Moon Of Pejeng เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดบนเกาะบาหลี คนพื้นเมืองเชื่อว่า นี่ไม่ใช่แค่ตัวกลอง ตัวฆ้อง แต่เป็นดุมล้อรถพระจันทร์ที่หล่นลงมา จึงทำพิธีบูชาประจำปียิ่งใหญ่ แล้วบอกว่าเป็นมโหระทึกชิ้นใหญ่ที่สุดในโลก" ศิริพจน์ เล่า 

  • เครื่องดนตรีศตวรรษที่ 21

"ในแง่มานุษยวิทยา เราสนใจความสัมพันธ์ระหว่างเสียงและดนตรี ทั้งกับคน สังคม วัฒนธรรม ในโลกสมัยใหม่  Bronze Drum ก็คือกลองมโหระทึกในวันนี้ ยังมีอยู่ในเทศกาลดนตรีโลกประจำปี มีการผลิตมาวางขาย มีรูปร่างลวดลายไม่ต่างจากโลกในอดีตเลย

กลองมโหระทึก ยังใช้อยู่ในชุมชน ที่เชื่อในพลังของเสียงว่า 1) บรรเลงแล้ว ตีแล้ว ฝนจะตก 2)ใช้สร้างเสียงในวงดนตรีดั้งเดิม ในพระราชพิธี 3)ใช้สร้างเสียงใหม่ให้เครื่องดนตรีสมัยใหม่ 4)ใช้เทคโนโลยีประกอบเหล็กประดิษฐ์เสียงให้ตรงกับตัวโน้ตต่างๆ 5)ใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองท้องถิ่นว่า ชุมชนยังมีอยู่ แม้จะไม่ได้ตี” อาจารย์อานันท์ กล่าวถึงความสำคัญในปัจจุบัน

"สังคมจีนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ที่เขตปกครองพิเศษ กวางสี ยูนนาน ถูกอนุโลมให้ใช้มโหระทึกต่อได้ ทำให้มีวงออร์เคสตร้าท้องถิ่นพัฒนาขึ้นโดยใช้กลองกบ กลองมโหระทึกมาเล่นเพลงเชิดชูอุดมการณ์ของพรรค มีการใช้ซอไม้ไผ่แทนไวโอลิน มีการพัฒนานำความรู้ด้านโลหะวิทยาเข้ามาใช้ผลิตเป็นสินค้า เครื่องประดับ ของที่ระลึก

161336198557

อ.อานันท์ นาคคง

ที่มหาวิทยาลัย Northern Illinois สหรัฐอเมริกา ได้นำมโหระทึก มาใช้ในการประพันธ์บทเพลง เขียน Score เป็นงาน Percussion ที่ได้รับความสนใจมาก เสียงจากชาติพันธุ์กลายมาเป็นเสียงใหม่ ที่ยูนนานมีการออกแบบนาฏศิลป์ให้สัมพันธ์กับตัวกลอง ที่กุ้ยโจวมีงานนาฏยประดิษฐ์ ที่กว่างสี นำมาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงกายกรรมผาดโผน ที่หนานหนิงและที่ดองซอน นำมาทำเป็นสินค้าท้องถิ่น และอีกหลายๆ ที่ในโลก ถูกนำมาใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งตามรีสอร์ต" อาจารย์อานันท์ เล่า ไม่เพียงเท่านั้นมโหระทึกยังสร้างแรงบันดาลใจให้อีกมากมาย

"ถูกนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำไปออกแบบสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ปรากฏอยู่ในนาฬิกา โลโก้ จี้ห้อยคอ ลายสัก ชุดประจำชาติประกวดนางงาม เป็นลายในสำรับไพ่ใช้เล่นกันในช่วงโควิดระบาด ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ฉากเปิดงานโอลิมปิคปี 2008 มีการนำกลองมโหระทึกจำนวน 2008 มาแสดงด้วยลีลาท่าทางการตีแบบพวกชนเผ่า" อาจารย์ อานันท์ กล่าวปิดท้าย

จากพิธีกรรมในอดีตสู่พิธีกรรมสมัยใหม่ วัตถุศักดิ์สิทธิ์อายุกว่า 3,000 ปี สัญลักษณ์หนึ่งของชาวสุวรรณภูมิ ไม่มีพรมแดนอีกแล้วในปัจจุบัน