11 ปีบ้านต้นคิด ทิพย์ธรรม ‘เดชรัต สุขกำเนิด’ย้ำใกล้ 'Zero Carbon'
ตั้งแต่สร้างบ้าน คิดแล้วว่าต้องประหยัดพลังงานมากที่สุด พอเจอปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต้องติดเครื่องปรับอากาศ จึงหันมาใช้"โซล่าเซลล์" และในอนาคตหากรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่แพง บ้านหลังนี้แทบจะไม่ปล่อยคาร์บอนฯเลย
11 ปีกับบ้านต้นคิด ทิพย์ธรรม ของ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักสร้างสรรค์การเรียนรู้ (อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ภรรยา และลูกสองคน ที่พยายามใช้ชีวิตส่งผลกระทบต่อโลกให้น้อยที่สุด จึงเลือกแบบบ้านประหยัดพลังงาน
แค่นั้นยังไม่พอ ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ เพิ่มโฟม ฉนวนกันความร้อน เปิดช่องให้ลมผ่านได้ดี ปลูกต้นไม้ ปลูกผัก ทำบ่อน้ำ ฯลฯ แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงและไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าคือ การรับมือกับปัญหาฝุ่น PM 2.5
2 ปีที่แล้วจึงต้องติดเครื่องปรับอากาศ และคิดต่อว่า จะติดโซล่าเซลล์อย่างไรให้คุ้มทุน ตามประสานักเศรษฐศาสตร์ที่คิดแล้ว ลงมือทำ มองไปไกลถึงอนาคต หากมีโอกาสใช้รถไฟฟ้าที่ราคาไม่แพงมาก ครอบครัวของเขาแทบจะไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เลย
ดร.เดชรัต เล่าอย่างภูมิใจใน Greenery Talk 2021 ถึงพัฒนาการสร้างบ้านประหยัดพลังงานว่า
“ผมชื่อเล่นว่า ต้น ภรรยาชื่อทิพย์ อะไรหลายอย่างในบ้าน ต้นคิด แล้วคนที่ทำให้เป็นจริงคือทิพย์ เราก็เลยตั้งชื่อบ้านว่าต้นคิด ทิพย์ธรรม“
คิดก่อนสร้างบ้าน
บ้านของครอบครัวสุขกำเนิด สร้างมา 11 ปี อาจารย์เดชรัต ประเมินไว้ว่า ครอบครัวเล็กๆ ของเขาจะฝากภาระให้โลกน้อยที่สุดอย่างไร
“ผมคำนวณตั้งแต่แรกว่า ถ้าเป็นบ้านธรรมดาไม่มีเครื่องปรับอากาศ น่าจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3 ตันต่อปี ถ้าใช้รถยนตร์สองคันปล่อยคาร์บอนฯปีละ 8 ตันต่อปี ถ้าเราไม่ออกแบบอะไรเลยในการประหยัดพลังงาน คงติดเครื่องปรับอากาศ 3 เครื่อง ครอบครัวเราจะปล่อยคาร์บอนฯ รวม 11 ตันต่อปี (เท่ากับเราต้องปลูกป่า 7.5 ไร่ เพื่อดูดซับคาร์บอนฯ) ขณะที่บ้านของเรามีพื้นที่ 0.5 ไร่ ก็เกิดความไม่มีความยั่งยืนเกิดขึ้น”
ดร.เดชรัต คำนวณต่อว่า ถ้าบ้าน 1 หลังต้องใช้พื้นที่ป่า 7.5 ไร่ในการดูดซับคาร์บอนฯ ถ้าบ้าน 13 ล้านหลังต้องใช้พื้นที่ป่าดูดซับคาร์บอนฯ 97.5 ล้านไร่ (ประมาณ95%ของพื้นที่ป่าทั้งประเทศ)
ตอนนั้นเขาใช้แบบบ้านประหยัดพลังงาน ใส่โฟม ฉนวนกันความร้อน เปิดช่องทางลมทิศใต้ เปิดช่องลมหน้าบ้านทะลุหลังบ้าน และระบายอากาศร้อนด้านบนสุด ช่วงบ่ายแดดมาทางทิศตะวันตก เขาออกแบบห้องไม่ค่อยได้ใช้งานไว้ด้านนี้ อาทิ ห้องเก็บของ โรงรถ ห้องน้ำ ห้องครัว บันได
ส่วนห้องนั่งเล่นไว้ทางทิศตะวันออก ทำให้บ้านไม่ร้อน ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศมา 9 ปี สามารถลดการปล่อยคาร์บอนฯ 2 ตัน ส่วนการปลูกผักกินเอง ช่วยลดจำนวนครั้งที่ออกไปซื้อกับข้าว ลดการใช้รถยนต์ และเขาและภรรยามีเวลาทำกิจกรรมกับลูกๆ
“9 ปีแรก ปลูกผักปลูกต้นไม้ เลี้ยงปลา สามารถลดการปล่อยคาร์บอนฯ ลงได้อีก 1 ตัน เหลือ 8 ตัน แต่ 2 ปีที่ผ่านมามีเหตุปัจจัยใหม่ที่ไม่ได้คิดไว้คือ ฝุ่นPM 2.5 เพราะออกแบบไว้ว่า ไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ ลมจะพัดเข้าพัดออก แต่พอฝุ่นมากับลม ต้องแก้ปัญหาใหม่
สมัยนั้นโซล่าเซลล์ราคา 7-8 แสนบาท ตอนนี้ติดโซล่าเซลล์ 2 แสนกว่าบาท 5 กิโลวัตต์ หันไปทิศใต้รับแสงได้ดี หลังจากติดแอร์ 1 เดือนบิลค่าไฟฟ้า 2,000 กว่าบาท เมื่อติดโซล่าเซลล์ เหลือค่าไฟเดือนละ 220 บาท ประหยัดปีละ 25,000 บาท 7-8 ปีคืนทุน ระยะใช้งาน 20 ปี ที่เหลือคือผลกำไรตอบแทน”
เมื่อเลือกใช้โซล่าเซลล์
หลังจากคำนวณเบ็ดเสร็จว่า ติดโซล่าเซลล์จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าและพลังงานอย่างไร ครอบครัวของเขายังเลือกใช้ชีวิตสอดคล้องธรรมชาติและประหยัดพลังงานเหมือนเดิม
อาจารย์เดชรัต บอกว่า เมื่อติดโซล่าเซลล์แล้ว บ้านหลังนี้ปล่อยคาร์บอนฯ น้อยลงเหลือ 7 ตันต่อปี และตอนนี้ลาออกจากงาน ทำงานที่บ้าน และลูกชายเรียนโฮมสคูล ลดการใช้รถ จึงปล่อยคาร์บอนฯเหลือ 6 ตัน เท่ากับต้องใช้พื้นที่ป่าในการดูดซับคาร์บอนฯลดลง 45% และประหยัดเงิน มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
“ในประเทศของเรา ถ้าจะขยายให้มีการติดโซล่าเซลล์มากขึ้น จัดการได้ แต่ต้องมีระบบการรับซื้อที่เป็นธรรม ปกติค่าไฟฟ้าจากการไฟฟ้าคิดหน่วยละ 4 บาท แต่เวลาขายให้คิดหน่วยละ 1.68 บาท (กำลังจะขึ้นเป็นหน่วยละ 2 บาท) ไม่ค่อยจูงใจให้คนทั่วไปติดโซล่าเซลล์
ถ้าคนทั่วไปไม่มีเงินสองแสนบาทติดโซล่าเซลล์ ต้องวางแผนจัดการอย่างไร ต้องกลับมาคิดว่า รถยนต์ราคาสูงกว่าสองแสนบาทสามารถผ่อนชำระได้ แต่ระบบโซล่าเซลล์ผ่อนชำระยังไม่ได้ ส่วนคนมีเงินแต่อยู่คอนโด ก็น่าจะมีคนลงทุนติดโซล่าเซลล์
“ถ้าทำโซล่าเซลล์ให้เป็นระบบ หนึ่งล้านหลังคาเรือนไม่ไกลเกินฝัน โรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี ติดโซล่าเซลล์ประหยัดเงินปีละ 7 แสนบาท ที่จอดรถก็มีระบบโซล่าเซลล์ได้อย่างตลาดสามย่าน
โซล่าเซลล์ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่บนหลังคา เป็นผนังตึก กำแพง อยู่ในที่ปลูกข้าวปลูกผัก หรือจะทำเป็นโซล่าเซลล์กึ่งโปร่งแสง ทำเป็นศิลปะคล้ายรูปดอกไม้หมุนตามตะวันก็ได้ โซล่าเซลล์มีศักยภาพที่ทำได้หลากหลาย”
อาจารย์เดชรัต บอกว่า หลังจากใช้โซล่าเซลล์กัน เยอะๆ และเมื่อหมดอายุแล้ว ก็ต้องมองเรื่องการจัดการ
"ผมคิดว่าต้องทำสามเรื่องคือ ลดน้ำหนักแผงหรือวัสดุโซล่าเซลล์ คือ Reduce ,เมื่อโซล่าเซลล์ประสิทธิภาพน้อยลง สามารถนำไปใช้เครื่องสูบน้ำทางการเกษตรได้อีก 10 ปี นำมา Reuse และนำกลับมาใช้ใหม่ Recycle ทำได้ถึง 80-90 % ต้องมีโรงงานหรือกระบวนการรีไซเคิล แต่ประเทศไทยยังไม่มีเรื่องนี้”
มองให้ไกลไปถึงอนาคต อาจารย์เดชรัต บอกว่า คนไทยสามารถช่วยลดคาร์บอนฯได้
“ในอนาคต ถ้าผมเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า แล้วบ้านใช้ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ บ้านผมจะปล่อยคาร์บอนฯแค่ 1 ตัน จากที่เคยใช้พื้นที่ป่าดูดคาร์บอน 7.5 ไร่ ถ้าจะปลูกป่าดูดคาร์บอนก็เหลือแค่ 0.7 ไร่ นี่คือพัฒนาการครอบครัวเล็กๆ ของเรา
ถ้าบ้านผมไม่ทำอะไรเลย จะปล่อยคาร์บอนฯไว้ในโลกปีละ 11 ตัน พอทำบ้านประหยัด(ปีพ.ศ. 2553-2562) ลดการปล่อยคาร์บอนฯเหลือ 8 ตัน พอใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลดการใช้รถยนต์ ลดการปล่อยคาร์บอนฯ 6 ตัน ในอนาคตเราหวังจะเป็นบ้าน Zero Carbon
(ถ้าติดโซล่าเซลล์แบบบ้านต้นคิดทิพย์ธรรมล้านหลังคาเรือน จะประหยัดพลังงานแค่ไหน)
-จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะมี 10 เครื่องสามารถหยุดเหลือ 5 เครื่อง ลดการปล่อยคาร์บอนฯ 4.5 ล้านตัน
-เทียบเท่าพื้นที่ป่าดูดคาร์บอน 31 ล้านไร่ หรือ 8 เท่าของพื้นที่นนทบุรี
-ประหยัดค่าไฟฟ้า 30,000 ล้านบาทต่อปี
-เกิดการจ้างงานติดแผงโซล่าเซลล์ประมาณ 7,000 อัตรา
.................
ภาพ จากเฟซบุ๊ค Decharut Sukkumnoed