ล้านทุง ล้านใจ ในทุ่งเมืองฟ้าแดด กาฬสินธุ์

เที่ยวงาน "มาฆปูรมี ทวาราวดีมิ่งหล้า เมืองฟ้าแดดสงยาง" งานบูชาให้กับพระธาตุประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ของพี่น้องชาวอำเภอกมลาไสย ที่สวยไสวด้วย "ทุง" หลากสีนับล้านทุง
จากเส้นใยฝ้ายใยไหมพื้นบ้าน แปลงเป็นด้ายเส้นเล็กหลากสีนำมาเรียงร้อยเป็น “ทุง” ในภาษาอีสานหรือ “ตุง” ในภาษาเหนือ หรือ "ธง" ในภาษากลาง
ทั้งทุงบันไดสวรรค์ที่ทำเป็น 4 เหลี่ยมจตุรัส และทุงใยแมงมุมซึ่งทำเป็นหกเหลี่ยม หลากสี หลายลายนำมาติดบนเสาไม้ไผ่สูงกว่า 10 เมตร ห้อยปลายลงมา ถวายเป็นพุทธบูชาให้กับพระธาตุยาคู หรือพระธาตุใหญ่ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ของพี่น้องชาวอำเภอกมลาไสยทั้งอำเภอ กว่า 100 หมู่บ้านในงาน “มาฆปูรมี ทวาราวดีมิ่งหล้า เมืองฟ้าแดดสงยาง ครั้งที่ 2" ระหว่างวันที่ 16 - 19 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา
จากทุงหนึ่งชิ้นด้วยมือและหัวใจคนทำ สู่ทุงล้านชิ้นกลายเป็น ทะเลทุง ที่คนจากทั่วสารทิศมุ่งหน้ามาถ่ายรูป กลายเป็นหนึ่งงานประเพณีสำคัญของเมืองน้ำดำ จังหวัดกาฬสินธุ์แห่งนี้ ที่หลายคนปักหมุดว่าจะต้องมาเยือนให้ได้ และกลายเป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว บนถนนสายวัฒนธรรมของจังหวัดอีสานกลาง
นอกจากทะเลทุงล้านชิ้นแล้ว ในงานยังมีขบวนแห่จากหลายสถาบันการศึกษา นางรำจากหลายกลุ่ม แถวแม่บ้านที่แต่งชุดสาวผู้ไท เกล้าผมมวย มัดด้วยผ้าลายขิต และปักผมด้วยปิ่นทุงบันไดสวรรค์และทุงใยแมงมุม มือถือพานบายศรีรอรับขบวน รวมถึงลูกเล็กเด็กแดงที่มาในชุดสาวน้อยผู้ไทย เป็นภาพงามตรึงใจผู้มาเยี่ยมชม ทางเดินหินลูกรังโรยด้วยดอกสะแบงสีแดงฉาน สอดรับกับสีของทุงบนยอดไม้ ช่างงดงาม แฝงด้วยพลังศรัทธาและความยิ่งใหญ่หาใดเหมือน
0 0 0
หากนับย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ พระธาตุยาคู หรือ พระธาตุประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่มีใครสนใจนัก เพราะคนเที่ยวกาฬสินธุ์มักจะนึกถึงเขื่อนลำปาว พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ผ้าไหมแพรวาบ้านโพน โฮมสเตย์บ้านโคกโก่ง เพราะมีการประชาสัมพันธ์ดี แถมมีของกิน มีสินค้าให้ชอปปิงมากมาย แต่สำหรับพระธาตุยาคู แม้จะอยู่ไม่ไกลเมืองมากนัก แต่พอเข้าไปสภาพพื้นที่ค่อนข้างแห้ง ต้นไม้มีน้อย และไม่มีสินค้าจำหน่ายหรืออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวมากนัก ทำให้พระธาตุแห่งนี้ไม่ได้อยู่ในจุดหมายของนักเดินทาง
ตามประวัติแล้วพระธาตุยาคูเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐปรากฏการก่อสร้าง 3 สมัยด้วยกันคือ ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมมีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ มีปูนปั้นประดับ สร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นฐานรูปแปดเหลี่ยมซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิมเป็นรูปแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์
เรื่องของพระธาตุยาคูนี้ เกี่ยวเนื่องกับตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองเก่าแก่ของลุ่มน้ำชีที่จังหวัดกาฬสินธุ์ที่บอกเล่ากันมายาวนาน ซึ่งเป็นเมืองเจริญรุ่งเรืองในแถบนี้ จากตำนานเมืองฟ้าแดดสงยางนี้เอง ทำให้ปรากฎหลักฐาน พระธาตุนางฟ้าหยาด ธิดาพญาฟ้าแดด ที่ขัดขวางความรักของเธอ จนเธอสิ้นใจตายและนำเอาร่างของเธอกับคนรักคือพระยาจันทราช มาฝังในบริเวณใกล้กัน และสร้างเป็นเจดีย์คู่ขึ้นมา ยังปรากฏร่องรอยอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยอยู่ไม่ไกลจากพระธาตุยาคูมากนัก
นอกจากนั้นบริเวณใกล้ ๆ พระธาตุยาคูยังพบใบเสมาวางเรียงรายอยู่หลายชิ้น ซึ่งพบในบริเวณอำเภอกมลาไสยเต็มไปหมด พอนำเอาไปตรวจสอบอายุพบว่าก่อสร้างในสมัยทวารวดี นักวิชาการได้ระบุว่าเมืองกมลาไสยคือเมืองหลวงของทวารวดีอีสานที่รุ่งเรืองมาก ใบเสมาหลายใบถูกนำไปเก็บไว้ที่วัดเสมา อยู่ทางเข้าพระธาตุยาคู แต่ใบเสมาที่สวยและสมบูรณ์ที่สุดชื่อใบเสมา “พิมพาพิลาป” ถูกนำมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่น และชาวจังหวัดกาฬสินธุ์มีแผนที่จะขอคืนและนำไปเก็บรักษาเอง
โดยจากเอกสารของกรมศิลปากร ระบุว่า ใบเสมาพิมพาพิลาปใบนี้ เป็นศิลปะทวารวดี ชนิดหินทราย ขนาด กว้าง 84 สูง 174 หนา 25 เซนติเมตร อายุสมัย ทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 16 ลักษณะและรายละเอียด ลักษณะรูปทรงเป็นใบเสมาแบบแผ่นแบน สภาพชำรุด หักเป็นสองท่อนต่อไว้ ด้านบนสลักเป็นรูปทรงโค้งคล้ายกลีบบัว ยอดสอบแหลม บริเวณฐานสลักเป็นลายกลีบบัวคว่ำ กลีบบัวหงายและเกสรบัวตลอดแนวความกว้างของใบเสมา
สลักภาพเล่าเรื่องไว้ที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว ด้านหลังจำหลักแนวสันแกนนูนจากส่วนฐานถึงส่วนยอด ภาพสลักแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้านล่างของใบเสมาจำหลักเป็นภาพกำแพงเมือง มีซุ้มประตูทรงปราสาทซ้อนกัน 3 ชั้น ด้านข้างประตูทั้งสองข้างมีภาพบุรุษยืนถืออาวุธประจำอยู่ด้านละ 2 คน ด้านบนของใบเสมาจำหลักภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งห้อยพระบาทอยู่ภายในซุ้มลักษณะคล้ายอาคารเครื่องไม้มีประภามณฑลอยู่ด้านหลังพระเศียร ด้านขวามีบุรุษนั่งชันเข่าแสดงท่าสำรวมจำนวน 2 คนที่นั่งอยู่ใกล้พระพุทธเจ้าสวมมงกุฎยอดแหลมแสดงถึงวรรณะสูง ด้านซ้ายเป็นภาพสตรี 2 คน สตรีคนที่นั่งอยู่ใกล้กับพระพุทธเจ้านั่งพับเพียบกำลังสยายเกศารองรับพระบาทของพระพุทธองค์ สตรีนางหนึ่งอุ้มเด็กที่กำลังชี้นิ้วไปที่พระพุทธองค์มีพานบูชาอยู่หน้าพระพุทธองค์
การวิเคราะห์ภาพ จากองค์ประกอบของภาพเล่าเรื่องที่ปรากฏบนใบเสมาแผ่นนี้เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า เป็นภาพเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ตอน พิมพาพิลาป
เนื่องจากปรากฏภาพบุคคลทรงครองจีวรห่มเฉียง มีประภามณฑลอยู่ด้านหลังพระเศียรประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้า ทางด้านขวามีสตรี 1 คน กำลังสยายผมรองรับพระบาทของพระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าหมายถึงนางยโสธราหรือพิมพา และสตรีอีกนางหนึ่งกำลังอุ้มเด็กที่กำลังชี้นิ้วไปยังพระพุทธองค์ สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงพระราหุล
ทางด้านซ้ายมือของภาพมีภาพบุรุษ 2 คน สวมศิราภรณ์มงกุฎและเครื่องประดับนั่งอยู่ สันนิษฐานว่าเป็นพระเจ้าสุทโธทนะ ฉากด้านหลังเป็นภาพซุ้มอาคารและมีภาพกำแพงเมืองอยู่ทางตอนล่างของภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเมืองจากองค์ประกอบทั้งหมดจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ตอนพิมพาพิลาป ตอนที่พระพุทธองค์เสด็จไปเทศนาโปรดพระนางยโสธราหรือนางพิมพาที่พระตำหนักพระนางยโสธราได้แสดงความเคารพอย่างสูงด้วยการสยายพระเกศารองรับพระบาท โดยมีพระเจ้าสุทโธทนะและพระราหุลที่พบพระราชบิดาเป็นครั้งแรกอยู่ในเหตุการณ์ด้วย
ในสมัยหลังภาพเหตุการณ์ในตอนนี้ยังคงปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถของวัดหลายแห่ง เช่น อุโบสถวัดดุสิตาราม พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ และบนตู้พระธรรมลายรดน้ำของหอพระสมุดวชิรญาณ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
เมื่อชาวบ้านเคารพ ศรัทธา และกราบไหว้พระธาตุยาคูแห่งนี้ จึงมักจะจัดพิธีในการทำบุญพระธาตุทุกปี โดยเฉพาะในช่วงบุญเดือน 6 ซึ่งจะมีการทำบุญบั้งไฟเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล แต่พอเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ทางอำเภอกมลาไสย ร่วมกับจังหวัดกาฬสินธุ์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดงาน มาฆปูรมี ทวารวดีมิ่งหล้า เมืองฟ้าแดดสงยางขึ้น เพื่อหวังกระตุ้นการท่องเที่ยวและมีการนำเอาทุง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ในงานบุญประเพณีแต่ละเดือนของชาวอีสาน เพื่อสื่อความหมายระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ
เรื่องนี้ อาจารย์วิทยา วุฒิไธสง นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้คำอธิบายถึงเรื่องเล่าความเป็นมาของทุง ว่าในอดีตมีพวกเหล่ามารปีศาจขึ้นไปก่อกวนเทวดาบนสวรรค์ จนทำให้เหล่าเทวดาตกใจกลัวเป็นอย่างมาก ทำให้เจ้าแห่งสวรรค์สร้างทุงขึ้นมา เพื่อให้เหล่าเทวดาได้มองเห็นทุงแล้วเกิดความกล้าหาญไม่หวาดกลัวเหล่ามารปีศาจอีกต่อไป ทุงจึงเป็นเหมือนตัวแทนในการขับไล่มารร้ายไปจากสวรรค์นั้นเอง ทำให้ในกาลต่อมามนุษย์จึงได้ประดิษฐ์ทุง เพื่อเป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สื่อสารระหว่างมนุษย์กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อเป็นพุทธบูชา ทั้งยังเป็นปัจจัยการส่งกุศลให้แก่ตนเองในชาติหน้าจะได้เกิดบนสรวงสวรรค์ต่อไป
ทุงจึงนับได้ว่าเป็นเครื่องสักการะ เพื่อใช้พิธีกรรมทางพุทธศาสนา ในบุญเฉลิมฉลอง หรือขบวนแห่ต่าง ๆ การประดับประดาในงานพิธีต่าง ๆ เพื่อความสวยงามตระการตา โดยมีความแตกต่างกันตามความเชื่อในการประกอบพิธีกรรมของท้องถิ่น ซึ่งโดยทั่วไปตุงจะมีลักษณะคล้ายกับธงมีความยาวประมาณ 1 – 3 เมตร อาจทอด้วยผ้าฝ้ายเป็นลายขิด ลวดลายสัตว์ คน ต้นไม้ หรือพระพุทธรูป เพื่อถวายพระสงฆ์เป็นพุทธบูชา และในสมัยนี้มีการนำเอาทุงบันไดสวรรค์และทุงใยแมงมุมมาประดับตกแต่งเพิ่มด้วย
ส่วนกรณีที่จังหวัดกาฬสินธุ์นำเอาทุงบันไดสวรรค์และทุงใยแมงมุมมาเป็นสัญลักษณ์ของการจัดงานนั้น เรื่องนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ไกรสร กองฉลาด อธิบายว่า มีเรื่องเล่าว่าพระโพธิสัตว์ เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นแมงมุมได้ชักใยลงไปช่วยคนที่ตกนรกได้รับความทุกข์ยากลำบาก ให้ขึ้นคนเหล่านั้นได้ขึ้นมา จังหวัดกาฬสินธุ์จึงได้นำเอาทุงมาเป็นโลโก้ในการช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก และนำมาเป็นสัญลักษณ์ในการจัดงานมาฆปูรมีครั้งนี้ด้วย
นอกจากการจัดงานปีนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์ ให้นักท่องเที่ยวใส่ชุดผู้ไทมาถ่ายรูปกับทุง ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก ถือเป็นงานยิ่งใหญ่ที่มาจากฝีมือของชาวบ้านทุกครัวเรือนในอำเภอกมลาไสยช่วยกัน และเป็นหนึ่งเดียวในโลกด้วย และการจัดงานอีกครั้งที่จะยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันคือ การจัดงานวันวิสาขบูชาที่จะมีการจัดถวายทุงเป็นพุทธบูชาและจะมีทะเลทุงยิ่งใหญ่ไม่แพ้งานวันมาฆบูชาแน่นอน
0 0 0
สำหรับใครที่อยากจะมาร่วมงานและเยี่ยมชมพระธาตุยาคูนั้น สามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง โดยอำเภอกมลาไสย ห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ ไปตามเส้นทางหลวงสาย 214 (กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด) ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร หรือจากตัวอำเภอกมลาไสย ไปตามถนนหน้าโรงเรียนกมลาไสย ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ถึง แยกบ้านเสมา ก็เลี้ยวขวาเข้าพระธาตุยาคูพอดี
โดยหากมาช่วงวันมาฆบูชาและวิสาขบูชาก็จะพบกับทะเลทุงที่ตระการตาหนึ่งเดียวในโลกเช่นนี้