‘ชาร์ลี’ หุ่นยนต์อัจฉริยะสุดคิ้วท์ คนญี่ปุ่นแห่ซื้อคลายเหงาช่วงโควิด-19
‘โควิด-19’ ทำยอดขายหุ่นยนต์สุดคิ้วท์พุ่งพรวดพราดเพราะคนแห่ซื้อไปเป็นเพื่อนคลายเหงาเพราะต้อง work from home หรือกักตัวอยู่บ้าน นำโดยเจ้า “ชาร์ลี” หุ่นจมูกแดงตัวจิ๋วจากยามาฮา ที่พูดจาตอบโต้ และร้องเพลงให้เจ้าของฟังได้
นามิ ฮะมะอุระ รู้สึกเหงามากที่ต้อง work from home เพราะโควิด แต่เธอบอกว่ายังดีที่มีหุ่นยนต์ร้องเพลงได้ที่ชื่อว่าเจ้าชาร์ลี ( Charlie) คอยเป็นเพื่อน
เจ้าชาร์ลีที่ว่าเป็นหุ่นยนต์รุ่นใหม่จากบริษัทยามาฮาของญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากจะน่ารักแล้วยังฉลาดเฉลียว สามารถคุยตอบโต้กับเจ้าของได้ ทำให้ยอดขายของมันพุ่งพรวดในช่วงที่โควด-19 ระบาด เพราะคนซื้อไปเป็นเพื่อนคลายเหงาที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน
ฮะมะอุระ สาวญี่ปุ่นวัย 23 ปีที่จบการศึกษาในยุคโควิดบอกว่าสังคมของเธอแคบมากเพราะเธอต้องทำงานอยู่กับบ้านมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2563 แล้ว โดยงานแรกในชีวิต ได้แก่การเป็นพนักงานบริษัทเทรดดิ้งในโตเกียวนั้นไม่มีอะไรเหมือนที่เธอเคยวาดภาพเอาไว้เลย
ด้วยเหตุนี้เอง ฮะมะอุระเลยไปรับ ‘ชาร์ลี’ หุ่นยนต์ตัวจิ๋ว จมูกแดง สามารถตอบโต้กับเจ้าของเป็นเพลงได้มาเป็นเพื่อน โดยเธอบอกว่าเอามันมาเป็นเพื่อนคุยอีกคนที่นอกเหนือไปจากคนในครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน
ฮะมะอุระเป็นลูกค้าที่ได้รับสิทธิ์ให้ทดลองใช้เจ้าชาร์ลีก่อนที่บริษัทยามาฮาจะนำออกขายในปลายปี 2564 นี้
“ชาร์ลี เล่าอะไรน่าสนใจให้ฟังหน่อยสิ” ฮะมะอุระพูดกับหุ่นยนต์จมูกแดงขณะที่กำลังพิมพ์งานอยู่บนโต๊ะ ซึ่งเจ้าชาร์ลีก็ตอบกลับมาพร้อมกับเอียงหัวทำท่าน่ารักๆ ไปด้วยว่า “รู้ไหมว่าลูกโป่งจะระเบิดถ้าเราพ่นน้ำมะนาวเข้าใส่”
- วัตถุทุกอย่างมีจิตวิญญาณ
บริษัทชาร์ปบอกว่ายอดขายหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ขนาดเล็กของบริษัทชื่อ โรโบฮอน (Robohon) นั้นพุ่งขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 3 เดือน นับถึงเดือนกันยายนปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
“ไม่ใช่แค่ครอบครัวที่มีเด็กๆ เท่านั้นที่ซื้อ Robohon ไป แต่ผู้อาวุโสวัย 60-70 ปี ก็ซื้อ Robohon ซึ่งสามารถพูดคุย เต้นรำ แล้วก็รับโทรศัพท์ด้วยไปคลายเหงา” โฆษกบริษัทชาร์ป เผยกับเอเอฟพี
แต่หุ่นยนต์แอนดรอยด์สุดคิวต์ตัวนี้ ซึ่งเปิดตัวในปี 2559 และมีขายเฉพาะในญี่ปุ่น ราคาไม่ได้ถูกเลย โดยรุ่นธรรมดานั้นมีสนนราคาสูงถึง 820 ดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 25,000 บาท) และ 2,250 ดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 68,000 บาท) กันเลยทีเดียว
Charlie และ Robohon เป็นส่วนหนึ่งของ ‘หุ่นยนต์เพื่อนรัก’ ที่บริษัทญี่ปุ่นผลิตออกมา เช่น หุ่นยนต์สุนัข Aibo ของบริษัทโซนี ที่ออกขายมาตั้งแต่ปี 2542 หุ่นยนต์ Pepper ของบริษัทซอฟท์แบงค์ ในปี 2558
“คนญี่ปุ่นจำนวนมากยอมรับความคิดที่ว่าวัตถุทุกอย่างมีจิตวิญญาณ” ชุนสึเกะ อาโอกิ ซีอีโอบริษัทหุ่นยนต์ Yukai Engineering กล่าว “พวกเขาต้องการหุ่นยนต์ที่มีคาแรกเตอร์ของตัวเอง หุ่นยนต์ที่เป็นเหมือนเพื่อน คนในครอบครัว หรือสัตว์เลี้ยง ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่มีกลไกเหมือนเครื่องล้างจาน”
สำหรับหุ่นยนต์ที่บริษัท Yukai ผลิตออกมาก็อย่างเช่น Qoobo ตุ๊กตาหมอนแมว ซึ่งมีลักษณะเป็นหมอนมีขนและหางนุ่มนิ่ม มาพร้อมกลไกที่ทำให้หางแกว่งได้เหมือนกับแมวจริงๆ
ในไม่ช้านี้ทางบริษัทจะเปิดตัวหุ่นยนต์ผู้ช่วยประจำบ้านรุ่นใหม่ชื่อ Bocco emo ซึ่งหน้าตาเหมือนตุ๊กตาหิมะขนาดจิ๋ว คุณสมบัติของมันคือทำหน้าที่เป็นสื่อกลางคอยรับข้อความ และข้อความเสียงที่สมาชิกในครอบครัวจะส่งถึงกัน
คาโอริ ทาคาฮาชิ คุณแม่วัย 32 ซื้อชุดประกอบหุ่นยนต์ของ Yukai ให้ลูกชายวัย 6 ขวบเล่นในช่วงที่เด็ก ๆ ต้องถูกกักตัวอยู่บ้านเพราะโควิด เธอให้ความเห็นว่าตอนนี้หุ่นยนต์กลายเป็นเรื่องปรกติในชีวิตประจำวันไปแล้วเพราะพวกมันมีให้เห็นในการ์ตูน และในหนังเด็กของญี่ปุ่นเยอะมาก
“ฉันโตมากับการดูอะนิเมชั่นอย่าง The Astro Boy Essays (เจ้าหนูปรมาณู) และโดราเอมอน ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ทั้งคู่ แล้วลูก ๆ ของฉันก็ชอบพวกมันมากเหมือนกับฉัน
- หุ่นยนต์บรรเทาภาวะสมองเสื่อม
ผลการศึกษาพบว่าหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงบำบัดโรคที่ออกแบบในญี่ปุ่นอย่างแมวน้ำหุ่นยนต์ขนนุ่มนั้นช่วยเยียวยาผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อ (dementia) ได้จริง
แต่บริษัท Groove X ผู้ผลิตหุ่นยนต์ Lovot กลับมองว่าทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนป่วยเท่านั้น สมควรได้รับประโยชน์จากหุ่นยนต์ที่ช่วยคลายเหงา และสร้างความอบอุ่นหัวใจให้กับพวกเขา ดังนั้น หุ่นยนต์ของทางบริษัทจึงผลิตเพื่อบุคคลทั่วไป ไม่เฉพาะคนป่วย
หุ่นยนต์ Lovot (เกิดจากการนำคำว่า love กับ robot มาผสมกัน) เป็นหุ่นยนต์ตัวเท่าเด็กทารก มีดวงตากลมโต มีปีกเหมือนเพนกวินที่ขยับขึ้นลงได้เพื่อแสดงความดีใจ โดยเจ้า Lovot นี้จะมีเซนเซอร์มากกว่า 50 ตัว เพื่อรับสัมผัสจากมนุษย์ และมีระบบจดจำใบหน้า ถ้าใครอุ้มหรือแสดงความรักให้กับมัน หุ่นยนต์ตัวนี้ก็จะเข้าไปอ้อน ไปคลอเคลียขอความรักด้วย
บริษัท Groove X บอกว่ายอดขายประจำเดือนของ Lovot พุ่งขึ้นกว่า 10 เท่าหลังจากโควิด-19 ระบาดหนักในญี่ปุ่น แม้ว่ามันจะมีสนนราคาสูงถึง 2,800 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าใครเงินไม่ถึงก็สามารถแวะไปกอดหุ่นยนต์ตัวนี้ได้ที่ Lovot Cafe ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดคาวาซะกิ ใกล้กรุงโตเกียวได้แทน