'วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า' ไทยชะลอฉีด รอผลสืบค้นเหตุ 'ลิ่มเลือดอุดตัน'
ไทยชะลอฉีด “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า” 1-2 สัปดาห์ รอผลสืบค้นเหตุเกิด "ลิ่มเลือดอุดตัน"ในคนยุโรป เผยEMAยันวัคซีนยังปลอดภัย ล็อตส่งให้ไทยใช้จากผลิตฝั่งเอเชีย ส่วนผสมในวัคซีนไม่มีตัวกระตุ้นเกิดเลือดแข็งตัวผิดปกติ
จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ต้องเลื่อนกำหนดการฉีด “วัคซีนโควิด19”ของ “แอสตร้าเซนเนก้า”ออกไปก่อน จากเดิมที่มีกำหนดจะฉีดในเวลา09.00 น. วันที่ 12 มี.ค.2564 ที่สถาบันบำราศนราดูร
ต่อมาเวลา 09.00 น.ที่กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนการบริหารจัดการการให้ “วัคซีนโควิด19” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วยนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ร่วมกันแถลงข่าวด่วนข้อเท็จจริง
- ชะลอฉีด"วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า"ในไทย
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การฉีด “วัคซีนโควิด19”ของ “แอสตร้าเซนเนก้า”ในประเทศไทยจำเป็น ต้องชะลอการฉีด “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”ออกไปก่อน เนื่องจากเมื่อคืนวันที่ 11 มี.ค.2564 มีการประกาศจากประเทศเดนมาร์ก ออสเตรีย และยุโรป ซึ่งนำวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปฉีดในคนเป็นล้านโดส แต่เจอผลข้างเคียงทำให้เลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำ มีผลไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ซึ่งประเทศเดนมาร์กประกาศชะลอฉีด “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”ไปก่อน ทำให้คณะแพทย์และทีมงานด้านการฉีด “วัคซีนโควิด19”ของประเทศไทยต้องนำเรื่องนี้มาพิจารณา
“ความปลอดภัยของประชาชนคือเป้าหมายสูงสุดของคณะแพทย์ และสาธารณสุข เพราะฉะนั้นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไม่ใช่ไม่ปลอดภัย ซึ่งทั่วโลกมีการฉีดไปวัคซีนนี้ไปแล้วกว่า 34 ล้านโดส แต่เมื่อมีผลข้างเคียงจนต้องสืบค้นก็จะต้องชะลอการฉีดในประเทศไทยออกไปก่อนราว 1-2 สัปดาห์เพื่อรอบผลการสืบค้นเหตุที่เกิดขึ้นในยุโรป ถ้าผลระบุว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ยิ่งสร้างความมั่นใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัยที่จะนำมาใช้ฉีดในคนไทยต่อไป”ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวอีกว่า ในประเทศไทยยังมีวัคซีนซิโนแวคที่ฉีดให้กับคนไทยกลุ่มเป้าหมายอยู่และจะมีเข้ามาอีก 1.8 ล้านโดส เพราะฉะนั้นช่วงนี้ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมาย ยังคงได้รับการฉีดต่อไปได้
- EMAยืนยันว่า “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”ปลอดภัย
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า จำเป้ฯต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนเพื่อไม่ให้คนไทยตื่นตระหนกสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยกรณีนี้สืบเนื่อง จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ได้ส่ง “วัคซีนโควิด19” รุ่นผลิต ABV5300 จำนวน 1 ล้านโดส ไปยัง 17ประเทศในยุโรปและมีการทยอยฉีด โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเดนมาร์ก คือ มีผู้ป่วย 1 รายเสียชีวิต และมีหลายรายเกิด “ลิ่มเลือดอุดตัน”ในหลอดเลือด รัฐบาลเดนมาร์กจึงประกาศให้ชะลอ 2สัปดาห์ แต่ไม่ได้บอกว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน เป็นการชะลอเพื่อสืบค้นสาเหตุ ส่วนไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ไม่ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นและประกาศชะลอเพื่อรอผลการสืบค้น
องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป(EMA : European Medicines Agency) ออกมาประกาศว่าไม่ได้ประกาศให้ชะลอการฉีด เพราะยืนยันว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าปลอดภัย แต่เมื่อมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็จะลงไปสืบค้นสาเหตุ และมีประเทศต่างๆชะลอการฉีดเพื่อรอผลการสืบค้นก่อนด้วยเพราะได้รับวัคซีนรุ่นผลิตเดียวกับเดนมาร์ก คือ ออสเตรีย ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก และลัตเวีย
- คนฉีด-ไม่ฉีดในยุโรปเกิดลิ่มเลือดไม่แตกต่างกัน
“ขอสรุปสั้นๆ ขณะนี้เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีน ก็จะมีการสืบค้น โดยEMAได้ไปประเมินอุบัติการณ์การเกิดลิ่มเลือดแล้วเทียบเท่ากับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศฝั่งยุโรปพบว่าตัวเลขไม่แตกต่างกัน นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่EMA ออกมาบอกว่าเหตุที่เกิดขึ้นไม่ควรจะสัมพันธ์กับไวรัส แต่เพื่อความปลอดภัยโดยหลักทันทีที่เกิดรายงานแบบนี้ ไม่เฉพาะวัคซีนแต่ยาก็เช่นกัน ก็จะชะลอการใช้ก่อนเพื่อสืบค้น เมื่อผลพบว่าไม่เกี่ยวข้องเรียบร้อยก็กลับมาใช้ ส่วนประเทศไทยไม่ได้ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ารุ่นผลิตนี้ แต่ใช้จากโรงงานผลิตในฝั่งเอเชีย”ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
- เกาหลีใต้เดินหน้าฉีด “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า” ต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ารุ่นผลิตในเกาลีใต้และมีการใช้ในประเทศเกาหลีใต้แล้ว มีเหตุการณ์เกิดขึ้นต้องสอบสวนสาเหตุหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากที่มีข่าวในประเทศเกาหลีใต้รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตหลังรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น ประเทศเกาหลีใต้ได้มีการหยุดการฉีดชั่วคราวและสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ล่าสุดประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สัมพันธ์กับวัคซีนแต่อย่างใด จึงกลับมาฉีดเหมือนเดิม
- หลังฉีด “วัคซีนไฟเซอร์” มีคนตาย ก่อนสรุปไม่เกี่ยวกับวัคซีน
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การฉีดวัคซีนปริมาณมากโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรืออาการอื่นๆ ร่วมกับการฉีดวัคซีนเกิดขึ้นได้ เมื่อเกิดอะไรก็ตามต้องพิสูจน์ว่าโรคนั้นหรืออาการนั้นเกี่ยวกับวัคซีนหรือไม่ในทันทีที่เกิดก็จะมีการสอบสวน ยกตัวอย่าง ในประเทศนอร์เวย์ที่มีฉีด”วัคซีนโควิด19”ของไฟเซอร์ที่มีรายงานการเสียชีวิต 28 คน แต่ต่อมาการสอบสวนพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา อายุมากกว่า 80 ปี อัตราการเสียชีวิตนี้เมื่อตรวจสอบลงลึกพบว่า ไม่เกี่ยวข้องวัคซีน ทุกคนก็ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ต่อไปปกติ เมื่อใดมีอุบัติการณ์เกิดขึ้นก็ต้องสงสัยไว้ก่อน
ยกตัวอย่าง ฉีดวัคซีนให้คนไข้ 1 คนแล้วเดินออกนอกรพ.ตกท่อ ก็อาจบอกว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์ก็ได้ ก็ต้องสอบสวนหาสาเหตุว่าเกี่ยวกับวัคซีนหรือไม่ ถ้าสอบสวนแล้วพบว่าเดินสะดุดแล้วตกท่อก็ไม่เกี่ยวกับวัคซีน แต่ถ้าบอกว่าเวียนหัวทำให้เดินตกท่อ ก็ต้องหาสาเหตุเวียนหัวเกี่ยวกับวัคซีนหรือไม่
- ลิ่มเลือดอุดตันเกิดในยุโรปมากกว่าเอเชีย 3 เท่า
กรณีการเกิดลิ่มเลือดนี้ เวลาขึ้นเครื่องบิน จะเห็นคำแนะนำว่า ให้ขยับ กินน้ำเยอะๆ หรือาจจะต้องกินแอสไพรินเพื่อละลายลิ่มเลือด เพราะถ้าหากนั่งนานๆหรือผู้สูงอายุนอนนานๆ ก็มีโอกาสเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำ เมื่อแข็งตัวแล้วโอกาสที่จะหลุดไปอุดอยู่ในปอดเพราะเลือดดำไหลเข้าปอด ถ้าอุดที่ปอดก็จะทำให้เลือดกลับเข้าปอดไม่ได้ โดยเฉพาะก้อนใหญ่ๆอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต อุบัติการณ์นี้จะพบในคนเชื้อชาติแอฟริกันและยุโรปมากกว่าเอเชีย ซึ่งปกติแล้ว ยุโรปพบมากกว่าเอเชีย 3 เท่า เชื่อว่าปัจจัยพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยโรคนี้พบได้อยู่แล้วในยามปกติ
ศ.นพ.ยง กล่าวด้วยว่า เมื่อฉีดวัคซีนในหมู่มาก โอภาสที่จะเกิดขึ้นก็มีได้ ซึ่งฉีดวัคซีนนี้ไปทั้งสิ้น 3 ล้านโดส ปรากฏว่ามีผู้ป่วยเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ 22 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย อุบัติการณ์ถ้าเปรียบทียบก็เท่ากับ 7 ใน 1 ล้านราย ต้องมีการสอบสวนเหตุการณ์เกิดขึ้นเกิดในภาวะปกติ ในคนธรรมดาที่แม้ไม่ฉีดวัคซีนก็เกิดหรือไม่ เท่ากันหรือไม่ ถ้าบอกฉีดแล้วเกิดมากกว่าในภาวะปกติ ต้องหาสาเหตุว่าวัคซีนทำให้เกิดอะไร ถึงจะทำให้ลิ่มเลือดแข็งตัวได้ง่าย
- วัคซีนไม่มีส่วนผสมกระตุ้นเลือดแข็งตัวผิดปกติ
“เหตุการณ์ที่เกิดการแข็งตัวของเลือด ไม่เคยเกี่ยวข้องกับวัคซีนตัวใดๆมาก่อน แต่วัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนใหม่ ถ้ามาดูส่วนผสมในตัวยาหรือที่อยู่ในนั้น ไม่มีตัวยาตัวไหนที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะไปกระตุ้นทำให้ระบบการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ แต่เป็นการศึกษาทางด้านระบาดวิทยาเท่านั้น ที่อยู่ดีๆมีคนไข้ขึ้นมาก็ต้องศึกษาเปรียบเทียบกับในภาวะปกติที่ไม่ฉีดวัคซีนอุบัติการณ์ต่างกันหรือไม่ ถ้าไม่ต่างกันก็คล้ายเป็นโรคร่วมที่เกิดขึ้นขณะที่ฉีดวัคซีน”ศ.นพ.ยงกล่าว
- ปัด “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า” ไม่ดี
ศ.นพ.ยง กล่าวด้วยว่า การที่ประเทศไทยชะลอการฉีดนี้ ไม่ได้บอกว่าวัคซีนไม่ดี หรือจะมีปัญหา แต่เป็นการชะลอเพื่อต้องให้เขาพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องวัคซีนหรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้องแล้วเฉพาะวัคซีนรุ่นผลิตนั้นหรืออย่างไร ซึ่ง “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”ที่ใช้ในยุโรปกับที่ประเทศไทยใช้ คนละรุ่นการผลิตกันแน่นอน เพราะของยุโรปผลิตในยุโรก แต่ของไทยผลิตจากโรงงานในเอเชีย
“งานนี้ไม่ได้บอกว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีข้อบกพร่องอะไร เป็นการชะลอเพื่อการตรวจสอบให้แน่นอน และประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งการชะลอ 5-7 วัน หรือ 12 สัปดาห์ ไม่ได้เกิดผลกระทบอะไร เพราฉะนั้น เพื่อความปลอดภัย คณะกรรมการทั้งหมดจึงเห็นว่าควรให้ชะลอก่อน ไม่ได้บอกว่ายุติการฉีด แค่ชะลอและรอผลการสอบสวนเพื่อจะให้ในภายหลัง”ศ.นพ.ยงกล่าว
- เหตุการณ์ไม่น่าเกี่ยวข้อง “วัคซีนโควิด19”
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า วัคซีนเมื่อมีการฉีดจำนวนมากก็เป็นธรรมดาที่จะมีการรายงานเกี่ยวกับผลการใช้และอาการข้างเคียงเข้ามาไม่ว่าจะเป็นมากหรือน้อย ซึ่งเมื่อมีการฉีดวัคซีนในปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว ก็จะมีโอกาสที่การฉีดจะไปอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับโรคบางโรคเดิมที่กำลังก่อตัวก็เป็นได้ จึงจำเป็นต้องระมัดระวังไม่ว่ามีเหตุการณ์อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นใกล้เคียงการฉีดวัคซีนก็จะต้องมีการสอบสวนก่อนจะฟันธงออกมาว่าเป็นผลจากวัคซีนจริงหรือไม่
“จากการฟังรายงานที่เกิดขึ้น คณะผู้เชี่ยวชาญมองว่า ไม่น่าเกี่ยวกับวัคซีน อย่างภาวะการแข็งตัวของเลือดนั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนที่เคยพบมาก่อน ไม่ว่าจะวัคซีนตัวใดๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ” พญ.กุลกัญญา กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ซึ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนที่ดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปยังไม่แน่ชัดเป็นเหตุจากวัคซีนหรือไม่ บวกกับในประเทศไทยไม่ได้มีระบาดรุนแรง และมีวัคซีนซิโนแวค ฉีดคนกลุ่มเสี่ยง แต่เพื่อความปลอดภัยสธ.น้อมรับคำแนะนำ สธ.รับข้อแนะนำคณะแพทย์จึงได้มีการพิจารณาชะลอออกไประยะหนึ่งก่อนเวลาส้นๆ จนกว่าการสืบค้นชัดเจน และสธ.จะเดินหน้าฉีดต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดประสิทธิภาพ-ข้อห้าม วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า'