ต้นแบบ‘กัญชา’ ครบวงจร ‘อภัยภูเบศร’ อนาคตที่น่าจับตามอง

ต้นแบบ‘กัญชา’ ครบวงจร ‘อภัยภูเบศร’ อนาคตที่น่าจับตามอง

การขับเคลื่อนเรื่องกัญชากัญชง 'อภัยภูเบศร' เป็นองค์กรหนึ่งที่น่าจับตามอง แม้ไม่ได้ทำเรื่องนี้ใหญ่โต แต่น่าสนใจที่ทำครบวงจรและทำต่อเนื่อง และต่อไปองค์กรนี้จะขยับตัวอย่างไร ลองอ่านความเห็นผู้บริหาร...

แม้การขับเคลื่อนเรื่องกัญชาและกัญชง ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี จะไม่ได้ใหญ่โตมาก เพราะตั้งใจตั้งแต่แรกว่าทำขนาดเล็กๆ แต่ครบวงจร และที่ผ่านมา สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมได้ไม่น้อย ไม่ว่ายาจากกัญชา ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชง รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชา 

องค์ความรู้ที่พวกเขาทำจึงมีตั้งแต่การปลูก การสกัด การทำยา การรักษาด้วยยากัญชา ทั้งการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน รวมถึงการวิจัยและเผยแพร่ความรู้ และล่าสุดถูกจับจ้องว่าทางอภัยภูเบศรพัฒนาวิจัยเรื่องกัญชากัญชงมานานหลายปี จนมีองค์ความรู้และงานวิจัยที่พัฒนาต่อยอดได้ คิดจะร่วมทุนหรือขยายเครือข่ายอย่างไร

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บอกว่า ตอนนี้ยังไม่มีนโยบายร่วมทุนกับหน่วยงานไหน แต่มีการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้

“ที่ผ่านมามีคนชวนร่วมทุนธุรกิจตลอด ตอนนี้ยังไม่มีนโยบาย แต่ก็คุยๆ กันว่าถ้าอยู่ในรูปบริษัทจะทำให้การบริหารจัดการคล่องตัวขึ้น เพราะการบริหารแบบเรามีข้อจำกัดหลายอย่าง ในอนาคตอาจมีคนที่มีศักยภาพในเชิงธุรกิจมาช่วย

161585514156

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้บริหารรุ่นบุกเบิกสมุนไพรและกัญชา กัญชง

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเชื่อมร้อยชุมชนไปด้วยกัน ส่งเสริมธุรกิจชุมชนให้เข้มแข็ง กระจายสินค้าและแก้ปัญหาให้ชุมชนได้ รวมถึงการให้ความรู้เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้บริโภค หากทำเป็นธุรกิจล้วนๆ คงไม่ใช่ทางของเรา”

หากมีการร่วมทุนในอนาคต ภญ.ดร.สุภาภรณ์ บอกว่า หน่วยงานหรือผู้ที่จะมาร่วมทุนต้องเข้าใจเงื่อนไข มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรยังดูแลเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรเหมือนเดิม และอีกหลายเงื่อนไขที่ต้องทำเพื่อชุมชน เพราะทางเรามีแนวคิดเรื่องวิสาหกิจชุมชน

เราพัฒนาสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจชุมชน จึงต้องอนุรักษ์พัฒนาคุ้มครองการแพทย์พื้นบ้าน ในเรื่องกัญชา เรามีบทบาทสร้างองค์ความรู้ให้สังคม ต้นแบบมาจากประสบการณ์ที่พวกเราลองผิดลองถูก"

ทำไมต้องกัญชาครบวงจร

ที่ผ่านมา เรื่องที่ผู้บริหารอภัยภูเบศรไม่เคยละเลยตลอดหลายสิบปีก็คือการให้ความรู้กับสังคมและชุมชน ส่วนโรงพยาบาล นอกจากรักษาผู้ป่วย ยังมีแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากฐานความรู้ดั้งเดิม มีบทบาทในเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนา ทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ กระตุ้นการสร้างนวัตกรรม และสร้างการเรียนรู้แบบครบทุกวงจร โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกัญชาและกัญชงอย่างถูกวิธี มีหน่วยการสกัดกัญชา การทำยา การเปิดคลินิกรักษาโรคด้วยกัญชา มีร้านอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชา เพื่อเก็บรวบรวมความรู้

“คนทั่วไปต้องเข้าใจก่อนว่าถ้าจะทำเรื่องกัญชากัญชง ต้องรู้เรื่องการขอใบอนุญาตและกฎระเบียบ รวมถึงต้องรู้ว่าองค์ประกอบของกัญชากัญชงมีบางส่วนที่หลุดจากยาเสพติด ช่อดอกกัญชากัญชงยังเป็นยาเสพติด เมล็ดกัญชงไม่ใช่ยาเสพติด

แต่เมล็ดกัญชายังเป็นยาเสพติด เมล็ดที่นำเข้ามาปลูกจึงต้องขออนุญาต และการขอใบอนุญาตเรื่องกัญชาจะยากกว่ากัญชง เพราะถ้าหลุดรอดออกไป อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด กัญชาต้องอยู่บนพื้นฐานทางการแพทย์" 

161572959730

ผลิตภัณฑ์จากกัญชา

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ บอกอีกว่า ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่ากัญชาในระดับโลกยังเป็นยาเสพติด ต้องปฏิบัติตามกติกาสากล ดังนั้นการควบคุมและขออนุญาตปลูกกัญชาสำหรับเกษตรกรระดับรากหญ้าจึงเป็นเรื่องยาก ต้องรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนและเชื่อมโยงกับภาครัฐ 

"ทางฝ่ายนโยบายให้วิสาหกิจชุมชนรวมกันแล้วแยกกันปลูกได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตอนนี้ และการปลูกกัญชาต้องติดกล้องวงจรปิด แต่กัญชงไม่ต้องขนาดนั้น เพราะมีสารเมา THC (Tetrahydrocannabinol) น้อยมาก แต่การปลูกกัญชงมีโอกาสเปลี่ยนเป็นกัญชาได้ ถ้าสารเมามีปริมาณมากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ เพราะแสงยูวีกระตุ้นให้ต้นกัญชงสร้างสาร THC มากขึ้น

บ้านเรายังไม่ได้เตรียมการเรื่องการสกัดสาร CBD (cannabidiol) ในกัญชง ทั้งๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก ในต่างประเทศใช้ได้หลากหลาย ทั้งในอาหาร เครื่องสำอาง อาหารสัตว์ ฯลฯ ถ้าเราช่วยกันปลูกและพัฒนาน่าจะได้ประโยชน์ ใช้ทำยาได้หลากหลายด้วย”

บทบาทการผลิตยากัญชา

เนื่องจากกัญชาเพิ่งถูกปลดล็อก การพัฒนาสายพันธุ์กัญชาไทยที่มีสาร CBD สูงๆ จึงต้องเริ่มต้นพัฒนาทดลองใหม่ เพราะที่ผ่านมาปลูกแบบหลบๆ ซ่อนๆ ไม่มีโอกาสพัฒนาสายพันธุ์ ปัจจุบันจึงต้องมีการนำเข้าสายพันธุ์กัญชา

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ บอกว่า กัญชาบางสายพันธุ์ที่นำมาจากต่างประเทศ เคยลองปลูกในระบบปิด ควบคุมแสง อุณหภูมิ ความชื้น แต่เวลาไฟฟ้าดับ ต้นกัญชาตายเกลี้ยง ลองแล้วไม่ค่อยได้ผล ทั้งๆ ที่พยายามควบคุมทุกอย่างตามทฤษฎีของพืช เพราะกัญชาเป็นพืชที่ไวต่อสิ่งแวดล้อม พอมาปลูกในระบบเปิดกลายเป็นว่าเติบโตดี แต่เจอนกไล่จิกยอด ถ้าจะเอาดอกกัญชาดีๆ ต้องระวังเรื่องฝน จะทำให้เป็นราได้ ส่วนระบบกรีนเฮ้าส์ ทางเราก็ทดลองทำก็พอได้อยู่

161585521562

(การทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม) 

"แสงแดดบ้านเราเสมือนสวรรค์สำหรับกัญชากัญชง แสงไม่ทำให้ต้นไหม้เกรียม จึงคิดว่าถ้าเราจะสู้เรื่องกัญชากัญชงกับฝรั่ง เราต้องปลูกแบบต้นทุนต่ำ เหมือนปลูกข้าว ปลูกฤดูกาลเดียวน่าจะดีกว่า จัดการง่าย ถ้าอภัยภูเบศรปลูกกัญชากัญชงและสกัดได้ คนไทยก็ปลูกได้

ปัจจุบันสังคมโลกเปลี่ยนไป กัญชงกัญชาเป็นเสมือนโรงงานผลิตสารเคมีที่มีประสิทธิภาพ ถ้าประเทศเราไม่มีโรงงานสร้างสารสังเคราะห์ ก็ต้องอาศัยพืชเหล่านี้มาใช้รักษาโรค แต่ไม่ใช่ยาวิเศษรักษาได้ทุกโรค"

อีกบทบาทที่อภัยภูเบศรทำมาอย่างต่อเนื่องก็คือ การทำยากัญชาและการสกัดสารจากกัญชา ภช.สุภาภรณ์ บอกว่า ถ้าไม่ต้องการสารบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทางเราทำมาก่อนที่กัญชาจะถูกปลดล็อก ทำเพื่อส่งมอบยาให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ

“ปกติเราก็เป็นแหล่งผลิตยากัญชาให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน การสกัดกัญชาให้มีความบริสุทธิ์ 99% โดยมีสาร THC ไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ได้ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เราวางแผนไว้ว่าไม่เกินเดือน มิ.ย.นี้เราจะทำได้

 เราทำเรื่องกัญชาครบวงจรมาโดยตลอดแต่ไม่ได้ทำใหญ่ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ทำ อาทิ จะทำอย่างไรให้เกษตรกรปลูกแล้วมีความยั่งยืน มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น มีนักจัดการให้หน่วยงานที่ต้องการผลิตผลกัญชากัญชง เราได้คุยกับทาง อย. เพื่อร่วมกันทำระบบการอบรม แม้เราจะไม่ใช่มือหนึ่งเรื่องนี้ แต่เราน่าจะทำได้"

นี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของกัญชาที่ผู้บริหารรุ่นบุกเบิกสมุนไพรให้อภัยภูเบศร มองว่าสิ่งที่พวกเขาทำแม้จะไม่ใหญ่โตหรือจัดเป็นมือหนึ่งของประเทศ แต่อยากขับเคลื่อนให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค มีความเข้าใจเรื่องกัญชามากขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

จัดอบรมให้ความรู้กัญชาอยู่เรื่อยๆ  161572952152

(จัดอบรมให้ความรู้กัญชา )