'บ้านสาแพะเหนือ' พลิกฟื้นความแห้งแล้ง สู่ชุมชนยั่งยืน

'บ้านสาแพะเหนือ' พลิกฟื้นความแห้งแล้ง สู่ชุมชนยั่งยืน

ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อน มีน้ำไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการเกษตรในช่วงฤดูแล้งปี 2564 มีชุมชนที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤติกว่า 30,000 ชุมชน ในพื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน การพึ่งพาน้ำในเขื่อนเพียงอย่างเดียว อาจทำให้รอดพ้นภัยแล้งได้ยาก

ประเทศไทย มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยปีละ 754,720 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำท่าที่เกิดขึ้นเฉลี่ย 282,963 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี แต่มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยปีละ 42,620 ล้าน ลบ.ม. ความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 76,067 ล้าน ลบ.ม. มีความจุปริมาณน้ำใช้การ 52,165 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจปริมาณความต้องการใช้น้ำพบว่ามีมากถึง 153,578 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี

"วิกฤติน้ำ" ประเทศไทย ข้อมูลจาก ดร.รอยล จิตดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) พบว่า ในปี 2562 ปริมาณน้ำฝน -17% ส่งผลกระทบต่อปี 2563 ทำให้น้ำฝน -12% และต้องใช้น้ำต้นทุนในอ่างเกือบหมด ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยเจอภัยแล้งครั้งแรกในปี 2547 แต่พอปี 2549 เจอน้ำท่วม ปัญหาฝนตกหนักแต่ระยะสั้น ไม่ยาว พอเริ่มแก้แล้ง กลายเป็นน้ำท่วม พอเริ่มแก้ท่วม แล้งมา

161588875671

“การแก้ปัญหาเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ การบริหารความเสี่ยงต้องทำทั้งระดับประเทศและชุมชน ยืนยันว่าแล้ง วิกฤติแน่ แต่ยังโชคดีที่ฝนมาเร็ว แต่ขณะเดียวกัน ฝนกลับทิ้งช่วง และตกหนักเดือนกันยายน การพึ่งพาเขื่อนอย่างเดียวคงทำให้รอดภัยแล้งได้ยาก เกษตรจึงต้องร่วมมือกันซ่อมบำรุงแหล่งน้ำ หันมาเก็บกักน้ำ และบริหารน้ำในพื้นที่ ใช้น้ำหมุนเวียนและน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชหลากหลาย ลดพืชเชิงเดี่ยว” ดร.รอยล กล่าว

  • พลิกฟื้นชุมชนแห้งแล้ง สู่ความยั่งยืน

บ้านสาเเพะเหนือ ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง” คือ หนึ่งในชุมชนที่สามารถพลิกฟื้นจากชุมชนที่แห้งแล้ง ปลูกข้าวแต่ไม่ได้กิน เพราะข้าวยืนต้นตายจากการขาดน้ำ แหล่งต้นน้ำมีสภาพตื้นเขินจนทำกินไม่ได้ ขาดรายได้ แต่กลับฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แหล่งต้นน้ำ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชนได้จนถึงปัจจุบัน

161588829980

“มานพ ปั้นเหน่ง” ชาวบ้าน "บ้านสาเเพะเหนือ" จ.ลำปาง

“มานพ ปั้นเหน่ง” ชาวบ้าน "บ้านสาเเพะเหนือ" จ.ลำปาง เล่าว่า ในอดีตหมู่บ้านต้องเจอกับวิกฤติภัยแล้งมาโดยตลอด มีรายได้จากการทำนาเพียงปีละครั้ง รายได้ต่อปีเพียงหลักหมื่น อ่างเก็บน้ำห้วยแก้วแห้งเหือด สมัยก่อน ทำพืชการเกษตรฤดูฝนครั้งเดียว ปลูกข้าวกิน บริโภค และพืชผักทั่วไป มีอยู่ปีหนึ่งที่ปลูกข้าวแล้วไม่ได้เก็บเกี่ยว เพราะข้าวตายหมด คนในหมู่บ้านอพยพไปทำงานในเมือง จึงเริ่มมาคิดว่าทำอย่างไรเพื่อกำจัดภัยแล้ง ตอนฝนตกน้ำจะไหลหลากลงลำคลอง และแม่น้ำแม่วัง จะทำอย่างไรให้กักได้เยอะที่สุด

  • "ชะลอ - กักเก็บน้ำ" เพื่อการเกษตร 

มานพ เล่าต่อไปว่า เมื่อ 5 ปีก่อน จึงตัดสินใจรวมตัวกัน ลุกขึ้นแก้ไขปัญหาเพื่อให้รอดพ้นจากภัยแล้ง และความยากจน โดยมีเอสซีจี และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เป็นพี่เลี้ยง โดยโครงการแรก คือ ทำ “ฝายชะลอน้ำ” ในพื้นที่ภูเขา เพื่อกักเก็บน้ำ ปรากฏว่าหลังฝนตกกักเก็บน้ำได้ ปัจจุบัน มีฝายชะลอน้ำทั้งหมดกว่า 900 ฝาย ในเนื้อที่ 3,000 กว่าไร่ ทำให้ระบบนิเวศดีขึ้น มีสัตว์ป่า มีเห็ด จึงรวมตัวกันคิดว่า ทำอย่างไรให้มีแหล่งน้ำและกักเก็บน้ำให้มากขึ้นตลอดทั้งปี

161588829731

หลังจากนั้น จึงทำการสำรวจ พบว่า แต่ละปีกักเก็บน้ำไว้ใช้เพียงแค่ 2% เท่านั้น จึงเริ่มจากขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว ใหม่ เอาตะกอนออก จากเดิมเก็บน้ำได้ประมาณ 7,000 ลบ.ม. ปัจจุบันเก็บได้ประมาณ 12,000 ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังทำการเก็บน้ำด้วยบ่อพวงคอนกรีต ลดการสูญเสียน้ำด้วยระบบท่อกระจายน้ำเข้าแปลงเกษตรกว่า 1,200 ไร่

พร้อมกับเริ่มการทำ “ฝายใต้ทราย” จำนวน 9 ฝาย เทปูนให้น้ำดันขึ้น น้ำหน้าฝนที่ตกมาก็จะชะลอมาเรื่อยๆ เป็นการกักเก็บน้ำและชะลอน้ำในพื้นที่ และ “สระคอนกรีตบนดิน” อีก 8 ตัว มีระบบเชื่อมต่อกันทั้งหมด กักเก็บน้ำทำเกษตรให้มาก และนานที่สุด โดยไม่ปล่อยให้น้ำไหลหลากทิ้งไป

161588830147

หลังจากนั้น ได้ทำการต่อยอดโครงการถัดมา คือ “สร้างแท้งกักเก็บน้ำ” จำนวน 9 แท้ง ตามจุดสำรวจเพื่อครอบคลุมพื้นที่ แต่ละแท้งจุน้ำได้ประมาณ 4 พันกว่าลิตร ทำให้สูญเสียน้ำน้อยที่สุด พร้อมกับวางท่อต่อเข้าหมู่บ้าน ไปยังพื้นที่การเกษตรในชุมชน เพื่อให้ทุกคนได้ใช้น้ำให้ครอบคลุมมากที่สุด พร้อมติดมิเตอร์ใช้น้ำแต่ละแท้งเพื่อบริหารจัดการ และตั้งกลุ่มดูแลแต่ละแท้ง

161588829637

  • ร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อ "ชุมชนยั่งยืน"

เรียกได้ว่า ปัจจัยความสำเร็จ มาจากการมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำซึ่งเป็นเป้าหมายของ "ชุมชนยั่งยืน" พร้อมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมภายในชุมชน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ มีการประชุมเป็นประจำเพื่อให้เห็นภาพเดียวกัน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีคณะกรรมการที่ทุกคนในหมู่บ้านเป็นผู้เลือกมารับผิดชอบทั้งก่อนและหลังใช้เงินในการจัดการน้ำ แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

161588833211

“ความร่วมมือของชุมชน คือ ความสามัคคี โดยเราจะแบ่งเป็น 5 หมู่ หมู่ละ 10-15 คน แบ่งวันกันทำ คนในหมู่บ้านจะมาช่วยกันออกแรงคนละไม้ละมือ ทั้งงานก่อสร้าง งานขุดลอก หากคนใดคนหนึ่งไม่ได้มา ก็ทำในวันต่อไป หรือหากใครไม่ได้มาช่วย ก็ซื้ออาหาร ไม่ได้ลงแรงก็เอาของมาได้ เป็นจุดเริ่มต้นของความสามัคคี ตกเย็นก็มากินอาหารร่วมกัน พูดคุย วางแผน ต่อเนื่องในวันต่อๆ ไป”

161588829837

หลังจากมีน้ำอุดมสมบูรณ์ เริ่มทำการเกษตร แต่เดิมทำเกษตรได้เฉพาะหน้าฝน 3-4 เดือนต่อปี มีรายได้เพียงครั้งเดียว ปัจจุบัน ทำการเกษตรได้ 3 ครั้ง มีรายได้เพิ่มขึ้นมา 3 เท่า ทั้งปลูกถั่วฟักยาว พริก มะเขือ คนในหมู่บ้าน โดยรายได้หลักตอนนี้มีพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ คือ “ถั่วพุ่ม” ปลูกส่งออกประเทศญี่ปุ่น สร้างรายได้ เกิดการจ้างงานคนนอกหมู่บ้านมาช่วยเก็บเกี่ยว

นอกจากนี้ ยังมีถั่วแระ ข้าวโพดหวาน และผักกาดหวานเขียวงาม ขายได้ราคาดีกว่าตอนปลูกอย่างขาดน้ำ รวมถึงขยายผลปลูกไม้ยืนต้น เช่น เงาะ ทุเรียน จัดพื้นที่ทำเกษตรตามความสูงพื้นที่ใช้น้ำให้คุ้มค่าที่สุด สามารถทำการเกษตรทั้งปี มีรายได้ตลอดทั้งปี ทำให้รายได้เข้าหมู่บ้านสุทธิปีละกว่า 10-20 ล้านบาท

161588829821

“ตอนนี้ คนในหมู่บ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เห็นได้จากคนในชุมชน มีการปลูกพืชหมุนเวียน เก็บขายแต่ละวันได้ มีเงินส่งลูกหลานไปเรียนในจังหวัดลำปาง  มีเงินใช้ไม่ขาดมือ เป็นความสุขและสามัคคีอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ลูกหลานที่เคยไปทำงานต่างถิ่น ก็กลับมาอยู่บ้าน”

“ปัจจุบัน ในชุมชนมีคนอยู่รวมกัน 3 รุ่น คือ ปู่ย่า พ่อแม่ และลูก ความอบอุ่นของครอบครัวก็กลับมา เพราะมีงาน มีอาชีพยั่งยืน คนที่ไม่มีงานทำก็กลับมาทำได้ เพราะเรามีน้ำ” มานพ กล่าวทิ้งท้าย