ครึ่งก้าวของ...น่านแซนด์บ๊อกซ์

ครึ่งก้าวของ...น่านแซนด์บ๊อกซ์

ถอดรหัส “ครึ่งก้าว” ของการทำงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของ “น่านแซนด์บ๊อกซ์” ในวันที่โจทย์ของป่าน่านก็กำลังเปลี่ยนไปด้วย

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ที่ “ป่าน่าน” กลายเป็นป่าชื่อดังอีกผืนหนึ่งของประเทศไทยจากการถูกถากหายไปกว่า 1.8 ล้านไร่ จนกลายเป็น “รอยแผลเป็น” และจุดกระแสอนุรักษ์ป่าให้สังคมตื่นตัวกันอยู่พักใหญ่ ถึงวันนี้ 5 ปีผ่านไป การไม่ได้ปรากฏบนพื้นที่สื่อ ก็ไม่ได้แปลว่า แผลเป็นของป่าน่านนั้นจะเลือนหายไปตามกาลเวลา

ความสูญเสียพื้นที่ป่า ปีละ 2.5 แสนไร่ ที่สร้างผลกระทบให้กับป่ากว่า 4.5 ล้านไร่กลายเป็นโจทย์ “คณิตศาสตร์ง่ายๆ” ของ บัณฑูร ล่ำซำ หัวเรือใหญ่ฟากเอกชนที่เข้ามารับหน้าเสื่อในงานฟื้นฟู และแก้ปัญหาป่าแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เจ้าตัวได้รับมา 

โดยมี ที่ทำกิน วิถีการทำมาหากินที่ถูกต้อง รวมทั้งข้อกฎหมายบางประการเพื่อนำไปสู่การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยอย่างเพียงพอ เป็นเป้าหมายหลักของภารกิจนี้

การทดลองปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเชิงพื้นที่ หรือ น่านแซนด์บ๊อกซ์ หรือ นซบ. (NAN Sandbox) จึงเกิดขึ้นในปี 2561 โดยมีสมการ 72-18-10 เป็นสูตรในการแก้ปัญหา 

image2 (1)

72 เปอร์เซ็นต์ สำหรับ พื้นที่ป่าสงวนในปัจจุบัน ที่จะต้องช่วยรักษาป่าต้นน้ำผืนนี้ให้คงอยู่ตลอดไป

18 เปอร์เซ็นต์ สำหรับ พื้นที่ทำกินในเขตป่าที่รัฐจะอนุญาตให้เกษตรกรปลูก “พืชเศรษฐกิจ” ใต้ร่มไม้ใหญ่ในพื้นที่ส่วนนี้ได้

10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับ พื้นที่ที่จัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้เต็มที่ แต่ยังคงเป็นเขตป่าสงวนโดยกฎหมาย

“เทียบบันได 10 ขั้น ถึงวันนี้เดินไปได้กี่ขั้นแล้ว” คำถามหนึ่งถูกตั้งขึ้นในวงสนทนาบางช่วงของงานประชุมผู้นำชุมชน 99 ตำบลความคืบหน้าการแก้ปัญหาป่าน่าน “น่านแซนด์บ๊อกซ์” ที่บ้านเจ้าสัวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

“ครึ่งขั้น” เจ้าบ้านตอบเสียงดังฟังชัด 

เมื่อ “การปลูกให้เสร็จ" กับ "การปลูกให้สำเร็จ" นั้นต่างกัน โดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำน่านที่มีปัจจัยแวดล้อมค่อนข้างซับซ้อน และเรื้อรังตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา “ครึ่งขั้น” ในความหมายของการแก้ปัญหาจึงมีมากกว่าความคืบหน้าเท่าที่ตาเห็น

IMG_0038

ครึ่งขั้นก้าวของป่าทดลอง

 "ขั้นต้นต้องตกลงกันก่อนโดยจะต้องไม่มีใครผิดกฎหมายอีกต่อไปเซ็ตซีโร่ และเริ่มต้นใหม่ ตกลงกันให้ได้" นั่นคือสิ่งที่ถูกหมายมั่นปั้นมือเอาไว้ตั้งแต่เริ่มนับหนึ่งของโครงการเมื่อปีที่แล้ว 

การ “ล้างไพ่” เพื่อนำไปสู่ข้อมูลเอกสารชุดเดียวกันของทั้ง ชาวบ้าน - รัฐ - ฝ่ายความมั่นคง โดยแต่ละตำบลจะต้องทำตัวเลขสถานการณ์ตัวเองเพื่อนำไปสู่การจัดสรรพื้นที่ และสร้าง “มูลค่าสูงสุด” ภายใต้เขตพื้นที่ที่กำหนด

“วันนี้เราสามารถบรรลุข้อตกลงในการแก้ปัญหาป่าต้นน้ำน่านแล้ว” เขาเทียบเคียงความคืบหน้าของภารกิจอนุรักษ์ป่าน่านหลังจากเปิดตัวเสนอแนวคิดของโครงการไปได้ 1 ปี 

DSC_3714

รูปธรรมของการบรรลุ “ข้อตกลง” สำหรับป่าน่านก็คือ มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบาย และกำกับดูแลอย่างเป็นกิจลักษณะ มีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานกรรมการ และคณะกรรมการดำเนินงาน พื้นที่จังหวัดน่าน โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการภาครัฐ บัณฑูร ลํ่าซำ เป็นประธานกรรมการภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นรองประธานกรรมการ และคณะกรรมการอีก 23 คน ร่วมด้วยอนุกรรมการด้านจัดทำชุดข้อมูลและแผนที่ และอนุกรรมการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ 

ทั้งหมดได้เข้ามาทำหน้าที่ บริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษ เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“ถ้ารัฐกับประชาชนร่วมมือกันไม่ได้ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้” เป็นความท้าทายที่ตัวเขาพยายามบอกเล่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าความร่วมมือที่เจ้าตัวคาดหวังเอาไว้จะเกิดขึ้นแล้ว เมื่อ “พื้นที่ทำกิน” ในกรอบของกฎหมายนั้นต่างเป็นที่ยอมรับบนโต๊ะเจรจา

DSC_3739

เรื่องนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเล่าถึงความคืบหน้าของการพิจารณาข้อกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อหาจุดร่วมที่เหมาะสมในการที่คนจะอยู่กับป่าต่อไปในอนาคต

“อย่าเพิ่งพูดว่าใครได้เท่าไหร่นะครับ อยากให้มองถึงเรื่องของการมีสิทธิทำกินเพื่อนำไปสู่การอยู่รอด และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นให้ได้ก่อน วันนี้ เรื่องโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังเข้าไม่ถึงในหลายจุดก็กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาดู รวมทั้งในแง่ของกฎหมายที่จะทำให้คนอยู่กับป่าได้แบบไหน อย่างไร”

หลังจากได้ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ทำกินในเขตป่าทั้งจังหวัด ตัวเลขการคืนป่าบางส่วนเพื่อปลูกกลับคืนเป็นต้นไม้ใหญ่ และความต้องการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำไปสู่การดำเนินการด้านนโยบาย และกำกับดูแลในเรื่องของสิทธิทำกินแล้ว สิ่งที่ต้องมองต่อไปในปีหน้าก็คือ แหล่งเงินสนับสนุน

เม็ดเงินที่จะมาช่วยในเรื่องของการหยุดการตัดป่า ชะลอไร่อุตสาหกรรม เตรียมพืชทางเลือก ฟื้นฟูสภาพดิน แหล่งน้ำ และป่าเสื่อมโทรม ชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการระดมความรู้จากศาสตร์ทุกแขนงเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะเป็นผู้พิจารณาจัดสรร โดยพิจารณาประกอบกับคู่มือชุมชน ที่แจกไปยังทุกครัวเรือนใน 99 ตำบลเรียบร้อยแล้ว คู่มือนี้จะเก็บรายละเอียดพื้นที่ ปัญหา การทำกิน และอื่นๆ ทั้งหมด

timeline_20190202_091944_0

เนื่องด้วยงบประมาณในส่วนนี้หากอยู่ในกลไกของภาครัฐจะเกิดความยุ่งยาก และล่าช้าทั้งในแง่ของการเบิกจ่าย หรือการติดตามผลสัมฤทธิ์ งบดังกล่าวจึงถูกมองไปที่การระดมทุนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศผ่านมูลนิธิรักษ์ป่าน่านที่กำลังจะได้เห็นกันในเร็ววันนี้

“การที่จะให้คนหรือประชาชนเปลี่ยนวิถีการทำมาหากินดั้งเดิมมาเป็นปลูกพืชใหม่ๆ มันต้องมีปัจจัยเรื่องเงินเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เปลี่ยนผ่าน ถ้าไม่มีปัจจัยด้านนี้ชดเชยให้ เขาก็เลิกวิถีทำกินแบบเดิมไม่ได้ นี่คือความจริง" บัณฑูรยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่น   

โจทย์แก้ป่าที่เปลี่ยนไป

“พื้นที่ต้นแบบการแก้ปัญหาป่าอย่างยั่งยืน” วันนี้ได้กลายเป็นคอนเซปต์สำคัญที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงป่าน่านไปแล้ว 

นี่จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญอีกหนสำหรับป่าต้นน้ำน่านนับตั้งแต่ที่มีการเปิดเผยตัวเลข และปัจจัยอันซับซ้อนของปัญหาการรุกป่าที่มีมากว่า 6 ทศวรรษ 

ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นแนวเขาสูง มีที่ราบอยู่ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มประชากรที่กระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ทั้งที่มีการจัดสรรมาตั้งแต่ก่อนประกาศเขตป่าสงวน และปัญหาปากท้องที่เชื่อมโยงกับการรุกคืบของเกษตรอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ปริมาณต้นไม้ของน่านลดลงอย่างต่อเนื่อง และยิ่งลดอย่างก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีให้หลัง 

S__156442627

โดยเฉพาะ “ข้าวโพด” แกนหลักในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 4.6 แสนล้านบาทในแต่ละปีให้กับคนน่าน

หรือแม้แต่ “พื้นที่ทำกิน” ที่เหลือเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนน่านมีอยู่ราว 4.7 แสนคนตามทะเบียนราษฏร์ พอๆ กับ พะเยา บึงกาฬ ปราจีนบุรี หรือแม้แต่ กระบี่ จึงทำให้สมการเรื่องความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ทำกินกลายเป็นคำถามที่ยังไม่มีใครตอบมาจนถึงทุกวันนี้ 

หรือข้อสังเกตถึงปริมาณป่ากว่าร้อยละ 61 ที่เกินกำหนดของนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศมีป่าร้อยละ 40 จนทำให้ป่าน่านกลายเป็น “จำเลยสังคม” ในมุมของการอนุรักษ์ป่าทั้งที่จริงๆ แล้วที่นี่มีความหนาแน่นของป่าเป็นอันดับ 7 ของประเทศเท่านั้น 

จะเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนอยู่ในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ของประเทศไทย เหมือนอย่างที่หลายๆ จังหวัดในภาคเหนือตอนบนโดน หรือตัวเลข 1.8 ล้านไร่ของป่าที่หายไปก็ยังคงปรากฎบนกระดาษรายงานก็ตาม

image1 (3)

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พื้นที่ต้นแบบ” ได้กลายเป็นโจทย์ใหม่ (และใหญ่) สำหรับป่าน่านไปแล้ว 

แน่นอนว่า ทุกอย่างล้วนเต็มไปด้วยความท้าทายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับ “ข้อมูล” ในพื้นที่ ซึ่งหลายตำบลยังคงมีความกังวลในประเด็นการเว้าแหว่งไปของอาณาเขต หรือ ขนาดพื้นที่ที่ไม่เท่ากัน อีกทั้งยังมีเรื่องของความชัดเจนในสัดส่วนของที่อยู่อาศัย ซึ่งตัวแทนชาวบ้านหลายกลุ่มก็ยังเป็นห่วงอยู่  

ยังไม่นับกลุ่มอิทธิพลที่ถือครองพื้นที่ส่วนใหญ่ อย่างที่ ต.ผาสิงห์ ที่ทำกินกว่า 4.5 หมื่นไร่ถูกจับจองโดย 3 ตระกูลใหญ่จาก น่าน หนองคาย และกรุงเทพมหานคร โดยเหลือให้ชาวบ้านได้ใช้สอยเพียง 5 พันไร่เท่านั้น  

หรือแม้แต่เรื่องของรายได้ที่ว่า จะปลูกอะไร และปลูกอย่างไรเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในพื้นที่สูงที่สุด ซึ่งก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนแม้แต่ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่เองก็ตาม

เมื่อคำตอบสุดท้ายคือ “พื้นที่ต้นแบบในการแก้ปัญหาป่าอย่างยั่งยืน” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย ความก้าวหน้าของโครงการ-การก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคจึงล้วนอยู่ในความสนใจของสังคมอย่างยิ่ง