อนุรักษ์ป่าชายเลนธรรมชาติ ฟื้นฟูระบบนิเวศ อย่างยั่งยืน
มีการคาดการณ์ว่าในอีก 80 ปีข้างหน้า หากบริเวณอ่าวไทยตอนบนยังมีการใช้ประโยชน์ที่ดินชายฝั่งกันอยู่อย่างในปัจจุบัน อนาคตจะไม่มีพื้นที่ให้ป่าชายเลนขึ้นอีกต่อไป ดังนั้น การรักษา “ป่าชายเลนธรรมชาติ” ให้สมบูรณ์มากที่สุด จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบนิเวศชายฝั่ง
ข้อมูล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม ในปี 2561 พบว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่ "ป่าชายเลน" ราว 1.5 ล้านไร่ ครอบคลุม 24 จังหวัดชายฝั่ง
ล่าสุด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA แปลภาพถ่ายดาวเทียมใหม่พบว่า ปัจจุบัน เนื้อที่ป่าชายเลนน่าจะอยู่ที่ราว 1.7 ล้านไร่ นั้นอาจบ่งชี้ว่าหยุดการทำลายและยึดคืนพื้นที่ได้มากขึ้น รวมทั้งปลูกฟื้นฟู ปลูกเพิ่มโดยประชาชน ชุมชน หรือองค์กรเอกชน ขณะที่ภาครัฐเองก็พยายามฟื้นฟูพื้นที่กลับมา
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ต้องระวัง เนื่องจากคนทั่วไปอาจจะมองว่าเนื้อที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นได้เพราะปลูกขึ้นมาใหม่ได้ และลดความสนใจการดูแลรักษา เกิดช่องโหว่ให้ทำลายป่าชายเลนธรรมชาติ ทั้งนี้ ป่าชายเลนในประเทศไทยส่วนใหญ่มีสถานะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ยกเว้นบางพื้นที่ใช้ในเชิงเศรษฐกิจ เช่น ที่บ้านยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนใช้ประโยชน์ได้
“ผศ.ดร.ออ พรานไชย” อาจารย์ประจำภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า การอนุรักษ์ที่ถูกต้อง คือ มีบางส่วนอนุรักษ์ และบางส่วนใช้ประโยชน์ เพราะพอใช้ประโยชน์จะเห็นความสำคัญและดูแลรักษาให้ดีขึ้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องระวังและรักษา “ป่าชายเลนธรรมชาติ” หมายถึง ให้มีพื้นที่กว้างต่อเนื่อง มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ หลายชั้นเรือนยอด ต้นไม้อายุมาก โดยในไทยป่าชายเลนธรรมชาติที่สมบูรณ์ส่วนใหญ่อยู่บริเวณฝั่งอันดามัน ขณะที่ “ป่าชายเลนปลูกใหม่ที่อายุน้อย” ส่วนใหญ่จะปลูกเป็นลักษณะสวนป่า คือ ปลูกไม้น้อยชนิด เป็นแถวเป็นแนว
“ป่าชายเลน ถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งป่าธรรมชาติกับป่าปลูก มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนฯ แตกต่างกัน ป่าธรรมชาติที่มีอายุมากจะกักเก็บคาร์บอนทั้งในส่วนเหนือดิน ใต้ดิน และในดินอย่างยั่งยืนและยาวนาน แต่หากป่าธรรมชาติถูกทำลายจะทำให้คาร์บอนที่กักเก็บไว้ถูกปล่อยออกมา เป็นประเด็นว่าทำไมต้องอย่าลืมว่าพื้นที่ป่าชายเลนอาจจะดูเหมือนปลูกทดแทนได้ แต่ป่าอนุรักษ์ที่มีอยู่ต้องคงไว้เพราะมีประโยชน์มหาศาล”
ทั้งนี้ สิ่งที่คนมักจะเข้าใจผิด (misconception) คือ คิดว่าต้นไม้ป่าชายเลนช่วยดักจับตะกอน หรือช่วยสร้างแผ่นดินให้งอกออกไปได้ จึงนิยมปลูกกล้าไม้ป่าชายเลนบริเวณหาดเลนงอกใหม่ (ซึ่งบริเวณนั้นอยู่ต่ำกว่าระดับทะเลปานกลาง) หวังให้กล้าไม้ป่าชายเลนต้นเล็กๆ ช่วยดักจับตะกอน สร้างแผ่นดินขึ้นมา
“ผศ.ดร.ออ” อธิบายว่า ความจริงแล้ว ต้นไม้ป่าชายเลนมาทีหลัง กล่าวคือ ในบริเวณที่มีการตกตะกอนมาระยะหนึ่งจนบริเวณนั้นมีความสูงเหนือระดับทะเลปานกลาง แล้วมีเมล็ดหรือฝักของพรรณไม้ป่าชายเลนลอยมาติดอยู่และสามารถตั้งตัวและเติบโตได้ ต้นไม้ป่าชายเลนนั้นจึงจะทำหน้าที่ช่วยทำให้ตะกอนเสถียร (stabilize) ไม่หลุดลอยไปกับกระแสน้ำ แต่เมื่อต้นไม้ป่าชายเลนล้มตายลง จะเป็นผลให้ดินตะกอนเหล่านั้นหลุดลอยไปกับกระแสน้ำ
“เมื่อคนเข้าใจผิดคิดว่าไม้ป่าชายเลนเติบโตได้ในบริเวณหาดเลนงอกใหม่ จึงมีความพยายามปลูกกล้าไม้ป่าชายเลนในบริเวณนั้น ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ต่ำกว่าระดับทะเลปานกลาง เป็นผลทำให้กล้าไม้เหล่านั้นถูกน้ำท่วมสูงอยู่ตลอดเวลา ยากที่จะอยู่รอดและเติบโตได้ ขณะเดียวกัน การฟื้นฟูป่าชายเลนควรให้เป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน (Mangrove Ecological Restoration)” ทั้งระบบ ไม่ใช่ฟื้นฟูเฉพาะการปลูกกล้าไม้ป่าชายเลนเข้าไป"
ผศ.ดร. ออ กล่าวต่อไปว่า การฟื้นฟูป่าชายเลนไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการปลูกด้วยฝักหรือกล้าไม้เสมอไป แต่ควรทำการฟื้นฟูลักษณะทางอุทกวิทยาของพื้นที่ (Hydrological Restoration) ทำทางให้น้ำเข้าออกขึ้นลงได้เป็นปกติ ต้องทำให้มีสภาพเหมือนในธรรมชาติ ถ้ามีคันดินกั้นอยู่ต้องทะลายคันดินหรือฝังท่อ ทำทางให้น้ำเข้าออก ขึ้นลง ได้ ไม่ให้มีน้ำขังตลอดเวลา และหากในบริเวณใกล้เคียงมีพรรณไม้ป่าชายเลนขึ้นอยู่ พรรณไม้เหล่านั้น เมื่อออกดอก ออกผล เมล็ดหรือฝักของพรรณไม้ป่าชายเลนนั้นก็จะลอยตามน้ำเข้ามาและเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งตัวเองได้
“หากต้องการฟื้นฟูจริงๆ บริเวณใดที่อยู่ต่ำกว่าระดับทะเลปานกลาง อาจจะมีการทำกองดินให้สูงขึ้นกว่าระดับทะเลปานกลาง เพื่อไม่ให้ถูกน้ำท่วมตลอดเวลา หรือบริเวณใดอยู่สูงเกินไป น้ำท่วมไม่ถึง ก็อาจจะมีการขุดดินออก ทำให้ระดับดินต่ำลงมา ให้มีน้ำท่วมถึงบ้างเป็นครั้งคราว”
ขณะเดียวกัน ในอีก 80 ปี ข้างหน้า มีการประมาณการณ์ว่าน้ำทะเลจะท่วมสูงขึ้นประมาณ 60 ซม. เพราะฉะนั้นจะมีพื้นที่ป่าชายเลนบางส่วนที่มีอยู่ในปัจจุบันจมน้ำหายไป และหากบริเวณอ่าวไทยตอนบน ยังมีการใช้ประโยชน์ที่ดินชายฝั่งกันอยู่อย่างในปัจจุบัน คือ นากุ้ง นาเกลือ ที่อยู่อาศัย อนาคตจะไม่มีพื้นที่ให้ป่าชายเลนขึ้นอยู่อีกต่อไป
ผศ.ดร. ออ กล่าวต่อไปว่า น้ำทะเลจะค่อยๆ ท่วมสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน ถึงแม้วันนี้เราทุกคนจะหยุดใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล แต่การท่วมสูงของน้ำทะเลก็จะไม่มีวันหยุด เพราะผลกระทบที่เกิดจากการสะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน ได้ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย ปริมาณน้ำมากขึ้น
“ดังนั้น เราควรจะต้องปรับตัวให้อยู่ได้ในภาวะนั้นๆ ป่าชายเลนก็เช่นกัน หากมีระยะเวลายาวนานพอให้พรรณไม้และสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลนปรับตัว อพยพ หรือพูดภาษาชาวบ้านคือ หนีได้ทัน ก็จะยังคงมีป่าชายเลนเหลืออยู่ แต่หากภัยพิบัตินั้นมาเร็วเกินคาดคิด พรรณไม้และสิ่งมีชีวิตอาจจะปรับตัวไม่ทัน ก็ต้องสูญหายไป ซึ่งตอนนี้เราทราบเพียงว่า หากน้ำทะเลท่วมสูงขึ้นไม่เกิน 7 มิลลิเมตรต่อปี พรรณไม้และสิ่งมีชีวิตต่างๆ อาจปรับตัวได้ทัน แต่ถ้าน้ำทะเลท่วมสูงขึ้นมากกว่านั้น ไม่ทันแน่ๆ” ผศ.ดร.ออ กล่าว
- อนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างถูกวิธี
สำหรับการปลูก "ฟื้นฟูป่าชายเลน" ควรดำเนินการอย่างระมัดระวังและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพรรณไม้ตามธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ก่อน เช่น การนำกล้าไม้โกงกางไปปลูกในบริเวณที่เป็นป่าแสม การเดินนำกล้าไม้เข้าไปปลูกโดยคนจำนวนมากเป็นการรบกวนระบบรากของไม้แสมที่ขึ้นอยู่ก่อนแล้วในบริเวณนั้น ส่งผลต่อการหาน้ำ อาหาร และออกซิเจน ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการทางสรีรวิทยาและการเติบโต
นอกจากนี้ มีหลายวิธีที่สามารถมีส่วนร่วมในการ "อนุรักษ์ป่าชายเลน" ได้ วิธีแรก คือ ปลูกต้นไม้ป่าชายเลนในพื้นที่ของตนเอง ถัดมา คือ การรักษา "ป่าชายเลนธรรมชาติ" ให้มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ และการเก็บขยะจำนวนมากที่ลอยเข้ามาในป่าชายเลนก็เป็นการช่วยให้กล้าไม้ป่าชายเลนต้นเล็กๆ สามารถเติบโตได้โดยธรรมชาติ รวมถึงลดผลกระทบจากสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่ง เช่น การสร้างถนนที่ยื่นออกไปบริเวณชายฝั่ง ส่งผลให้เกิดตะกอนปริมาณมหาศาล ซึ่งหากตะกอนเหล่านี้ไปตกในบริเวณพื้นที่ป่าชายเลน จะเป็นผลให้ไม้ป่าชายเลนตายลงได้
ลดผลกระทบจากน้ำทิ้งที่มีธาตุอาหารเกินที่ไหลลงสู่ทะเลและบริเวณชายฝั่ง เพราะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลน ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้หรือสัตว์ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในระบบนิเวศ และให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการวางแผนการบริหารจัดการดูแลพื้นที่ เพื่อการบริหารจัดการที่ยั่งยืน (Participatory Mangrove Management Planning)