มากกว่า "เต้นรูดเสา" ที่ "พัฒน์พงศ์มิวเซียม"
"พัฒน์พงศ์" ไม่ได้มีแค่บาร์อะโกโก้ หรือ เต้นรูดเสา แต่ยังมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่หลายคนไม่รู้ เคยเป็นที่ทำงานของซีไอเอที่แฝงตัวอยู่ในบาร์ และเป็นศูนย์รวมความเจริญ แต่วันนี้พัฒน์พงศ์เงียบเหงา จนน่าเป็นห่วง
หลายคนอาจไม่รู้ว่า พัฒน์พงศ์มีพิพิธภัณฑ์ด้วยหรือ.... เราเดินเข้าไปในตึกหลังหนึ่ง ที่อยู่ตรงข้ามกับ Foodland ขึ้นไปชั้น 2 ที่เต็มไปด้วยแสงสี นี่คือ พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ หรือ PATPONG MUSEUM
เมื่อก้าวผ่านกรอบประตูไม้วงกลมสไตล์จีน ด้านบนเพดานมีหางมังกรสีแดงโค้งลงมาดูลึกลับ ก่อนจะเข้าไปเจอหัวมังกรที่กลางห้อง ในพื้นที่ตรงนั้นมีโซนต่างๆ ด่านแรก คือ แผนที่กรุงเทพฯโบราณขนาดใหญ่
- พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์
โซนตรงกลาง มีโมเดลจำลองตึกพัฒน์พงศ์ในอดีต มี QR Code ติดไว้ให้สแกนดูรายละเอียดดูมุมมองภายในตึกได้แบบ 3D มีโต๊ะทำงาน CIA, มีหนังสือการ์ตูนต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ CIA เขียนให้คนไทยอ่าน,
มีตู้โทรศัพท์ต่อสายไปต่างประเทศได้เลย ไม่ต้องไปที่ชุมสายของโรงแรมพลาซ่า, มีรูปถนนพัฒน์พงศ์เมื่อปี ค.ศ.1950-1960 ที่ประมูลมาจากอเมริกา และรูปภาพ CIA กำลังนั่งประชุมในร้านอาหาร และห้องฉายหนังสารคดี
นอกจากนี้ยังมี Hall of Fame ภาพเงาคนดังที่เคยมาพัฒน์พงศ์ และเมื่อยกแท็บเล็ตขึ้นมาส่อง เงาจะปรากฎภาพจริงเป็น Willem Dafoe, Dean Barret, Hugh Grant, Ryan Gosling, David Bowie และ Kendell Jenner ที่เคยมาดูโชว์ปิงปอง แล้วไม่แฮปปี้กลับไป เพราะลูกปิงปองกระเด็นใส่หน้า
ส่วนป้ายภัตตาคาร มิสุ เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งแรกในเมืองไทยของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่อยู่เมืองไทยจนเสียชีวิตเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว และป้าย Superstar Disco ไนท์คลับชื่อดังปิดกิจการแล้วที่ David Bowie เคยมาถ่ายทำ มีโซนประวัติที่มาบาร์อะโกโก้แห่งแรกเกิดขึ้นที่เมืองไทย
รวมถึงบาร์จำลองยุค70 ที่มีบริการเครื่องดื่ม มีภาพเคลื่อนไหวคนเต้นอะโกโก้หุ่นไม่ผอมบางเหมือนสมัยนี้ มีห้องรวมภาพ Sex Worker และโชว์ต่างๆ ไฮไลท์ คือ ปิงปองโชว์ ที่เราได้มีส่วนร่วมด้วย ปิดท้ายด้วยภาพวาดพอร์ทเทรตสีน้ำผู้คนในย่านนี้ โดย ตะวัน วัตุยา
อภิรดี จันทนางกูล ผู้จัดการ พัฒน์พงศ์มิวเซียม เล่าว่า พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์เปิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2562 เปิดได้ 4 เดือนครึ่ง ก็เกิดการระบาดโควิดรอบแรก ทำให้ต้องปิด แล้วก็เปิดบริการใหม่
“เจ้าของพิพิธภัณฑ์เป็นชาวออสเตรีย คุณไมเคิล เมสเนอร์ (Michael Messner) พ่อของเขาเป็นศิลปินมีชื่อเสียง มีมิวเซียมของตัวเองที่เวียนนา เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทยกว่า 20 ปี มีครอบครัวและลูกอยู่เมืองไทย มีความชอบพัฒน์พงศ์ และรักเมืองไทยมาก ชอบสะสมของเก่า จึงเปิดเป็นมิวเซียมพัฒน์พงศ์ คนที่มาส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ 70 %
ที่นี่รวมประวัติศาสตร์ของพัฒน์พงศ์ไว้ทั้งหมด มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ไม่ค่อยมีคนรู้ เช่น พัฒน์พงศ์เกี่ยวข้องยังไงกับ SCG (ปูนซีเมนต์) จุดเริ่มต้นมาจากนายตุ้น แซ่พู่ คนจีนเสื่อผืนหมอนใบ มาจากไห่หนาน ประเทศจีน มาเป็นกรรมกรแบกหามในเมืองไทย จนเก็บเงินซื้อที่ดินแถวพัฒน์พงศ์ได้ในปี ค.ศ. 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
นายตุ้นใช้บ้านไม้สักที่เคยเป็นกองบัญชาการของทหารญุี่ปุ่นเป็นบ้านของตัวเอง และมองเห็นว่าทุกจังหวัดในเมืองไทยปลูกข้าว แต่จังหวัดสระบุรีไม่ค่อยมีข้าวปลูก จึงไปศึกษาพบว่าดินที่นั่นเป็นดินขาว จึงทำสัมปทานปูนซีเมนต์ส่งให้หลวง จนได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงพัฒน์พงศ์พานิช
จากนั้นส่งลูกชายคนที่ 4 ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษและอเมริกา อุดม พัฒน์พงศ์พานิช ก็ไปเข้าร่วมเสรีไทยและเข้าร่วม OSS (US Office of Strategic Services) หรือ CIA กลับมาเมืองไทยพร้อมกับ จิม ทอมป์สัน
จากนั้นเริ่มต้นสร้างอาคารพาณิชย์ที่พัฒน์พงศ์ และชวนเพื่อน CIA มาทำธุรกิจด้วยกัน จนมีบริษัท IBM, Shell, Caltex, Air America, Air France, Pan Am, สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ, โรงแรม Plaza Hotel ที่ทันสมัยที่สุด มีน้ำร้อน มีแอร์ มีตู้ต่อสายโทรศัพท์ไปต่างประเทศเอง
ตอนนั้น CIA ใช้ไทยเป็นฐานที่ตั้งต่อต้านคอมมิวนิสต์ในแถบนี้ มีนายพล Anthony Poshepny หรือ Tony Poe มาฝึกชาวม้งให้ต่อสู้กับลาวแดง” อภิรดี เล่า และบอกว่า
"คนส่วนใหญ่คิดว่าพัฒน์พงค์ คือ สถานที่อโคจร แต่หารู้ไหมว่า ที่นี่เป็นศูนย์รวมความเจริญในอดีต มีร้านอาหารญี่ปุ่นและร้านพิซซ่าแห่งแรกในเมืองไทย 50 ปีแล้วอยู่ยังไง ก็อยู่อย่างนั้น ชั้นบนเป็นเซฟเฮาส์ ข้างล่างมี CIA ระดับหัวกะทิ แต่งตัวเป็นนักธุรกิจ ใส่เชิ้ตขาวผูกเนคไท นั่งคุยกัน ใช้ที่นี่เป็นฐานทัพบัญชาการบอมบ์ลาวเป็นเวลา 9 ปี ในช่วงสงครามเวียดนาม
ตึกที่ตั้งพิพิธภัณฑ์เคยเป็นสำนักใหญ่ IBM South East Asia ถ้าไม่เกิดโควิดรอบสอง เดือนเมษายนนี้จะมีนักศึกษาจากธรรมศาสตร์และจุฬาฯมาชมมิวเซียมร้อยกว่าคน แต่ตอนนี้ยกเลิกหมด ถ้านับจำนวนบาร์ทั้งหมดในพัฒน์พงศ์มีประมาณ 50 บาร์ (ไม่รวมบาร์ชั้น 2 ที่มีโชว์ไม่เปิดเผย) ตอนนี้สามารถกลับมาเปิดได้แล้ว 20 เปอร์เซ็นต์” อภิรดีกล่าวถึง ภาพรวมของย่านแห่งนี้
- ลมหายใจคนพัฒน์พงศ์
ถ้าจะอยู่รอดในยุคเศรษฐกิจย่ำแย่ อภิรดี บอกว่า ต้องทำอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น ก่อนหน้าจัด Dark Museum รอบ 20.00 น.ปิดไฟหมดเลย มีไกด์เป็นคนฉายไฟ อธิบายทีละภาพ มีลูกทัวร์ตามมา อีกเรื่องหนึ่งที่ทำคือ จัด Walk Really และ Photo Contest ในพัฒน์พงศ์ มีคนสมัครมามากมายร้อยกว่าคน มีกรรมการมาตัดสินภาพ
"พอถึงช่วง Halloween ก็จัดบ้านผี เช่าตึก 4 ชั้นจำลองเป็นโรงแรมร้าง จ้างนักศึกษามาเป็นผี ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำงานอยู่รัชดาลัยเธียเตอร์มาแต่งให้ เคยมีเด็กจุฬาฯ ขึ้นไปดูถึงชั้น 4 แล้วเป็นลม ต้องแบกกันลงมา เพราะน่ากลัวมาก
เราประกาศว่าใครสามารถทำภารกิจนี้สำเร็จในคนเดียวจะได้ตั๋วมิวเซียมฟรี 1 ใบ ซึ่งไม่มีใครทำได้เลย มีผู้ชายเข้ามา 5 คน เข้าทีละคน ก็ไม่จบ กลับออกมาก่อน บอกว่า ผมไม่ไหว พี่น่ากลัว
กำลังคิดจะจัด Night At Museum เช็คอิน 21.00 น. พาไปดูบาร์แถวนี้ทั้งหมด แต่งชุดนอนมาเลยก็ได้ พาไปสัมผัสชีวิตกลางคืน บาร์เกย์ บาร์ซาดิสม์ บาร์อะโกโก้ แล้วพากลับมานอนในนี้
ตอนเช้าก็พาไป Breakfast ที่ร้านอาหารพิซซ่าแห่งแรกในเมืองไทย ที่เปิดมา 50 กว่าปีแล้วยังอยู่เหมือนเดิม แล้วเช็คเอาท์ 11.00 น. มีคนสนใจเยอะมาก แต่ยังไม่ได้จัด ต้องรอให้เขาเปิดเมืองมากกว่านี้ก่อน” อภิรดี เล่า และบอกว่า ที่นี่มักมีคนติดต่อมาขอสัมภาษณ์ Sex Worker อยู่บ่อยๆ
"มีอาจารย์จุฬาฯ คนหนึ่งมาขอสัมภาษณ์น้องที่ทำบาร์ซาดิสม์ บาร์นี้ไม่ใช่เด็กถูกกระทำนะ แต่แขกอยากถูกกระทำมากกว่า อยากเป็นสัตว์เลี้ยง ตอนน้องมาถึงก็เหนื่อยมาเลย เพิ่งไปตีลูกค้ามา
บอกว่าลูกค้าคนนี้ชอบให้ตี ปกติเฆี่ยน 300 ที แต่นี่แค่ 70 เอง เลือดออกตั้งแต่ 5 นาทีแรกแล้ว เขาชอบ แต่คนตีต้องมีความรู้ เพราะอันตราย ต้องรู้ว่าตรงไหนตีได้ ตีไม่ได้ แล้วก่อนตีก็ต้องให้เขาเซ็นหนังสือรับรองไว้ด้วย
ส่วนคำว่า เต้นรูดเสา ในเมืองไทย จะไม่เหมือนเมืองนอก ของเขาเหมือนยิมนาสติก เราเคยเปิดคลาสสอน Pole Dance (ศิลปะการเต้นโยกเสา รูดเสา) จ้างอาจารย์มาจากประเทศออสเตรเลีย
คนสนใจมาเรียนเยอะ ส่วนใหญ่เป็นสาวออฟฟิศ อยากลดความอ้วน ตอนนี้เต้นรูดเสากำลังจะเป็นกีฬาประเภทหนึ่งในโอลิมปิกแล้ว เป็นยิมนาสติกประเภทหนึ่งที่เซ็กซี่"
ล่าสุด อภิรดี บอกว่า กำลังจะจัด Street Art มีคนดังๆ ตกลงมาร่วมงาน ทั้ง Alex Face, Mue Bon ได้มาดูกำแพงและเลือกแล้วว่าใครจะวาดกำแพงไหน ของถนนพัฒน์พงศ์ทั้งสองเส้น เราได้ส่งโครงการนี้ไปให้ Patpong Co Ltd ดูมา 3 รอบแล้ว ตีกลับมาทั้ง 3 รอบ ไม่ผ่าน เพราะเขาต้องการดูร่างก่อนว่า ใครจะวาดอะไรตรงไหน ซึ่งศิลปินสตรีทอาร์ต บอกไม่ได้ว่าจะวาดอะไร มาถึงแล้วถึงจะวาด เขาก็เลยไม่เอา” อภิรดี กล่าว
- ความอยู่รอดของพัฒน์พงศ์
นอกจากนี้ เธอยังเล่าต่อว่า ช่วงโควิดระบาดรอบแรก บาร์ต่างๆ ปิด ไม่รู้ว่าจะนานเท่าไร เราปรับตัวไม่ถูกเลย และไม่คิดว่าจะนานขนาดนี้ เด็กๆ ทยอยกลับบ้าน ด้านล่างเรามีตู้ปันสุข คุณ Michael Messner เจ้าของพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ ที่มีบาร์หลายแห่ง ก็ทำอาหารแจกพนักงาน ถ้ารวมทุกบาร์ก็ 300-400 คน แค่บาร์อะโกโก้ มีเด็กเต้นก็ 100 คนแล้ว
"ช่วงโควิดระบาดรอบสอง เราจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปให้เด็ก ๆ Sex Worker มาทำงานศิลปะบนเสื้อยืด, หมวก, กระเป๋า, แก้วกาแฟ, ผ้ากันเปื้อน ใครอยากวาดอะไร ก็วาดออกมา ไม่บังคับ เพราะการมาที่นี่ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย เรามีอาหารกลางวันให้ ให้เขามาดูเทคนิคการทำ ถ้าเขามีไอเดียก็เอาไปทำขายออนไลน์ได้
มี Sex Worker คนหนึ่งอยากเอาหน้าอกทาสีแล้วแปะลงบนเสื้อยืด แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะมีรายการทีวี NHK มาถ่ายทำด้วย มันอาจจะดูอนาจารไปหน่อย งานศิลปะทุกชิ้นเริ่มต้นที่ 199 บาท มีสื่อมวลชนคนหนึ่งเห็นว่ามีชิ้นเดียวเลยให้มา 1,500 บาท เราเพิ่งจัดกิจกรรมแบบนี้ไปได้ครั้งเดียว
คนทำงานที่นี่ บางคนกลางวันทำงานอยู่บริษัทประกันฝั่งตรงข้าม พอตกกลางคืนข้ามถนนมาทำงานที่นี่ เพราะแค่เต้นแล้วก็นั่งคุย มีบางคนออกไปกับแขก แต่บางคนก็ไม่ออก ได้ค่าแรงต่อวันเมื่อก่อน 700-1200 บาทต่อคืน เดี๋ยวนี้ 250-300 บาทเอง
ส่วนตลาดกลางคืน (Night Market) ที่เคยมีมา 20 ปี เพิ่งเลิกไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ค่าเช่าเดือนละ 8 ล้านบาทช่วงโควิดเปิดไม่ได้ เสียค่าเช่าเดือนละ 3 ล้านกว่ามา 8 เดือน ตอนนี้เลยคืนพื้นที่ไป รวมถึงบาร์แถวนี้ก็คืนที่ไป
อย่างบาร์กามัวร์กับคอสโม ที่เปิดมา 30-40 ปีก็ต้องปิดไป ส่วนที่อยู่ก็ต้องสู้กันไป ส่วนมิวเซียม ปกติก็ขาดทุนทุกเดือน ค่าเช่าแพงมาก การจัดกิจกรรมช่วยเหลือ ก็ต้องหาสปอนเซอร์ ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีสปอนเซอร์เลย”
...................
Patpong Museam บัตรราคา 250 บาท รวมไกด์ 350 บาท (รวมเครื่องดื่ม) นักเรียนนักศึกษา 150 บาท เปิดวันเสาร์วันเดียว เวลา 12.00 น. ถึง 21.00 น. ที่อยู่ เลขที่ 5 ชั้น 2 ถนนพัฒน์พงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กทม. 10500 โทร. 091 887 6829 (ตรงข้ามกับ Foodland พัฒน์พงศ์) www.patpongmuseum.com