ปลูก 'กัญชา' บ้านละ 6 ต้น ฝันที่ไม่เป็นจริง

ปลูก 'กัญชา' บ้านละ 6 ต้น  ฝันที่ไม่เป็นจริง

"กัญชา" ยังเป็นของต้องห้าม การปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น จึงมีเงื่อนไขในภาคประชาชน เพราะเป็นธุรกิจที่มีผลประโยชน์มหาศาล เรื่องนี้'เดชา ศิริภัทร' มีคำตอบ และคำแนะนำการใช้น้ำมันกัญชาที่ถูกวิธี

“หกต้นอยู่ไหน เมื่อไหร่จะได้ปลูกเสรี”

“ต้องเข้าใจก่อนว่ากัญชาในระดับโลก ยังเป็นยาเสพติด ต้องปฎิบัติตามกติกาสากล”

“อยากให้ศึกษาการใช้ใบสด เพราะชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้ทุกคน การใช้น้ำมันกัญชาก็ดี แต่คนบ้านๆ คงไม่มีปัญญาซื้อ อยากให้ปลดล็อคกัญชา แต่ที่ผ่านมาทำเพื่อนายทุน”

......................

เหล่านี้คือ เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากภาคประชาชน

หลังจากมีกระแสข่าวว่า ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้บ้านละ 6 ต้น โดยต้องรวมตัวกัน 7 คนขึ้นไปในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน และทำสัญญาร่วมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานสาธารณสุข จะสามารถสร้างรายได้ให้ประชาชน

ล่าสุดมีวิสาหกิจชุมชนที่จังหวัดบุรีรัมย์เป็นตัวอย่าง เมื่อปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น สามารถนำผลผลิตส่งโรงพยาบาลทำยา และชิ้นส่วนต่างๆ นำมาทำอาหาร เครื่องสำอาง และแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อสร้างรายได้

เรื่องนี้ เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวบ้านและหมอพื้นบ้าน จ.สุพรรณบุรี ที่สู้เรื่องกัญชาและทำน้ำมันกัญชาแจกประชาชนมาหลายปี เล่าว่า เป็นแนวคิดที่เอามาจากแคลิฟอร์เนียโมเดล ซึ่งจริงๆ แล้วกฎหมายไม่ได้เอื้อให้ปลูกได้ 6 ต้น แต่เอื้อแค่การทำยารักษาโรค  

ที่ผ่านมากฎหมายเรื่องนี้ ผ่อนปรนให้ใช้กัญชาทำเป็นยาได้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี2562 แต่ถ้าจะปลูกแบบเสรี จะต้องรอให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาในวันที่ 7-8 เมษายน 2564

“ที่บุรีรัมย์ให้ปลูก 6 ต้น แค่บางหมู่บ้านเท่านั้น ต้องให้หน่วยราชการเป็นต้นเรื่อง เรื่องนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย แม้จะทำเป็นโครงการนำร่อง แต่ส่วนใหญ่หน่วยงานราชการกำกับดูแล และปลูกเอง และเมื่อให้ชาวบ้านรวมตัวกันปลูก ทางโรงพยาบาลตำบล ต้องรับซื้อคืน ประชาชนใช้ได้เฉพาะใบ ต้น ราก ส่วนดอกกัญชา ประชาชนใช้ไม่ได้ แล้วจะเรียกว่าปลูก 6 ต้นแบบเสรีได้ยังไง

ส่วนบริษัทใหญ่ที่จะทำเรื่องกัญชาก็ต้องพึ่งพิงหน่วยงานราชการ ปลูกเองไม่ได้ กฎหมายไม่อนุญาตให้ประชาชนปลูกในช่วง 5 ปีนี้(ปี 2562-2567 ) แคลิฟอร์เนียโมเดลที่เป็นต้นแบบ ไม่ได้ทำแบบนี้ โมเดลที่พวกเขาทำคือให้ชาวบ้านมีสิทธิปลูกได้ 6 ต้นตามกฎหมายและใช้ได้ แต่คนไทยไม่มีสิทธิทำแบบนั้น” เดชา เล่า

    

  • หมอพื้นบ้านยังปลูกกัญชาไม่ได้

หากจะพัฒนากัญชาให้เป็นยา หมอพื้นบ้านเช่นเดชา ยกตัวอย่างสิ่งที่เขาทำว่า

ทั้งๆ ที่เป็นหมอพื้นบ้าน เคยอบรมมาเยอะ  มีตำรับยา ยังไม่สามารถปลูกกัญชาสักต้นเลย แล้วประชาชนจะปลูกได้อย่างไร ถ้าเป็นหมอก็ต้องมีสิทธิปลูกกัญชา แล้วจะเอากัญชาที่ไหนมาทำยา แล้วทำไมคนป่วยปลูกกัญชาไม่ได้

“คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ เพิ่งรับเรื่องนี้ไว้ ประชุมกันหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่า ถ้ามีเหตุผลที่จะปลูกต้องปลูกได้ มตินี้ผ่านคณะกรรมาธิการแล้ว ครม.อนุมัติแล้ววันที่ 4 เดือนสิงหาคมปี 2563

คาดว่าจะเข้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวันที่ 7-8 เมษายน 2564  ถ้าผ่านออกมาเป็นกฎหมาย ประชาชนก็จะปลูกได้ โดยไม่ต้องผ่านหน่วยราชการ

ถ้าผ่านการพิจารณายินยอมแล้ว การปลูกกัญชาต้องเป็นไปตามเหตุผล อย่างผมเป็นหมอพื้นบ้าน ผมจะปลูกได้ตามจำนวนที่คนไข้ผมต้องใช้ ไม่ใช่ว่าปลูกได้บ้านละ 6 ต้น ถ้าประชาชนปลูกเพื่อใช้ทำยา ก็ควรทำได้

แต่ถ้าปลูกเพื่อสันทนาการ 6 ต้นทำไม่ได้ รอมา 7 เดือนก็รอการแก้ไขอีก อยากให้ประชาชนปลูกได้ โดยไม่ต้องรอหน่วยราชการ และไม่ต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน ปลูกได้ตามสิทธิของประชาชน ต้องดูเหตุผลในการใช้ด้วย

หรือคนป่วยที่ต้องใช้กัญชารักษา ต้องสามารถปลูกได้ด้วย หรือต้องมีคนมาขอซื้อถึงจะปลูกได้ ต้องมีสัญญาตามกฎหมาย แต่เสพไม่ได้ เวลาจะปลูกต้องมีเงื่อนไข ที่สำคัญคือ คนที่ตัดสินใจคือ นักการเมือง จะให้หน่วยงานไหน บริษัทใหญ่ๆ ไหนทำก็ได้ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่มีสิทธิใดๆ ”

   

  • พัฒนาน้ำมันกัญชา

ส่วนในเรื่องน้ำมันกัญชาสูตรเดชา มีการแจกจ่ายและใช้อย่างแพร่หลาย จนพัฒนาสู่การศึกษาวิจัยในโรงพยาบาล เครือข่ายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 22 แห่ง และผลการวิจัยที่ทางทีมผู้เชี่ยวชาญจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิเคราะห์ ได้ผ่านเข้าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ยังไม่แจกจ่าย เพราะอยู่ในขั้นตอนผลิต สามารถรักษาได้ 3 โรคคือ ไมเกรน มะเร็ง และพาร์กินสัน

เดชา บอกว่าภายในปีนี้คงได้แจกจ่ายในโครงการนี้ ถ้าไม่ใช่สามโรคที่กล่าวมา น้ำมันกัญชาเดชาจำหน่ายราคาขวดละ 210 บาท ตามโรงพยาบาล สังกัดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

“ผมแจกให้คนอายุ 65 ปีมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 63 แล้วเก็บสถิติว่ารักษาโรคอะไรได้บ้าง  ตอนนี้เก็บตัวเลขที่ใช้ไปหกพันคน ต้องเก็บได้หนึ่งหมื่นคน เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขทำการวิจัยในการใช้กัญชารักษาคนชรา ถ้าวิจัยแล้วได้ผลจะเข้าโครงการสามสิบบาท ใช้กัญชาดูแลคนชราทั้งประเทศ

 

 

  • วิธีใช้น้ำมันกัญชาที่ถูกวิธี

  161709869728

(น้ำมันกัญชา)

น้ำมันกัญชาไมได้รักษาโรคตรงๆ แต่รักษาอ้อมๆ ผ่านการนอนหลับที่มีคุณภาพ เพื่อให้คนที่มีปัญหาสุขภาพนอนหลับลึกมากขึ้น และแต่ละคนใช้ปริมาณน้ำมันกัญชาไม่เท่ากัน

-ผู้หญิงควรใช้เฉลี่ย 3 หยดต่อวัน ส่วนผู้ชายเฉลี่ย 5 หยดต่อวัน ควรลองใช้ประมาณ 7 วันแล้วปรับปริมาณที่ใช้ให้เข้าที่ คนส่วนใหญ่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ใช้ 5-30 หยด มีคนที่ใช้ต่ำกว่า 5 หยดเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ และคนที่ใช้เกิน 30 หยดมีประมาณ 2 เปอร์เซ๊นต์

-ระหว่างการใช้ในช่วง 7 วัน ลองใช้สมาร์ทวอทช์ ตรวจวัดดูคุณภาพการนอนหลับ ตามสถิติการหลับลึกต้องได้ 20 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปของการนอน หรือ 1 ชั่วโมง 20 นาทีต่อคืน ถ้าต่ำกว่านั้นร่างกายจะซ่อมแซมรักษาโรคไม่ดีพอ

-เมื่อมีอาการป่วย ให้หยดใต้ลิ้นเพื่อหยุดอาการปวด ชัก วิธีนี้จะใช้เวลา 15 นาทีถึงจะออกฤทธิ์ และจะออกฤทธิ์เร็ว หมดฤทธิ์เร็ว

-ถ้าต้องการนอนหลับลึก ให้หยดใส่ช้อนกิน วิธีนี้จะออกฤทธิ์ช้า แต่ออกฤทธิ์ทั้งคืน ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงจะออกฤทธิ์

-ถ้าใช้ปริมาณมากๆ อาจเกิดอาการหลอน เมา ใจเต้นแรง ความดันตก และเกิดความกลัว แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต

......................

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ เดชา ศิริภัทร