"ลูกสาวชอบผู้หญิง หลานเป็นไบเซ็กช่วล” คู่มือ LGBT มีคำตอบ
พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ที่มีลูกหลานไม่ตรงกับเพศสภาพ ลองเปิดใจทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ แล้วจะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ซึ่งคู่มือเล่มนี้มีคำตอบ
“ครอบครัวเป็นทั้งปัจจัยเกื้อหนุนและเป็นตัวปัญหาของสุขภาพกายและจิต ไม่ว่าเรื่องของคู่ครองหรือพ่อแม่ การที่เด็กคนหนึ่งจะออกมาเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเอง เขาต้องใช้ความกล้ามหาศาล เพราะสิ่งนี้สังคมมองว่าไม่ปกติ
ถ้าพ่อกับแม่รับได้ เขาจะรู้สึกปลอดภัย ใช้ชีวิตก้าวไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าครอบครัวไม่ยอมรับ บ้านก็ไม่ปลอดภัย เขาก็ใช้ชีวิตลำบาก ทำให้มีปัญหาสุขภาพและเรื่องอื่นๆ ตามมา
ที่เจอบ่อยๆ คือ พ่อกับแม่รับไม่ได้ หมอรับปรึกษาปัญหาทั้งสองฝั่ง แต่ทางฝั่งพ่อแม่จะมาปรึกษาเยอะกว่า ตอนแรกจะมาด้วยปัญหาเบาหวาน, ความดัน, ปวดหัว, เป็นไข้, กินไม่ได้, นอนไม่หลับ เพราะลูกผู้ชายมีแฟนกับผู้ชาย
ตัวหมอเองก็เป็นเกย์ ตอนที่เราออกมา (Come Out) พูดกับแม่ไม่ง่ายเลยนะ เพราะสังคมไทยจะไม่คุยเรื่องเพศ" นพ.เบญทวิช สุรศาสตร์พิศาล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คลินิกเพศหลากหลาย (Gen V Clinic) โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในงานเสวนา เรื่องเล่าสายรุ้ง We Are Different : Journey of the Rainbow
และเปิดตัว ‘คู่มือผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานหลากหลายทางเพศ’ เล่มแรกของเมืองไทย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 (เนื่องในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เป็นวันตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศ (International Transgender Day of Visibility : TDOV)) ณ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ
นอกจากนี้คุณหมอเบญทวิช เล่าถึงวิชาชีพของเขา คือการดูแลชีวิตของมนุษย์ทุกคน เรื่องเพศก็เป็นมิติหนึ่ง ความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นโรค ไม่ได้เป็นความผิดปกติ ไม่ต้องหาสาเหตุ เป็นเรื่องธรรมชาติที่มีความหลากหลาย ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องเปลี่ยน
"พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่เขาไม่รู้ และมีความกังวล ลูกจะมีอนาคตไหม จะมีลูกหรือเปล่า แก่ไปแล้วใครจะเลี้ยง อยากจะบอกว่า ทุกวันนี้พ่อแม่ที่มีลูก 10 คน ลูกก็ไม่สามารถเลี้ยงได้
เราต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่พ่อแม่กังวลคืออะไร แล้วค่อยคลายไปทีละประเด็น เช่น แต่งงานไม่ได้ ไม่ได้มีปัญหาที่ตัวคนหรือเพศ แต่เป็นปัญหาทางโครงสร้างสังคม ทางกฎหมาย ต้องแก้ที่โครงสร้าง ไม่ใช่มาเปลี่ยนที่ตัวคน คู่มือนี้ก็จะช่วยให้ข้อมูลแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงคนที่ไม่เป็น LGBT ได้อ่านก็จะได้เข้าใจ”
- ครอบครัวสายรุ้ง
มัจฉา พรอินทร์ เครือข่ายครอบครัว ที่มีลูกหลานหลากหลายเพศ เล่าว่า เธอเป็นเลสเบี้ยน มีความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง อยู่ในชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีคู่ชีวิตเพศเดียวกันแล้วก็มีลูกสาว รวมถึงทำงานกับเด็กกลุ่มเปราะบางและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ
"เด็ก LGBT มักถูกเลือกปฏิบัติ และไม่มีกลไกปกป้องคุ้มครองในโรงเรียน วันหนึ่งลูกสาวเดินมาบอกว่า “แม่...หนูคิดว่า หนูชอบผู้หญิงได้ด้วยนะ” ถ้าเป็นครอบครัวอื่น พ่อแม่อาจจะตกใจ มีความกังวล
แต่ครอบครัวเราดีใจ ที่เขาอยู่มัธยมปีที่2 แต่สามารถรู้ว่าตัวเองคือใคร ชอบใคร เราก็ขอบคุณลูกที่ให้แม่เป็นสักขีพยานในการบอกว่า ลูกคือใคร เราบอกลูกว่า หนูน่าจะเป็นไบเซ็กช่วล (Bisexual) นะลูก หนูชอบผู้ชายก็ได้ ผู้หญิงก็ได้"
"จริงๆ แล้วเรื่องเพศ สามารถพูดได้ตั้งแต่เป็นเด็กเลย 7-8 ขวบ หรือเล็กกว่านั้น พ่อแม่มีหน้าที่ให้ข้อมูล แต่สังคมไทยไม่มีข้อมูลเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศให้กับพ่อแม่เลย งานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นจุดเปลี่ยน มีข้อมูลให้พ่อแม่เอาไปใช้
งานวิจัยของยูเนสโกบอกว่า มีเด็กถูกกลั่นแกล้ง(Bully)ด้วยอัตลักษณ์ทางเพศ 40 เปอร์เซ็นต์ เคยคิดจะฆ่าตัวตาย ครอบครัวต้องมีพื้นที่ปลอดภัย รับฟังช่วยเหลือสนับสนุน
ตอนที่ลูกและเพื่อนๆ ถูกบูลลี่หนักมากในโรงเรียน เราก็ต้องไปคุยกับครูที่ปรึกษา และจำเป็นต้องจัดประชุมผู้ปกครอง ขอความร่วมมือไม่ให้รังแกกัน” มัจฉา เล่า ส่วน ศิริวรรณ พรอินทร์ ลูกสาวที่ตอนนี้เรียนจบมัธยมปลายแล้ว บอกว่า อยากให้ครูทุกคนปฏิบัติต่อเด็กอย่างเท่าเทียมกัน
"เคยมีเหตุการณ์หนึ่ง ทำให้หนูกับเพื่อนไม่อยากไปโรงเรียน คุณครูบางคนก็บูลลี่เด็ก ล้อเด็ก เราเองก็เคยโดน เราต้องการกฎหมายคุ้มครอง การศึกษาไม่ได้สนับสนุนในสิ่งที่เราอยากทำ บางทีก็รู้สึกว่าเราถูกคาดหวังมากเกินไป
ผู้ปกครองบางคนให้ลูกไปเรียนพิเศษ จนไม่มีเวลาสนใจในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น เพื่อนๆ หนูเผชิญเรื่องนี้กันมาก จนบางคนเป็นซึมเศร้าแล้ว หนูอยากให้พ่อแม่ที่มีลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ เปิดใจยอมรับเขาแบบไม่มีเงื่อนไข”
- คู่มือคือเครื่องมือสำคัญ
ผศ.ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงที่มาของคู่มือดูแลเด็ก LGBT ว่า เป็นคู่มือฉบับภาคสังคมสำหรับผู้ปกครองที่จะดูแลลูกหลาน เมื่อเขาเป็นอีกเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด
"ต้องให้ความรู้ ให้คำตอบ เราจะทำความเข้าใจลูกยังไง ดูแลเขายังไง เนื้อหาไม่หนักมาก เราเป็นสะพานให้ มีผู้เชี่ยวชาญอีกมากพร้อมที่จะดูแลพวกเรา ถ้าสงสัยอะไรที่ลึกไปกว่า 8 บท คุณสามารถโทรหา หรือเดินไปหาผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อในสิทธิของความหลากหลายทางเพศที่พร้อมจะดูแล
ไม่ใช่ไปแล้วจะยิ่งทุกข์ เราทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 9 ใครต้องการคู่มือสามารถดาวน์โหลดได้เลย เราทำเป็นเล่มด้วยและส่งให้ฟรี”
“เราเป็นหน่วยงานที่เห็นความกังวลใจของพ่อแม่ที่มีลูกหลากหลายทางเพศ มีความทุกข์เรื่องการเปิดเผยตัวตนของลูก กลัวว่าจะถูกรังแก จึงได้สนับสนุนมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทย เพื่อสิทธิมนุษยชน ปลดล็อคปัญหาต่างๆ
ด้วยการจัดทำคู่มือเล่มนี้ ใช้เวลาปีกว่าจนได้ร่างแรกให้พ่อแม่ได้เรียนรู้ ฟังเสียงเล็กๆ ที่เขาพยายามสื่อสารกับผู้ปกครอง ก็หวังว่าคู่มือเล่มนี้จะเป็นเพื่อนของพ่อแม่ พูดคุยกับลูกในอนาคต” ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรเฉพาะกลุ่ม สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงความร่วมมือ
- ลองเปิดใจรับฟังลูก
คุณหมอเบญทวิช ผู้มีส่วนร่วมในการทำคู่มือเล่มนี้กล่าวว่า แต่ละบทที่ทำออกมา พยายามคัดสรรไม่ให้เป็นหนังสือเชิงวิชาการมากไป
“เนื้อหาทุกวิชาได้ผ่านกระบวนการเสมือนทำวิทยานิพนธ์ มีความถูกต้อง ทันสมัย เป็นสากล เชื่อถือได้ สามารถนำไปอ้างอิงได้ เป็นเจตจำนงของผู้จัดทำ คนที่มาอ่านไม่จำเป็นต้องยอมรับเรื่องนี้ อาจเป็นคนขี้สงสัย เราไม่ได้หวังว่า ทุกคนที่อ่านจะต้องเชื่อตามหนังสือ แต่ลองเปิดใจก่อนที่คุณจะฟังลูกของคุณ
ปัจจุบันเราไม่ค่อยฟังกัน แม้กระทั่งคนในบ้าน แค่พ่อกับแม่รับฟังลูก บ้านก็อบอุ่นแล้ว หมออยากฝากไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ทุกกลุ่ม ทั้งนักจิตวิทยา คนทำงานด้านสุขภาพ ให้เปิดใจฟัง แล้วจะรู้ว่าเขาทุกข์อย่างไร สิ่งที่เราจะแก้ให้เขาคืออะไร”
ทางด้านคุณแม่มัจฉา ผู้ทำงานคลุกคลีกับเด็ก พบว่า นอกจากความหลากหลายทางเพศ เด็กๆ ยังมีความคิดที่ต่างออกไปอีก
“เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้รู้สึกว่า เขาคือหญิงหรือชาย เขาต้องการอิสระจากความคิดความเชื่อที่ว่า มีแต่เพศหญิงเพศชายเท่านั้น แล้วตอนนี้ผู้ใหญ่ก็เดินตามหลังเด็กอยู่
จะทำยังไงให้ผู้ใหญ่เดินเคียงคู่ ยอมรับความหลากหลาย คู่มือนี้คือหลักสำหรับนักวิชาชีพ คุณครู นำไปทำเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก ทำเป็นภาษาชนเผ่าพื้นเมือง แปลเป็นภาษาอื่นๆ ได้อีก เพื่อจะได้ลงไปถึงชุมชน”
...................................
ดาวน์โหลดคู่มืออ่านได้ที่ http://online.anyflip.com/slmrr/cjaj/mobile/index.htm