ย้อนดราม่า 'หมอธีระ' กับ 'วัคซีนโควิด 19'
ย้อนดราม่า “หมอธีระ” หลังจากได้โพสต์ความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับสรรพคุณวัคซีนโควิด 19 ที่รัฐบาลนำมาฉีดให้ประชาชนในปัจจุบันจนทำให้ทั้งหน่วยงานจุฬาฯ และ โฆษก สธ. ออกมาเตือน
จากรณี รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ผ่านทางเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ซึ่งมักรวบรวมสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศ โพสต์ให้ความรู้แก่คนทั่วไปผ่านเฟซบุ๊กตนเองเสมอ
- จุดประเด็น วัคซีนไทย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา “หมอธีระ” ได้กล่าวถึงวัคซีนโควิดที่ฉีดในไทย โดยระบุว่า การพยายามชักแม่น้ำทั้งยี่สิบสายมาหาทางสนับสนุนสรรพคุณวัคซีน โดยอ้างว่าภูมิยังไม่ขึ้นก็ยังป้องกันไม่ได้ แต่หากฉีดแล้วภูมิขึ้นจะป้องกันได้นั้น ไม่ใช่คำอธิบายตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง
หากคิดอยากจะพิสูจน์ว่าป้องกันการติดเชื้อได้ไหม ต้องวิจัยเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าฉีดไปแล้วป้องกันการติดเชื้อได้จริง ไม่ใช่มาตัดสินที่ภูมิขึ้นหรือไม่ภูมิคุ้มกันขึ้น ก็อาจไม่ได้แปลว่าจะป้องกันติดเชื้อได้ภูมิคุ้มกันที่กล่าวอ้างถึงในโซเชียล ภาษาวิจัยเราเรียกว่า surrogate หรือแปลง่ายๆ ว่า ตัววัดโดยอ้อม ซึ่งอาจสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กับผลลัพธ์จริงที่ต้องการวัดคือ การป้องกันการติดเชื้อ
ปัจจุบันมีงานวิจัยที่พิสูจน์เกี่ยวกับ asymptomatic infection ในไม่กี่ชนิดเท่านั้น เช่น Pfizer/Biontech, Moderna, J&J ซึ่งมีสรรพคุณป้องกันได้ราว 70% ในขณะที่ Astra ได้ราว 2% ส่วนวัคซีนอื่นยังไม่มีข้อมูล
ป.ล.ล่าสุดที่มีข่าวการระบาดของสายพันธุ์ UK (B.1.1.7) ในไทยนั้น หากดูตาราง ก็จะทราบว่าวัคซีนใดมีผลป้องกันอย่างไร เหนืออื่นใดคือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และบราซิล มีโอกาสมาเช่นกัน ดังนั้นวัคซีนที่แต่ละประเทศใช้ จึงควรมีสรรพคุณที่ดีพอ การเลือกรับวัคซีนจึงควรรู้รายละเอียด ไม่ใช่จะฉีดอะไรก็ได้ตามคำโฆษณา วัคซีนโควิดที่ไทยนำเข้ามีคุณภาพต่ำ และโพสต์ต่อเนื่องเตือนถึงว่าสัปดาห์หน้าเป็นช่วงเวลาสำคัญมาก
- รพ.จุฬาฯ แจง แค่ความเห็นส่วนตัว “หมอธีระ”
ขณะที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกประกาศชี้แจงเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2564 ว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า ข้อมูลเหล่านั้นเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลของอาจารย์ท่านนั้นเพียงผู้เดียว มิใช่เป็นความเห็นทางวิชาการขององค์กรของเรา และเรายังยืนยันที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการที่น่าเชื่อถือจากผู้เชี่ยวชาญต่อสาธารณชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ดังที่เราได้ปฏิบัติเสมอมาผ่านแหล่งข้อมูลหลักในนามองค์กรของเรา
ทั้งนี้ เรายังสนับสนุนให้คนไทยทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยถ้วนหน้า เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรคโดยเร็วที่สุด
- โฆษก สธ.เตือนอย่าสร้างความสับสน
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า “ได้รับมอบจากที่ประชุม ขอเตือนอาจารย์ธีระอีกครั้ง ให้คิดพิจารณาให้ดีก่อนเขียน ก่อนพูด มิใช่สร้างความดัง บนความกลัว ความสับสนของพี่น้องประชาชน และโจมตีอย่างเดียว กรุณาใช้ข้อมูลและหลักวิชาการที่ถูกต้อง เวลานี้สังคม ต้องอาศัยสติ ปัญญา ความปรารถนาดี ร่วมแรง ร่วมใจ ครับ”
ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฯ กระทรวงสาธารณสุข เช้า วันเสาร์ที่ 10 เมษายน 2564 ได้มีการพูดกันในประเด็นให้เตือน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขอให้ทางผู้บังคับบัญชา ช่วยกำกับดูแลด้วย ทั้งในประเด็นพูดขาดหลักวิชาการ สร้างความสับสนให้ประชาชน และอาจพิจารณาดำเนินคดี กรณีสร้างความเสียหายให้เกิดกับผู้อื่น
1) วันนี้ หมอจำเป็นต้องพูดอีกครั้งครับ และที่ประชุมเห็นตรงกัน แม้แต่อาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านก็บอกว่าขอให้ปราม ขอให้เตือนอาจารย์ธีระ และขอให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยกำกับดูแลด้วยครับ
2) อาจารย์ธีระเขียนและพูดออกสื่อโจมตีมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขทำอย่างเต็มที่ว่า... “ไม่ได้ผล ประชาชนพึ่งไม่ได้” เป็น “มาตรการเทเลทับบี้”
- แนะนำเวลาออกจากบ้านให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยสองชั้น ป้องกันแบบตัวใครตัวมัน
- โจมตีการดำเนินงานเรื่องวัคซีน ให้ข้อมูลวัคซีนที่ใช้อยู่สองยี่ห้อในประเทศไทยเวลานี้ประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโรคต่ำมาก หรือป้องกันไม่ได้
3) หมอขอเตือนอาจารย์ธีระอีกครั้งสำหรับคนที่ No action talk only สบายมากครับ พูดอย่างเดียว ไม่ทำอะไร ไม่มีผิด แต่คราวนี้ พูดอย่างเดียว ยังผิดหลักวิชาการ พูดโจมตีผิดๆ และสร้างความสับสนกับประชาชน
หมอขอให้อาจารย์ธีระ อ่านข้อ 2 ที่อาจารย์พูดอีกครั้ง และโปรดพิจารณาว่า ถูกหลักวิชาการ หรือไม่ เช่น วัคซีนป้องกันการติดเชื้อต่ำมาก หรือโจมตีการทำงานพวกเรา
4) ขอเรียนอาจารย์ธีระ ทราบว่า โปรดกลับไปอ่านข้อมูลเรื่องวัคซีนใหม่ วัคซีนทั้งสองชนิดที่ฉีดในประเทศไทย ป้องกันการติดเชื้อได้ ลดโอกาสป่วย ลดความรุนแรงของโรคและโอกาสเสียชีวิตครับ
และกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้กำหนดมาตรการแบบที่อาจารย์โจมตี เราทำทุกสิ่งด้วยความถูกต้อง ถูกหลักวิชาการ ตามมาตรฐาน ด้วยการมีส่วนร่วม จนมากำหนดนโยบาย มาตรการ เราประชุม ทำงานตั้งแต่เช้าทุกวัน มดงาน หน่วยปฏิบัติการ "นักรบชุดขาว" ปฎิบัติการ 24/7 คือ ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ไม่มีวันหยุด มีการประเมินสถานการณ์ โดยอาศัย ข้อมูลเฝ้าระวัง ผลการสอบสวนโรค หลักการและความเห็นด้านวิชาการ จากอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับผู้บริหาร เพื่อกำหนดมาตรการ ซึ่งเป็นมาตรการที่มีความถูกต้องเหมาะสม นำไปใช้ได้จริง
ขอเรียนเชิญอาจารย์ธีระมาร่วมในเวทีดีกว่า อย่าไปพูดในโซเชียลเอาแต่ความดังเลยครับ มาช่วยกันทำงาน
หมอสงสารชาวบ้านครับ เวลาอาจารย์เขียนหรือพูดให้เกิดความตื่นตระหนก เกิดความกลัว ผิดหลักวิชาการ และไม่สามารถปฏิบัติได้จริง สร้างความสับสน ครับ
การกำหนดมาตรการกระทรวงสาธารณสุข....เราคิดถึงปากท้องชาวบ้าน คิดถึงพี่น้องประชาชนมาก่อนเสมอ เราต้องเน้น "ทุกมิติ" มิใช่ควบคุมโรคอย่างเด็ดขาด แต่ชาวบ้านอดตาย ครับ
5) สมเด็จพระสังฆราชฯ ท่านทรงให้กำลังใจ ...ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด และทรงเตือน ขอจงเป็น “ผู้ที่ไม่พูดพล่าม” โดยปราศจากสาระ ก่อความร้าวฉานชิงชัง ในยามที่สังคมต้องการสาระ คำปรึกษาหารือ และกำลังใจ เมื่อถึงยามคับขันประชาชนต้องการผู้กล้าหาญ เมื่อถึงคราวปรึกษางาน ต้องการผู้ที่ไม่พูดพล่าม จงประพฤติตนเป็น “บัณฑิต”เป็นผู้ฉลาดศึกษา ค้นคว้า วางแผน ชี้แนะ และลงมือทำ
ทัายสุด ขอให้ ฝึกและพัฒนา การนำเสนออย่างสร้างสรรค์ (Constructive Feedback) ด้วยสติปัญญา ที่สำคัญ มิใช่ ดีแต่ “พูด”แต่ต้อง ร่วมคิด ร่วมทำ ลงสู่การปฏิบัติให้สำเร็จ ครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รพ.จุฬาฯ แจงกรณีหมอธีระเป็นความเห็นส่วนตัว โฆษก สธ.เตือนอย่าสร้างความสับสนของ ปชช.
- หมอยง ย้ำ วัคซีนไทยมีประสิทธิภาพ
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ระบุระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด ณ กระทรวงสาธารณสุขว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่นำมาฉีดในประเทศไทย ทั้งของซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพดีมากในการลดความรุนแรงของโรค ช่วยป้องกันการป่วยที่มีอาการมาก และป้องกันการเสียชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต่างจากวัคซีนของโมเดอร์นา ไฟเซอร์ และอื่น ๆ ส่วนการป้องกันอาการน้อยถึงปานกลาง วัคซีนซิโนแวคป้องกันได้ 78 เปอร์เซ็นต์ แอสตร้าเซนเนก้าได้ 76 เปอร์เซนต์ ขอให้มั่นใจในประสิทธิภาพวัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทย
สำหรับคำถามว่าฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่นั้น ศ.นพ. ยง กล่าวว่า ไวรัสกลายพันธุ์ที่พบขณะนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งส่วนที่จับพื้นผิวเซลล์ ทำให้เกาะติดเซลล์ได้แน่น เพิ่มจำนวนง่าย ปริมาณไวรัสมาก กระจายโรคเร็ว ส่วนความรุนแรงไม่ต่างจากสายพันธุ์เดิมที่เคยพบในไทย ดังนั้น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนอื่น ๆ มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม
“ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิล วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลงบ้าง แต่ยังป้องกันความรุนแรงของโรคได้ สิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องช่วยกันป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์หลุดเข้าไทย แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาไทยจะกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ ทำอย่างเต็มที่ ก็ยังพบสายพันธุ์อังกฤษเข้ามาและเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในไทยต่อจากนี้ ขอให้การ์ดอย่าตก เข้มมาตรการป้องกันตนเองต่อไป” ศ.นพ.ยง กล่าว
- “หมอธีระ” ประเมินสถานการณ์ต่อ
ขณะที่ล่าสุด วันนี้ (13 เมษายน) รศ.นพ.ธีระ ได้โพสต์สถานการณ์ โควิด-19 ผ่านทางเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 13 เมษายน 2564 อินเดีย ตุรกี อเมริกา บราซิล อิหร่าน เป็น 5 อันดับแรกที่มีการติดเชื้อต่อวันสูงสุด พร้อมระบุด้วยว่า ...สัปดาห์นี้เป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่จะต้องติดตามกันว่ามาตรการต่างๆ จะได้ผลในการลดการระบาดได้หรือไม่
เมื่อคืนนี้ ศปก.ศบค.ได้แจ้งให้ทางหัวหน้าหน่วยราชการต่างๆ ได้เพิ่มมาตรการ work from home อย่างเต็มขีดความสามารถ ซึ่งเป็นแนวทางที่ภาคส่วนอื่นๆ สมควรพิจารณาปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ เพราะหากทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมด้วยช่วยกันทำ เราจะช่วยได้ทั้ง"ลดจำนวนคนที่จะมาเจอกันติดต่อกัน" และ "ลดเวลาที่จะพบกันเจอกัน" ทั้งในที่ทำงานรวมถึงระหว่างการเดินทางระหว่างบ้านและที่ทำงาน
ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ระบาดในปัจจุบันกระจายไปทั่ว ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และทุกคนที่เราพบปะระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนั้นอาจติดเชื้อและแพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัว และเป็นกันแทบทุกแวดวง สิ่งที่เป็นหัวใจต่อสู้กับโรคระบาดตอนนี้ที่ควรทำคือ
หนึ่ง ควรหาทางเพิ่มศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรค
สอง "ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร"...สามเรื่องนี้พิสูจน์แล้วอย่างชัดเจนว่าได้ผลในการป้องกันแน่นอนหากเราร่วมด้วยช่วยกันปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
สาม ตอนนี้จำเป็นต้องช่วยกัน "อยู่บ้าน" ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นจริงๆ และเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมงาน เตรียมสถานที่ และข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านเท่าที่จำเป็น เผื่อไว้สำหรับยามฉุกเฉินที่เราต้องแยกกักตัวจากสมาชิกในครอบครัว
สี่ วางแผนเรื่องค่าใช้จ่าย/การเงินให้รอบคอบ อะไรประหยัดได้ควรประหยัด
ห้า กลไกประชารัฐคงต้องร่วมด้วยช่วยกันวางแผนสนับสนุน ช่วยเหลือ คนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้ เพื่อให้พอจะประคับประคองชีวิตความเป็นอยู่ไปได้ โดยเฉพาะเรื่องปัจจัยสี่ อาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม หยูกยาจำเป็น และที่อยู่อาศัย เราจะผ่านพ้นไปด้วยกัน...ด้วยรักและห่วงใย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'หมอธีระ' โพสต์เฟซบุ๊ค 'สัปดาห์หน้า โควิดระบาด' กำชับให้ประชาชนอยู่บ้าน
- หมอธีระกับการขับเคลื่อนเอชไอวี
ทั้งนี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นผู้ทำงานส่งเสริม ป้องกัน และคุ้มครองสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี มายาวนานกว่า 20 ปี ทำให้เกิดการพัฒนาการตรวจ การรักษา จัดระบบอุปกรณ์ทางการแพทย์ และยาต้านไวรัส ระบบการดูแลในชุมชน โดย “หมอธีระ” ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2563 ที่ผ่านมา
โดย รศ.นพ.ธีระ ระบุผ่านช่องยูทูป Library NHRCT ว่า เหตุผลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนตลอดมา เนื่องจากเห็นว่ามนุษย์มีสิทธิที่จะมีชีวิต และอยู่ในสังคม ภายใต้การการตัดสินใจที่รอบคอบ ได้รับความรู้ และข้อมูล อย่างถูกต้องและเหมาะสม จาก เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คนติดเชื้อเอชไอวี ไม่สามารถเข้าถึงการดูแลรักษา การตรวจ คัดกรองโรค ราคายาที่แพง จึงทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อพัฒนาระบบบริการเหล่านั้นเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้