'สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส' : บุคคลสำคัญของโลก ปี 2564  

'สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส' :  บุคคลสำคัญของโลก ปี 2564   

"สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส" พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการยกย่องจาก"ยูเนสโก"ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปีนี้ เพราะทรงมีคุณูปการมากมายต่อบ้านเมืองและพุทธศาสนา

องค์การยูเนสโกและรัฐบาลไทย ร่วมเฉลิมพระเกียรติคุณ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วาระครบ100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ในพ.ศ.2564 โดยถือเป็นบุคคลสำคัญของโลก 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาแพพระสนมเอกในรัชกาลที่ 4

ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อปีพ.ศ. 2422 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมพุทธศักราช 2464 สิริพระชนมายุได้ 62 ปี ทรงอยู่ในพรหมจรรย์กว่า 42ปี ทรงปกครองวัดบวรนิเวศวิหารกว่า 28 ปี

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯพระองค์ ทรงมีพระคุณูปการทั้งด้านการศาสนา การบริหารการจัดการคณะสงฆ์ ทรงเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ทรงพัฒนาหลักสูตรนักธรรม ทั้งยังทรงมีพระนิพนธ์ด้านวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ปรากฏทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

และที่สำคัญยิ่งทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาของประเทศชาติสมัยใหม่ ซึ่งได้ค่อย ๆ พัฒนามาเป็นการศึกษาในระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

เมื่อทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารสืบต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เมื่อพ.ศ. 2435 ขณะมีพระชนมายุ 33 ปีจึงได้ทรงมีบทบาททางการคณะสงฆ์อย่างเต็มที่ รวมไปถึงบทบาทหน้าที่บางประการเกี่ยวกับบ้านเมือง ซึ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นเป็นลำดับจนตลอดพระชนมชีพของพระองค์

161873038168       

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

ตลอด 42ปี แห่งพระชนมชีพในชีวิตพรหมจรรย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงปฏิบัติพระภารกิจต่างๆ ทั้งทางการคณะสงฆ์และทางการบ้านเมืองมากมาย

ดังจะเห็นได้จากผลงานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำราหนังสือและเอกสารต่างๆจำนวนนับร้อย ซึ่งเป็นหลักฐานที่สะท้อนหรือแสดงให้เห็นว่าพระองค์ได้ทรงทำอะไรให้แก่พระศาสนาและบ้านเมืองบ้าง ทั้งด้านการศึกษาวัฒนธรรมและสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์

พระปรีชาสามารถทางอักษรศาสตร์ 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีพระปรีชาสามารถทางอักษรศาสตร์ ไม่เพียงภาษาบาลีที่ทรงแตกฉาน แต่ภาษาอังกฤษก็ทรงมีพระปรีชาสามารถมากเช่นเดียวกัน

ดังปรากฏพระนิพนธ์ตำราเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ชื่อ “แว่นอังกฤษ”ซึ่งเป็นแบบเรียนภาษาอังกฤษที่คนไทยแต่งเล่มแรกของประเทศไทย พิมพ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2439(ก่อนหน้านี้มี หนังสือชุดบันได Ladder of Knowledge Series หรือที่เรียกว่า “Fifty Steps in English” ของเซอร์โรเบิร์ต มอแรนต์ที่เรียบเรียงขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2433 เป็นหลัก)

ในส่วนพระองค์เองสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงรอบรู้ภาษาหลายภาษา คือ บาลีสันสกฤต อังกฤษ ฝรั่งเศส ทรงอาศัยความรู้ทางภาษาดังกล่าวนี้ แสวงหาวิชาความรู้พัฒนาพระองค์เอง พร้อมทั้งทรงใช้พระปรีชาสามารถทางภาษา สร้างวรรณกรรมอันทรงคุณค่าทางการศึกษาทั้งทางธรรมและทางโลกไว้มากมายไม่น้อยกว่า 400 เรื่อง

หลายเรื่องเป็นพระนิพนธ์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง เช่น พระนิพนธ์เรื่อง “นวโกวาท”นิพนธ์ขึ้นราว พ.ศ. 2442 เป็นหนังสือทางพระพุทธศาสนาที่แพร่หลายมากที่สุด ฉบับ “แบบเรียนเร็ว”

พระนิพนธ์เรื่อง “พุทธประวัติ” นับเป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพุทธประวัติเชิงวิชาการสมัยใหม่ มีการอ้างอิงทางโบราณคดี พระนิพนธ์เรื่อง “วินัยมุข” ทรงพระวินิจฉัยข้อพระวินัยต่าง ๆ ส่วนข้อไหนที่มีความไม่ชัดเจน พระองค์ก็ฝากไว้ให้ “บัณฑิตผู้รู้” รุ่นหลังช่วยวิเคราะห์ต่อ อย่างที่พระองค์นิพนธ์ไว้ในคำนำของหนังสือวินัยมุข พ.ศ. 2456 ไว้ว่า

“นิสัยของข้าพเจ้าไม่เชื่อคำที่กล่าวไว้ในปกรณ์ทั้งหลาย เลือกเชื่อแต่คำที่สมเหตุสมผล... ตั้งหลักแห่งการรจนาไว้ว่า ข้อที่พิจารณาได้สมเหตุสมผล จึงจะถือเอาเป็นประมาณ ข้อที่พิรุธ ก็ต้องค้างติงไว้ ไม่ว่ามาในบาลีหรือในอรรถกถา และแสดงมติของข้าพเจ้าไว้บ้าง เพื่อเป็นทางดำริของนักวินัย ข้าพเจ้า มุ่งความเจริญแห่งความรู้เป็นที่ตั้ง ถ้าน้อมใจเชื่อเป็นญาณวิปปยุตแล้ว ความรู้ย่อมไม่เจริญเลย”

เป็นการแสดงความเป็นต้นแบบของความเป็น “นักวิชาการ” สมัยใหม่ของพระองค์ คือเปิดโอกาสให้วิพากษ์ได้อย่างเสรี

ผลงานทางวรรณกรรมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ก่อให้เกิดผลทางวัฒนธรรมของสังคมไทย ทั้งสังคมสงฆ์และสังคมชาวเมืองไม่น้อย โดยเฉพาะวัฒนธรรมของความเป็นนักวิชาการเสรีที่พระองค์ปฏิบัติทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

161873044538 (บุคคลสำคัญของโลกปี 2564) 

ทรงริเริ่มการศึกษาพุทธแนวใหม่

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเห็นว่าการศึกษาพุทธในยุคนั้นจำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ภิกษุสามเณรที่เรียกว่าการศึกษาพระปริยัติธรรม ยังจำกัดอยู่เฉพาะในผู้ที่รู้ภาษาบาลีเท่านั้น ผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลีแทบไม่ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องพระพุทธศาสนาเลย

เมื่อเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงริเริ่มวางหลักสูตรสำหรับภิกษุสามเณรบวชใหม่ให้ได้ศึกษาธรรมวินัยเป็นภาษาไทย คือ ให้ได้เรียนพุทธประวัติธรรมะและวินัยบัญญัติเป็นภาษาไทยโดยพระองค์ทรงสอนเอง

พร้อมทั้งได้ทรงแต่งตำราเกี่ยวกับพุทธประวัติธรรมะและวินัยบัญญัติอย่างย่นย่อสำหรับให้ภิกษุสามเณรบวชใหม่ สามารถเรียนจบได้ภายใน 1พรรษา 3เดือน ปรากฏว่า ได้ผลดีเป็นที่สนใจของผู้บวชใหม่และทำให้ภิกษุสามเณรบวชใหม่ได้รู้จักพระพุทธศาสนาดีขึ้น

ต่อมาทรงขยายการเรียนพระพุทธศาสนาแนวใหม่นี้ ให้ขยายไปถึงภิกษุสามเณรที่บวชอยู่ประจำด้วยก็ปรากฏว่า เป็นที่นิยมสนใจเรียนของภิกษุสามเณรทั่วไป

แม้วัดอื่นก็นิยมนำเอาไปสั่งสอนภิกษุสามเณรในวัดของตน เป็นเหตุให้การศึกษาพระพุทธศาสนาในภาษาไทยแบบที่ทรงดำริขึ้นนี้ เป็นที่นิยมแพร่หลายไปในวัดธรรมยุตทั่วไป

ในขั้นแรกทรงจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาแนวนี้ เฉพาะในวัดบวรนิเวศวิหาร และแพร่หลายอยู่เฉพาะในวัดธรรมยุตเท่านั้น เพราะขณะนั้นพระองค์ทรงเป็นเพียงเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และทรงเป็นเพียงเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตเท่านั้น ยังไม่ได้ทรงปกครองคณะสงฆ์ทั่วไป

พระเกียรติคุณด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์

ในด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ กล่าวได้ว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เป็นบุคคลแรกที่พยายามแสดงให้เห็นว่า พระศาสนากับบ้านเมืองหรือคณะสงฆ์กับชาวบ้านมิได้แยกออกจากกัน แต่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ เราจะเห็นได้จากลักษณะขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงแสดงให้เห็นว่า

“ภิกษุสงฆ์มีกฎอันจะพึงฟังอยู่ 3ประเภท คือ กฎหมายแผ่นดิน 1พระวินัย 1จารีต 1” แสดงให้เห็นว่า คณะสงฆ์นั้นมิได้แยกตัดขาดจากบ้านเมืองหรือสังคมในขั้นพื้นฐาน

ในการสั่งสอนพระพุทธศาสนาก็เช่นกัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงแสดงให้เห็นว่า ควรจะสั่งสอนในเรื่องที่เหมาะสมแก่คนหรือชุมชนนั้นๆ คือสอนเรื่องที่เป็นประโยชน์สามารถนำไปปฏิบัติเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตได้จริง

เรื่องใดที่พวกเขายังไม่สามารถทำได้หรือไม่เป็นประโยชน์แก่พวกเขา ก็ยังไม่ควรเอาไปสั่งสอน เพราะการสั่งสอนพระพุทธศาสนาหรือพระธรรมนั้นเพื่อประโยชน์และความสุขของพหูชน ไม่ใช่สักแต่ว่าสอน ต้องรเลือกให้เหมาะแก่คนและเหมาะแก่กาลเวลา ด้วยดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “รู้จักเลือกเวลาสอน”

กล่าวได้ว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงเป็นผู้ริเริ่มให้แนวการสอนหรือแนวการอธิบายพระพุทธศาสนาแบบประยุกต์ขึ้นเป็นครั้งแรก ดังจะเห็นได้ในพระโอวาท และพระธรรมเทศนาของพระองค์โดยทั่วไป

และในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 จะเวียนมาบรรจบครบ 100 ปีในวาระแห่งการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ โดยทางยูเนสโกถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลก ประจำปี 2564

...............

(พระประวัติย่อ)                  

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 47 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาแพ

-ทรงได้รับการเลี้ยงดูโดยเสด็จป้า คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสฐสุดา (พระองค์เจ้าบุตรี) ซึ่งเป็นบุคคลที่พระองค์ทรงเกรงพระทัย หรือให้ความเคารพมาโดยตลอด ทั้งเป็นผู้ทรงสอนเลขและสอนหนังสือไทย รวมทั้งทรงสอนให้พระองค์รู้จักพงศาวดาร วรรณคดี และเรื่องศาสนา

-ทรงเรียนการอ่าน การเขียน และการพูดภาษาอังกฤษกับครูชาวสก็อต เมื่อพระชนมายุ 14 ปี ทรงบรรพชาเป็นสามเณรตามราชประเพณีเป็นเวลาหลายเดือน หลังจากทรงลาผนวชแล้ว ก็ทรงเพลิดเพลินในฆราวาสวิสัยเช่นคนหนุ่มทั่วไป แต่ก็ทรงเริ่มสนพระทัยและใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามากขึ้น

-สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นบุคคลต้นแบบสำหรับพระองค์

-สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จมาเฝ้าพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ที่วัดบวรนิเวศวิหารอยู่เนืองนิตย์ พระองค์ได้ทรงใกล้ชิดกับพระอุปัชฌาย์ของพระองค์มาตั้งแต่ทรงพระดรุณ และได้ทรงศึกษาเรื่องกวีนิพนธ์ ดาราศาสตร์ และคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนากับพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ด้วย                      

-ทรงตัดสินพระทัยทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเมื่อพ.ศ. 2422เมื่อพระชนมายุ 20 ปี และได้ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศจวบจนสิ้นพระชนม์                                           

-ทรงเป็นบุคคลสำคัญพระองค์หนึ่งในการปฏิรูปวัฒนธรรมและสังคมไทยให้กลายเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างศตวรรษที่ 19 กับศตวรรษที่ 20

-เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว ทรงมีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษในด้านการศึกษาและวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งได้ทรงเป็นผู้วางรากฐานในด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในประเทศไทยด้วย                                                                         

-ตอนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะขยายการศึกษาขั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้แพร่หลายไปทั่วพระราชอาณาจักร พระองค์ก็ทรงมอบความไว้วางใจให้สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นผู้ปรับปรุงระบบการศึกษาของชาติให้ทันสมัย

-ทรงพัฒนาระบบการศึกษาทั้งการศึกษาของคณะสงฆ์และการศึกษาของบ้านเมืองให้ทันสมัย ในเรื่องการศึกษาคณะสงฆ์นั้น ก็มีความหมายรวมไปถึงการพัฒนามาตรฐานการเรียน หลักสูตร และวิธีการสอบความรู้ในระบบการศึกษาของชาติ ที่จะนำไปใช้ทั่วพระราชอาณาจักรด้วย

ทรงพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งทรงพระนิพนธ์ตำรับตำราต่างๆ ขึ้นจำนวนมาก ซึ่งยังคงใช้ศึกษากันอยู่จนถึงทุกวันนี้ พระองค์ได้ทรงพระดำริวางรากฐานมหาวิทยาลัยขึ้นไว้ตั้งแต่พ.ศ. 2436

ฯลฯ