‘วันทองตอนจบ' บทสรุปข้อกังขา ‘หญิงสองใจ’?
“วันทองตอนจบ” พลิกความคาดหมาย จนเป็นที่มาของแฮชแท็ก #อย่าไว้ใจช่องวัน และเรื่องนี้สรุปชัดเจนว่า นางไม่ใช่ "หญิงสองใจ" มีประเด็นอะไรที่สื่อเช่นนั้น
หลายฉากในละคร วันทอง ช่อง ONE ที่เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 แสดงให้เห็นถึงบทละครมีการคิดใหม่ ทำใหม่ แม้จะไม่เต็มร้อย และมีความเป็นดราม่าสนุกสนานตามท้องเรื่อง
คงไม่ต้องร่ายยาวที่มาที่ไปให้มากความ เพราะแฟนละครเข้าใจเรื่องราวเป็นอย่างดี เรื่องนี้คนเขียนบทพยายามชูประเด็นสิทธิความเท่าเทียมของหญิงและชาย มีหลายฉากชวนคิด
ฉากที่พระสุริยงเทวีพูดกับพระพันวษา
พระสุริยงเทวี “แม่วันทองไม่ผิดนะคะ และสมควรคืนชีวิตให้”
พระพันวษา “แต่ความคิดของนางวันทอง มันล้ำหน้าเกินไป”
พระสุริยงเทวี ”หรือไม่ก็เป็นเราเอง ที่ตามความคิดราษฎรไม่ทัน”
.....................
ฉากที่ขุนแผนพูดกับวันทองในถ้ำ
ขุนแผน “สิ่งที่ท่านคิดไม่ผิดหรอกครับ เพียงแต่ท่านคิดไม่เหมือนคนอื่น แต่ผมคิดว่าท่านน่าจะเกิดเร็วไปหน่อย”
วันทอง “แปลว่าวันหน้าจะมีผู้หญิงที่คิด และทำเช่นฉัน เกิดขึ้นอีกมากหรือ”
ขุนแผน “สิ่งที่ท่านต้องการให้มันเกิด บรรลุผลแล้วนะครับ บัดนี้หญิงและชายมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน มีผู้คนมากมายได้ประโยชน์จากการกระทำของท่าน เพียงแต่ผมคิดว่า มันไม่จำเป็นต้องแลกด้วยชีวิต เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่า
.................
ฉากที่ชาวบ้านห้อมล้อมดู การประหารนางวันทอง เป็นวินาทีที่คนดูลุ้นตัวโกง วันทองน้ำตาไหลพราก แต่ยังดูเข้มแข็ง นางบอกว่า
“ข้ามันก็แค่ผู้หญิงคนหนึ่งที่สู้เพื่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น พวกเอ็งอย่ามาทะเลาะเพราะข้าเลย เพราะอีกประเดี๋ยวข้าก็จะตายแล้ว และอีกไม่นาน ทุกคนก็จะลืมเรื่องราวของข้าไป แต่มีสิ่งเดียวที่ข้าอยากให้ทุกคนจดจำคือ วันทองไม่ใช่หญิงสองใจ”
......................
เรื่องเล่าระหว่างบรรทัดเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ แทบจะไม่ต้องตีความอะไรให้ซ้บซ้อน เพราะบอกเป็นนัยๆ ว่า โลกมันเปลี่ยน สังคมไทยก็ควรจะเปิดกว้าง ฟังเสียงราษฎรบ้าง
- #อย่าไว้ใจช่องวัน
กระแสตอนจบของละครวันทอง แรงขนาดที่ว่า ถ้าแฟนละครไม่สมหวังเป็นเรื่องแน่ จึงมีทั้งคนสมหวัง ไม่สมหวัง รวมถึงอารมณ์แปลกใจ และที่แน่ๆ คนดูโดยหลอกไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามไม่จบ
เหล่านี้คือ ความถนัดของคนทำละครดราม่าช่อง ONE ที่พยายามหามุมใหม่ๆ มาเล่นกับคนดู และตอนนี้คนที่มีความสุขสุดๆ ก็คงผู้บริหารช่อง ONE และถกลเกียรติ วีรวรรณ, นิพนธ์ ผิวเณร ผู้อำนวยการผลิต รวมถึงสันต์ ศรีแก้วหล่อ ผู้กำกับการแสดง เพราะเรตติ้งพุ่งกระฉูดติดอันดับ 1
ผลงานเขียนบทโทรทัศน์เรื่องนี้ เป็นฝีมือของนักเขียนหญิง 3 คน มี พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์, พิมสิรินทร์ พงษ์วานิชสุข และจุติมา แย้มศิริ
เป็นโอกาสที่นักเขียนบทรุ่นใหม่ได้ทำงานร่วมกัน ตีความและพลิกบทละครให้น่าดู เป็นแนวทางที่ช่อง ONE ทำมาตลอด และที่ผ่านมาเรื่อง เมีย 2018 ตอนจบก็ทำให้คนดูลุ้นตัวโกง แบบนี้ต้องบอกว่า #อย่าไว้ใจช่องวัน
บทสนทนาละครวันทองหลายฉาก แสดงให้เห็นว่า คนเขียนบทตั้งใจที่จะทำให้คนดูเข้าใจวันทองอีกแง่มุม ให้โอกาสนางได้โต้แย้งกับความเชื่อเดิมๆ ที่ตัดสินว่า “วันทองเป็นหญิงสองใจ ”
และครั้งนี้เป็นโอกาสที่นักเขียนได้สร้างความชอบธรรมให้ตัวละครเช่นวันทอง โดยเล่าผ่านบริบทต่างๆ เชื่อมโยงกันให้เห็นว่า ทำไมวันทองไม่เลือกทั้งขุนช้างและขุนแผน
- วันทองจบ คนดูไม่จบ
บทสุดท้ายของละคร แม้วันทองจะไม่มีโอกาสเลือกชีวิตตัวเอง แต่ก็มีโอกาสพูดแทนผู้หญิงไทย
“เหตุใดชายมีหลายเมีย กลับไม่เคยถูกมองว่าผิด แต่พอเป็นหญิง กลับถูกมองว่าเป็นคนเลว “เป็นหญิงสองใจ” ในเมื่อเราก็มีชีวิตจิตใจไม่ต่างจากผู้ชาย”
สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่คือ คนเขียนบทไม่ได้ออกมาเรียกร้องสิทธิสตรี จนเกิดขอบเขต ไม่ได้ก้าวร้าว แตกหักในเรื่องสิทธิความเท่าเทียม แต่ขอทวงสิทธิความเป็นมนุษย์
“ข้าใคร่จะเป็นเมียที่ดี และเป็นแม่ที่ดี แต่กลายเป็นว่าข้ากลับถูกผู้คนประณาม พวกเขารู้จักชื่อข้า ก่อนตัวข้าด้วยซ้ำ “ วันทอง พูดอย่างน้อยอกน้อยใจ
พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์ หัวหน้าทีมเขียนบทละครวันทอง เล่าหลังจากละครจบแล้ว กับ'จุดประกาย'ว่า
“ที่ตัดสินใจเลือกให้วันทองไม่ตาย เพราะสมัยนี้การตายมันไม่ใช่คำตอบ การมีชีวิตอยู่เพื่อสร้างสิ่งดีๆ แล้วใช้โอกาสในชีวิตทำอะไรต่อไป
เหมือนอย่างที่ขุนแผนบอกว่า ถ้าท่านอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ท่านต้องมีชีวิตอยู่ เพื่อเห็นสิ่งนั้น ไม่ใช่ตายไป มันไม่มีความหวัง”
ส่วนอีกประเด็นที่พิมพ์มาดา ตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่า อยากสื่อสารเรื่องสิทธิสตรี ความเท่าเทียมของผู้หญิงในสังคม
“วันทองเป็นบทประพันธ์ที่เห็นชัดมากว่า เป็นเรื่องที่เขียนโดยผู้ชาย เพราะกวีสมัยนั้นเป็นผู้ชายทั้งนั้นที่เล่าเรื่องของผู้หญิง เราอยากเล่าเรื่องวันทองมุมของผู้หญิงบ้าง
โดยส่วนใหญ่แล้วในสังคมผู้ชายเป็นคนออกกฎหมาย ใช้กฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย ผู้หญิงจะเป็นพลเมืองชั้นสองในสังคม เราก็น่าจะพูดถึงบ้าง ยิ่งสมัยอยุธยามันก็เลยยิ่งชัด”
- ฉากสุดท้ายพลิกความคาดหมาย
“ตอนแรกเชียร์ให้จบตามบทประพันธ์เช่นกัน การตายของวันทองไม่เสียเปล่า เกิดความเปลี่ยนแปลงตามมาแค่นี้ก็นับว่าเป็นการตีความใหม่แล้ว แต่หาทางลงแบบนี้ถือว่าโอเค ถนอมใจคนดู แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งบทประพันธ์ แก่นของเรื่องก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง”
“ส่วนตัวคิดว่าจบที่วันทองโดนประหารคือ โอเคแล้ว เป็นตำนานไปเลย พอมาบวช มาลาทางโลก ดูเชยๆ เหมือนพวกละครแค้นข้ามภพข้ามชาติแล้วตอนจบพระเอกบวชอะไรทำนองนั้นเลย”
ความเห็นส่วนหนึ่งจากเว็บ pantip
.........
ยังมีความเห็นอีกมากมาย แต่มีมุมหนึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็นละครที่สนุกสนาน ดูแล้วก็ตั้งคำถามกับสังคม วิพากษ์วิจารณ์ชวนคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ นั่นหมายถึง ละครได้ตอบโจทย์คนดูแล้ว
และนี่คือ ละครวันทอง แม้จะไม่ใช่มุมมองใหม่ๆ ถอดด้าม แต่ก็เป็นมุมใหม่ที่เข้าใจสังคมไทย
อย่างน้อยๆ ก็ให้โอกาสวันทอง ผู้หญิงที่ถูกตราหน้าว่าสองใจมากว่า 200 ปีได้พูดอีกครั้งในปีพ.ศ. 2564