'ไอซียู' รพ.ในกทม. รับได้อีก 10-20วัน!
กรมการแพทย์ ชี้พื้นที่กทม.จัดการยาก ห่วงไอซียูในรพ.รับได้อีกแค่ 10-20วัน วอนคนไทยช่วยลดผู้ติดเชื้อ "ล็อกดาวน์ตัวเอง" 2 สัปดาห์
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่กรมการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 นั้นต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ในต่างจังหวัดไม่มีปัญหา เพราะบริหารจัดการโดยกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายเดียว และ2.ในพื้นที่กทม.ที่เห็นเป็นปัญหาอยู่นั้น เพราะมีหลายหน่วยงานที่ดูแล จึงต้องขอความร่วมมือทุกหน่วยงานในการทำฮอสพิเทล เพื่อแยกคนที่อาการสีเขียวเข้าไปอยู่ ตอนนี้หาได้กว่า 5,000-6,000 เตียงมีการเข้าอยู่แล้วประมาณ 3,000 คน นอกจากนี้ พยายามจัดคนที่อาการอยู่ในขั้นเหลืองอ่อนไปอยู่ที่สถาบันธัญญารักษ์ 200 เตียง ซึ่งรับเข้าแล้ว 50 คน และจะส่งเข้าอีก 50 คน จากนั้นพยายามให้รพ.ต่างๆ รวมถึงโรงเรียนแพทย์ผ่องถ่ายคนไข้สีเขียวออกมาอยู่รพ.สนาม และฮอสพิเทลแทน เพื่อรีบเอาคนที่อาการเหลืองแก่ ไปจนถึงแดงเข้าไปรักษาในรพ.
สำหรับสถานการณ์การดูแลผู้ติดเชื้อมีอาการนั้น ก็ต้องยืนยันอีกเช่นกันว่าในส่วนของเครื่องช่วยหายใจนั้นไม่ได้มีปัญหา ที่มีปัญหาอยู่คือ ICU ซึ่ง ICU ในต่างจังหวัดไม่มีปัญหา มีปัญหาเฉพาะในกทม. จากข้อมูลรวมรพ.ทุกสังกัดมีประมาณ 700 เตียง แต่ตอนนี้ว่างอยู่ประมาณ 140 เตียง หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูง และมีผู้อาการหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คาดกันว่าเตียง ICU จะรองรับได้ประมาณ 10 วัน แต่ขณะนี้รพ.แต่ละแห่งไปขยายเพิ่มเติมก็คาดว่าจะสามารถรองรับได้ 20 วัน โดยเฉลี่ยคนรักษาในไอซียู 14-20 วัน
"ดังนั้น เราต้องพยายามเอาคนติดเชื้อเข้าสถานพยาบาลเพื่อให้ได้รับการดูแล คนสีเหลืองอ่อนๆ ต้องได้รับยาเพื่อที่อาการจะได้ไม่หนัก แบบนี้ไอซียูถึงจะเพียงพอ นอกจากนี้ ทุกคนต้องช่วยกันดึงกราฟคนติดเชื้อลง ช่วง 2 สัปดาห์นี้ต้องล็อกดาวน์ตัวเอง ไม่ควรกินข้าวร่วมกันแม้แต่คนในครอบครัวก็ตาม" นพ.สมศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่าหน่วยงานรัฐยืนยันตลอดว่าเตียงพอ แต่ทำไมจึงยังมีคนหาเตียงไม่ได้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าเตียงรพ.สนาม และฮอสพิเทลมีเพียงพอ อย่างตอนนี้รพ.เลิดสินก็ว่าง แต่ไม่มีใครส่งมาเข้ารักษา จริงๆ กทม. แล็บที่ตรวจต้องเคลียร์ตัวเลขตกค้างมาให้กรม เพราะตอนนี้ปัญหาคือกรมไม่รู้ต้นทางของผู้ติดเชื้อ คนไปตรวจที่แล็บเอกชน ไม่มีเอกสารการรับรอง ไม่มีการส่งข้อมูลรายงานผู้ติดเชื้อมาที่กรมการแพทย์ ทำให้สายด่วน 1668 ที่เป็นคนรับปลายทาง ตอนนี้ต้องรุกมาทำในส่วนของต้นทางด้วย โดยขอแค่ชื่อ กับเบอร์โทรศัพท์ผู้ติดเชื้อเท่านั้นแล้วจะได้ติดต่อไป เพราะต้องการเอาผู้ติดเชื้อมาดูแลให้เร็วโดยเฉพาะคนที่สีเหลืองอ่อนที่ต้องให้ยา ถ้าให้ยาเร็วก็จะอาการไม่หนัก
"ที่ประชุม กระทรวงสาธารณสุขมีการคุยกันถึงว่าจะเอาคนที่ไม่มีใบรับรองการติดเชื้อเข้าไปอยู่ในสถานพยาบาลก่อนด้วยซ้ำ แต่ต้องแยกออกจากคนที่ยืนยันติดเชื้อแล้ว เพราะยังห่วงเรื่องผลบวกปลอม ซึ่งสปสช.ก็ยอมเรื่องการรับเข้ารักษาคนที่ไม่มีใบรับรองผลตรวจแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องขอความร่วมมือประชาชนไปตรวจแล็บมาแล้วให้ขอใบรับรองมาด้วย ส่วนติดเชื้อตกค้างตามที่รายงานเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ผ่าน 1668 จำนวน 400 ราย ก็หาเตียงให้ได้หมดแล้ว สำหรับคนที่รอเตียงแล้วอาการแย่ลงสามารถโทร 1669 ได้ ซึ่งจะดูแลในเคสฉุกเฉิน" นพ.สมศักดิ์กล่าว