เปิดสถิติ 'ผู้พิการ' ในไทย กับสวัสดิการที่ได้รับมีอะไรบ้าง?
เปิดสถิติ "ผู้พิการ" ในไทยกว่า 2 ล้านคน พบเกินครึ่งพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย และมีเพียง 2 แสนกว่าคนที่มีงานทำ แล้วปัจจุบันกลุ่มผู้พิการได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง?
รู้หรือไม่ จากจำนวนประชากรในไทยกว่า 66.18 ล้านคน รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563) ได้ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมี "ผู้พิการ" อยู่ 2,076,313 คน โดยเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งเป็นผู้ชาย 1,083,556 คน หรือคิดเป็น 52.21% และผู้หญิง 992,757 คน หรือคิดเป็น 47.79%
หากแยกตามพื้นที่ ผู้พิการส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือราว 829,170 คน หรือคิดเป็น 39.93% รองลงมาเป็นภาคเหนือ 22.01% ภาคกลาง 20.82% ภาคใต้ 12.30% และกรุงเทพฯ 4.64%
ทั้งนี้ในส่วนของประเภทความพิการ สามารถแยกออกเป็น 9 ประเภท ดังนี้
1.ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 1,032,455 คน หรือคิดเป็น 49.73%
2.ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 391,785 คน หรือคิดเป็น 18.87%
3.ความพิการทางการเห็น 191,020 คน หรือคิดเป็น 9.20%
4.ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม 161,802 คน หรือคิดเป็น 7.79%
5.ความพิการทางสติปัญญา 141,623 คน หรือคิดเป็น 6.82%
6.ความพิการมากกว่า 1 ประเภท 124,092 คน หรือคิดเป็น 5.98%
7.ออทิสติก 15,804 คน หรือคิดเป็น 0.76%
8.ความพิการทางการเรียนรู้ 12,788 คน หรือคิดเป็น 0.62%
9.ข้อมูลรอการยืนยัน 4,944 คน หรือคิดเป็น 0.24%
โดยผู้พิการส่วนใหญ่กว่า 1.1 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ วัยทำงาน อายุ 15-59 ปี ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายมากที่สุด ส่วนผู้พิการที่อยูในวัยแรกเกิด จนถึงอายุ 21 ปี มีสัดส่วนของการพิการทางสติปัญญามากที่สุด
ขณะที่ในแง่ของการศึกษา พบว่าจากจำนวน 2 ล้านคน กว่า 1.5 ล้านคน เป็นผู้พิการที่ได้รับการศึกษา แต่ในจำนวนนั้นก็มีสัดส่วนกว่า 61.70% ของจำนวนคนพิการทั้งหมด หรือราว 1.28 ล้านคนนั้น ที่จบการศึกษาในชั้นประถมศึกษาเท่านั้น ขณะเดียวกันมีผู้พิการที่ไม่ได้รับการศึกษาอีก 6.04 หมื่นคน โดยเป็นผู้พิการที่มีอายุถึงเกณฑ์แต่ไม่ได้รับการศึกษาราว 3.78 หมื่นคน เป็นผู้พิการที่ไม่ได้รับการศึกษา 1.86 ล้านคน และอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ 3.9 พันคน
อย่างไรก็ตามมีผู้พิการที่อยู่ในวัยทำงาน หรือผู้พิการที่มีอายุ 15-59 ปี ไม่ถึงครึ่งของผู้พิการทั้งหมด มีอยู่ราว 8.57 แสนคน แต่เป็นผู้พิการวัยทำงานที่ประกอบอาชีพ 2.12 แสนคนเท่านั้น ประกอบด้วย
1.เกษตรกรรม 104,056 คน หรือคิดเป็น 48.99%
2.รับจ้าง 48,691 คน หรือคิดเป็น 22.93%
3.ไม่ระบุอาชีพ 24,558 คน หรือคิดเป็น 11.56%
4.ผู้ประกอบกิจการส่วนตัว อาชีพอิสระ หรือธุรกิจ 12,569 คน หรือคิดเป็น 5.92%
5.อื่นๆ 9,456 คน หรือคิดเป็น 4.45%
6.ลูกจ้าง ลูกจ้างเอกชน หรือพนักงานบริษัท 10,362 คน หรือคิดเป็น 4.88%
7.รับราชการหรือรัฐวิสาหกิจ 1,911 คน หรือคิดเป็น 0.90%
8.กิจการส่วนตัว อาชีพอิสระ หรือค้าขาย 779 คน หรือคิดเป็น 0.37%
- สิทธิประโยชน์และความคุ้มครองคนพิการ
สำหรับผู้พิการที่ได้ขึ้นทะเบียนและมีบัตรประจำตัวคนพิการแล้ว มีสิทธิที่จะยื่นคำขอใช้สิทธิเข้าถึงสวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 หรือตามที่กฎหมายอื่นกำหนด ได้แก่
1.เบี้ยความพิการ โดยผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการจะได้รับเบี้ยความพิการเดือนละ 800 บาทต่อเดือน ซึ่งสามารถยื่นขอรับเบี้ยความพิการได้ที่สำนักงานเขต เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามทะเบียนบ้านผู้พิการ
2.การกู้ยืมเงินประกอบอาชีพ ได้แก่ ผู้พิการที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ดูแลตามกฎหมาย สามรรถกู้ยืมเงินจากกองทุนฯ คนกพิการได้ไม่เกิน 120,000 บาท และกู้รายกลุ่มไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยผ่อนชำระไม่เสียดอกเบี้ยภายใน 5 ปี
3.การช่วยเหลือทางกฎหมาย ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดหาทนายความว่าต่าง แก้ต่างให้ผู้พิการ ที่มีความยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม
4.ปรับสภาพที่อยู่อาศัย เป็นการปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้พิการ เช่น การปรับห้องน้ำ การติดตั้งราวจับ การปรับสภาพผิวทางเดิน รายละไม่เกิน 20,000 บาท
5.สิทธิทางอาชีพ ผู้พิการสามารถเข้ารับการฝึกอาชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น
6.สิทธิทางการศึกษา มีสิทธิได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มเรียนจนถึงปริญญาตรี และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดสกสื่อบริการความช่วยเหลือทางการศึกษา
7.สิทธิทางการแพทย์ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฟื้นฟูสมรรถภาพ การรักษาพยาบาล กายอุปกรณ์และเครื่องช่วยคนพิการต่างๆ รวมถึงคำแนะนำปรึกาทางการแพทย์
อย่างไรก็ตามจำนวนผู้พิการที่กล่าวมาข้างต้นนั้น อาจยังไม่ใช่จำนวนที่แท้จริง เนื่องจากยังมีผู้พิการที่ได้รับมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อีก ซึ่งภาครัฐจะทำอย่างไรให้กลุ่มเหล่านี้สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม
ที่มา : dep