'วันแรงงานแห่งชาติ' ชวนเช็ค 'ค่าแรงขั้นต่ำ' ย้อนหลัง 5 ปี ปรับขึ้นแค่ไหน? จังหวัดไหนได้เท่าไรบ้าง?
รับ "วันแรงงาน" เปิดสถิติย้อนหลัง 5 ปี "ค่าแรงขั้นต่ำ" ปรับขึ้นมาเท่าไร? แรงงานภูมิภาคไหนได้สูงสุด? หลังจากมีปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศเป็น 300 บาท
ต้อนรับ “วันแรงงาน” 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมาประเด็น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงเป็นหนึ่งในแนวนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองที่ถูกนำมาใช้เรื่อยมา โดยการปรับขึ้นครั้งใหญ่อยู่ในช่วงปี 2555-2556 ที่ปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาเป็น 300 บาทต่อวัน จากเริ่มนำร่องใน 7 จังหวัด ก็ขยายจนครอบคลุมทั้งประเทศ
ซึ่งหากย้อนกลับไปดูในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำไปแล้วกี่ครั้ง และเท่าไรบ้างนั้น เพราะบางครั้งแทบจะไม่รู้สึกเลยว่ามีการปรับขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อาจเนื่องจากปัจจัยในเรื่องของค่าครองชีพที่ปรับขึ้นตามไปด้วย ทำให้เงินที่ใช้จ่ายในการดำรงชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปดูสถิติการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงปี 2560 จนถึงปัจจุบัน (ปี 2564) ซึ่งพบว่ามีการปรับขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง ได้แก่
- ปี 2560 ช่วงนั้นมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 69 จังหวัด มีการปรับขึ้น 5-10 บาทต่อวัน โดยค่าแรงต่ำสุดอยู่ที่ 305 บาทต่อวัน และสูงสุดอยู่ที่ 310 บาทต่อวัน ซึ่งประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูเก็ต
- ปี 2561 เป็นการปรับขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีการแบ่งเป็น 7 ระดับ คือ 308, 310, 315, 318, 320, 325 และ 330 บาทต่อวัน โดยเฉลี่ยมีการปรับขึ้น 15.97 บาทต่อวัน โดยในปีนี้ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง เป็นจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด 330 บาทต่อวัน ขณะที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล มีค่าแรงอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน ซึ่งรวมถึงฉะเชิงเทรา หนึ่งในพื้นที่ยุทธศาตร์สำคัญของภาคตะวันออก (ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในพื้นที่ EEC)
- ปี 2563 มีการปรับขึ้นค่าแรงอีกครั้ง ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศตามขั้นบันได โดยอัตราค่าแรงอยู่ที่ 330-336 บาทต่อวัน โดยชลบุรีและภูเก็ต ยังคงเป็นจังหวัดที่ค่าแรงขั้นต่ำมากที่สุด 336 บาทต่อวัน ตามด้วยระยอง ที่ได้ค่าแรง 335 บาทต่อวัน ขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ที่ 331 บาทต่อวัน
ซึ่งหากเจาะลึกเป็นรายภูมิภาค ซึ่งเป็นการแบ่งเขตภาคตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเห็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกัน ภาพที่สะท้อนได้ชัดคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงบางจังหวัดในภาคคตะวันออกที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลัก แหล่งอุตสากรรมที่รองรับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อย่างชลบุรีและระยอง รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล (สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร) ปรับขึ้น 31 บาท
จากจุดเริ่มต้นในปี 2555 ที่ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเท่ากันทั้งหมดที่ 300 บาท ทั้ง 6 จังหวัดนี้ มีการปรับขึ้นในปี 2560 ทั้งหมด 10 บาท เป็นค่าแรงขั้นต่ำ 310 บาทต่อวัน
ขณะที่ในปี 2561 มีการปรับขึ้นอีกครั้งทั้งหมด 15 บาท ทำให้ค่าแรงขยับขึ้นเป็น 325 บาทต่อวัน และครั้งล่าสุดปี 2563 มีการปรับขึ้นมาอีก 6 บาท ทำให้ปัจจุบันค่าแรงอยู่ที่ 331 บาทต่อวัน
- ภาคกลาง 6 จังหวัด พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท สระบุรี ปรับขึ้น 20-25 บาท
สำหรับพื้นที่ภาคกลางนั้น พระนครศรีอยุธยาและสระบุรี ในปี 2560 ได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มวันละ 8 บาท เป็น 308 บาทต่อวัน ขณะที่ 4 จังหวัดที่เหลือได้ปรับ 5 บาท เป็น 305 บาทต่อวัน
ขณะที่ปี 2561 พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และลพบุรี มีการปรับค่าแรงเป็น 320 บาทต่อวัน ด้านชัยนาทและอ่างทองได้ปรับเป็น 315 บาทต่อวัน ส่วนสิงห์บุรีได้ปรับน้อยที่สุดเป็น 310 บาทต่อวัน ในส่วนของปี 2563 ครั้งล่าสุด พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และลพบุรี มีการปรับขึ้นเป็น 325 บาทต่อวัน และอีก 3 จังหวัดที่เหลือปรับเป็น 320 บาทต่อวัน
- ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ปรับขึ้น 20-36 บาท
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมนั้น ในปี 2560 ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ได้ปรับขึ้นเป็น 308 บาทต่อวัน และจังหวัดที่เหลือได้รับขึ้นเป็น 305 บาทต่อวัน
ถัดมาอีก 1 ปี ในปี 2561 ชลบุรีและระยองได้อยู่ในกลุ่มที่มีค่าแรงสูงที่สุด 330 บาทต่อวัน ตามติดด้วยฉะเชิงเทรา 325 บาทต่อวัน ส่วนตราดปรับเป็น 320 บาท จันทบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก ได้ปรับเป็น 318 บาท และสระแก้วได้ปรับน้อยที่สุดอยู่ที่ 315 บาท
ล่าสุดปี 2563 ชลบุรียังครองจังหวัดที่มีค่าแรงมากที่สุด 336 บาท ตามด้วยระยอง 335 บาท และฉะเชิงเทรา 330 บาท ซึ่งล้วนเป็นจังหวัดในพื้นที่ EEC ทั้งสิ้น ขณะที่ตราดได้ปรับเป็น 325 บาท ปราจีนบุรี 324 บาท รองลงมาเป็นจันทบุรีและนครนายก 324 บาท และสุดท้ายคือ สระแก้ว 320 บาท
- ภาคตะวันตก 6 จังหวัด ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปรับขึ้น 15-25 บาท
ในส่วนภาคตะวัน ในปี 2560 ทุกจังหวัดอยู่ในกลุ่มที่ได้ปรับขึ้นน้อยที่สุด 5 บาท อยู่ที่ 305 บาทต่อวัน ขณะที่ปี 2561 สุพรรณบุรีได้ปรับขึ้นมากที่สุดในภาค เป็น 320 บาทต่อวัน ตามด้วยสมุทรสงคราม 318 บาทต่อวัน ส่วนประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกาญจนบุรี ปรับขึ้น 315 บาท และปรับน้อยสุดคือ ราชบุรี อยู่ที่ 310 บาทต่อวัน
ในปี 2563 สุพรรณบุรีก็ยังคงเป็นจังหวัดในภาคที่มีการปรับขึ้นสูงสุดเป็น 325 บาทต่อวัน ตามด้วยสมุทรสงคราม 323 บาทต่อวัน กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี 320 บาทต่อวัน รและาชบุรี 315 บาทต่อวัน
- ภาคเหนือ 17 จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ ปรับขึ้น 15-25 บาท
สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ ในปี 2560 มีเพียงเชียงใหม่ จังหวัดยุทธศาสตร์หลักที่มีการปรับขึ้นมากที่สุดเป็น 308 บาทต่อวัน ส่วนจังหวัดที่เหลือปรับเป็น 305 บาทต่อวัน เช่นเดียวกับปี 2561 ที่เชียงใหม่ได้ปรับขึ้นมากสุดเป็น 320 บาทต่อวัน ตามด้วยนครสวรรค์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พะเยา และน่าน ที่ปรับขึ้นมาเป็น 315 บาทต่อวัน ส่วนที่เหลือได้ปรับเป็น 310 บาทต่อวัน
และในปี 2563 ล่าสุด เชียงใหม่ขยับขึ้นเป็น 325 บาทต่อวัน ตามด้วย 6 จังหวัดเดิมที่ขยับตามาติดๆ เป็น 320 บาทต่อวัน และจังหวัดที่เหลือจาก 310 บาทต่อวัน เป็น 315 บาทต่อวัน
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร ชัยภูมิ อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี เลย หนองคาย มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ ปรับขึ้น 15-25 บาท
หลังจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ในปี 2560 หัวเมืองใหญ่ในภาคอีสานอย่างขอนแก่นและนครราชสีมา ได้ขยับขึ้นมาเป็น 308 บาทต่อวัน ส่วนจังหวัดที่เหลือขึ้นมาเป็น 305 บาทต่อวัน ส่วนในปี 2561 นอกจากสองจังหวัดที่ได้ขึ้นมากสุดแล้ว หนองคายและอุบลราชธานี ก็ได้ปรับเป็น 320 บาทต่อวัน ขณะที่ร้อยเอ็ด อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เลย ยโสธร บึงกาฬ ปรับขึ้นเป็น 315 บาท ส่วนจังหวัดอื่นได้ปรับเป็น 310 บาท
และในปี 2563 สี่จังหวัดที่มีกาปรับขึ้นมากสุดจากครั้งก่อน ก็ได้ปรับเป็น 325 บาท ตามด้วยกาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร ที่ปรับตามมาเป็น 323 บาท ส่วนนครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สุรินทร์ และอุดรธานี ปรับเป็น 320 บาท และที่เหลือได้ปรับเป็น 315 บาท
- ภาคใต้ 14 จังหวัด นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ระยอง ชุมพร สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ปรับขึ้น 13-36 บาท
ภูเก็ต นับเป็นจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในระดับสูงสุดเสมอ โดยปี 2560 ปรับเป็น 310 บาทต่อวัน รองลงมาคือ กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ปรับขึ้นเป็น 308 บาท ขณะที่จังหวัดอื่นได้ปรับขึ้นเป็น 305 บาทต่อวัน
ในปี 2561 ก็ไม่ผิดคาด ภูเก็ตติดโผจังหวัดที่ได้ปรับค่าแรงขึ้นมากที่สุด คู่ไปกับชลบุรีและระยอง โดยได้ปรับเป็น 330 บาทต่อวัน ตามด้วยกระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ปรับขึ้นเป็น 320 บาทต่อวัน ขณะที่ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง ปรับเป็น 315 บาทต่อวัน ส่วนจังหวัดที่ได้ปรับน้อยสุดขึ้นมา 3 บาท เป็น 308 บาทต่อวัน คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี
สำหรับปี 2563 ภูเก็ตก็ยังได้ปรับมากที่สุดเป็น 336 บาทต่อวัน ตามด้วยพังงา สงขลา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ที่ปรับเป็น 325 บาทต่อวัน ส่วนจังหวัดอื่นลดหลั่น 320 บาท และ 315 บาท ส่วนที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นได้รับค่าแรงขั้นต่ำต่ำที่สุด อยู่ที่ 313 บาทต่อวัน
แล้วที่ผ่านมาสถานการณ์แรงงานไทยเป็นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19
- โควิด-19 ทำว่างงานเพิ่มขึ้น
ขณะที่รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี 2563 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สรุปภาพรวมสถานการณ์แรงงานไทยไตรมาส 4 และ ภาพรวมปี 2563 พบว่าแรงงานไทยตลอดปีมีทั้งหมด 38.5 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำมีจำนวน 37.7 ล้านคน แบ่งเป็น
- ภาคเกษตร 11.8 ล้านคน
- อุตสาหกรรมการผลิต 6 ล้านคน
- ก่อสร้าง 2.3 ล้านคน
- ค้าส่ง/ค้าปลีก 6.3 ล้านคน
- โรงแรม ภัตราคาร 2.9 ล้านคน
- การขนส่ง เก็บสินค้า 1.3 ล้านคน
- การศึกษา 1.2 ล้านคน
- อื่นๆ 6 ล้านคน
โดยมีผู้ว่างงานตลอดปี 2563 เฉลี่ยทั้งหมด 650,000 คน อัตราว่างงานคิดเป็น 1.69%
ซึ่งภาวะแรงงานไทนไตรมาส 4 ปี 2563 สถานการณ์แรงงานปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยกำลังแรงงานมีจำนวนมากขึ้น แต่ชั่วโมงการทำงานยังอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้กำลังแรงงานเพิ่มขึ้น ไตรมาสสี่ ปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 39.1 ล้านคน จาก 38.0 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานทำงานบ้าน ย้ายไปเป็นกลุ่มแรงงานประกอบอาชีพอิสระ การจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.2% จากการขยายตัวจากการจ้างงานด้านการเกษตร
ตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่ม และชั่วโมงการทำงานลดลง โดยกำลังแรงงานในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 38.5 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 1.0
จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจ และสังคมของครัวเรือนช่วงครึ่งปี 2563 พบว่า ครัวเรือนมีรายได้ 23,615 บาท ปรับตัวลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 26,371 บาท หรือมีรายได้ลดลงร้อยละ 10.45
- แรงงานยังต้องเผชิญกับ 3 ปัจจัยเสี่ยง ในปี 2564
1.ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบในครั้งแรก ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการปรับลดตำแหน่งงานลง รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานในสถานประกอบการขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ภัตตาคาร ค้าปลีกและค้าส่ง ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระจะมีรายได้ลดลงจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน
ซึ่งหากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ รวมถึงความล่าช้าของการฉีดวัคซีนโควิด และการกระจายให้กับประชาชน แรงงานก็อาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงและยาวนานขึ้น รายได้ที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน
2.สถานการณ์ภัยแล้ง จากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีน้อย อาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ซึ่งจะกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องใช้น้ำมาก
3.การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและดิจิทัลมีการขยายตัวของการจ้างงานอย่างมาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ขณะที่การยกระดับทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยียังไม่ตอบสนองต่อความต้องการที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากเทียบจากตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำ กับรายงานภาวะสังคมไทยของสภาพัฒน์ ยังสะท้อนว่าประเทศไทยยังคงเผชิญความท้าทายทั้งในแง่ของค่าแรงงาน ความเสี่ยงในแง่คุณภาพแรงงาน รวมถึงทักษะแรงงานที่จะรองรับเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ซึ่งนับเป็นโจทย์สำคัญของทุกส่วน โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องการผลักดันประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0
ที่มา : nesdc