'อนุทิน' นำทีมหารือ 'วัคซีนโมเดอร์นา' บริษัทยันไม่ขายตรงให้เอกชน
"อนุทิน"นำทีมหารือ"โมเดอร์นา" บริษัทยันขายให้รัฐเท่านั้นไม่ขายตรงเอกชน คาดใช้ช่อง อภ.นำเข้าช่วยให้รพ.เอกชนเข้าถึงวัคซีนโควิด19 จี้เร่งสรุปยอดการซื้อส่งให้อภ. ขอเอกชนมีมาตรการดูแลอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนด้วย เหตุยังใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับผู้แทนบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาในประเทศไทย ว่า จากการหารือมีความเข้าใจกันอย่างดี กระทรวงพร้อมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนวัคซีนโมเดอร์นา แต่ผู้ผลิตต้องส่งเอกสารตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดเพื่อการพิจารณา พร้อมกันนี้ยังยืนยันว่ารัฐบาล กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีการกีดกันวัคซีนใดๆ ที่เข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือก และวัตถุประสงค์ที่บริษัทนี้มาขึ้นทะเบียนเพื่อที่จะขายให้ภาคเอกชน รพ.เอกชน เพื่อให้มีวัคซีนสำหรับผู้ที่จะรับการฉีดวัคซีนนอกระบบรพ.รัฐ และยังไม่ได้มีการเจรจาในสัดส่วนของภาครัฐ
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญคือบริษัทบอกว่าโมเดอร์นาต้องขายผ่านรัฐบาล หรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลเท่านั้น พูดง่ายๆไม่ขายให้เอกชนโดยตรง ทุกบริษัทพูดเช่นนี้หมด จะต้องขายผ่านรัฐบาล ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขเลยให้คำยืนยันกับโมเดอร์นา ว่าเมื่อเอกชนไม่สามารถซื้อได้ เพราะติดเงื่อนไขจากทางบริษัทผู้ผลิต กระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้นำเข้าวัคซีน แต่ภาคเอกชนต้องยืนยันยอดการซื้อมาให้ อภ. เพราะ อภ.ไม่สามารถซื้อมาสำรองเพื่อรอให้เอกชนมาซื้อต่ออีกทอดหนึ่งได้ อย่างไรก็ตาม เอกชนสามารถซื้อวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้วได้ตอนนี้มีแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ส่วนที่รอขึ้นทะเบียนอยู่มีไฟเซอร์ โมเดอร์นา สปุตนิควี ซึ่งถ้าเอกชนติดต่อซื้อตรงได้ก็ดี ถ้าซื้อยังไม่ได้ก็ซื้อผ่าน อภ.
“ตอนนี้วัคซีนที่ใช้ทั่วโลกตอนนี้อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ผลิตมีการขึ้นทะเบียนออกตัวว่านี่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่สามารถเรียกร้องการชดใช้อะไรได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่นำวัคซีนไปใช้ต่างรับสภาพอยู่แล้วว่านี่คือสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นการสั่งผ่าน อภ. ทางอภ.ก็จะมีบันทึกข้อตกลงไว้ว่า อภ.เป็นผู้นำเข้าเท่านั้น หากการนำไปใช้ เกิดผลข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์อภ.ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบ เอกชนที่นำไปใช้ต้องแจ้งต่อผู้มารับการฉีดวัคซีนให้ทราบ ในส่วนของภาครัฐจะมี มาตรา 41 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ดูแลอยู่ แต่ไม่รู้ว่าครอบคลุมถึงเอกชนหรือไม่ แต่เอกชนต้องมีมาตรการดูแลตรงนี้ด้วย” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับกรณีฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศไทยขณะนี้ ไม่มีความขัดแย้งอะไร จริงๆ ไม่ได้มีกฎหมายบังคับให้ฉีด ตรงนี้เป็นสิทธิของประชาชน หากประสงค์รับวัคซีน รัฐก็มีวัคซีนให้ โดยชนิดวัคซีนก็อยู่กับจังหวะและวัตถุประสงค์ที่ขำเข้ามา เช่น ไฟเซอร์ เจรจานำเข้าเพราะครอบคลุมไปถึงเด็กอายุ 12-18 ปี ดังนั้นเด็กอายุ 12-18 ปี ก็ต้องได้รับการพิจารณาก่อน หากของไฟเซอร์มีมากพอก็พิจารณาให้กับกลุ่มอื่นได้ ส่วนซิโนแวคก็มีคุณสมบัติในเรื่องระยะห่างระหว่างเข็ม1-2 ได้เร็ว ดังนั้นบุคลากรการแพทย์ คนทำงานหน้าด่านที่อายุต่ำกว่า 60 ปี ก็ได้รับวัคซีนนี้ก่อน ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าก็สามารถรับได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี ไปจนถึงสูงอายุ ซึ่งช่วงที่จำนวนยังมีจำกัดคนที่อายุยังไม่เยอะก็ต้องขอให้ฉีดซิโนแวคก่อน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ถ้าวันที่มีวัคซีนทั้งหลายเข้ามาจำนวนมากแล้ว อยากทำอะไรก็พยายามอำนวยความสะดวกให้ แต่ ณ วันนี้ไฟเซอร์ก็ยังไม่เข้ามา เดือนหน้าก็มีแต่แอสตร้าฯ กับซิโนแวค ก็ต้องดูสถานการณ์ ดูความเหมาะสม
เมื่อถามว่าประชาชนมองว่าทำไมไม่ให้สิทธิประชาชนเลือกชนิดวัคซีนเอง นายอนุทิน กล่าวว่า เราไม่ได้สั่งวัคซีนทุกชนิดเท่ากันหมด อันนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตอนไม่มีก็ถามว่าทำไมไม่มีวัคซีน พอมีแล้วทำไมถึงไม่มียี่ห้อนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความต้องการที่หลากหลายรัฐก็ต้องเป็นผู้กำหนด เมื่อถามย้ำว่าขณะนี้มีกลุ่มบุคลากรการแพทย์ เรียกร้องอยากฉีดของแอสตร้าฯ เพราะมั่นใจชนิดนี้มากกว่า นายอนุทิน กล่าวว่า ตอนนี้บุคลากรฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 90% ส่วนใหญ่ฉีดซิโนแวค ที่มีการปลุกระดมในโซเชียลมีเดียนั้นก็ทำไป
คาดพิจารณาทะเบียนโมเดอร์นาในพ.ค.
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทวัคซีนโมเดอร์นา โดยบริษัทซิลลิค ยื่นเอกสารเข้ามาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ครบ100% คาดว่าจะพิจารณาขึ้นทะเบียนได้ในเดือนพ.ค. นอกจากนี้ยังมีบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี และ สปุตนิกวี โดยบริษัทคินเจน ไบโอเทค จำกัด ที่ยื่นเอกสารเข้ามา แต่ยังส่งมาไม่ครบ ทั้งนี้การที่อย.ต้องพิจารณาเรื่องการนำเข้าวัคซีน แม้ว่าวัคซีนตัวนั้นๆ จะมีการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้วก็เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชน