ข้อควรรู้!!! ใช้'ยาฟาวิพิราเวียร์' ต้านโควิด-19
“ยาฟาวิพิราเวียร์” หริอยาต้านโควิด -19 ที่มีการนำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปานกลางจนถึงอาการหนัก ทว่าเมื่อ กทม.จะนำมาใช้กับผู้ป่วยสีเขียวในรพ.สนาม จึงเกิดข้อถกเถียงขึ้นทันที
กลายเป็นประเด็นคำถามถึงการใช้ “ยาฟาวิพิราเวียร์” หรือยาต้านโควิด-19 ควรจะใช้เมื่อใด อย่างไร กลุ่มเป้าหมายในการใช้ยาดังกล่าว คือ กลุ่มใดกันแน่ หลังจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเขียว รายใหม่ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามทันทีตั้งแต่วันแรก เพราะที่ผ่านมา การใช้ยาดังกล่าว จะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง (กลุ่มสีเหลือง) และผู้ป่วยที่มีอาการหนัก (กลุ่มสีแดง)
ขณะเดียวกัน กลุ่มชมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความผ่านเพจ ชมรมแพทย์ชนบท แสดงความคิดเห็นว่า แจก"ยาฟาวิพิราเวียร์"ให้คนป่วยทุกคน ผิดหลักการ และบอกว่ายาไม่ใช่ขนม โดยการที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม. บอกว่า จะแจกยารักษาโควิดให้ทุกคนที่ป่วยเป็นโควิดที่มานอนพักที่โรงพยาบาลสนามคลองกรุงเทพฯสร้างความปั่นป่วนไม่น้อยแก่คนไทยทั้งประเทศ เพราะนี่คือความเข้าใจผิดที่สำคัญที่สุด
โดย “ยาฟาวิพิราเวียร์” มีไว้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางหรืออาการหนักเท่านั้น ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้แต่อย่างใด ซึ่งถูกต้องตามหลักการใช้ที่สมเหตุสมผล
ปัจจุบันปริมาณ“ยาฟาวิพิราเวียร์”คงเหลืออีกว่า 1.6 ล้านเม็ด และจะสั่งจากญี่ปุ่นอีก 2 ล้านเม็ดภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้ โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการแจกจ่ายไปยังรพ. ทั้งในกรุงเทพมหานคร และภูมิภาคทุกเขตสุขภาพ มากกว่า 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศ
ตั้งแต่วันที่ 26-30 เม.ย. 2564 มีการกระจายยาไปยังทุกจังหวัดที่มีผู้ป่วยทุกเขตสุขภาพแล้ว 765,600 เม็ด อาทิ โรงพยาบาลราชวิถี 190,500 เม็ด โรงพยาบาลนครพิงค์ 48,000 เม็ด โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า 78,200 เม็ด โรงพยาบาลชลบุรี 70,000 เม็ด โรงพยาบาลหาดใหญ่ 18,500 เม็ด โรงเรียนแพทย์ แห่งละ 4,000 – 6,000 เม็ด และโรงพยาบาลภาคเอกชนกว่าแสนเม็ด รวมทั้ง มีการวางแผนจัดส่งยาฉุกเฉิน โดยองค์การเภสัชกรรม ผ่านทางสายการบินพาณิชย์ และรถโดยสารในจังหวัดที่ไม่มีสนามบินไว้ด้วย
- วิธีใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ในผู้ป่วย
สำหรับ "ยาฟาวิพิราเวียร์" มีชื่ออื่นว่า T-705 ส่วนชื่อการค้าคือ Avigan และ Favilavir มีลักษณะโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ไพราซีนคาร์บอกซาไมด์ (pyrazinecarboxamide derivative) ค้นพบโดย บริษัทฟูจิฟิล์ม โตยามะ เคมิคอล (Toyama Chemical Co., Ltd) ในประเทศญี่ปุ่น และได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล
โดยยานี้ เคยใช้รักษา ไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ก่อนจีนอนุมัติให้ใช้รักษาโควิด-19 ในช่วงปี พ.ศ. 2557 ถึง 2559 ในแถบอาฟริกาตะวันตก จากข้อมูลในอดีตมีผู้ใช้ยานี้ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครสุขภาพดี ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยโรคอีโบลา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 คน พบว่า ยามีความปลอดภัย
สำหรับวิธีการใช้"ยาฟาวิพิราเวียร์" โดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่โดยขนาดการรับประทาน 1,600 มิลลิกรัม วันละสองครั้งในวันแรก และ 600 มิลลิกรัม วันละสองครั้งในวันที่ 2 ถึงวันที่ 5 ระยะเวลาการรักษาโดยรวมคือ 5 วัน[39] ด้วยยาเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัม ดังนั้นจึงต้องรับประทาน (1600 x 2 + 600 x 2 x 4) มก. / 200 มก. = 40 เม็ดต่อคน ผลจากการได้รับยาในปริมาณสูงยังคงอยู่ระหว่างการศึกษา
ในการศึกษาแรก (โดย Beijing Chaoyang Hospital ร่วมกับ Union Hospital และ Jinyintan Hospital) เริ่มลงทะเบียนรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้าร่วมในการศึกษาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จำนวน 60 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน เพื่อให้ ฟาวิพิราเวียร์ รับประทานวันละ 2 ครั้ง ขนาดยาที่ทำการศึกษาคือ 1,600 มิลลิกรัม, 1,800 มิลลิกรัม และ 2,400 มิลลิกรัม ให้ยานาน 10 วัน บางการศึกษาจะมีการเปรียบเทียบการใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" กับ lopinavir/ritonavir หรือ baloxavir marboxil ขณะนี้ "ยาฟาวิพิราเวียร์"จึงเป็นยาตัวหนึ่งที่เป็นความหวังสำหรับใช้รักษาโควิด-19
นอกจากนั้น ยาดังกล่าวจะมีความเป็นพิษต่อทารกในครรภ์ ได้รับการยืนยันในการศึกษาในสัตว์ทดลอง และมีข้อห้ามใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่สงสัยว่าตั้งครรภ์ และควรคุมกำเนิดในช่วงเวลาระหว่างได้รับยาจนถึง 7 วันภายหลัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ควรใช้หรือไม่? 'ยาฟาวิพิราเวียร์' แก่ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวในรพ.สนาม
- ข้อจำกัด การใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์"
ว่ากันว่า "ยาฟาวิพิราเวียร์" จะมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ก็ต่อเมื่อรับประทานยาเข้าสู่ร่างกายและยาถูกเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์ได้เป็น favipiravir ribosyl triphosphate ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase (หรือ RNA replicase) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีความสำคัญในกระบวนการถ่ายแบบอาร์เอ็นเอ (RNA replication)
สารออกฤทธิ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย ยานี้ไม่ยับยั้งการสร้างอาร์เอ็นเอและดีเอ็นเอในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของคนและสัตว์
"ยาฟาวิพิราเวียร์" ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีเกือบสมบูรณ์ เกิดระดับยาสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง (ช่วงตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง) ยาถูกเปลี่ยนสภาพที่ตับโดย aldehyde oxidase เป็นส่วนใหญ่ และโดย xanthine oxidase เพียงเล็กน้อย เกิดเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์และถูกขับออกทางปัสสาวะ
ข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ยานี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับยาต้านโคโรนาไวรัสชนิดอื่น คือ ปัญหาเรื่องไวรัสดื้อยา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับอนุมัติในประเทศจีนให้ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ และอนุญาตให้นำมาใช้ในการศึกษาทางคลินิกกับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563
ขณะที่อาการไม่พึงประสงค์เมทื่อได้รับยานี้ เช่น กรดยูลิคในเลือดสูงขึ้น เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลลดลง ค่าการทำงานของตัว AST และ ALT เพิ่มขึ้น บางรายอาจมีอาการท้องเสีย
- คุณสมบัติ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ควรแยกแยะในการใช้
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก "นิธิพัฒน์ เจียรกุล" เกี่ยวกับ"ยาฟาวิพิราเวียร์" โดยระบุว่า "ยาฟาวิพิราเวียร์"ได้รับการจดทะเบียนยาและอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 เป็นกรณีพิเศษสำหรับศึกระลอกแรก เนื่องจากมียาจำกัด จึงให้ใช้เฉพาะในราย"ปอดอักเสบ"รุนแรง การเก็บข้อมูลย้อนหลังโดยคณะทำงานพบว่า ยานี้น่าจะช่วยลดความรุนแรงและการสูญเสียจากโรค และใช้ได้ปลอดภัย
แต่เนื่องจากยานี้ไม่มีใช้ในประเทศทางตะวันตก จึงไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการที่หนักแน่นรองรับ แต่คณะกรรมการจัดเตรียมยาของประเทศก็ได้จัดเตรียมไว้ให้เพียงพอในระลอกสอง ซึ่งไม่เกิดปัญหา เพราะมีอัตราการใช้ราว 20% ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยที่คณะกรรมการวิชาการได้ขยายข้อบ่งใช้ให้ครอบคลุมตั้งแต่ปอดอักเสบขั้นต้น และผู้ป่วยที่อาจเกิดปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งผมในนามสมาคมอุรเวชช์ฯ ได้ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อบรรจุยานี้ไว้สำหรับให้ทุกโรงพยาบาลจัดซื้อได้เอง เพื่อให้มีใช้งานเพียงพอ
ในระหว่างดำเนินการนี้ เกิดศึกระลอกสามตามมาอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ป่วยเพิ่มแบบทวีคูณควบคู่ไปกับยอดการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยมีอัตราการใช้ระหว่าง 20-70% แล้ว แต่ความสะดวกการเข้าถึงยาในพื้นที่ เป็นที่มาของความฉิวเฉียดของการมียาสำรองใช้เกือบไม่เพียงพอ ขอบคุณยาต้นแบบจากญี่ปุ่นที่เข้ามาช่วยไว้ทันจำนวน 2.2 ล้านเม็ด (รักษาผู้ป่วยได้ราวสามถึงสี่หมื่นคน)
ขณะนี้มีแนวคิดขยายการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ให้เข้าใกล้ 100% โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เนื่องจากการให้ยาแบบไม่แยกแยะ มีข้อเสียคือ ยาอาจขาดมือจากที่สำรองไว้ ทำให้ผู้ป่วยรายที่จำเป็นอาจไม่ได้ยาชั่วคราวหรือได้ไม่เต็มจำนวน
อีกทั้ง การใช้ยาตั้งแต่แรก อาจทำให้แพทย์นิ่งนอนใจในประสิทธิภาพของยา จนอาจทำให้ละเลยการเฝ้าระวังการเกิดปอดอักเสบ ยานี้ยังไม่มีหลักฐานว่าป้องกันการเกิดปอดอักเสบหรือทำให้"ปอดอักเสบ"เล็กน้อยไม่ลุกลาม นอกจากนั้น การใช้ยาฆ่าเชื้อที่ไม่สมเหตุสมผล (non-rational drug use) จะนำมาซึ่งการเกิดเชื้อดื้อยาภายหลัง