ตีแผ่ ‘โควิด-19’ มฤตยูหลังกำแพง ‘เรือนจำ’
จากการเก็บข้อมูลวิจัยโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลใน 69 ประเทศ ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2563 - กุมภาพันธ์ 2564 พบว่าเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีจำนวนผู้ติดเชื้อ “โควิด-19” ในที่คุมขัง “เรือนจำ” และสถานกักกันต่างๆ มากถึงกว่า 612,000 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตที
ปัญหาหลักเกิดจากการขาดความสามารถในการจัดบริการตรวจหาเชื้อ และแนวทางการจัดการเรื่องสาธารณสุขที่ไม่ดีพอ ซึ่งในช่วงแรกของการแพร่ระบาด แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่เรือนจำก็เข้าไม่ถึงบริการการตรวจหาเชื้อ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการขาดมาตรการป้องกันและปกป้องคุ้มครองในหลายประเทศ เช่น กัมพูชา ฝรั่งเศส อิหร่าน ปากีสถาน ศรีลังกา ตองโก ตุรกี และสหรัฐอเมริกา
จากข้อมูลของ UN Office on Drugs and Crime (UNODC) พบว่าในกว่า 100 ประเทศทั่วโลกมีความพยายามปล่อยนักโทษกว่า 600,000 รายในปี 2563 เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ ส่วนใหญ่เป็นนักโทษที่มีปัญหาสุขภาพ
- สถานการณ์อันเลวร้าย
ข้อมูลของ UN Office on Drugs and Crime (UNODC) และ World Prison Brief ในปี 2561 คาดการณ์ว่ามีคนจำนวนไม่ต่ำกว่า 10.7 ล้านคนทั่วโลกถูกคุมขังก่อนการตัดสินคดี (pre-trial detention) หรือถูกต้องโทษจำคุก ซึ่งจำนวนที่แท้จริงอาจมีถึง 11 ล้าน เนื่องจากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนในบางประเทศ
ต้นปี 2563 ประเทศที่มีสถิติตัวเลขจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุดในโลก คือ สหรัฐอเมริกา 1.4 ล้าน และอีกหลายแสนคนที่ถูกคุมขังในระหว่างการตัดสินคดีและในศูนย์กักกันผู้อพยพ (immigrant detention centres)รวมแล้วกว่า 2.3 ล้านคน, จีน ไม่น้อยกว่า 1.65 ล้านคน, บราซิล 690,000 คน และ รัสเซีย 583,000 คน
ในแง่สุขภาพ กลุ่มคนในสถานที่คุมขังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จากปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่
- บุคคลที่ถูกพรากเสรีภาพไปมักมีสภาพร่างกาย สุขภาพ และโรคภัยที่ซ่อนอยู่มากกว่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป เพราะการอยู่ในสภาพที่มีสุขอนามัยที่แย่กว่า สภาวะความเครียด โภชนาการที่ไม่ดี ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี รวมถึงการระบาดของเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเลือด วัณโรค และสภาวะข้างเคียงจากการใช้ยาเสพติด
- ในเรือนจำมักมีการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ การอักเสบ และเชื้อโรคอันเนื่องมาจากสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย มีเหตุจากความแออัดและขาดการรักษาสุขอนามัย จากข้อมูลของผู้รายงานพิเศษเรื่องการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม อย่างรวบรัด และโดยพลการ (UN Special Rapporteur on Extrajudicial, Summary or Arbitrary Executions) พบว่า นักโทษมักมีปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน หัวใจ หอบหืด ความดันโลหิตสูง และการติดเชื้อในปอด เช่น โรคปอดบวมและวัณโรค
- ผู้คนในเรือนจำมักไม่สามารถรักษาระยะห่างทางร่างกายได้ และ
- การดูแลและให้บริการด้านสุขภาพอาจมีอย่างจำกัด
หน่วยงานสหประชาชาติต่างๆ ได้เรียกร้องให้เห็นข้อเท็จจริงว่า นักโทษมักมีภาวะการกดภูมิคุ้มกัน การติดสารเสพติด และโรคติดต่อ เช่น เอชไอวี วัณโรค และ ไวรัสตับอักเสบ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ โควิด-19
- ความแออัดอันแสนน่ากลัว
สถานที่คุมขังต่างๆ เผชิญปัญหานี้เหมือนกันทั่วโลก กว่า 102 ประเทศทั่วโลกมีรายงานเรื่องอัตราความหนาแน่นในเรือนจำมากกว่าร้อยละ 110 ผู้ต้องขังจำนวนมากเป็นผู้ต้องขังที่ถูกแจ้งข้อหาหรือกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรง รวมถึงจำนวนผู้ต้องขังที่ถูกจำคุกในระหว่างการพิจารณาคดีหรือการกักขังโดยพลการ เป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขที่เกินสัดส่วน และมีจำนวนมากกว่าผู้ที่ถูกตัดสินคดีแล้วในกว่า 46 ประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น กว่า 12 ประเทศในแอฟริกามีจำนวนนักโทษมากกว่าปริมาณที่รับได้กว่าร้อยละ 200 ในบุรุนดี ยูกันดา และแซมเบีย ร้อยละ 300 และในสาธารณรัฐคองโก สูงถึงร้อยละ 600
นักระบาดวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ได้บรรยายว่าเรือนจำเป็นศูนย์กลาง ของการแพร่ระบาดไวรัส เนื่องจากความแออัด การขาดสุขอนามัยและระบบการระบายอากาศ ทำให้ไม่สามารถมีการรักษาระยะห่างทางกายภาพ สงผลให้เกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในเรือนจำในทุกทวีปทั่วโลก
กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานการติดเชื้อกว่า 612,000 กรณีในเรือนจำและสถานกักกัน นอกจากนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่า 2,700 ราย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการแพร่ระบาดและเสียชีวิตภายนอกที่คุมขังและเรือนจำกว่า 4 เท่าตัว
เดือนกันยายน 2563 ประเทศอินเดียมีรายงานการติดเชื้อใน 351 เรือนจำ จาก 1,350 เรือนจำ หรือหนึ่งส่วนสี่แห่งของเรือนจำใน 25 รัฐทั่วประเทศ
เดือนกันยายน 2563 ประเทศปากีสถานมีจำนวนนักโทษติดเชื้อไม่น้อยกว่า 2,313 ราย
ในเดือนธันวาคม 2563 ประเทศเกาหลีพบว่ามีผู้ต้องขัง 771 คน และเจ้าหน้าที่ 21 คน ติดเชื้อภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ในศูนย์กักกันกรุงโซลตะวันออก และในวันที่ 4 มกราคม 2564 มียอดจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1,041 คน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด
แอฟริกาใต้ เป็นหนึ่งในประเทศแถบแอฟริกาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 10,000 คนในเรือนจำหลายแห่ง กว่า 65 เปอร์เซ็นต์ เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเรือนจำ จนทำให้เรือนจำต้องทำการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ
ในยุโรป แม้ว่าจะมีความพยายามลดความแออัดในเรือนจำตั้งแต่การเริ่มระบาดของโควิด-19 แต่ในวันที่ 15 กันยายน 2563 ใน 38 เรือนจำที่มีการรายงานข้อมูล พบผู้ต้องขังไม่น้อยกว่า 3,300 คนและเจ้าหน้าที่เรือนจำ 5,100 คนติดเชื้อโควิด-19 จำนวนนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล ในวันที่ 31 มกราคม 2564 ผู้ต้องขังและเด็กติดเชื้อจำนวน 19,354 คนในเรือนจำและสถานกักกันเยาวชน 126 แห่ง ในอังกฤษและเวลส์ และมีเจ้าหน้าที่ 12,184 คนติดเชื้อตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดในช่วงแรก
- มาตรฐานสากล
ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง หรือ ข้อกำหนดแมนเดลา (Nelson Mandela Rules) กล่าวถึงการรักษาความสะอาดและสุขอนามัย ดังนี้
- ข้อกำหนด 15: มีเครื่องสุขภัณฑ์เพียงพอแก่ความจำเป้นกับผู้ต้องขังทุกคน ทั้งต้องสะอาดและเหมาะสม
- ข้อกำหนด 16: ที่อาบน้ำและฝักบัวต้องติดตั้งให้เพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขังทุกคนที่จะอาบน้ำโดบมีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ และให้สามารถอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดได้บ่อยตามความจำเป็นตามฤดูกาลและตามสภาพของแต่ละภูมิภาค โดยอย่างน้อยควรให้ผู้ต้องขังได้อาบน้ำสัปดาห์ละครั้งหากอยู่ในอุณหภูมิเขตอบอุ่น
- ข้อกำหนด 17: ให้มีการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมเป็นประจำสำหรับทุกส่วนภายในเรือนจำ ที่ใช้เป็นที่คุมขังโดยจะต้องทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา
- ข้อกำหนด 18 (1): ผู้ต้องขังจะต้องรักษาร่างกายให้สะอาด ฉะนั้นจะต้องจัดหาน้ำและอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับห้องน้ำที่จำเป็นเพื่อสุขภาพและความสะอาดของผู้ต้องขังให้ด้วย
- ข้อกำหนด 22 (2): น้ำต้องจัดไว้เพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนได้ดื่มเมื่อต้องการ
ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ) มีความเกี่ยวข้องในบริบทนี้ด้วยเช่นกัน คือ
- เรือนจำและห้องขังของผู้ต้องขังหญิงต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งของซึ่งตรงต่อความต้องการด้านสุขอนามัยของหญิงโดยเฉพาะ โดยอย่างน้อยรวมถึงผ้าเช็ดตัวที่สะอาด และการจัดส่งน้ำดื่มอย่างสม่ำเสมอให้เพียงพอต่อการดูแลเด็กและผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงซึ่งทำอาหารตั้งครรภ์ ให้นมบุตรหรือมีประจำเดือน
- รัฐต้องไม่ทอดทิ้ง
รัฐมีพันธกรณีในการดูแลผู้ต้องขังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจะต้องดูแลทั้งในมิติของสิทธิด้านสุขภาพ สุขภาพของผู้ต้องขัง และสิทธิในการได้รับน้ำและสุขอนามัย ดังนี้
รัฐต้องทำให้มั่นใจว่าผู้ต้องขังต้องสามารถเข้าถึงการดูแลและบริการสุขภาพในมาตรฐานเดียวกับบุคคลทั่วไป
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกใส่ใจกับข้อกังวลเรื่องสถานที่กักขัง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งภายในเรือนจำและระหว่างเรือนจำกับสังคมภายนอก เพื่อไม่ให้การระบาดขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น
รัฐบาลจำเป็นต้องเก็บข้อมูลสาธารณะสุขที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลในที่คุมขังหรืออยู่ระหว่างการควบคุมตัวอย่างทันท่วงที ให้บริการหน้ากากอนามัยและสบู่ในปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงอุปกรณ์ทำความสะอาดต่างๆ โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย การเข้าถึงน้ำใช้ที่สะอาด และการเข้าถึงการตรวจและการรักษาโรคโควิด-19
นอกจากนี้รัฐบาลควรเสาะหาทางเลือกอื่นแทนการคุมขังผู้อยู่ระหว่างดำเนินคดี เพื่อลดปัญหาความแออัดในเรือนจำ
แม้ว่าการแจกจ่ายวัคซีนโดยรัฐบาลจะทำเป็นห้วงเวลาที่ต่างกันและมีการจัดกลุ่มเป้าหมายที่ซับซ้อน ทั้งนี้ รัฐยังคงต้องทำให้มั่นใจว่านโยบายและแผนการฉีดวัคซีนนั้นไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ในที่คุมขัง รัฐจะต้องทำทุกวิถีทางให้นักโทษ รวมถึงเจ้าหน้าที่เรือนจำได้เข้าไปอยู่ในแผนเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำที่ไม่อำนวยต่อการรักษาระยะห่างทางกายภาพ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลใช้วิธีการแยกขังหรือมาตรการกักตัวก็ต่อเมื่อไม่สามารถใช้มาตรการป้องกันอื่นได้ การห้ามเยี่ยมจะต้องเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเท่าที่จำเป็นและมีสัดส่วนชัดเจน และเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนที่เป็นอิสระและเป็นกลาง ในกรณีต่าง ๆ ที่มีส่วนของการใช้กำลังรุนแรงภายในพื้นที่เรือนจำ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ภายใต้ UN ได้เพิ่มความพยายาม WHO ควรมีการทบทวนแนวทางการเข้าถึงผลิตภัฑณ์ด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19 เช่น วัคซีน อย่างสม่ำเสมอ และมีการอ้างอิงที่เชื่อถือได้ในเรื่องเจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้คุมขังที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตหรือการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงจากโรคโควิด-19 ให้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงและต้องได้รับการให้ความสำคัญอันดับต้นๆ ในการเข้ารับวัคซีน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เสนอให้ UNODC ขยายระบบการเก็บข้อมูลอาชญากรรมทั่วทุกรัฐบาล เพื่อให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลแยกประเภทที่มีรายละเอียดมากขึ้น ต่อการปรับปรุงยุทธศาสตร์การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เสนอให้ OHCHR ได้ให้คำแนะนำเชิงเทคนิคและการสนับสนุนที่จำเป็นต่อคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการติดตามสถานการณ์ภายในเรือนจำในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19