'ขนส่งมวลชน' ทุกคนต้องขึ้นได้

'ขนส่งมวลชน' ทุกคนต้องขึ้นได้

ขนส่งมวลชน คือหัวใจหลักการเดินทางของทุกคน แต่ในประเทศไทยยังมี ‘ขนส่งมวลชน’ ที่ไม่ได้มีเพื่อทุกคน เรื่องนี้มีทางออกไหม

"ตอนสร้างระบบขนส่งมวลชน ก็บอกว่าเป็นสวัสดิการ แต่การเดินทางของผู้มีความบกพร่อง คนพิการ คนชรา ก็ยังไม่ได้รับสิทธิ์ที่ควรจะเป็น ในสิงคโปร์ รถใต้ดินคนทุกประเภทใช้บริการได้ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าชนชั้นไหน

แต่รถไฟฟ้าบ้านเรา ถ้าขึ้นสองคน ขึ้นแท็กซี่ดีกว่า จริงๆ แล้วค่าโดยสารต้องอิงกับรายได้ของคนส่วนใหญ่ เป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต่ำ รัฐต้องถือว่าเป็นสวัสดิการคนมีรายได้น้อย ไม่ใช้ภาระของรัฐแต่เป็นภาษีอากรของผู้คน ขนส่งมวลชนควรเป็นของมวลชนจริงๆ ไม่ว่าเรื่องความสะดวก, รวดเร็ว, ปลอดภัย และเข้าถึง"

รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานสร้างความเข้มแข็ง เครือข่ายความปลอดภัยทางถนน เพื่อการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย กล่าวในเวทีสภาผู้บริโภค เนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย หัวข้อ ผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองเรื่องขนส่งมวลชนอย่างไร?’ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค กับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกันจัดขึ้น

162046326880

ทำไมค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง?

      สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึง มาตรฐานราคาการใช้บริการขนส่งมวลชนว่า  ปัจจุบันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงถึง 28 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต่ำของประชาชน กรุงเทพมหานครเสนอให้ใช้ราคา 65 บาท (40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต่ำ) ขณะที่ทั่วโลกราคาค่าขนส่งมวลชนอยู่ที่ 3-9 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน

"สภาองค์กรผู้บริโภคยืนยันว่า 25 บาททำได้จริง มาจากการคำนวณตัวเลขของกระทรวงคมนาคม 25 บาทก็ยังแพงกว่ารายได้ขั้นต่ำของประชาชน ที่ 331 บาท ไปกลับควรอยู่ที่ 33-34 บาท เราลดจากราคาของกระทรวงคมนาคมที่คิดอยู่ที่ 49 บาท 83 สตางค์ ลงครึ่งหนึ่ง 25 บาท กทม.ก็ยังมีกำไรอยู่ที่ 23200 ล้านบาท ประเด็นที่สอง ตัวเลขที่กทม.ใช้ในการคำนวณรายได้อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท

162046356879

แต่เราไปดูตัวเลขจากรายงานประจำปีของบริษัทพบว่ามีรายได้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท เราไม่ได้ไปดูรายได้อื่น ซึ่งมีรายได้อีกไม่น้อย  ฉะนั้นรายได้ที่กทม.คำนวณน้อยไป 10,000 ล้านบาท ประเด็นที่สาม ในปี 2557 ที่มีการลงทุนโครงสร้างด้วย พบว่าจำนวนผู้โดยสารและค่าใช้จ่ายต่อคนต่อเที่ยวบีทีเอสใช้เงินประมาณ 17 บาทเท่านั้น รัฐบาลต้องทำให้ได้เพราะการจัดบริการขนส่งมวลชน เป็นหน้าที่ของรัฐบาล รายได้ขั้นต่ำต้องขึ้นรถไฟฟ้าได้ ไม่งั้นรัฐบาลก็ต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เรา เป็นสิทธิที่ผู้บริโภคควรจะได้รับการคุ้มครองในบริการขนส่งมวลชน"

นอกจากราคาแพงแล้ว ความสะดวกในการเดินทางของคนแต่ละอาชีพ ก็สำคัญไม่น้อย เรื่องนี้ วรรณา กำมะหยี่ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายคนจนเมือง เข้าไม่ถึงระบบขนส่งมวลชน เสนอความเห็นว่า ไม่ค่อยได้ใช้บริการรถไฟฟ้า เพราะ 1.)ไม่สะดวก เนื่องจากมีอาชีพก่อสร้างต้องแบกของเยอะ 2.) ราคาสูง ค่ารถวันละร้อยกว่าบาท 3) รถเมล์ร้อนยังมีความจำเป็น ราคาไม่แพง ขนของได้ 

"อยากให้มีรถทั่วถึงและปลอดภัย เอารถเมล์ร้อนเข้ามาวิ่งตอนเช้ากับตอนเย็นได้ไหม ไม่ใช่เอาออกไปหมด ส่วนรถเล็กๆ มันจำเป็นต่อคนมีรายได้น้อย แม้จะไม่ถูกกฎหมาย ไม่ปลอดภัย

อย่ามองข้ามคนพิการ

นอกจากคนทั่วไปเข้าไม่ถึงขนส่งมวลชนแล้ว คนพิการ คนชรา ก็มีปัญหาเรื่องการใช้บริการ  Aofaof Supawat จาก เครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ บอกว่า

"กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าการออกแบบขนส่งมวลชนต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการและผู้สูงอายุ แต่ไม่มี เราก็เรียกร้อง จนได้ลิฟท์มาเพิ่มเกือบทุกสถานีรถไฟฟ้าแล้ว บางสถานีมีลิฟท์ขึ้นลงด้านเดียว เราต้องเดินอ้อมมากกว่าคนอื่น

การเดินทางของคนพิการในเมือง ฟุตบาทยังไม่รองรับ คนพิการไม่สามารถไปไหนได้ ถนนรอง ลึกเข้าไปในหมู่บ้าน ก็ต้องมีระบบขนส่งที่ส่งมาถึงถนนหลัก จะทำให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งได้มากยิ่งขึ้น ในต่างจังหวัด จะทำยังไงให้ระบบขนส่งกระจายไปชานเมือง นอกเมือง ข้ามเมือง รถทัวร์ก็มีความสูง คนพิการนั่งวีลแชร์ไม่สามารถปีนขึ้นได้ ปัญหาอีกอย่างคือสะพานลอย เราไม่สามารถเดินทางบนพื้นผิวทางเท้าได้ เราไม่สามารถข้ามถนนได้ เราก็เข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนไม่ได้"

162046347480

ขณะที่ Wansao Chaiyakul จาก เครือข่ายคนพิการ มีความเห็นว่า ระบบขนส่งมวลชน ต้องมีไว้เพื่อขับเคลื่อนประเทศ

"รถไฟฟ้าบ้านเราเน้นกำไรมากกว่าบริการ รัฐต้องออกแบบตั้งแต่เดินออกจากบ้าน ถนน ฟุตบาท ทางเดิน รถเมล์ แท็กซี่ ต้องเชื่อมโยงทั้งระบบ แต่ระบบขนส่งมวลชนที่ผ่านมาไม่ได้ตอบสนองความต้องการ มันเป็นระบบที่รัฐคิดให้ แล้วก็ให้บริษัทมาดูแลจัดการ เมื่อมีปัญหา รัฐก็ไม่เปิดให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น"

รถโดยสารต่างจังหวัดหายไปไหน

หลากหลายความเห็นของคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากขนส่งมวลชนไม่เป็นระบบ ไม่เพียงพอกับความต้องการ

สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ขนส่งมวลชนไม่ใช่เรื่องของคนกรุงเทพอย่างเดียว 

"ที่จังหวัดพิจิตร ไม่มีรถโดยสารวิ่งระหว่างอำเภอเลย มีแต่รถตู้วิ่งระหว่างจังหวัด ในต่างจังหวัดมีการผูกขาด ทำให้มีปัญหาคุณภาพรถ และรถก็มีจำนวนน้อย

162046360085

สุภาวดี วิเวก สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคตะวันออก ก็เห็นเช่นเดียวกัน 

"รถประจำทางระหว่างภาคระยะเวลาไม่แน่นอน ถ้าไม่มีผู้โดยสารก็ไม่วิ่งหรือทิ้งผู้โดยสาร รถตู้ก็หยุดวิ่ง ชาวบ้านไม่รู้ ก็มารอ ทำให้ไม่ได้ไปทำงาน ขนาดมี EEC (Eastern Economic Corridor : โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) แล้วก็ยังไม่ปลอดภัย มีอุบัติเหตุรถวิ่งจากระยองไปกทม."

ส่วน เอกชัย อิสระทะ เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ เล่าว่า ภาคเกษตรไม่มีระบบขนส่งมวลชนเลย 

"ตอนนี้สินค้าการเกษตรไม่มีช่องทางขนขึ้นรถขนส่งมวลชนเลย แทบจะถูกตัดออกจากระบบ นี่เป็นปัญหาหนึ่ง ปัญหาที่สองคือรถตู้โดยสาร คุณภาพขึ้นอยู่กับเจ้าของรถ บริการไม่ดี แออัดยัดเยียดกัน 3-4 ชั่วโมง ถ้ามีรถที่สามารถขนส่งสินค้าเกษตรช่วงเช้าและช่วงเย็นได้ก็จะดี"

 

ขนส่งของมวลชน

สภาองค์กรของผู้บริโภค มีข้อเสนอต่อรัฐบาลให้คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในบริการขนส่งมวลชน ดังนี

1)เป็นสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะได้รับบริการขนส่งมวลชนควรมีการปรับปรุงให้ขนส่งมวลชนแต่ละประเภทสนับสนุนกันและกันให้บริการแบบไร้รอยต่อ พัฒนาทางเท้า เดินได้จริงทุกพื้นที่ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ต้องจัดทำโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

2)เสนอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การขนส่งมวลชนควรสร้างถนนเท่าที่จำเป็น และนำเงินปรับปรุงบริการขนส่งมวลชนให้เชื่อมโยงทุกจังหวัด และให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดตั้งแต่ออกจากบ้านจนถึงขนส่งมวลชน

3)เร่งดำเนินการให้มีรถบริการขนส่งมวลชนครอบคลุมทั่วประเทศ ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย สะอาด เป็นธรรม มีอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้ และจัดการรถตู้หมดอายุหรือเกิน 10 ปี ดำเนินการกับรถจักรยานยนต์ที่ไม่มีหมวกกันน็อคให้ผู้โดยสาร ทำให้รถเมล์จอดตรงป้ายเทียบฟุตบาท จัดการรถเมล์ที่จอดเลนที่สอง มีจิตใจให้บริการ คนพิการ ผู้สูงอายุ

4)เร่งดำเนินการบัตรใบเดียวใช้กับบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท เช่น รถเมล์ รถตู้ รถไฟฟ้า ทั่วประเทศ สนับสนุนราคารถไฟฟ้า 25 บาทตลอดสาย ยุติการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้ารถไฟฟ้าสีเขียว โดยมีเหตุผล 3 ประการ

162046366119

4.1 จากตัวเลขของกระทรวงคมนาคมที่ได้เสนอราคาระบบสายสีเขียวอยู่ที่ 49.83 บาทต่อเที่ยว สามารถมีกำไรถึง 380,200 ล้านบาทเมื่อหมดสัมปทานในปี 2602 เสนอให้ลดค่าโดยสารลงร้อยละ 50 คือ 25 บาทต่อเที่ยว ยังทำให้ กทม. มีกำไรสูงถึง 23,200 ล้านบาท

4.2 รายได้สายสีเขียวที่ใช้ในการคำนวณ เพื่อต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้า 30,000 ล้านบาทต่อปี แต่รายงานประจำปี 2562 ของบริษัท พบว่า บริษัทมีรายได้ดำเนินงาน 39,937 ล้านบาท จากการขนส่ง 32,076 ล้านบาท จากสื่อโฆษณา 5,735 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 8,817 ล้านบาท

4.3 นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้คำนวณต้นทุนการเดินรถไฟฟ้าต่อคนต่อเที่ยว ไม่เกิน 17.01 บาทเท่านั้น 

5)ส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในทุกระดับ จัดทำความเชื่อมโยงบริการขนส่งมวลชนในทุกด้านทุกระบบทุกประเภท รวมถึงการมีส่วนร่วมจัดทำสัญญาสัมปทานของรัฐกับเอกชนที่ปัจจุบันไม่เปิดเผยข้อมูล ไม่โปร่งใส สร้างภาระให้กับผู้บริโภค

6)ให้มีการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การปฏิเสธผู้โดยสารของแท็กซี่มิเตอร์ การดำเนินการเมื่อมีการคุกคามทางเพศในบริการขนส่งมวลชน รวมทั้งจัดให้มีบริการที่จำเป็น เช่น ห้องน้ำสะอาดปลอดภัย ที่ท่าเรือ สถานีรถไฟ และรถไฟฟ้า เพื่อสุขภาพของประชาชน