ปัญหาฉีดวัคซีนล่าช้า ต้องมีมาตรการจูงใจ
การสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนในการฉีดวัคซีนโควิด จะทำให้ประชาชนสนใจเข้าร่วมมากขึ้น หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ จะทำให้ประชาชนการเข้าถึงวัคซีนน้อยจนสร้างระบบภูมิคุ้มกันหมู่ได้ช้า ซึ่งจะกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างมาก
จำนวนวัคซีนที่รัฐบาลประกาศว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 63 ล้านโดส เป็น 100 ล้านโดส และเพิ่มขึ้นมาเป็น 150 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับผู้ที่อยู่ในประเทศไทยทุกคน ซึ่งปัญหาในขณะนี้อาจจะไม่ใช่วัคซีนที่จะนำมาฉีด เพราะอย่างน้อยจะมีวัคซีน “แอสตร้าเซเนก้า” เริ่มส่งมอบให้ประเทศไทยและเริ่มดำเนินการฉีดในเดือน มิ.ย.2564 หลังจากที่ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 เป็นวัคซีน “ซิโคแวค” ที่ได้รับมอบครบ 2.5 ล้านโดสเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
หากพิจารณาสถิติการฉีดวัคซีนของประเทศไทยในระยะเวลา 2 เดือนเศษ มีการฉีดไปแล้ว 1.81 ล้านโดส แบ่งเป็นการฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 1.29 ล้านโดส และการฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 513,454 โดส ถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่สูงมาก ในขณะที่การเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนรอบใหญ่ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาได้กำหนดให้มีการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” รวมมียอดการจองคิวถึงวันที่ 10 พ.ค.2564 รวม 1.6 ล้านคน แบ่งเป็นการจองคิวในกรุงเทพฯ 521,531 ราย และการฉีดในต่างจังหวัด 1.08 ล้านราย
ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ต้องการเข้ามาช่วยรัฐบาลวางระบบการรับรองผู้ฉีดวัคซีน เพื่อให้ผู้ฉีดวัคซีนใช้แสดงตัวและยืนยันสำหรับในประเทศและในต่างประเทศ โดยมีลักษณะคล้ายวัคซีนพาสปอร์ตที่เป็นการรับรองการฉีดวัคซีน ซึ่งให้สิทธิผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการห้ามในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ และการดำเนินการลักษณะนี้ภาคเอกชนจะมีความมั่นใจในการให้บริการประชาชนมากขึ้น
การสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพิ่มเติมจากการสร้างการรับรู้และการทำความเข้าใจประชาชนต่อการฉีดวัคซีน จะทำให้ประชาชนสนใจเข้าร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามา ร่วมถึงการหามาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เช่น การมีหลักประกันสำหรับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน ซึ่งต้องยอมรับว่าจุดนี้รัฐบาลยังนำเสนอไม่ชัดเจน
หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ประชาชนได้ จะทำให้ประชาชนการเข้าถึงวัคซีนน้อยจนสร้างระบบภูมิคุ้มกันหมู่ได้ช้า ซึ่งจะกระทบกับประเทศทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างมาก รวมทั้งรัฐบาลต้องใช้กลไกสาธารณสุขที่มีอยู่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมการฉีดวัคซีนให้มากขึ้นทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ