'ประกันสังคม' เช็คมาตรการลด 'เงินสมทบ' ม.33, ม.39 เหลือเท่าไร?
"ประกันสังคม" ปล่อยมาตรการช่วยเยียวยาผลกระทบ "โควิด-19" ลดอัตรา "เงินสมทบ" ให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง สำหรับผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 ลดเหลือเท่าไร? ลดให้กี่เดือน? เช็คที่นี่
หลังจากที่วันนี้ (18 พ.ค.) ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวมาตรการของ "ประกันสังคม" ให้ลดอัตรา "เงินสมทบ" ให้ผู้ประกันตน มาตรา33 และ มาตรา39 โดยอนุมัติลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เป็นเวลาติดต่อกัน 3 เดือน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนดูรายละเอียดในมาตรการนี้ชัดๆ อีกครั้ง
1. ลด "เงินสมทบ" 3 เดือน ทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง
ครม.มีมติเห็นชอบ ให้ลดอัตราการจ่าย "เงินสมทบกองทุนประกันสังคม" ของ ม.33 จากเดิม 5% ให้เหลือ 2.5% เป็นการชั่วคราว ให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยจะลดเงินสมทบให้ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2564 หลังจากนี้จะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมาย และรอประกาศบังคับใช้เร็วๆ นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2. "ผู้ประกันตน" มาตรา 33-39 ลดเงินสมทบเหลือ 2.5%
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง "ประกันสังคม" ปรับการจ่ายเงินสมทบจากเดิมฝ่ายละ 5% ลดเหลือฝ่ายละ 2.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตนต่อเดือน ทำให้เงินสมทบประกันสังคมที่เคยถูกหักสูงสุดเดือนละ 750 บาทต่อเดือน จะลดลงเป็นหักเดือนละ 375 บาทต่อเดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือน มิ.ย. - ส.ค. 2564
3. "ผู้ประกันตน" มาตรา 39 ลดเงินสมทบเหลือ 216 บาท
ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 "ประกันสังคม" ก็ปรับการจ่ายเงินสมทบเช่นกัน จากเดิมอัตรา 432 บาทต่อเดือน ลดเหลือ 216 บาทต่อเดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือน มิ.ย. - ส.ค. 2564
4. มาตรการนี้ช่วยผู้ประกันตนได้กว่า 12 ล้านคน
การลดเงินสมทบเหลือ 2.5% ในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานระบุว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อนายจ้างจำนวน 485,113 ราย, ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,384 คน และ ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน
สามารถนำเงินสมทบที่ลดลงนั้น ไปใช้จ่ายเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยการลดเงินสมทบดังกล่าวจะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราวๆ 20,163 ล้านบาท ซึ่งจะลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตนได้อีกทางหนึ่ง