ฉีดวัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' มิ.ย.นี้ ฉีดฟรีหรือจ่ายตังค์? กลุ่มไหนได้ลุ้นฉีดก่อน?

ฉีดวัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' มิ.ย.นี้ ฉีดฟรีหรือจ่ายตังค์? กลุ่มไหนได้ลุ้นฉีดก่อน?

สรุปข้อสงสัย! วัคซีน "ซิโนฟาร์ม" (Sinopharn) 1 ล้านโดสในล็อตแรกมาเมื่อไหร่ กลุ่มไหนได้ลุ้นมีสิทธิฉีดก่อน แล้วฉีดฟรีหรือจ่ายตังค์ ขณะที่ "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" เผย มีหน่วยงานรัฐ-เอกชน ติดต่อมาแล้ว

จากการที่วันนี้ (28 พ.ค.2564) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณวุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แถลงถึงการบูรณาการความร่วมมือ นำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" (Sinopharm) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ พล.อ.ต.นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมแถลงข่าว 

โดยความคืบหน้าล่าสุด คือหลังจาก บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้เป็นผู้ยื่นเอกสารขอการรับรองวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" และได้รับการรับรองจาก อย.แล้วเมื่อช่วงเที่ยงของวันนี้ (28 พ.ค.2564) ส่วนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะดำเนินการนำเข้าและบริหารจัดสรรวัคซีนให้กับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจจะจัดซื้อ

   

  • วัคซีนซิโนฟาร์ม นำเข้ามาเมื่อไร?

ศ.นพ.นิธิ เผยว่า เบื้องต้นจะมีการนำเข้าซิโนฟาร์ม จำนวน 1 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน 2564 โดยต้องดูเรื่องโลจิสติกส์ก่อน ซึ่งวัคซีนนี้นับเป็นวัคซีนตัวเลือก เป็นวัคซีนตัวที่ 5 ให้กับประชาชนคนไทย เป็นการทำงานคู่ขนาน เพื่อช่วยเหลือให้การกระจายวัคซีนในประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 

   

  • ใครมีสิทธิจะได้ลุ้นฉีดวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" เฟสแรกบ้าง?

สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนทางเลือก ซึ่ง ศ.นพ.นิธิ ชี้แจงว่า เนื่องจากตัววัคซีนซิโนฟาร์มที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดหามานั้นเป็นการใช้งบประมาณของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เอง เป็นคนละส่วนกับที่รัฐบาลจัดหาให้ประชาชนฟรี ฉะนั้นหน่วยงานใดต้องการจะให้มีการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ก็ต้องซื้อจากราชวิทยาลัยฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

โดยเบื้องต้น จะจัดสรรโดยคำนึงถึงความจำเป็น เช่น อุตสาหกรรมบางอย่าง ธุรกิจบางอย่างที่ไม่สามารถหยุดการดำเนินงานได้ ก็จะพิจารณาหน่วยงานเหล่านั้นก่อน

ทั้งนี้เบื้องต้นมี หน่วยงานรัฐและเอกชนที่ติดต่อมาแล้ว ดังนี้

1. สภาอุตสาหกรรม

2. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

3. องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ในบางหน่วยงานก็มีติดต่อมาบ้างแล้ว 

ทั้งนี้ ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ระบุถึงการเตรียมความพร้อมเรื่องวัคซีนโควิดว่า ได้ปรึกษากับรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หากสามารถสั่งซื้อได้ จ.นครราชสีมา จะใช้เงินท้องถิ่นในการจัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่

   

  • วัคซีนซิโนฟาร์ม ราคาเท่าไร?

ในส่วนของเรื่องราคาวัคซีนนั้น ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับราคาต้นทุน บวกกับค่าโลจิสติกส์ และการจัดเก็บ ซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์คงไม่ได้จะเอากำไรเท่าไร แต่จะมีการกำหนดราคาขายราคาเดียวกันทั่วประเทศ คาดว่าราคาของวัคซีนจะอยู่ราวๆ ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเข็ม

ศ.นพ.นิธิ ก็ย้ำยืนยันว่า "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เราไม่แสวงหากำไรแน่นอน"

โดย ศ.นพ.นิธิ อธิบายว่า การจัดหาครั้งนี้ เป็นการจัดซื้อในลักษณะองค์กรกับองค์กร ไม่ใช่ G2G หรือ รัฐต่อรัฐ เพียงแต่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นหน่วยงานรัฐ และที่ผ่านมาได้มีการติดต่อกับหน่วยงานต่างประเทศบ่อยครั้ง จึงสามารถติดต่อนำเข้าได้ โดยย้ำว่า โรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ ไม่สามารถติดต่อโดยตรงกับ บ.ไบโอจีนีเทค ซึ่งเป็นตัวแทนซิโนฟาร์มในไทยได้ 

"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่ใช่ในฐานะเอกชน แต่เป็นหน่วยงานของรัฐ ฉะนั้นโมเดลนี้ใช้กับโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ ถ้า รพ.เอกชนจะไปคุยกับผู้ผลิตเอง เขาไม่คุยด้วย" ศ.นพ.นิธิ กล่าว

    

  • รู้จักวัคซีนซิโนฟาร์ม

ซิโนฟาร์ม มีชื่อทางการว่า “BBIBP-CorV” เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เช่นเดียวกับซิโนแวค ใช้ขนาด 2 เข็ม ห่างกัน 21-28 วัน โดยมีข้อบ่งชี้กลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นชนิดที่สามารถใช้ในผู้สูงอายุได้

โดยมีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด นำเข้ามา ซึ่งผลิตในกรุงปักกิ่ง ในส่วนของการขึ้นทะเบียนกับ อย. แสดงว่าวัคซีนนั้นมีเรื่องความปลอดภัยแก่ผู้ได้รับวัคซีน มีคุณภาพ มีประสิทธิผล น่าเชื่อถือ

ทั้งนี้การขึ้นทะเบียน ใช้เวลารวดเร็วได้ เพราะในเรื่องของข้อมูล dossier ครบถ้วน เป็นข้อมูลเดียวกับที่ส่งให้องค์การอนามัยโลก ทำให้ผู้ประเมินที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจึงเห็นชอบร่วมกัน อนุมัติให้ซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนโควิด ตัวที่ 5 ในประเทศไทย