รู้ให้ชัด! ก่อนฉีด‘วัคซีน’ ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ไม่ต้องหยุดยา

รู้ให้ชัด! ก่อนฉีด‘วัคซีน’  ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ไม่ต้องหยุดยา

ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า ก่อนฉีด"วัคซีน"ป้องกันไวรัสโควิดในกลุ่ม"ผู้ป่วยจิตเวช" ไม่จำเป็นต้องหยุดยาทางจิตเวช  เรื่องนี้ทางราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มีข้อมูลเผยแพร่ชัดเจน

การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้ว่า มีอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มจิตเวช ทางราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศในเรื่องนี้ไว้ให้ทราบ 

การเตรียมตัวฉีดวัคซีนสำหรับผู้ป่วยจิตเวช

  1. รับประทานยาต่อเนื่อง และดูแลสุขภาพจิตของตนเอง
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน มีการออกกำลังกาย และ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
  3. แนะนำให้ผู้ป่วย กินยาจิตเวชตามปกติ ไม่ควรงดยา หรือ เพิ่มยา หรือปรับยา ก่อนฉีด เพราะอาจเกิดอาการถอนยา หรือ อาการข้างเคียงได้
  4. ยาจิตเวชปลอดภัยสำหรับการฉีดวัคซีน ยังไม่มีรายงานถึงผลกระทบระหว่างยาจิตเวชกับวัคซีน
  5. หากผู้ป่วยหรือญาติกังวลใจ อาจปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้เรื่องการฉีดวัคซีน

นอกจากนี้ทางผู้บริหารราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ยังมีคำแนะนำอีกว่า 

-การติดเชื้อโรคโควิด 19 ในผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเจ็บป่วยทางจิตรุนแรง อาทิ โรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว โรคซึมเศร้ารุนแรง เชาวน์ปัญญาบกพร่อง ออทิซึม และโรคทางจิตเวชอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ควรเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 โดยเร่งด่วน 

162225917884

-ส่วนผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป อาจไม่เร่งด่วนเท่ากลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเจ็บป่วยทางจิตรุนแรง

-วัคซีนโควิด 19 หลายชนิดได้รับการยอมรับว่า มีประโยชน์มากกว่าโทษต่อผู้ได้รับวัคซีน และปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่า โรคและยาทางจิตเวชใดมีผลกระทบต่อประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนโควิด19

-ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเจ็บป่วยทางจิตรุนแรง อาจมีความยากลำบากในการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 เนื่องจากขาดความรู้ ความตระหนัก รวมถึงความกังวลต่อการรับวัคซีน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับข้อมูลปัจจุบันที่เกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีนโควิด 19 และควรได้รับการชี้ชวนให้เข้าร่วมโปรแกรมการฉีดวัคซีน

ส่วนคำแนะนำสำหรับประชาชนในการดูแลจิตใจ ช่วงการระบาดของโรค Covid-19  างราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มีคำแนะนำดังนี้ 

9 สิ่งควรทำ 4 สิ่งไม่ควรทำ

สิ่งที่ควรทำ

  1. รับข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช้ความรู้สึกตัดสินจะช่วยลดความรู้สึกวิตกกังวลโดยใช่เหตุจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
  2. ลดการเสพข้อมูล ข่าวสารการระบาดของโรคทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ หากเสพข้อมูลข่าวสารมากเกินไป จะยิ่งกระตุ้นให้คิดมาก เกิดความเครียด วิตกกังวล หวาดกลัวตื่นตระหนกมากขึ้น ควรเป็นไปเพื่อทราบแนวทางในการป้องกันระมัดระวัง ดูแลตนเองตามหลักอนามัย และปฏิบัติตนกับคนในสังคมได้ถูกต้องเหมาะสม
  3. ใช้ชีวิตให้สมดุลเหมาะสมในการดูแลสุขภาพ เช่น การรับประทาน การนอน การออกกำลังกาย การป้องกันการรับเชื้อ/การแพร่เชื้อ ช่วยให้มีพื้นฐานของร่างกายที่แข็งแรง เป็นส่วนสำคัญลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากเชื้อไวรัสนี้
  4. การดูแลอารมณ์ความรู้สึกในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอารมณ์เชิงลบย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น ความเศร้า ความเครียด ความสับสน ความกลัว ความท้อแท้สิ้นหวัง และความโกรธ

162227483437

        แนวทางดูแลอารมณ์ มีดังนี้

        4.1 ตระหนักและยอมรับว่า เรากำลังมีความรู้สึกตึงเครียด เศร้า กังวล กลัว โกรธ เป็นเรื่องธรรมดา การตระหนัก รับรู้ ยอมรับ อารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลจิตใจที่ดี เพราะเราได้รับรู้แล้วว่าใจเราตอนนี้มีอาการอย่างไร และกำลังต้องการการดูแล

        4.2 หาสาเหตุที่ทำให้เครียด และทำความเข้าใจความเครียดที่เกิดขึ้นในใจ เช่น ทบทวนตนเองว่า เครียดเพราะอะไร กำลังกังวลอะไรในเรื่องนี้ ห่วงอะไร แล้วเขียนสิ่งที่วิตกกังวลต่างๆ ลงในกระดาษ จะช่วยให้ทราบว่า เราวิตกกังวลอะไร ต่อมาเขียนแนวทางในแก้ปัญหานั้นๆ จะช่วยให้เราได้แนวทางที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ลดการคิดวนเวียน การทราบสาเหตุ และเข้าใจที่มาของปัญหาความเครียด ความกังวล จะช่วยให้สามารถหาทางแก้ปัญหาได้ดีขึ้น

        4.3 การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ เช่น เพื่อน คนในครอบครัว เป็นการช่วยลดความตึงเครียดในใจที่ดีแบบหนึ่ง และอาจได้รับวิธีในการแก้ปัญหาหรือการดูแลใจที่ดีมากขึ้น

5.การตั้งสติเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน การแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตปกติอย่างฉับพลัน ทั้งการทำงาน การเรียน การดำรงชีพ การถูกจำกัดพื้นที่ ปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันความเจ็บป่วย เพื่อรับมือให้ทันสถานการณ์ การตั้งสติจึงเป็นส่วนสำคัญในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

6.การตั้งสติแบบง่ายๆ ที่ทำได้ทันทีเวลาเกิดความเครียด คือ การกลับมารับรู้ลมหายใจเข้า-ออก สัก 10 ครั้ง การกลับมารับรู้ลมหายใจเข้า-ออก ช้าๆ ต่อเนื่อง จะช่วยให้จิตใจเราสงบมั่นคงขึ้น ช่วยให้คิดแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น หางานอดิเรกที่ทำให้มีความสุข ผ่อนคลาย ช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนในบ้าน ควรเป็นกิจกรรมที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

7.การสื่อสารในสังคมออนไลน์ การแชร์ การโพสต์ บทความหรือข่าวสารที่ถูกต้องทางการแพทย์ รวมถึง แนวทางดีๆ ในการดูแลร่างกายและจิตใจ จะเป็นประโยชน์กับคนในสังคม

162225919883

8.เข้าใจความรู้สึกทุกข์ของติดเชื้อโรค Covid-19 และผู้ที่เกี่ยวข้อง การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเป็นสิ่งที่คาดการณ์และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนมีโอกาสสัมผัส รับ และแพร่กระจายเชื้อได้ ผู้ติดเชื้อก็มีความทุกข์ใจ กังวลถึงความเจ็บป่วยที่ไม่ทราบว่าจะรุนแรงถึงชีวิตหรือไม่ ควรสื่อความเห็นใจ เข้าใจ ให้กำลังใจแก่ผู้ติดเชื้อ การแสดงท่าทีรังเกียจ จะทำให้บรรยากาศในสังคมยิ่งเป็นทุกข์ หมดกำลังใจ จะส่งผลกลับมาที่จิตใจของเราเองในที่สุ

9.การส่งความใส่ใจ ความปรารถนาดี และ การช่วยเหลือดูแลกันในสังคม เป็นสิ่งที่ช่วยให้ใจของเรา คนใกล้ตัว และคนในสังคม มีความสุขมากขึ้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากในยามที่สถานการณ์มีความยากลำบาก และเป็นหนทางที่ทำให้ทุกคนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกันได้อย่างมีพลัง

สิ่งที่ไม่ควรทำ

  1. ไม่ควรแก้เครียดด้วยวิธีที่มีผลลบต่อร่างกาย และ จิตใจ เช่น การใช้บุหรี่ แอลกอฮอล์ สารเสพติด มาช่วยบรรเทาความรู้สึกด้านลบ เพราะจะกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับตนเองมากขึ้น
  2. การหาคนผิด การด่าว่ากันในสังคม เช่น ในสื่อสังคมออนไลน์ จะกระตุ้นให้เครียดโดยใช่เหตุ และ สร้างบรรยากาศทางสังคมให้ตึงเครียดยิ่งขึ้น ควรนำสิ่งที่ผิดเหล่านั้นมาเรียนรู้ เพื่อเป็นประโยชน์กับชีวิตเรา และคนที่เรารัก
  3. การแสดงการรังเกียจกันในสังคม โดยเฉพาะผู้ป่วย หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรค Covid-19 จะทำให้บรรยากาศในสังคมยิ่งเป็นทุกข์ เพิ่มความรู้สึกย่ำแย่ในทุกฝ่ายรวมถึงตัวเราเองด้วย
  4. การแชร์ การโพสต์ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จะยิ่งเพิ่มความเข้าใจผิดให้กับคนในสังคม ทำให้สังคมเกิดปัญหามากขึ้น