เสนอฉีด 'แอสตร้าเซนเนก้า' หมดหน้าตัก หยุดระบาดกทม.-ปริมณฑล
ชมรมแพทย์ชนบท เสนอรัฐบาล หยุดระบาดโควิดให้ตรงจุด ถมวัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" หมดหน้าตัก 1.8 ล้านโดส ที่กรุงเทพและปริมณฑล
เมื่อวันที่ 31 พ.ค.64 เพจชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งเป็นการรวมตัวของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน โดยมีผู้กดติดตามราว 2 แสนคน โพสต์ข้อความ ระบุ ข้อเสนอใหม่ หวังส่งไปถึงรัฐบาล ในการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 หัวข้อ : ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 3 “หยุดระบาดโควิดให้ตรงจุด ถมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหมดหน้าตักที่กรุงเทพและปริมณฑล” โดยมีเนื้อหาใจความดังนี้
การระบาดระลอก 3 นั้น มีการระบาดหนักที่สุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิดระลอก 3 ตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 30 พฤษภาคม 2564 มีผู้ป่วยโควิดทั้งสิ้น 100,412 คน อยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล 5 จังหวัดถึง 60,781 คน หรือคิดเป็น 60% ของทั้งประเทศ การยุติการระบาดในเมืองหลวงนั้นปัจจุบันทำได้แค่ยืนพิงเชือกอย่าให้ล้ม รอวัคซีนมาช่วย แต่เมื่อวัคซีนมาน้อย แอสตร้าเซเนก้าไม่มาตามนัด ซิโนแวคก็ต้องกระจายทั่วประเทศ ไฟเซอร์โมเดิร์นนายังไม่แม้แต่ส่งเงินไปจองวัคซีน ซิโนฟาร์มจะมา lot ใหญ่ได้แค่ไหนยังไม่รู้ การยุติการระบาดในกรุงเทพจึงไม่เห็นอนาคต
ที่สำคัญ กรุงเทพและปริมณฑล มีระบบการสาธารณสุขที่อ่อนแอที่สุดในประเทศ คือ มีแต่ระบบโรงพยาบาลที่ไว้รับดูแลยามป่วย ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ และไม่มีระบบบริการปฐมภูมิที่ดี ที่จะทำหน้าที่ควบคุมโรค แค่การระบาดในคลองเตย ใครจะแจกแจงข้อมูล สอบสวนโรค คัดแยกกลุ่มเสี่ยง ทำ swab ตรวจโควิด เอาคนป่วยไปรักษา เอาคนเสี่ยงไปกักตัว ซึ่งในความเป็นจริงนั้นแทบจะทำไม่ไหว สิ่งที่ทำได้คือการเปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อรอรับคนป่วยมารักษาเท่านั้น เมื่อกรุงเทพระบาด ธุรกิจทยอยปิดตัว พนักงานก็ลำบาก ต่างเดินทางกลับต่างจังหวัดอย่างน้อยก็ยังมีข้าวกิน จึงเป็นการส่งออกเชื้อโควิดไปทั่วประเทศ ดังนั้นหากไม่สามารถหยุดการระบาดที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ ต่างจังหวัดก็ยังเสี่ยงต่อไป
ทางเลือกหนึ่งเพื่อการยุติการระบาดของโควิดระลอก3 ด้วยข้อจำกัดที่วัคซีนมีน้อยมาก ก็คือ ต้องเลือกเป้าที่จะยิง ไม่ใช่ยิงกระจัดกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก และรัฐบาลต้องกล้าหาญเอาการเมืองออกจากวัคซีนชมรมแพทย์ชนบท จึงมีข้อเสนอใหม่สำหรับรัฐบาล ขอให้ ศบค.นำวัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" ทั้งหมด ราว 1.8 ล้านโดส ที่ผลิตได้จากสยามไบโอไซแอนในเดือนมิถุนายนนี้ เทหมดหน้าตักถมลงที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3 จังหวัด อาทิ จัดให้กรุงเทพมหานคร 9 แสนโดส เพื่อกระจายลงในเขตที่มีการระบาด และจัดไปที่ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ จังหวัดละ 3 แสนโดส ฉีดให้เสร็จใน 1 สัปดาห์ จะช่วยลดการระบาดลงได้มาก บทเรียนจากแม่สอดพบว่า ที่นั่นได้ฉีดวัคซีนเพียง 30% ก็มี herd immunity พอที่จะไม่ระบาดใหญ่แล้ว ส่วนจะให้ถึง 70% นั้นคงยากในภาวะที่ไทยเราที่มีวัคซีนในมือน้อยเช่นนี้
ทำไมต้องเป็นแอสตร้า ก็เพราะวัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" เกิดภูมิคุ้มกันหลังการฉีดเข็มแรกถึงมากกว่า 80 % ในขณะที่วัคซีนซิโนแวคต้องรอหลังเข็ม 2 จึงจะเกิดภูมิในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อคนจองหมอพร้อมไว้เขาก็รอแอสตร้าอยู่ รัฐบาลจะพร้อมไหมที่จะอธิบายทำความเข้าใจสื่อสารกับคนไทยทั้งประเทศ ให้เห็นถึงความจำเป็นนี้
หากนี่คือหนทางที่ใช่ รัฐบาลก็ต้องกล้าตัดสินใจ กล้าแสดงภาวะผู้นำ และสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนในภาวะวิกฤต แต่หากยังบริหารแบบตามใบจองหมอพร้อมและระบบ MOPH IC วัคซีนก็จะถูกกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก ถูกฉีดในกลุ่มคนที่ลงทะเบียนไว้ซึ่งกลุ่มใหญ่อยู่ต่างจังหวัดที่มีการระบาดน้อย ทำให้วัคซีนที่มีค่ายิ่ง ไม่ถูกใช้เพื่อดับไฟโควิดในจุดสำคัญ ส่วนวัคซีนซิโนแวคที่มีมาเสริมก็กระจายไปทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ใครที่ลงหมอพร้อมไว้ หากยินดีรับ sinovac ก็รับไป หากไม่ยินดีก็ต้องรอ เพราะวัคซีนแอสตร้าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในวันนี้ที่เรามีในการยุติการระบาดในพื้นที่สีแดง
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเอาการเมืองออกจากวัคซีน หยุดการที่ สส.แต่ละจังหวัดเข้ามาตอดขอวัคซีน หรือ จัดสรรลงในจังหวัดที่หวังเก็บคะแนนเพื่อการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึง มิถุนายนคือเดือนชี้อนาคต หากควบคุมการระบาดไม่อยู่ กรุงเทพอาจต้องล็อคดาวน์เป็นเมืองร้าง การระบาดอาจลามไปทั่วประเทศ เช่นเดียวกับมาเลเซีย “กระสุนมีจำกัด หยุดระบาดโควิดให้ตรงจุด ถมวัคซีนแอสตร้าหมดหน้าตักลงที่กรุงเทพและปริมณฑล 3 จังหวัด (นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี)” นี่คือข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบท ที่หวังว่ารัฐบาลและสังคมไทยจะร่วมผลักดันให้เป็นจริง