เรื่องเล่า'วัดร้าง'กับประเพณี'งานกระจาด'
เรื่องเล่าของท้องถิ่น แม้มิได้ถูกจัดอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติ แต่ก็แสดงความมีตัวตนของชุมชน ความลี้ลับใน"วัดร้าง" เป็นกุศโลบายที่สร้างขึ้น เพื่อรักษาพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป
การเล่านิทานและตำนาน เป็นกลวิธีประกอบสร้างเรื่องเล่าขึ้นมาเพื่ออธิบายการเกิดขึ้นของสรรพสิ่งต่าง ๆ บางเรื่องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบคำอธิบาย บางเรื่องก็ยากที่จะหาหลักฐานมายืนยัน
แต่เรื่องเล่าเหล่านี้ต่างก็มีส่วนสำคัญที่เป็นเครื่องสะท้อนกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนให้ดำเนินไปจนกลายเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมได้อย่างน่าสนใจ
มีเรื่องราวหลากหลายในชุมชน ต.บางจาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี ที่ผมอาศัยอยู่ จึงอยากรู้อยากศึกษาเรื่องต่าง ๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเล่าที่มีความผูกโยกกับพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนที่จัดต่อเนื่องกันมานาน
เรื่องเล่านี้มีความเชื่อมโยงกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ว่า
“ศักราช ๙๔๐ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๒๑) พระยาละแวกแต่งทัพให้มาเอาเมืองเพชรบูรีย มิได้เมืองแลชาวละแวกนั้นกลับไป ครั้งนั้นพญาจีนจันตุ หนีมาแต่เมืองละแวกมาสู่พระราชสมภาร ครั้งอยู่มาพญาจีนจันตุก็หนีกลับคืนไปเมือง”
“ศักราช ๙๔๓ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๒๔ .... อนึ่งในเดือน ๓ นั้น พญาลแวกยกพลมามาเมืองเพชรบูรีย ครั้งนั้นเสียเมืองเพชรบูรีแก่พญาละแวก”
“ศักราช ๙๔๔ มะเมียศก (พ.ศ.๒๑๒๕)” พญาลแวกแต่งทัพให้มาจับคนปลายด่านตะวันออก”
จับต้นชนปลายเอามูลเหตุในพระราชพงศาวดารมาผนวกเข้ากับเรื่องเล่าของชุมชนว่า
ในครั้งนั้น พระยาละแวกบุกเข้ามาทางประตูเมืองด้านทิศตะวันออก อันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านบางจาน คนบางจานได้ร่วมรบพุ่งเป็นสามารถแต่ไม่อาจต้านกำลังกองทัพพระยาละแวกที่มีมากกว่าได้ เป็นเหตุให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งหนีเข้าป่าทึบบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้รอดพ้นจากข้าศึกศัตรูว่าหากมีชีวิตรอดไปแล้วจะจัดของมาถวาย
ต้นเค้าประเพณีงานกระจาด
ชาวบ้านบางจานเชื่อกันว่า บริเวณป่าทึบในเรื่องเล่าที่คนเข้าไปหลบภัยนั้นก็คือบริเวณวัดร้าง ที่เรียกว่า “วัดนอกทุ่ง” ส่วนของถวายที่บนไว้นั้นก็น่าจะกลายมาเป็นต้นเค้าของ “ประเพณีงานกระจาด” พิธีกรรมดั้งเดิมที่มีเชื้อสายลูกกระจาดทำต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน
งานกระจาด มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน คนเก่าคนแก่ในชุนชนจะเรียกว่า “งานปี” คือ งานที่ทำเฉพาะปีอธิกมาส ตามข้อกำหนดที่รับรู้ทั่วกันในชุมชนว่าวันจัดงานจะตรงกับวันพระแรก ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 หลัง บางคนเรียกว่า “งานคุณพ่อ” คือ เป็นงานของ “คุณพ่อบ้านน้อย” ผู้ได้รับการสถาปนาให้เป็น “ผีเจ้าพ่ออารักษ์”ของชุมชน ซึ่งในปีนี้จะจัดตรงกับวันที่ 17 เดือนกรกฎาคม 2564 ที่จะถึงเร็ว ๆ นี้
ขออธิบายเรื่อง งานกระจาด ให้เข้าใจสักหน่อยก่อน ในงานนี้เป็นการรวมตัวของเชื้อสายลูกกระจาดตามความเชื่อเดิมว่าครอบครัวใดที่เคยทำมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าก็ต้องทำต่อเนื่องกันไปจะเว้นเสียไม่ได้เลย
โดยเชื้อสายลูกกระจาดจะต้องจัดเตรียม “ขนมงานปี” ขนมซึ่งทำกันเฉพาะในงานนี้ โดยจะปั้นขนมที่ทำจากถั่วเป็นรูปทรงต่าง ๆ แล้วทอด
นอกจากนี้ยังมีของสดจำพวก พืช ผัก ผลไม้ ตามฤดูกาลมาใส่ลงในกระจาด คือ ภาชนะที่สานด้วยตอกไม้ไผ่ ก้นลึก ปากผาย มีกลีบตั้งขึ้นคล้ายกลีบบัว ตกแต่งด้วยกระดาษสีให้ดูสวยงาม จากนั้นนำมาถวายพระเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับตามความเชื่อเรื่องศึกพระยาละแวก
ความเกี่ยวโยงระหว่าง คุณพ่อบ้านน้อย วัดนอกทุ่ง และงานกระจาด จึงถูกประกอบสร้างขึ้น
ผมสัมภาษณ์ ตาทาบ ขวัญอ่อน ตอนนั้นท่านมีอายุ 87 ปี ถึงความเกี่ยวเนื่องนี้ได้ความว่า คนรุ่นก่อน ๆ ที่เป็นเชื้อสายลูกกระจาดจะต้องไปทำกันที่ศาลคุณพ่อบ้านน้อย ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านบ้านน้อย ต.เขาย้อย อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี
พิธีกรรมกับงานกระจาด
คนในท้องถิ่นเชื่อว่า ศาลคุณพ่อบ้านน้อยเป็นทางผ่านในเวลาทำศึก เมื่อเดินทางถึงบริเวณนี้จึงมักจะบนบานกับคุณพ่อให้มีชีวิตรอดกลับมาและจะทำของถวาย
เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าที่ทำให้เห็นร่องรอยของ “งานกระจาด” ที่แสดงความสัมพันธ์กับคุณพ่อบ้านน้อย
แต่ข้อสงสัยยังไม่หมด เพราะเมื่อก่อนต้องไปทำที่ อ.เขาย้อย แล้วมีเหตุผลอันใดที่ต้องเปลี่ยนมาจัดขึ้นที่ ต.บางจาน ผมก็ได้คำตอบจาก ตาทาบ ขวัญอ่อน ว่า มีคนไปขอกับหลวงพ่อบ้านน้อยว่า หนทางที่คนบางจานจะต้องมาที่เขาย้อยมีความยากลำบาก ใช้เวลาเดินไปหลายชั่วโมงจวนเจียนว่าจะเกินฤกษ์ของพิธีกรรม
ส่วนใหญ่จะทำแต่เช้าตรู่ไม่ให้เกินเที่ยง จึงได้ขออนุญาตจัดงานกระจาดขึ้นที่ ต.บางจาน แทน โดยเลือกบริเวณนอกหมู่บ้านและจนมาได้ที่เหมาะสมสำหรับจัดงาน คือ บริเวณของวัดนอกทุ่งอันเป็นวัดร้างนอกหมู่บ้าน
แม้ว่าปัจจุบันการจัดงานจะมีการขยับขยายพื้นที่ขึ้นมาจัดริมถนนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังต้องอยู่ในละแวกเดียวกับวัดนอกทุ่งตามเดิม ภายหลังก็มีผู้ตั้งศาลขึ้นหนึ่งหลังชื่อว่า ศาลคุณพ่อบ้านน้อย เอาไว้เป็นศาลสำหรับเชิญคุณพ่อบ้านน้อยมาร่วมงานปีของท่าน เมื่องานเสร็จแล้วก็เชิญท่านกลับไปประจำที่ศาลในอำเภอเขาย้อยตามเดิม
ก็พอจะสรุปได้ถึงที่มาจากคำบอกเล่าของคนในชุมชนถึงความเกี่ยวข้องของพิธีกรรมและพื้นที่ศักดิ์ของชุมชน
เรื่องเล่าของวัดร้าง
สำหรับวัดนอกทุ่งนี้ ตอนที่ผมยังเล็กเคยได้ยินคนใหญ่ ๆ ร่ำลือกันถึงเรื่องราวลี้ลับที่ได้ยินหนาหู แม้ว่าจะผ่านมานานแล้ว ส่วนใหญ่ไม่มีใครกล้ากล้ำกลายเข้าไปในบริเวณวัดนอกทุ่งนั้น เพราะด้วยสถานที่เป็นป่ารกทึบ
บรรยากาศยามเย็นแสนจะวังเวง ประกอบกับเรื่องเล่าอันน่าสะพรึงกลัวที่เล่ากันมาหลายรุ่นที่ยังคงถูกบันทึกในความทรงจำของคนในชุมชนอย่างไม่ตกหล่น
บริเวณวัดนอกทุ่งนี้ฝั่งหนึ่งติดถนนทางหลวงชนบทบางจาน - ดอนผิงแดด ที่เหลือแวดล้อมด้วยทุ่งนา มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ มีบ่อดินของวัดลูกหนึ่งเล่ากันว่ามีปลาชุกชุมมาก
แต่ทุกครั้งที่จะไปจับปลากลับไม่มีเสียงปลาฮุบน้ำเลยสักครั้งเดียว แม้แต่ข้าวของต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณวัดนั้นชาวบ้านเล่าว่าใครคิดจะเอาของที่อยู่ในวัดแห่งนี้ออกไปมักมีความผิดปรกติเกิดขึ้นแทบทุกคน
เคยมีคนคิดจะไปจับปลาในบ่อ ตั้งสูบวิดน้ำจนแห้งก็ไม่ได้ปลาสักตัว ได้เพียงปืนยาวสมัยสงครามโลกมาเพียงกระบอกเดียว ได้ปืนแล้วก็เอากลับบ้านตกกลางคืนถูกตามทวง ต้องนำปืนมาทิ้งไว้ในบ่อตามเดิม รวมถึงคนที่อาศัยปลูกบ้านอยู่ใกล้ที่ดินติดกับวัด มักจะมีอาการผิดปรกติ เช่น ฟั่นเฟือน วิกลจริต บ้างก็สูญเสียการมองเห็นไปต่าง ๆ นานา
มีคนเล่าว่าเคยเห็นฝูงเป็ดเงิน เป็ดทอง อาศัยอยู่ในป่านี้แต่เมื่อจะตามจับก็ไม่เห็นวี่แวว
คราวเมื่อถึงวันพระก็มักจะมีคนเห็นลูกไฟพุ่งขึ้นลุกสว่างโชติช่วงทั่วบริเวณวัดแห่งนี้
ตัวอย่างเรื่องที่เล่ามานี้ปัจจุบันยังมีผู้ยืนยันได้และมีหลักฐานของความผิดปกติที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นพยานอย่างชัดเจน
ตอนลงเก็บข้อมูลใจกล้า ๆ กลัว ๆ ว่าจะเข้าไปดูพื้นที่วัดนอกทุ่งให้เห็นกับตาสักครั้ง จึงได้ขอให้ลุงชาญ สุวรรณทิพย์ อายุราว ๆ 60 ปี บ้านอยู่ตรงข้ามกับวัดนอกทุ่งเป็นผู้นำทางเข้าไปจนถึงที่เดินสำรวจอยู่จนรอบบนพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยหนามพงดอและกอสะแก เห็นฐานของโบสถ์ก่อด้วยอิฐมอญกระจายอยู่เต็มพื้น เห็นขอกระเบื้องเชิงชายดินเผาแตก ๆ หัก ๆ ทั่วไปหมด มีกองศาลพระภูมิเก่าวางอีเหละเขละขละ
และยังมีศาลไม้ขนาดใหญ่หนึ่งหลังถูกคลุมด้วยกอเถาวัลย์ และจะหาสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอาคารนั้นไม่มีเหลือเลย เดินสำรวจอยู่ที่นั่นสักพักแล้วก็พากันกลับออกมา
วัดนอกทุ่งมีเขตธรณีสงฆ์กินพื้นที่ค่อนข้างกว้าง ปัจจุบันบริเวณวัดนอกทุ่งไม่เหลือบรรยายกาศความน่ากลัวอย่างแต่ก่อน หลังจากที่ได้แผ้วถางให้ดูสะอาดสะอ้าน
เรื่องเล่าของท้องถิ่นแม้มิได้ถูกจัดอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติ แต่ก็แสดงความมีตัวตนของชุมชนได้อย่างแจ่มชัด ส่วนหนึ่งเพราะความลี้ลับนั้นเหมือนเป็นกุศโลบายที่สร้างขึ้นเพื่อสงวนรักษาพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่