ส่อง 10 ข้อต้องรู้ วัคซีน ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ที่จะใช้ฉีดคนไทย เป็นอย่างไร?
หลังจากวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่ผลิตโดย "สยามไบโอไซเอนซ์" ผ่านการตรวจสอบและส่งมอบล็อตแรกแล้ว วัคซีนตัวนี้จึงกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง มาดูกันว่า ประสิทธิภาพ-ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร ล็อตที่ผลิตในไทยกับนำเข้าต่างกันไหม แล้วใครฉีดไม่ได้บ้าง?
วัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ได้กลับมาถูกให้ความสนใจอีกครั้ง หลังจากวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อม "แอสตร้าเซนเนก้า" ที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ของประเทศไทย ได้ผ่านคุณภาพการตรวจจากแอสตร้าฯโกลบอล และได้ทำการส่งมอบส่งมอบวัคซีนล็อตแรกให้กับ แอสตร้าเซนเนก้าได้ตามกำหนดแล้ว โดยในล็อตแรกจะมีการส่งมอบทั้งสิ้น 1.8 ล้านโดส ที่เตรียมจะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ให้ทันวันคิกออฟฉีดวัคซีน 7 มิถุนายน 2564 นี้
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนดู 10 ข้อต้องรู้ วัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" ที่จะใช้ฉีดคนไทย มีประสิทธิภาพ-ผลข้างเคียงอย่างไร ล็อตที่ผลิตในไทยกับนำเข้าต่างกันไหม แล้วใครฉีดไม่ได้บ้าง? ตามมาดูกัน!
1. วัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” (AstraZeneca) เป็นวัคซีนแบบเทคนิคไวรัลแว็กเตอร์ (Viral Vector) ผลิตจากเชื้อไวรัสชิมแปนซีอะดีโน ใช้ไวรัสเป็นพาหะ พัฒนาโดยการนำไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงแล้วฝากสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไปซึ่งทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวและไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์
2. วัคซีนชนิดที่ใช้เทคนิคไวรัลแว็กเตอร์สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เพราะใช้วิธีการเลียนแบบการติดเชื้อที่ใกล้เคียงธรรมชาติ โดยนอกจากมี วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ใช้วิธีนี้แล้ว วัคซีนอื่นๆ ที่ผลิตด้วยวิธีนี้ยังมี จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และสปุกนิก วี
3. ประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า สามารถป้องกันการติดเชื้อทุกแบบได้ 54.1% ป้องกันโรคแบบแสดงอาการ 70.4% ป้องกันโรครุนแรง-ถึงขั้นเสียชีวิต 100 % แต่ยังป้องกันโรคแบบไม่มีอาการไม่ได้
4. เมื่อรับการฉีดวัคซีนชนิดแอสตร้าเซนเนก้า ต้องเข้ารับการฉีดจำนวน 2 โดส ที่แขน โดยต้องทิ้งระยะเวลาห่างจากโดสแรก 28 วัน ถึงจะทำการฉีดโดสที่สองได้
5. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต้องทำการเก็บรักษาในอุณหภูมิ 2-8 องศา
6. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเหมาะที่จะใช้สำหรับฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
7. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไม่เหมาะสมที่จะฉีดในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้นกันบกพร่อง นอกจากนี้ผลข้างเคียงที่เจอในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า สำนักงานการแพทย์ยุโรป (EMA) ชี้แจงว่าพบ “ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน” ในผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ แต่อยู่ในอัตราการเกิดขึ้นที่ต่ำมาก
8. วัคซีนชนิดแอสตร้าเซนเนก้า ได้มีการขึ้นทะเบียน อย.ไทย ในส่วนของล็อตที่ผลิตในอิตาลีเมื่อ 20 ม.ค.64 และหลังจากนั้นได้อนุมัติเพิ่ม วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากสถานที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในวันที่ 23 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
9. คุณภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ "ผลิตในไทย" โดย สยามไบโอไซเอนซ์ กับตัวที่ "นำเข้า" มาไม่มีความแตกต่างกัน เพราะมีมาตรฐานและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมือนกัน โดยล็อตที่ผลิตในไทยจะต้องมีการส่งไปยังบริษัทแอสตร้าฯ โกลบอลเพื่อตรวจสอบและคุมคุณภาพของผู้ผลิต โดยปัจจุบันวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากสยามไบโอไซเอนซ์ผ่านคุณภาพแล้ว 14 ล็อต
10. สำหรับอาการต้องเฝ้าระวัง หากรับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้วมีอาการดังนี้หลังจากฉีดควรมาพบแพทย์ เช่น ปวดศีรษะต่อเนื่อง ตาพร่ามัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ขาบวม ปวดท้องอย่างต่อเนื่อง ผิวหนังมีรอยช้ำปกติ และมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง (นอกเหนือจากจุดที่ฉีดวัคซีน)