ส่องแผน 'กระจายวัคซีน' สธ. จัดสรรรายสัปดาห์
จากที่มีข้อเสนอในการ 'กระจายวัคซีน' โควิด 19 โดยจัดสรรลงในจังหวัดที่มีการระบาดสูงก่อน แต่มีข้อคัดค้านว่าจังหวัดที่ติดเชื้อน้อยบุคลากรก็ทำงานหนักในการป้องกันการแพร่เชื้อเช่นกัน ล่าสุด สธ. ชี้แจงว่าการจัดสรรวัคซีนเป็นไปตามความเหมาะสมและดูเป็นรายสัปดาห์
ในวันที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ณ วันพุธที่ 2 มิถุนายน 2564 ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลด ยอดผู้ป่วยใหม่รวม 3,440 ราย ผู้ป่วยสะสม 165,462 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 38 ราย เสียชีวิตสะสม 1,107 ราย โดยก่อนหน้านี้มีการเสนอว่าให้มีการกระจายวัคซีนโควิด 19ลงจังหวัดที่มีการระบาดสูง ขณะที่ แผนของสธ.ล่าสุด ระบุว่าการจัดสรรจะเป็นไปตามความเหมาะสมแต่ละจังหวัด
- 10 จังหวัดติดเชื้อสะสมสูงสุด
หากมาดูที่ 10 จังหวัดติดเชื้อสะสมสูงสุด ณ วันที่ 2 มิ.ย. 64 จะพบว่า อันดับ 1 ยังคงเป็น กทม. ที่มีผู้ติดเชื้อสูงถึง 43,117 ราย อันดับ 2 สมุทรปราการ 7,738 ราย อันดับ 3 นนทบุรี 6,979 ราย อันดับ 4 เพชรบุรี 6,361 ราย อันดับ 5 ชลบุรี 4,743 ราย อันดับ 6 เชียงใหม่ 4,078 ราย อันดับ 7 ปทุมธานี 3,722 ราย อันดับ 8 สมุทรสาคร 2,717 ราย อันดับ 9 สุราษฎร์ธานี 1,709 ราย อันดับ 10 ประจวบคีรีขันธ์ 1,694 ราย
โดย กทม. มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังมากถึง 48 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด 38 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นแคมป์คนงาน ไซต์ก่อสร้าง ตลาด โรงงาน และสถานดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่ กลุ่มเฝ้าระวัง 8 แห่ง ส่วนมากก็ยังคงเป็นโรงงานและแคมป์ก่อสร้างเช่นกัน ขณะที่ คลัสเตอร์พบใหม่ 1 แห่ง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง
- สร้างภูมิฯ กทม. ใน 2 เดือน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุม ครม.ถึงแผนฉีดวัคซีนตามนโยบาย ที่ได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยได้กล่าวถึง เป้าหมายที่จะระดมฉีดวัคซีนแบบปูพรม ให้กับประชาชนในกรุงเทพ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ ให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านคนหรือ 70% ของประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายใน 2 เดือน คือ เดือน มิ.ย.และ ก.ค. ซึ่งนอกจากโรงพยาบาล และจุดฉีดหลักแล้ว ยังมีจุดฉีดวัคซีนเสริมอีกอย่างน้อย 25 จุดกระจายทั่ว กทม. รวมถึงสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้ประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ และแรงงานต่างๆ เข้าถึงวัคซีนได้สะดวกและรวดเร็ว
- ไทยร่วมใจ ลงทะเบียนแล้ว 2.04 ล้านคน
ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก “ผู้ว่าฯอัศวิน” เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 64 โดยระบุว่า การเร่งกระจายวัคซีน เป็นวาระแห่งชาติที่ กทม.ให้ความสำคัญเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้เราทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติโดยเร็ว
กทม. ได้ผสานกำลังภาครัฐและเอกชนจัดทำระบบ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย” (Safe Bangkok) เป็นช่องทางการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 25 แห่ง ให้ประชาชนในพื้นที่ กทม. ที่มีอายุ 18-59 ปี ลงทะเบียนได้ 3 ช่องทาง คือ 1.) ลงทะเบียนในเว็บไซต์ ไทยร่วมใจดอทคอม ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา 2.) ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง สำหรับผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการภาครัฐ เช่น เราชนะ คนละครึ่ง และ 3.) ลงทะเบียนที่ร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ เซเว่น อิเลฟเว่น, ท็อปส์ เดลี่ มินิซุปเปอร์มาร์เก็ต มินิบิ๊กซี และแฟมิลี่มาร์ท
ข้อมูลการลงทะเบียนโครงการไทยร่วมใจ จากกทม. ณ วันที่ 1 มิ.ย. 64 เวลา 22.00 น. พบว่า มีผู้แจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคชีน สะสมทั้งหมด (27 พ.ค.- 1 มิ.ย.64) 2,040,199 ราย ผู้ลงทะเบียนผ่านแอปฯเป๋าตัง 1,300,475 ราย และ ผู้ลงทะเบียนผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com 739,724 ราย เฉพาะวันที่ 1 มิ.ย.64 ลงทะเบียน 45,904 ราย ผู้ลงทะเบียนผ่านแอปฯเป๋าตัง 28,297 ราย ผู้ลงทะเบียนผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com จำนวน 17,607 ราย
- แอสตร้าฯ ส่งมอบ 1.8 ล้านโดส
ล่าสุด วันที่ 2 มิ.ย. 64 แอสตร้าเซนเนก้า ประกาศพร้อมทยอยส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศไทย ให้กับรัฐบาลใช้ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าให้กับรัฐบาลไทยยังคงเป็นไปตามกำหนดเดิม โดยจะเริ่มทยอยส่งมอบวัคซีนล็อตแรกที่จะเริ่มฉีดในประเทศไทยในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ จำนวน 1.8 ล้านโดส
- 'กระจายวัคซีน' 1.1 ล้านโดส ลงพื้นที่
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ มีหลายข้อเสนอให้มีการจัดสรรวัคซีนไปยังจังหวัดที่มีการระบาดสูง “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวในวันเดียวกัน ภายหลังภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เรื่องวัคซีนโควิด-19 ว่า วันที่ 1 มิ.ย. ได้ส่งวัคซีนประมาณ 1.1 ล้านโดส ทั้งของแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคกระจายลงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว เพื่อนำไปฉีดบริการให้ประชาชนมากที่สุด
ส่วนการจัดสรรวัคซีนนั้น ทางรัฐบาลยึดหลักความเป็นธรรม คำนึงถึงสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยกระบวนการจัดหาและ 'กระจายวัคซีน' นั้นยังเป็นไปตามแผนงานที่นายกรัฐมนตรีและ ศบค. มอบหมายให้กระทรวงฯ นำไปปฏิบัติ ดังนั้น ข่าวสารต่างๆ ขอให้รับจากกระทรวงฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายจัดหาและจัดการ
- แผน 'จัดสรรวัคซีน' รายสัปดาห์
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การกระจายวัคซีนเป็นไปตามนโยบายของ ศบค.และนายกฯ โดยเริ่มจากหารเท่ากันทุกจังหวัดก่อน จังหวัดที่มีระบาดเยอะได้เยอะ เช่น กทม. ปริมณฑล และดูตามพื้นที่จำเพาะตามนโยบาย เช่น พื้นที่ท่องเที่ยวภูเก็ต ซึ่งอัตราฉีดเยอะสุด โดยฉีดได้ 50% ของเป้าหมาย หรือชลบุรี พัทยา เกาะสมุย จะได้เพิ่มเติม มีการปรับเกลี่ยวัคซีน โดยการจัดสรรขึ้นกับวัคซีนที่เรามีและความต้องการในการฉีด ต้องปรับตามสถานการณ์ ดังนั้นทุกจังหวัดจึงมีวัคซีน โดยจังหวัดไหนไกลขนส่งลำบากจะส่งไปก่อน ตอนนี้กระจายแล้ว 1 ล้านกว่าโดส เรากระจายทุกวัน บางพื้นที่อาจถึงแล้ว บางพื้นที่อยู่บนรถกำลังไป จะทยอยไปเรื่อยๆ
“ศบค.ให้แผนประจำเดือน แต่เราทอนมาเป็นรายสัปดาห์ ส่งไปแล้วติดตามดูสต๊อกเหลือเท่าไร จังหวัดให้เยอะแต่ฉีดน้อย เราก็ไม่ส่งไปต่อ จนกว่าจะฉีดเสร็จ เป็นต้น ต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวในการจัดส่ง” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า กลุ่มเป้าหมายที่กำหนดว่าควรจะต้องฉีด คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่จองผ่านระบบเข้ามา และการเปิดเทอม ควรฉีดกลุ่มครู อสม.ที่ตกหล่น บุคลากรแพทย์ ซึ่งแต่ละจังหวัดต้องบริหารการฉีดตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด รวมถึงกลุ่มพิเศษที่ ศบค.กำหนด เช่น ผู้ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยสำนักงานประกันสังคม ได้รับโควต้า 1 ล้านโดส ก็จัดส่งวัคซีนไปที่จุดฉีดของเขา
ส่วนกลุ่มเฉพาะ โดยที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย 11 แห่ง จะเข้ามาช่วยมีการกำหนด 11 จุดฉีด ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ และ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นต้น โดยมีโควต้าให้ 5 แสนโดส แล้วแต่จะไปพิจารณากระจายกันเอง
สำหรับ เรือนจำ ได้หารือกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่ากลุ่มไหนควรฉีดก่อนฉีดหลัง อย่างเรือนจำที่ติดเชื้อมากก็ไม่จำเป็นต้องรีบฉีด ส่วนใหญ่ติดเชื้อแล้ว ต้องรอ 3 เดือนค่อยฉีด โดยจะเน้นเรือนจำที่ยังไม่ติดเชื้อเพื่อป้องกันล่วงหน้า