รู้จัก สยามไบโอไซเอนซ์-มาดามแป้ง-แอสตร้าเซนเนก้า
หลังจากที่ 'มาดามแป้ง' ได้เผยว่า 'สยามไบโอไซเอนซ์' จะคืนเงิน 600 ลบ.แก่รัฐฯโดยซื้อวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' คืนให้ในมูลค่าเท่ากัน เป็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่ในขณะนี้ กรุงเทพธุรกิจจะพาไปทำความรู้จัก'สยามไบโอไซเอนซ์' 'มาดามแป้ง' 'แอสตร้าเซนเนก้า' อีกครั้ง
ย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของเงิน 600 ล้านบาท ดังกล่าว นางนวลพรรณ ล่ำซำ หรือ 'มาดามแป้ง' ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท 'สยามไบโอไซเอนซ์' จำกัด ระบุว่า เป็นเงินทุนสนับสนุน ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี ครม. เมื่อ 25 ส.ค. 2563 มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,000,000,000 บาท ในลักษณะเงินอุดหนุนให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
เพื่อให้การสนับสนุนหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนให้พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด 19 และการสร้างขีดความสามารถของประเทศโดยการพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดย 'สยามไบโอไซเอนซ์' ได้รับเงินสนับสนุนเงินส่วนนี้ 600 ล้านบาท และอีก 400 ล้านบาท จัดสรรให้จุฬาลงกรณ์ฯ นอกจากนั้น ที่ผ่านมา 'สยามไบโอไซเอนซ์' ยังได้เงินสนับสนุน จากบริษัท เอสซีจี อีก 100 ล้านบาท
- ทำความรู้จัก 'สยามไบโอไซเอนซ์'
'บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด' ถือเป็นบริษัทผู้ผลิตยาชีววัตถุแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2552 หรือกว่า 11 ปีมาแล้ว ตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย ด้วยทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท
โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง รัชกาลที่10 ทรงสืบสานและต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในด้านการสาธารณสุขของไทยมาจนปัจจุบัน บริษัท 'สยามไบโอไซเอนซ์' นับเป็นบริษัทผู้ผลิตยาชีววัตถุแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยจนกระทั่งปัจจุบัน
ทั้งนี้ บริษัทแรกในเครือ คือ บริษัท 'สยามไบโอไซเอนซ์' จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตยาชีววัตถุแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย หลักๆ เป็นการผลิตยา ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ต่อมา ได้เปิดบริษัทสำหรับทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ชื่อว่า บริษัท เอเพ็กต์เซล่า จำกัด ต่อมาอีกราว 7 ปี ก็แตกบริษัทย่อยอีก 2 บริษัท คือ บริษัท เอบินิส จำกัด เป็นการร่วมมือกับ CIMAB รัฐวิสาหกิจยาของสหรัฐ เพื่อวิจัย พัฒนาและส่งออกยาชีววัตถุ โดยเฉพาะโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สะเก็ตเงิน เป็นต้น อีกบริษัท คือ บริษัท อินโนไบโอคอสเมด จำกัด จะมุ่งเน้นการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ชีวเวชสำอาง
- 'สยามไบโอไซเอนซ์' ทำอะไรบ้าง
สำหรับ ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ผลิต ได้แก่ ยารักษาโรคชีววัตถุ อาทิ ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรัง และยาเพิ่มเม็ดเลือดขาวให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยยาทั้ง 2 ตัว ผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูง สามารถบำบัดรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพายาจากต่างชาติ ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างยั่งยืนและด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก ของโรงงาน บริษัทฯ จึงได้รับการรับรองมาตรฐานสากล PIC/S GMP, ISO9001, ISO17025 และ ISO13485 อีกทั้งได้รับ ความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตยาและชุดตรวจโรค ให้แก่องค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
'สยามไบโอไซเอนซ์' ได้ดำเนินการผลิตวัคซีน โดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน หรือ no profit, no loss ในช่วงที่มีการระบาดนี้ ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับของ 'แอสตร้าเซเนก้า'
ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัท ยังได้ร่วมมือกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการพัฒนาและผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR เป็นการตรวจเชื้ออย่างรวดเร็วเพื่อลดการแพร่เชื้อ ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตได้ตามมาตรการฐานขององค์การอนามัยโลก โดยมีการส่งมอบไปยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ทั่วประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- รายได้กว่า 157 ล้านบาท ปี 2562
ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท 'สยามไบโอไซเอนซ์' จำกัด มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2562 รายได้รวมอยู่ที่ 157.87 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนหน้า 35.05% ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 116.88 ล้านบาท ขณะที่กำไร (ขาดทุน) สุทธิ ในปี 2562 พบว่าบริษัทขาดทุนสุทธิราว 69.47 ล้านบาท แต่เป็นการขาดทุนในสัดส่วนที่ลดลงจากปีก่อน
- สู่การผลิตวัคซีนโควิด 19
‘สยามไบโอไซเอนซ์’ ได้รับเลือกจาก ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ให้เป็นฐานการผลิตวัคซีน ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่ตรงตามมาตรฐานระดับโลก โดย 'สยามไบโอไซเอนซ์' ได้ปรับแผนการผลิตยาชีววัตถุเดิม เพื่อการผลิตวัคซีนให้ได้ตรงตามมาตรฐานของ 'แอสตร้าเซนเนก้า' ในเวลาอันรวดเร็วที่สุด
โดย ในเดือนตุลาคม 2563 บริษัท 'สยามไบโอไซเอนซ์' , บริษัท เอสซีจี, 'แอสตร้าเซเนก้า' และกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในความร่วมมือ เพื่อที่จะให้วัคซีนนี้ได้มีใช้อย่างแพร่หลายในภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงการทำสัญญารับจ้างผลิตระหว่าง 'แอสตร้าเซเนก้า' และ 'สยามไบโอไซเอนซ์'
ซึ่งสัญญานี้แสดงให้เห็นว่า ‘สยามไบโอไซเอนซ์’ เป็นบริษัทที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีชั้นสูง สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานสากล จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของ 'แอสตร้าเซเนก้า' ส่งผลให้ 'สยามไบโอไซเอนซ์' เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย การผลิต 'วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า' ที่มีมากกว่า 20 แห่งทั่วโลก โดยวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัท 'แอสตร้าเซนเนก้า' ผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำของโลก
- เทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีน
สำหรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของ 'แอสตร้าเซเนก้า' ใช้เทคโนโลยีในการผลิตใกล้เคียงกับ การผลิตยาชีววัตถุจากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่ง 'สยามไบโอไซเอนซ์' มีประสบการณ์ในการผลิตยาชีววัตถุด้วยเทคโนโลยีนี้ และมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้วทั้งในประเทศ และส่งออก โรงงานของ 'สยามไบโอไซเอนซ์' ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล มีศักยภาพที่จะรองรับการผลิตวัคซีนของ 'แอสตร้าเซเนก้า' ได้ทุกขั้นตอน และเป็นโรงงานทีใช้เทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถรองรับการขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต
- มาดามแป้ง คือใคร
ทำความรู้จักกับ 'สยามไบโอไซเอนซ์' ไปเป็นที่เรียบร้อย ต่อไปมาทำความรู้จักกับ 'มาดามแป้ง' - นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท 'สยามไบโอไซเอนซ์' จำกัด ซึ่งหลายคนจะคุ้นเคยกับบทบาท ผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย และประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี
‘มาดามแป้ง’ เกิดวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2509 เป็นบุตรสาวของ 'โพธิพงษ์ ล่ำซำ' กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กับ 'ยุพา ล่ำซำ' เจ้าของเมืองไทยประกันภัย สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน ปริญญาตรี สาขาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2532
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- บทบาทนักธุรกิจและผู้บริหาร
ในบทบาทของนักธุรกิจและผู้บริหาร 'มาดามแป้ง' ได้ทำหน้าที่ได้อย่างโดดเด่นทั้งในฐานะทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลล่ำซำ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ธุรกิจประกันภัยนี้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันครองอันดับ 4 ของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย (ข้อมูล ปี 2563) มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทั้งประกันการเดินทาง สุขภาพ รถยนต์ ธุรกิจ ฯลฯ ในปี 2562 มีสินทรัพย์รวมราว 2.32 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้รวมกว่า 7.45 พันล้านบาท
นอกจากนี้ 'มาดามแป้ง' ยังได้รับรางวัล InfluentialWomen Awards 2019 ในงาน 2019 Asia CEO Summit & Awards Ceremony ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับสตรีที่เป็นตัวแทนแห่งความสำเร็จและผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดอีกด้วย
- ทำความรู้จัก 'แอสตร้าเซนเนก้า'
สำหรับ 'แอสตร้าเซนเนก้า พีแอลซี' (AstraZeneca plc) เป็นบริษัทยาและชีวเภสัชภัณฑ์ของอังกฤษ-สวีเดน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 2019 แอสตร้าเซนเนก้า เป็นบริษัทยาที่ใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลก โดยอิงจากยอดขายในปี 2018
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย ระบุว่า 'แอสตร้าเซนเนก้า' ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1999 จากการควบรวมกิจการระหว่างแอสตร้า เอบี บริษัทยาจากสวีเดนและบริษัท เซเนกา บริษัทยาจากสหราชอาณาจักร
ในปีเดียวกัน 'แอสตร้าเซนเนก้า' ตั้งสำนักงานในสหรัฐอเมริกาที่นอร์ธวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ ในปี ค.ศ. 2006 แอสตร้าเซนเนก้า ซื้อกิจการแคมบริดจ์แอนติบอดีเทคโนโลยี บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากอังกฤษด้วยมูลค่า 702 ล้านยูโร และรวมกิจการกับเมดอิมมูน บริษัทลูกที่เข้าซื้อกิจการในปี 2007 ต่อมาในปี ค.ศ. 2013 'แอสตร้าเซนเนก้า' ซื้อกิจการอะไมลิน บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์จากอเมริกัน
ในปี 2020 'แอสตร้าเซนเนก้า' ร่วมกับ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดประกาศว่า AZD1222 วัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่พัฒนาขึ้นประสบความสำเร็จในการป้องกันโรค 70% และประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจะเพิ่มเป็น 90% หากได้รับครึ่งโดสแล้วได้รับอีกหนึ่งโดสในช่วงเวลา 1 เดือนหลังได้รับวัคซีนชุดแรก
นอกจากนี้ 'แอสตร้าเซนเนก้า' ยังมีการพัฒนาและผลิตยารักษาโรคระบบทางเดินอาหาร, โรคหัวใจหลอดเลือด, โรคปอด, โรคระบบประสาท, โรคติดเชื้อ, การอักเสบ, มะเร็ง และความผิดปกติทางจิต
- ประสิทธิภาพ วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า'
วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' เป็นวัคซีนแบบเทคนิคไวรัลแว็กเตอร์ (Viral Vector) เช่นเดียวกับ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และสปุกนิก วี พัฒนาโดยการนำไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงแล้วฝากสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไปซึ่งทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวและไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์
ประสิทธิภาพของ 'วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า' สามารถป้องกันการติดเชื้อทุกแบบได้ 54.1% ป้องกันโรคแบบแสดงอาการ 70.4% ป้องกันโรครุนแรง-ถึงขั้นเสียชีวิต 100 % แต่ยังป้องกันโรคแบบไม่มีอาการไม่ได้
วันซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เมื่อรับการฉีด 'วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า' ต้องเข้ารับการฉีดจำนวน 2 โดส ที่แขน โดยต้องทิ้งระยะเวลาห่างจากโดสแรก 28 วัน ถึงจะทำการฉีดโดสที่สองได้โดยต้องทำการเก็บรักษาในอุณหภูมิ 2-8 องศา
อย่างไรก็ตาม วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' ไม่เหมาะสมที่จะฉีดในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้นกันบกพร่อง นอกจากนี้ผลข้างเคียงที่เจอในผู้ที่ได้รับการฉีด 'วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า' สำนักงานการแพทย์ยุโรป (EMA) ชี้แจงว่าพบ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ในผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ แต่อยู่ในอัตราการเกิดขึ้นที่ต่ำมาก
วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' ได้มีการขึ้นทะเบียน อย.ไทย ในส่วนของล็อตที่ผลิตในอิตาลีเมื่อ 20 ม.ค.64 และหลังจากนั้นได้อนุมัติเพิ่ม 'วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า' จากสถานที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในวันที่ 23 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :