'ขยะอาหาร' ขยะใกล้ตัว ที่ทุกคนต้องช่วยลด

'ขยะอาหาร' ขยะใกล้ตัว ที่ทุกคนต้องช่วยลด

'ขยะอาหาร' มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ยิ่งในยุคโควิด-19 ที่ทุกคนสามารถสั่งอาหารได้หลากหลายช่องทาง หรือบางคนต้องสั่งอาหารมาในปริมาณมากๆ เพื่อเก็บไว้ทานหลายวัน แต่หากทานไม่หมดจะกลายเป็น 'ขยะอาหาร' เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 เมืองของโลกที่ได้มีการบริหารจัดการ 'ขยะอาหาร' ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะสถานการณ์'ขยะอาหาร'ในประเทศไทย เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน โดยเฉพาะในกทม. ที่มีปัญหาขยะอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น 'ขยะพลาสติก' หรือ'ขยะอาหาร'เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมาก และส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงการบริโภคอาหารที่ให้เพียงพอในแต่ละวัน

ขยะในประเทศไทยประมาณ 64% จะเป็น'ขยะอาหาร'ยิ่งในตอนนี้มีการสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้น นอกจาก'ขยะอาหาร'แล้วยังมีปัญหาขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการจัดการ'ขยะอาหาร'ตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง เพื่อลดการสูญเสียให้น้อยที่สุดก่อนถึงมือผู้บริโภคเป็นสำคัญ เพราะหากลดปัญหา'ขยะอาหาร'ห้อาหารกลับมาทำประโยชน์ได้อีกครั้งย่อมช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และลด'ก๊าซเรือนกระจก'ที่มีก๊าซมีเทนเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 25 เท่า

162273001856

นอกจากทรัพยากรในขั้นตอนการผลิตแล้ว ยังมีประเด็น เรื่องการกำจัดอาหารเหล่านั้น ซึ่งมีกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ถึง 8% ของสัดส่วนการปล่อยทั้งหมดในแต่ละปี หรือสามารถสร้างภาระ 'ก๊าซเรือนกระจก'เทียบเท่ากับที่รถยนต์ 37 ล้านคันผลิตและปล่อยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ'ขยะอาหาร' ที่นับวันจะทวีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับการบริโภคจริงในแต่ละวัน เพราะประเทศที่เจริญแล้วมีปริมาณ'ขยะอาหาร'ล้นเมือง ในขณะที่อีกหลายประเทศยังมีผู้ขาดแคลนอาหารจำนวนมาก

  • 50% ในขยะกทม. เป็น'ขยะอาหาร'

บญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริการทางวิชาการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวในงานเสวนา การจัดการเทคโนโลยีการลดขยะอาหาร :โอกาสสำหรับกรุงเทพมหานคร ว่า กทม.เป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่งที่มี'ขยะอาหาร'หรือเศษอาหารประมาณ 50% ของขยะทั้งหมด ซึ่งการจัดการขยะนั้น ต้องมี 3 ส่วนสำคัญ คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยต้องมีนโยบายที่จะทำให้มีการนำ'เทคโนโลยี'ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงๆ เพราะที่ผ่านมามีนโยบาย เทคโนโลยีที่ดี แต่เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติกลับไม่สามารถดำเนินการได้

จากการสำรวจในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งมีผู้มาตอบแบบสอบถาม 192 คน เป็นคนกรุงเทพฯ 61 คน และผู้หญิงประมาณ 76% พบว่าการแก้ปัญหาขยะอาหารได้ดีที่สุด รวมถึงขยะอื่นๆ ต้องเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว อยากให้มีการคัดแยกขยะ และจัดการแหล่งกำเนิดขยะอาหาร โดย 34% ให้เริ่มจากที่พักอาศัย ครัวเรือน 21% โรงอาหาร ศูนย์อาหารทั้งในห้างสรรพสินค้า โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ 20% ตลาดสด เนื่องจากขยะอินทรีย์และเศษอาหาร เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก สำหรับกทม.ที่น่าจะทำโรงเรียน 15 % เพราะต้องการให้มีการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก และ 10% อื่นๆ

ผลการสำรวจเบื่องต้นสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว โดยภาพรัฐต้องมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จัดการขยะอาหารอย่างชัดเจน เพราะตอนนี้ผู้รับผิดชอบ กทม.มีนโยบายแต่มาตรการนำไปใช้ไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะการจัดการขยะอาหาร อยากให้มีการแยกขยะอาหารที่มีรถขยะเก็บโดยเฉพาะ ในทางปฎิบัติเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แยกขยะและแยกอาหารได้ ร้านค้าก็แยกอาหารเหลือของลูกค้าได้ แต่เมื่อรถขยะมาเก็บก็รวมกันหมด ขณะเดียวกัน หลังจากเก็บขยะอาหารไปแล้วต้องมีเครื่องมือในการบริหารจัดการ นำกลับไปใช้ประโยชน์ ทำปุ๋ยหมัก หรือ ทำเป็นอาหารปลา เป็นต้ เบญจมาส กล่าว

162272964396

  • ย้ำต้องสร้างความเข้าใจเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอาหาร

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ กล่าวว่า 'เทคโนโลยี'ในการจัดการขยะมีความสำคัญ ซึ่งหลายบริษัทได้มีการดำเนินการเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น 'เทคโนโลยี' การเก็บอาหาร ถนอมอาหารให้รับประทานได้นานๆ หรือเทคโนโลยีตั้งแต่กระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยว การขนส่ง การบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น 

"แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างความเข้าใจ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร และการเก็บอาหาร การนำอาหารมาใช้อย่างคุ้มค่า และเมื่ออาหารเหลือเป็นขยะต้องมีกระบวนการจัดการที่ดี มองหาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมมือกันเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ให้ร่วมกันรับผิดชอบดหร.คุณญิงกัลยา กล่าว

  • เทคโนโลยีช่วยถนอมอาหาร ลด'ขยะอาหาร'

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ทั่วโลกมี'ขยะอาหาร'(food waste) ถูกทิ้งประมาณ 1 ใน 3 หรือ กว่าร้อยละ 30 จากจำนวนทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นบริโภคในแต่ละวัน หรือรวมกันประมาณ 1,300 ล้านตันต่อปี จำนวนอาหารที่ถูกทิ้งที่ว่านี้ถือเป็นปริมาณที่มากพอสำหรับประชากรในทวีปแอฟริกาบริโภคได้ตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน กระบวนการในการผลิตอาหารทุกชนิดนั้น ใช้ทรัพยากร น้ำ พืชที่ใช้เลี้ยงสัตว์ แรงงาน พลังงาน เป็นต้นทุนเช่น การผลิตเนื้อหมู 1 กิโลกรัม ใช้น้ำทั้งหมด 6,000 ลิตร หรือเทียบได้กับการอาบน้ำฝักบัว 188 ครั้ง และเทียบได้กับการอาบน้ำในอ่าง 250 ครั้ง

162273005022

ดร.กันตชนม์ ศิวะพิมล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัทอีเด็น อะกริเท็ค จำกัด กล่าวว่าบริษัท มีนโยบายชัดเจนในการจัดการขยะอาหาร เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม 1 ใน 3 ของสินค้าส่งออกเป็นผลไม้ ซึ่งเรื่องที่มาคู่กับการส่งออกต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องขยะ โดยเฉพาะขยะจากผักผลไม้ที่ไม่สามารถส่งถึงมือผู้บริโภคได้ทัน

ดังนั้น บริษัทมีความตั้งใจจะมอบวิธีการที่ยั่งยืนในการยืดอายุผลไม้ให้สดใหม่ และคงคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน โดยได้คิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม แนทเชอแรน (Naturen) นวัตกรรมสารเคลือบยืดอายุผักและผลไม้จากธรรมชาติ และมีเทคโนโลยีคิดค้น Invisibla Flim ชะลอการเน่าเสีย และคงคุณภาพของผลไม้ ทำให้ผักผลไม้สดใหม่ได้มากขึ้นถึง 3-5 เท่า ลดปริมาณ'ขยะอาหาร'ลงได้

  • 'ขยะอาหาร'เรื่องใกล้ตัวทุกคนต้องช่วยกัน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อม กล่าวทิ้งท้ายว่า ขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคนที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหา ลดขยะอาหารให้น้อยลง โดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรม สั่งอาหารพอทาน และหากเหลือควรนำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก ขณะที่ร้านอาหาร หากมีอาหารเหลือจำนวนมาก ควรนำไปให้แก่สถานที่จัดการ'ขยะอาหาร' หรือมีความคิดสร้างสรรค์ในการนำผักผลไม้ ที่หน้าตาอาจไม่สวยมาใช้ประโยชน์ด้วยการดัดแปลงในการใช้งาน  หน้าที่ของทุกคนนอกจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กินอย่าพอเพียง เหลือนำมาทำปุ๋ยแล้ว ต้องมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำขยะจากอาหารกลับมาใช้อีกด้วยเป็นต้น

162273007844

'ขยะอาหาร'นั้น สะท้อนการขาดประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรของหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น ผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลดการเหลือทิ้งก่อขยะให้น้อยที่สุด ซื้ออาหารเท่าที่พอกิน หมั่นตรวจเช็ควันหมดอายุของอาหารที่เก็บไว้ บริจาคอาหารที่ไม่ต้องการ แต่ยังกินได้ให้ผู้อื่น ขณะที่เจ้าของธุรกิจร้านค้า หรือร้านอาหาร อาจจะจัดตั้งส่วนพิเศษสำหรับอาหารที่จำหน่ายไม่ทัน นำไปลดราคา หรือแจกฟรี