ย้อนรอยวัคซีนคนไทย นอกจาก ‘วัคซีนโควิด’ เราฉีดอะไรไปแล้วบ้าง?

ย้อนรอยวัคซีนคนไทย นอกจาก ‘วัคซีนโควิด’ เราฉีดอะไรไปแล้วบ้าง?

นอกจาก "วัคซีนโควิด" ตั้งแต่เกิดจนโต คนเราต้องได้รับวัคซีนสำคัญอีกหลายชนิด ชวนย้อนรอยดูว่า ที่ผ่านมาคนไทยได้รับวัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นชนิดใดบ้าง และได้รับวัคซีนช่วงวัยไหน?

ยืดเยื้อยาวนานมาเกือบ 2 ปีแล้ว สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเป้าหมายล่าสุดของประเทศไทยตอนนี้คือ การลดจำนวนผู้ติดเชื้อ และควบคุมการแพร่ระบาดด้วยการเร่งฉีด "วัคซีนโควิด-19" ให้กับประชาชนอย่างถ้วนหน้า แม้ว่าแพทย์จะยืนยันว่าารฉีดวัคซีนไม่ได้ลดการติดเชื้อแบบ 100%  แต่ข้อดีคือการฉีดวัคซีนสามารถลดความรุนแรงหลังการติดเชื้อ และลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้มากถึงร้อยละ 30

วัคซีนโควิด-19 อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับปี 2021 นี้ แต่ในอีก 3 ปี ข้างหน้า วัคซีนโควิด-19 จะกลายเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ทุกคนอาจจะต้องฉีดเป็นประจำก็เป็นได้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนย้อนรอยข้อมูลการฉีดวัคซีนสำคัญของคนไทย นอกจากวัคซีนโควิดแล้ว เราจะต้องฉีดวัคซีนอื่นๆ ตัวไหนอีกบ้าง? หากความทรงจำช่วงการต่อแถวรับวัคซีนในโรงเรียน หรืออาการกลัวเข็มที่เราต้องฉีดในตอนเด็กมันเลือนราง เรามาทวนความจำกันอีกครั้ง 

  • ทำความรู้จัก “วัคซีน” คืออะไร?

วัคซีน (Vaccine) คือ วัตถุทางชีวภาพชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ส่วนใหญ่ทำมาจากเชื้อโรค แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 

1. ทำจากเชื้อโรคที่ตายแล้วมีสารของเชื้อโรคมาฉีดเข้าตัวเรา 

2. ทำจากเชื้อโรคที่อ่อนแอ ทำให้มันสลบ พิษจะได้ไม่รุนแรง เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายคนเรา ร่างกายเราก็จะสร้างภูมิคุ้มกันกับโรคนั้นๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

  • ลืมตาดูโลกตอนไหน ก็ได้วัคซีนเข็มแรกตอนนั้น

ทุกๆ ปี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจะออกแผนงานสร้างเสริมสุขภาพภูมิคุ้มกันโรค หรือกำหนดการฉีดวัคซีนสำคัญของคนไทยว่าจะต้องฉีดวัคซีนอะไรบ้าง โดยเน้นไปที่เด็กเล็กอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 ปี (ประถมศึกษาปีที่6) 

อย่างที่ทราบกันว่า ทารกแรกเกิดไปจนถึง 1 ปีนั้น เด็กจะยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอในการต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ หากได้รับเชื้อโรคอันตรายในช่วงนี้ เช่น โรคหัด ไวรัสตับอักเสบ ก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และการจะสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กได้ดีที่สุดในช่วงนี้ก็คือการฉีดวัคซีน

กล่าวโดยสรุปคือ คนเราจะถูกฉีดวัคซีนตั้งแต่แรกเกิดเป็นต้นมา โดยความถี่ของการฉีดวัคซีนจะเกิดขึ้นในช่วงอายุแรกเกิด จนถึง 12 ปี

ดังนั้นแล้วความทรงจำช่วงเรียนประถม ก็อาจจะมีช่วงเวลาของการต่อแถวรับวัคซีนในโรงเรียน มองเพื่อนร้องไห้เพราะกลัวเข็ม หรือสารพัดความทรงจำเกี่ยวกับการได้รับวัคซีนต่างๆ มากกว่าช่วงชีวิตในวัยอื่นๆ  

  • เข้าใจวัคซีน เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม 

วัคซีนส่วนใหญ่ที่เราต้องได้รับนั้น มักจะได้รับตอนที่อายุยังน้อยอยู่ แต่ก็จะมีวัคซีนบางประเภทที่ต้องรับในช่วงอายุสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้วัคซีนสำคัญ แบ่งเป็น 4 ประเภท ตามการนิยามของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คือ 

  • วัคซีนพื้นฐาน 
  • วัคซีนทางเลือก 
  • วัคซีนสำหรับผู้ที่เดินทางระหว่างประเทศ 
  • นอกจากนี้ยังมี วัคซีนฉุกเฉิน กรณีวัคซีนโควิด-19 

  • วัคซีนพื้นฐานที่ทุกคนต้องฉีด ไม่ฉีดไม่ได้!

วัคซีนพื้นฐานนับว่าเป็นวัคซีนที่สำคัญที่สุด กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาวัคซีน และกระจายวัคซีนจากส่วนกลางไปยังคลังวัคซีนระดับอำเภอทุกแห่งโดยตรง โดยประชาชนทุกคนได้ฉีดฟรี 

วัคซีนที่กำหนดไว้ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศต่างๆ อาจแตกต่างกันขึ้นกับการพิจารณาของแต่ละประเทศเกี่ยวกับ อุบัติการณ์ ความรุนแรงของโรค ประสิทธิภาพของวัคซีน ราคาของวัคซีน และสถานการณ์โดยรวมของวัคซีนในประเทศ

สำหรับประเทศไทยวัคซีนพื้นฐาน มีทั้งหมด 10 ชนิด ป้องกันครอบคลุม 13 โรค (เริ่มฉีดอายุตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 12 ปี) ได้แก่

  • วัคซีน BCG ป้องกันโรควัณโรค
  • วัคซีน HB ป้องกันโรคตับอักเสบชนิดบี
  • วัคซีน DTP-HB ป้องกันวัคซีนรวม
    วัคซีน OPV ป้องกันโรคโปลีโอ
  • วัคซีน JE ป้องกันไข้สมองอักเสบ
  • วัคซีน MMR ป้องกันรวมหัด คางทูม
  • วัคซีน DTP ป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน 
  • วัคซีน Rota ป้องกันไวรัสโรต้า
  • วัคซีน HPV ป้องกันปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี
  • วัคซีน dT ป้องกันคอตีบ บาดทะยัก

โดยสรุปในช่วง 12 ปี แรกของชีวิต เราต้องได้รับวัคซีนไปจำนวน 23 ครั้ง ตามตารางแผนงานสร้างเสริมสุขภาพภูมิคุ้มกันโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 

162281109488

162281099565

  • วัคซีนทางเลือก 

วัคซีนทางเลือก หรือวัคซีนเสริม คือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดี มีประโยชน์ในการป้องกันโรค แต่ไม่ได้อยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข (วัคซีนพื้นฐาน) ดังนั้นเราจะเลือกฉีดหรือไม่ก็ได้ เพราะอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ซึ่งในปัจจุบัน วัคซีนทางเลือกเหล่านี้ได้มีการพัฒนาโดยการรวมหลาย วัคซีนในเข็มเดียว จึงทำให้ได้รับหลายภูมิคุ้มกันโรคในเข็มเดียว อีกทั้งยังทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้อีกด้วย 

วัคซีนทางเลือก ได้แก่ 

  • วัคซีนอีสุกอีใส
  • วัคซีนตับอักเสบเอ 
  • วัคซีนนิวโมคอคคัส 
  • วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น 
  • วัคซีนพิษสุขนัขบ้า
  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 
  • วัคซีนนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกตหรือวัคซีนไอพีดี (IPD)
  • วัคซีนไข้เลือดออก
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • ถ้าฉีดวัคซีนไม่ครบ จะเป็นอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้วหากได้รับวัคซีนไม่ครบ เช่น หากวัคซีนต้องฉีด 5 ครั้ง แต่ฉีดได้เพียง 3 ครั้ง ควรไปปรึกษาแพทย์ก่อนว่า จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะถ้าหากปล่อยผ่านไปอาจทำให้เด็กได้รับเชื้อโรคและแสดงอาการที่รุนแรงของโรคได้ในอนาคต ในกรณีที่ฉีดไม่ครบเพราะด้วยปัจจัยบางสาเหตุนั้น หากผ่านไปไม่นานก็สามารถกลับมาฉีดย้อนหลังใหม่ได้ แต่ถ้าทิ้งระยะเวลามากกว่า 1 ปี ก็อาจจะต้องทำการเริ่มต้นฉีดใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะดีที่สุด 

--------------------------------

ที่มา : 

แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข

โรงพยาบาลเปาโล

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

cdc.gov