ขั้นตอนขอรับ 'เงินเยียวยา' ผลกระทบจาก 'วัคซีนโควิด' จาก 'สปสช.' ทำอย่างไร
เมื่อ "วัคซีนโควิด" เป็นเรื่องใหม่ "สปสช." จึงสร้างความมั่นใจให้ประชาชน โดย "เงินเยียวยา" ผลกระทบจากวัคซีน แต่ก็ยังมีข้อสงสัยถึงการยื่นเรื่องคำร้อง และมีความกังวลว่าจะเข้าเกณฑ์ ได้รับการเยียวยาหรือไม่ โดยเฉพาะกรณี 'เสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีน' อ่านที่นี่!
หลังจากประเทศไทย มีการฉีด 'วัคซีนโควิด 19' ไปแล้วกว่า 4.1 ล้านคน และตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเริ่มระดมฉีด 'วัคซีนโควิด-19' ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะมีผู้มี อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กลุ่มดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการดูแล และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 'สปสช.' ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อเป็นการ 'เยียวยาผลกระทบจากวัคซีน' เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถรวบรวมได้ ดังนี้
ประเภทความเสียหายจากวัคซีน
- เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร
- เจ็บป่วยเรื้อรังตลอดชีวิต มีผลรุนแรงต่อการดำรงชีวิต
- สูญเสียอวัยวะหรือพิการ มีผลต่อการดำเนินชีวิต
- บาดเจ็บ หรือ เจ็บป่วยต่อเนื่องจากการได้รับวัคซีน
ยื่นเรื่องได้ที่ไหน
หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด 'วัคซีนโควิด 19' ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ 'สปสช.' ได้ที่
- โรงพยาบาลที่ฉีด
- สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)
- 'สปสช.' สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต
- อสม. หรือ หน่วย 50(5) เป็นผู้แนะนำและรับคำขอให้อีกทางหนึ่ง
ใครเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง
- ผู้รับวัคซีน
- ทายาท
- ผู้อุปการะ
- โรงพยาบาลที่ให้บริการ
ระยะเวลาในการยื่น
- ยื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย
กรณีไหน ได้เงินเท่าไหร่
- กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท
- กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท
- กรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษา ไม่เกิน 100,000 บาท
ใครเป็นผู้พิจารณา
- 'สปสช.' มีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตทั่วประเทศดำเนินการพิจารณา
- พิจารณาโดยใช้ความเชี่ยวชาญของความเป็นแพทย์ ดูจากประวัติ จากข้อมูลต่างๆ
- ดำเนินการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยา และจ่ายเงินภายใน 5 วันหลังมีมติ
ต้องพิสูจน์ ชันสูตร จนจบก่อนหรือไม่
- ไม่ต้องถึงขนาดพิสูจน์ถูกผิดจนจบกระบวนการว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่
- ถ้าสงสัยว่าจะเกี่ยวกับวัคซีน ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเข้าได้เลย
- การที่แพทย์บอกว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน ไม่ได้เป็นการตัดสินว่าจะไม่จ่ายเงินชดเชย
- ไม่ต้องรอผลการชันสูตรอะไรทั้งสิ้น
หากพิสูจน์ภายหลังว่าไม่ได้เกิดจากวัคซีน จะเรียกเงินคืนหรือไม่
- แม้ว่าต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยไม่ได้มาจากวัคซีน ก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด
ไม่พอใจผลการวินิจฉัย ต้องทำอย่างไร
- มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันทราบผล
- ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ 'สปสช.' สาขาเขตพื้นที่
ได้รับความเสียหายก่อนออกประกาศ (16 พ.ค.) จะได้รับเยียวยาหรือไม่
- ได้รับความเสียหายก่อนประกาศ ให้ถือเป็นผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายตามประกาศด้วย
- สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร. 1330
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘สปสช.’ จ่ายกรณี 'เสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีน' แล้ว 3 ราย
ชายวัย 50 จ.ปทุมธานี
นายสมชาย ม่วงวัง ชาวจังหวัดปทุมธานี อายุ 50 ปี มีอาการอาการแน่นหน้าอกและเสียชีวิตหลังรับ 'วัคซีนโควิด 19' ได้ 5 วัน บุตรชายได้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ('สปสช.') ไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว ทางคณะอนุกรรมการของ 'สปสช.' เขต 4 สระบุรี จึงลงมติเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 400,000 บาท โดยมีการโอนเงินเข้าบัญชีให้บุตรผู้เสียชีวิตในวันที่ 4 มิ.ย. 64
ผู้ใหญ่บ้าน จ.แพร่
กรณีของนายอุดร เย็นจิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.ห้วยม้า จ.แพร่ ตามข้อมูลผู้เสียชีวิตได้รับการฉีด 'วัคซีนโควิด-19' เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ต่อมาตอนกลางคืนวันที่ 18 พฤษภาคม มีอาการหายใจผิดปกติ ถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ตามประวัติพบว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นน่าจะเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ผู้อำนวยการ 'สปสช.' เขต 1 เชียงใหม่ ระบุว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับ 'วัคซีนโควิด-19' มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ให้แก่ผู้ 'เสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีน' โควิด 19 เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท โดย 'สปสช.' จะเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือภายใน 5 วัน แม้ยังไม่สรุปว่าเป็นผลจาก 'วัคซีนโควิด 19' หรือไม่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
ผู้เสียชีวิต จ.สงขลา
สำหรับผู้เสียชีวิตรายนี้ ได้รับ 'วัคซีนโควิด-19' เข็มแรกในวันที่ 14 พ.ค.2564 และไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ในช่วง 30 นาทีแรก สองวันถัดมาคือในวันที่ 16 พ.ค. 2564 เริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย ถัดจากนั้นอีก 3 วัน คือวันที่ 19 พ.ค.2564 เกิดอาการวูบ จึงได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา จนกระทั่งในวันที่ 22 พ.ค.2564 เริ่มเกิดอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และหมดสติในวันที่ 27 พ.ค.2564 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับ 'วัคซีนโควิด 19' ระดับเขตพื้นที่ เขต 12 สงขลา ได้ร่วมกันพิจารณาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะเห็นพ้องร่วมกันที่จะอนุมัติการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ที่ 'เสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีน' โควิด 19 ใน จ.สงขลา เป็นจำนวน 4 แสนบาท
ทั้งนี้ จากกรณีนี้ถือว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีด 'วัคซีนโควิด-19' ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่จากเจตนารมณ์ของประกาศที่ตั้งใจบรรเทาความเดือดร้อนให้กับทายาทหรือผู้อุปการะโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เนื่องจากผู้เสียชีวิตเป็นเสาหลักของครอบครัว คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติจ่ายเงินจำนวน 4 แสนบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เยียวผลกระทบจากวัคซีน' ทั่วประเทศแล้ว 162 ราย
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ('สปสช.') เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 64 ว่า ตอนนี้มียื่นเรื่องเข้ามาแล้ว 260 ราย จ่ายเยียวยาไปแล้ว 162 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอาการชาเป็นหลัก ฉีดแล้วชา เราก็จ่ายให้ถือว่าท่านได้รับความเสียหาย บางคนชา 1 วัน บางคนชาเป็นเดือนก็มี ระยะเวลาที่ต่างกันออกไปจะมีผลต่อการชดเชยที่ต่างกันออกไป
"ส่วนกรณีเสียชีวิตมียื่นเรื่องเข้ามา 6 รายทั่วประเทศ เพิ่งอนุมัติจ่าย 400,000 บาทไป 1 ราย ที่พื้นที่ สปสช.เขต 4 สระบุรี ส่วนอีกรายที่ยื่นเข้ามาที่ กทม. คณะอนุกรรมการได้พิจารณาว่าไม่เกี่ยวข้อง ก็จะเหลืออีก 4 รายที่กำลังพิจารณาอยู่"
ทั้งนี้ จากการที่ 'กรุงเทพธุรกิจ' ได้ทำรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ในแต่ละเขต มีผู้ยื่นเรื่องเข้ามา และมีการพิจารณา อนุมัติเงินช่วยเหลือไปแล้ว อาทิ
‘สปสช.’ เขต 1 เชียงใหม่
คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายหลังฉีด 'วัคซีนโควิด 19' รวมเป็นจำนวน 23 ราย เป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 475,500 บาท นอกจากเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีการเสียชีวิตของนายอุดร เย็นจิตร จำนวน 400,000 บาทแล้ว ที่เหลือเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบเล็กน้อย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ เขต 1 เชียงใหม่ได้ประชุมไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 19 และ 28 พฤษภาคม และวันที่ 4 มิถุนายน รวมพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไป 100 ราย จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปจำนวน 717,500 บาท
'สปสช.' เขต 4 สระบุรี
พื้นที่เขต 4 สระบุรี ซึ่งรับผิดชอบ 8 จังหวัดได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และนครนายก ข้อมูล ณ วันที่ 2 มิ.ย. 64 ได้มีการพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว จำนวน 8 ราย รวมเป็นเงิน 469,500 บาท เป็นชาย 2 ราย และหญิง 6 ราย โดยส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย จำนวน 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 เจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาล 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.5 และเสียชีวิต 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.5 อายุระหว่าง 23-50 ปี อายุน้อยสุด 23 ปี และอายุมากที่สุด 50 ปี
สปสช. เขต 12 สงขลา
สำหรับ การพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหาย จากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สปสช.เขต 12 สงขลา ณ วันที่ 5 มิ.ย. 64 พิจารณาจำนวน 10 ราย ผลการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 8 ราย รวมเป็นเงิน 537,000 บาท เป็นอาการเจ็บป่วยปานกลาง จำนวน 1 ราย เป็นอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาล 6 ราย และเสียชีวิต 1 ราย (400,000 บาท)