5 'วัคซีนโควิด' ขึ้นทะเบียนในไทย ทั้งวัคซีนหลัก-วัคซีนทางเลือก ใครควรฉีดยี่ห้อไหน?
"วัคซีนโควิด-19" ที่อย.ได้ขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉินแล้ว จนถึงขณะนี้มีทั้งหมด 5 รายการ มีทั้ง "วัคซีนหลัก" และ "วัคซีนทางเลือก" ส่วนวัคซีน "Pfizer" ล่าสุด มาขอขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว
"วัคซีนโควิด-19" ต้อง "ขึ้นทะเบียน" กับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา "อย." เพื่อให้ทราบว่าผู้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนโควิด-19 คือใคร และสามารถติดตามตรวจสอบได้หากวัคซีนนั้นมีปัญหาเชิงคุณภาพหรือความปลอดภัย ผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องรับผิดชอบต่อวัคซีนของตน เนื่องจากวัคซีนอาจเกิดผลข้างเคียงหลังจากการฉีดได้
ดังนั้น ในการขึ้นทะเบียนจึงกำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องนำเสนอข้อมูลความปลอดภัย แผนการใช้ และการแก้ปัญหาเมื่อเกิดผลข้างเคียงใด ๆ ขึ้น โดยต้องมีเอกสารชี้แจงรายละเอียดมายืนยันพร้อมการขึ้นทะเบียน กับ อย.
สำหรับวัคซีนทุกรายการที่มาขึ้นทะเบียนกับ อย. จะมีการประเมินด้านความปลอดภัย คุณภาพและประสิทธิผลของวัคซีนจากผู้เชี่ยวชาญ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับคนไทย
การประเมินด้านความปลอดภัยจะพิจารณาผลการศึกษาในสัตว์ทดลอง และความปลอดภัยในคน เช่น ขนาดโดสที่ใช้ ระยะเวลาการให้วัคซีน ด้านคุณภาพ จะครอบคลุมทั้งการควบคุมคุณภาพการผลิตตัวยาสำคัญของวัคซีน กระบวนการผลิตวัคซีน การตรวจประเมินสถานที่ผลิตวัคซีนตามมาตรฐาน GMP ซึ่งทุกขั้นตอนต้องมีการประกันคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ
ด้านประสิทธิผลของวัคซีน ต้องผ่านการวิจัยในคน มีการติดตามผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในคนที่ร่างกายแข็งแรง คนที่มีโรคแทรกซ้อน หรือกลุ่มเฉพาะ เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ หรือคนชรา ตลอดจนแผนการจัดการความเสี่ยงของวัคซีน สำหรับเรื่องราคาวัคซีน อย. ไม่ได้เป็นผู้กำหนด
- วัคซีนที่ขึ้นทะเบียน อย.ไทยแล้ว
ปัจจุบัน อย. อนุมัติขึ้นทะเบียน ‘วัคซีนโควิด-19’ จำนวน 5 บริษัท ได้แก่
1. วัคซีน ‘AstraZeneca’ โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
2. วัคซีน ‘Sinovac’ ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม
3.วัคซีน 'Johnson & Johnson' โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด
4.วัคซีน ‘Moderna’ หรือ โมเดอร์นา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
5. วัคซีน ‘Sinopharm’ โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด
- วัคซีนที่อยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียน
ส่วนวัคซีนที่อยู่ระหว่างการประเมินคำขอขึ้นทะเบียน ได้แก่
1. วัคซีน ‘Covaxin’ โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด
2. วัคซีน ‘Sputnik V’ โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด
3. วัคซีน 'COMIRNATY' ซึ่งเป็นวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด
ทั้งนี้ หากบริษัทที่เป็นเจ้าของวัคซีนหรือตัวแทนไม่มายื่นขึ้นทะเบียนกับ อย. ด้วยตนเอง อย. ไม่สามารถนำข้อมูลวิชาการต่าง ๆ ของวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากต่างประเทศมาดำเนินการขึ้นทะเบียนได้ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เป็นของบริษัทและเป็นความลับทางการค้าที่ไม่เปิดเผย จึงขอเชิญบริษัทที่สนใจมายื่นขอขึ้นทะเบียน 'วัคซีนโควิด-19' อย. พร้อมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนอย่างเต็มที่
- 5 'วัคซีนโควิด-19' ที่ อย.ขึ้นทะเบียนให้ใช้ในไทย
1. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)
นำเข้าโดยบริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2564
‘AstraZeneca’ สามารถฉีดให้แก่ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
การเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีน ‘AstraZeneca’
- เป็นผู้ที่ไม่มีอาการไข้ขึ้นสูงเกิน 37.5 องศา ในวันที่เข้ารับการฉีดวัคซีน
- ไม่มีโรคประจำตัวขั้นรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้ ได้แก่ โรคความดัน โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง กลุ่มโรคระบบประสาท กลุ่มโรคเบาหวานและโรคอ้วน
- ไม่มีประวัติแพ้ยาหรือสารประกอบในกลุ่มที่ระบุ
- ผู้มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ความผิดปกติในการแข็งตัวของเกล็ดเลือด หรือผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด สามารถฉีดวัคซีนได้ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ฯ
ประโยชน์ของวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีดังต่อไปนี้
- ช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) เมื่อมีการฉีดวัคซีนมากกว่า 70% ของจำนวนประชากร
- หลังฉีดเข็มแรก 30 วัน ผู้ใช้วัคซีนมีภูมิคุ้มกันถึง 96.7% ลดอัตราการแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า-สูงถึง 63.0% หลังฉีดเข็มแรก 3 สัปดาห์
ผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนป้องกัน-19
- > 60% มีอาการเจ็บบริเวณที่ฉีด
- > 50% มีอาการปวดศรีษะ และ อ่อนเพลีย
- > 40% มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว
- > 30% มีอาการไข้ หนาวสั่น
- > 20% มีอาการปวดข้อ และ คลื่นไส้
- < 1% มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต เบื่ออาหาร มึนหรือเวียนศรีษะ ปวดท้อง เหงื่อออกมากผิดปกติ มีผื่นคัน
จากข้อมูลการใช้วัคซีนในสหราชอาณาจักพบภาวะลิ่มเลือก 0.000013 % ใน 1,000,000 คน และจากข้อมูลการใช้วัคซีนในประเทศอินเดียพบภาวะลิ่มเลือด 0.61 ใน 1,000,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2564)
2. วัคซีน ‘Sinovac’ หรือ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac)
นำเข้าโดย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2564
แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี แต่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ควรให้แพทย์พิจารณาก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
การฉีดวัคซีน ‘Sinovac’ ไม่เหมาะกับใคร
- ผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง
- ผู้ที่มีประวัติภูมิแพ้อย่างรุนแรง เช่น แพ้อาหาร แพ้โลหะ
- ผู้มีไข้ หรือเจ็บป่วยรุนแรง
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรังซึ่งไม่สามารถควบคุมโรคให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยได้
- ผู้ที่มีภาวะทางระบบประสาทรุนแรง
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร ยังไม่ควรเข้ารับวัคซีนโควิด เว้นแต่ได้รับการประกาศยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
ประโยชน์ของ "วัคซีนซิโนแวค" ป้องกันโควิด-19 มีดังต่อไปนี้
การทดลองวัคซีน‘Sinovac’ ในจีนยืนยันประสิทธิภาพ 78 %ในกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดยี่ห้อนี้กลับแตกต่างไปในหลายประเทศ
องค์การอนามัยโลกประกาศว่า วัคซีน‘Sinovac’มีประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 51% และยืนยันป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต 100 เปอร์เซ็นต์
ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส: 67%
ประสิทธิภาพในการลดอาการรุนแรงถึงชีวิต: 85%
ประสิทธิภาพในการลดการแพร่เชื้อ: ไม่พบข้อมูล
ผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนป้องกัน-19
ประเทศไทย ปัจจุบัน (15 มีนาคม 2564) มีรายงานจำนวนผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ (adverse reaction) จากการฉีดวัคซีนโควิดซิโนแวค ซึ่งไม่ใช่การแพ้วัคซีน (allergic reaction) ดังนี้
- อาเจียน 17%
- ปวดเมื่อยเนื้อตัว 14%
- อักเสบบริเวณที่ฉีด 13%
- มีไข้ 11%
นอกจากนั้นยังมีอาการปวดศีรษะ ท้องเสีย ผื่นขึ้น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ มีอาการปวด บวมแดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งกรมควบคุมโรคยืนยันว่า เป็นอาการที่พบได้เป็นปกติหลังรับวัคซีน อาการดังกล่าวจะไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 1-2 วันหลังรับวัคซีน
ส่วนอาการแพ้วัคซีนโควิดนั้นจะมีอาการรุนแรงกว่ามาก เช่น มีไข้สูง หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง อาการแพ้รุนแรงบริเวณที่ฉีดวัคซีน
ณ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับอาการแพ้วัคซีนโควิด
3. วัคซีน 'Johnson & Johnson' (รอเข้าไทย)
นำเข้าโดย บริษัท แจนเซ่น - ซีแลก จำกัด ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564
'Johnson & Johnson' สามารถฉีดได้ผู้ชายที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
การฉีดวัคซีน 'Johnson & Johnson' ไม่เหมาะกับใคร
- ผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่กำลังให้นมบุตร เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (TTS) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดอื่น
- ผู้ชายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน
- ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งก่อนๆ
- ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ซึ่งอาจก่อโรคในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงได้มาก
ประโยชน์ของวัคซีน "จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน" ป้องกันโควิด-19 มีดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2564 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการทดสอบระยะที่ 3 ของวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ผ่านทาง Morbidity and Mortality Weekly Report (MMWR) มีรายละเอียด ดังนี้
- หลังเข้ารับการฉีดวัคซีน 14 วัน มีประสิทธิภาพในการป้องกัน 66.3%
- หลังเข้ารับการฉีดวัคซีน 28 วัน มีประสิทธิภาพในการป้องกัน 65.5%
ผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนป้องกัน-19
ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป ได้แก่
- ปวด บวม และมีรอยแดง บริเวณที่ฉีด
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
- มีไข้ และอาการหนาวสั่น
- คลื่นไส้
ผลข้างเคียงเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน หลังได้รับการฉีดวัคซีน และควรหายภายในระยะเวลาไม่กี่วัน
ส่วนผลข้างเคียงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (TTS) อาจเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์หลังฉีดวีคซีน ได้แก่
- ปวดศีรษะรุนแรง หรือปวดอย่างต่อเนื่อง
- ตาพร่ามัว
- หายใจถี่
- เจ็บหน้าอก
- ขาบวม
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- มีรอยช้ำ หรือจ้ำเลือด นอกเหนือจากบริเวณที่ฉีด
หากมีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 1 อาการ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
4. วัคซีน ‘Moderna’ (รอเข้าไทย)
นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิคฟาร์มา จำกัด ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 13 พ.ค.2564
ฉีดให้แก่ผู้ที่อายุ 18 ปี ขึ้นไป
วัคซีนโควิด ‘Moderna’ ไม่เหมาะกับใคร?
- ผู้สูงอายุที่มีร่างกายอ่อนแอมาก หรือได้รับการประเมินว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน ควรได้รับการพิจารณาร่วมกับแพทย์เป็นรายบุคคล
- ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติมก่อน
- ผู้ที่มีอาการแพ้ทั้งแบบรุนแรง และไม่รุนแรงต่อส่วนผสม mRNA ในวัคซีนโควิด-19 ไม่ควรรับวัคซีนชนิดนี้
- ผู้ที่มีพบว่ามีอาการแพ้หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว ไม่ควรรับวัคซีนชนิดนี้เพิ่มเติม
- ผู้ที่มีประวัติแพ้สารโพลีเอธิลีน ไกคอล (Polyethylene glycol: PEG) ซึ่งเป็นส่วนผสมในยาและเครื่องสำอางบางชนิด ซึ่งมีอยู่ในวัคซีน‘Moderna’
- ผู้ที่มีประวัติแพ้สารพอลิซอร์เบต (Polysorbate) ซึ่งเป็นส่วนผสมในยาและเครื่องสำอางบางชนิด แม้จะไม่มีอยู่ในวัคซีนโควิดโมเดอร์นา แต่คุณสมบัติใกล้เคียงกับ PEG มาก จึงอาจเป็นอันตรายได้
หากไม่แน่ใจในชนิดของสารที่ตนเองแพ้ แต่ทราบว่าเคยมีประวัติแพ้วัคซีนชนิดใดมาก่อนในอดีต สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาว่าควรฉีดวัคซีนชนิดนี้หรือไม่
วัคซีน ‘Moderna’ ป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้ไหม?
จากหลักฐานที่มี ณ เวลานี้ วัคซีน ‘Moderna’ ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดได้หลายสายพันธุ์ ดังนี้
- สายพันธุ์ที่ค้นพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร (B.1.1.7)
- สายพันธุ์ที่ค้นพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ (B.1.351)
- สายพันธุ์ที่ค้นพบครั้งแรกในบราซิล (P.1)
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีน‘Moderna’ในการป้องกันโควิดสายพันธุ์ต่างๆ และผลข้างเคียง ยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งทุกคนควรติดตามต่อไป
ประโยชน์ของ 'Moderna' มีอะไรบ้าง?
วัคซีน 'Moderna' อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด 19 อยู่ที่ประมาณ 92% โดยมีรายละเอียดแยกย่อย ดังนี้
- หลังจากฉีดเข็มแรกไปแล้ว 14 วัน จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันประมาณ 50.8%
- หลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ประมาณ 92.1%
อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีน 'Moderna' จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาอยู่ได้หลายเดือน แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าภูมิคุ้มกันนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน หรือผู้ที่รับเชื้อสามารถแพร่กระจายต่อได้หรือไม่
รวมถึงประสิทธิภาพที่ได้จากกลุ่มทดลอง อาจมีความแตกต่างกับการฉีดให้กับประชากรจริงที่อยู่เหนือขอบเขตการทดลองเนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความหลากหลายของเชื้อไวรัส
ดังนั้นแม้จะรับวัคซีน 'Moderna' ไปแล้ว ก็ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง หากจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดกันหลายคน ควรหาช่องทางระบายอากาศเพื่อลดโอกาสเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อ
ผลข้างเคียงของวัคซีน'Moderna'
อาจดูคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่ ดังนี้
- เจ็บ หรือบวมบริเวณที่ฉีด
- อาจมีอาการหนาวสั่น เป็นไข้
- อาจมีอาการอ่อนเพลีย
- อาจมีอาการปวดหัว
ผลข้างเคียงของวัคซีนโควิดโมเดอร์นา (Moderna) อาจเริ่มแสดงออกภายใน 1-2 วันหลังจากรับวัคซีน โดยอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 2-3 วัน
5.วัคซีน ‘Sinopharm’
นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ขึ้นทะเบียนเมื่อ 28 พ.ค.2564
อายุที่ฉีดได้ ต้องเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป แต่ WHO ระบุว่า ยังไม่พบข้อมูลความปลอดภัยของผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี
ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน‘Sinopharm’
- ห้ามฉีดในผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งก่อนหน้า
- ห้ามฉีดในผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน
- ห้ามฉีดในผู้ที่อาหารภูมิแพ้อย่างรุนแรง
- ห้ามฉีดในผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามฉีดในผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์
- ห้ามฉีดในผู้ที่มีไข้ หรืออุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
ประโยชน์ของวัคซีน ‘Sinopharm’
- ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส: 78.1-79.34%
- ประสิทธิภาพในการลดอาการรุนแรงถึงชีวิต: 100%
- ประสิทธิภาพในการลดการแพร่เชื้อ: ไม่พบข้อมูล
ผลข้างเคียงวัคซีน‘Sinopharm’
- ปวด บวม และมีรอยแดง บริเวณที่ฉีด
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
- มีไข้ และอาการหนาวสั่น
- คลื่นไส้
อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน หลังได้รับการฉีดวัคซีน และควรหายภายในระยะเวลาไม่กี่วัน
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก เคยรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง 2 เหตุการณ์ที่อาจเชื่อมโยงกับวัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์ม ได้แก่ อาการคลื่นไส้อย่างรุนแรง และความผิดปกติที่ระบบประสาท หรือโรคไข้สมองอักเสบเฉียบพลัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- รู้จัก 'โมเดอร์นา' วัคซีนโควิดลำดับ 4 ที่ได้ขึ้นทะเบียนจาก อย.
- 5 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 "แอสตร้าเซนเนก้า
- รู้จัก! วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA คืออะไร ชนิดไหนเหมาะกับประเทศไทย
องค์การอนามัยโลก ยังพิจารณาข้อมูลจากจีน พบว่า ในบรรดาประชากรจีน 5.9 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์ม ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2020 มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ 1,453 ราย แต่ยังยืนยันไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่
วัคซีน‘Sinopharm’ ราคาต่อโดสละ 888 บาท
สถานะการรับรองโดย WHO: วัคซีน‘Sinopharm’ ที่ผลิตโดยบริษัทจากปักกิ่ง ได้รับการรับรองจาก WHO โดยได้จดทะเบียนให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่วัคซีนซิโนฟาร์มที่ผลิตโดยบริษัทในอู่ฮั่น ยังไม่ได้รับการรับรองจาก WHO
ข้อควรระวัง: ยังถือเป็นวัคซีนที่มีข้อมูลหลังเริ่มฉีดให้กับคนทั่วโลกได้น้อยเมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นๆ และยังไม่มีข้อมูลผลของการฉีดวัคซีนแบบผสมกับวัคซีนอื่นๆ นอกจากการเริ่มลองฉีด‘Sinopharm’กับซิโนแวคในประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด รัฐบาล นำโดยกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ลงนามในสัญญาเทอมชีท (Term Sheet) กับวัคซีน ‘Pfizer’ โดยมีการทำบันทึกความตกลงจะซื้อจะขาย ซึ่งจะมีเวลา 1 เดือน ในการตกลงเงื่อนไขและราคา เบื้องต้นจำนวน 20 ล้านโดส ส่งมอบภายในปีนี้
โดยวัคซีน ‘Pfizer’ เป็น‘วัคซีนโควิด 19’ บริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการทดลองเฟสสาม โดยบริษัทได้ประกาศว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพมากกว่า 90% เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 และต่อมาได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2563 ให้ใช้ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป
ฉะนั้น ขณะนี้แม้ 'วัคซีนโควิด-19' เหล่านี้จะผ่านการขึ้นทะเบียนของอย.และมีการนำเข้ามาฉีด หรือกำลังรอนำเข้ามาในไทย ทุกคนควรจะฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และต่อให้ฉีดวัคซีนไปแล้ว ทุกคนต้องปฎิบัติตัวป้องกันโรค 'โควิด-19' สวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง
อ้างอิง : รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย , hdmall , คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข , trueid