12 มิ.ย. วันต่อต้านการใช้ 'แรงงานเด็ก' สากล ย้อนดูปมปัญหาเด็กในโรงงาน 'ช็อคโกแลต'
สรุปสถานการณ์การการใช้ "แรงงานเด็ก" ปี 2564 และย้อนดูปัญหาแรงงานเด็กในอุตสาหกรรม "ช็อคโกแลต"
ช็อคโกแลต เครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก ที่ถูกผลิตจากเมล็ดคาเคา (Cacao) หรือที่เรียกว่าเมล็ดโกโก้ แต่ใครจะรู้ว่ารสชาติอันหอมมันที่เราหลงรัก กลับมีเบื้องหลังอันขมขื่นอย่างการใช้แรงงานเด็กในการผลิต
- แรงงานเด็ก เรื่องเด็กที่ไม่เล็ก
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) รายงานสถานการณ์แรงงานเด็กปี 2564 พบว่า แรงงานเด็กได้เพิ่มขึ้นเป็น 160 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้น 8.4 ล้านคนในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา โดยเด็กอีกหลายล้านคนกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเนื่องจากผลกระทบของโควิด 19
ทั้งนี้เมื่อสรุปผลการใช้แรงงานเด็กในด้านต่างๆ พบว่า
- ร้อยละ 70 (112 ล้านคน) อยู่ในภาคเกษตรกรรม
- ร้อยละ 20 (31.4 ล้านคน) อยู่ในภาคบริการ
- ร้อยละ 10 (16.5 ล้านคน) อยู่ในภาคอุตสาหกรรม
รวมถึงแรงงานเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 - 11 ปี เกือบร้อยละ 28 และ แรงงานเด็กอายุตั้งแต่ 12 – 14 ปี ร้อยละ 35 เป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ
นอกจากนี้เมื่อสรุปภูมิภาคที่มีอัตราการใช้แรงงานเด็ก พบว่าทางใต้ของทะเลซาฮาราในทวีปแอฟริกามีการใช้แรงงานเด็กเพิ่มขึ้น 16.6 ล้านคนในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา
ในรายงานยังย้ำว่าเรื่องที่น่ากังวลสำหรับแรงงานเด็ก คือยังมีเด็กอีก 9 ล้านคนที่มีความเสี่ยงจะถูกผลักให้เป็นแรงงานเด็กภายในสิ้นปี 2565 จากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19
- ช็อกโกแลตเกี่ยวอะไรกับการใช้แรงงานเด็ก
เมล็ดโกโก้กว่า 70% ถูกผลิตในประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ปริมาณการผลิตของทั้งโลก ประเทศผู้ส่งออกเมล็ดโกโก้รายหลักของโลก คือ ไอวอรี โคสต์ (30.4%) กานา (18.0%) อินโดนีเซีย (16.7%) กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริการายงานว่าพบแรงงานเด็กกว่า 2.1 ล้านคน อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตช็อคโกแลตในประเทศเหล่านี้
จากรายงานดังกล่าวทำให้ทั่วโลกโดยเฉพาะองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องประเด็น แรงงานเด็กและความยากจนแก่บริษัทในอุตสาหกรรมช็อคโกแลตต่างๆ ได้แก่ เนสเล่ส์ โกดิวา เฟอร์เรโร เป็นต้นจนมีอนุสัญญาเรียกร้องให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2543
ล่าสุดในปี 2562 กรีน อเมริกา หน่วยงานต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าและการใช้แรงงานเด็ก เผยแพร่รายงานเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมการผลิตช็อคโกแลตว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ยังไม่มีการจัดการเรื่องแรงงานเด็ก โดยแบรนด์ที่อยู่ในขั้นวิกฤติคือ แบรนด์ช็อคโกแลตหรู "โกดิวา" อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่แบรนด์นี้เท่านั้น แต่ยังมี "เฟอร์เรโร" และ "มอนเดเลซ" ที่เข้าข่ายอีกด้วย
รายงานของกรีน อเมริกา ระบุว่า เด็กจากครอบครัวยากจนจากประเทศกานาและไอวอรี โคสต์ จำนวนมากถึง 1.6 ล้านคน ถูกนำไปเป็นแรงงานเก็บเมล็ดโกโก้และได้ค่าแรงวันละ 2 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นค่าครองชีพที่ถูกที่สุดในโลก ทั้งนี้เป็นการแสดงว่าการจัดการแรงงานเด็กในประเทศยากจนในอุตสาหกรรมล้มเหลว
ทางด้านโกดิวาออกมาตอบโต้รายงานดังกล่าวว่า "ที่ผ่านมาโกดิวาได้ออกกฎทำข้อสัญญากับทางผู้ผลิตโกโก้ที่เป็นบุคคลที่สามอย่างชัดเจนตามมาตรฐานของโกดิวา ซึ่งระบุว่า ห้ามให้มีการบังคับใช้แรงงานเด็ก"
ที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตช็อคโกแลตและบริษัทโกโก้หลายแห่งได้รวมตัวกันเพื่อยกระดับมาตรฐานของโกโก้ที่ผ่านการรับรองด้านจริยธรรมในการผลิต แต่ทางด้านของกรีน อเมริกา กล่าวว่า การรับรองโกโก้ในเรื่องของจริยธรรมนั้นไม่เพียงพอ บริษัทผู้ผลิตช็อคโกแลตและโกโก้เหล่านี้ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและการยกระดับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ด้วย
ตามการอ้างอิงของหน่วยงานโกโก้นานาชาติระบุว่า เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ในแอฟริกานั้นต่างมีรายได้ที่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของธนาคารโลก โดยมีรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน รวมไปถึงมีการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมการปลูกโกโก้ด้วยเช่นกัน
ทางด้านประเทศกานาและไอวอรีโคสต์กล่าวว่า "ที่ผ่านมาบริษัทโกโก้ให้ความสำคัญกับแผนงานความยั่งยืนของตนเอง มากกว่าแผนการจ่ายเงินที่เป็นค่าครองชีพตามที่ประเทศต่างๆ เพื่อบรรเทาความยากจนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้"