เปิดสถิติ 'วันแม่หม้ายสากล' เมื่อผู้หญิง ‘หย่าร้าง’ มากขึ้น

เปิดสถิติ 'วันแม่หม้ายสากล' เมื่อผู้หญิง ‘หย่าร้าง’ มากขึ้น

เนื่องในโอกาส “วันแม่หม้ายสากล” ปี 2564 ชวนดูสถิติ คนทั่วโลก “หย่าร้าง” กันมากเท่าไหร่ในช่วงโควิดนี้, ทำไมผู้หญิงถึงกล้าที่จะเป็น “โสด” มากขึ้น และวิธีไหนที่จะช่วยประครองให้ความสัมพันธ์ไปรอดในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

วันที่ 23 มิถุนายน ของทุกปีเป็น วันแม่หม้ายสากล ซึ่งได้มีขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่แม่หม้ายต้องเผชิญหลังจากสูญเสียสามีหรือได้ทำการแยกทางกับสามี โดยบางคนต้องทนทุกข์ทรมานกับการแยกทางเพราะความยากจนหรือปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา 

ในปี 2564 นี้ กำลังจะครบรอบ 11 ปีที่สมัชชาแห่งสหประชาชาติได้ทำการรับรอง วันแม่หม้ายสากล ขึ้นอย่างเป็นทางการเพราะตระหนักและเห็นความสำคัญต่อประเด็นปัญหานี้ (รับรองวันแม่หม้ายสากลอย่างเป็นทางการ วันที่ 21 ธันวาคม 2553)

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดู “คนทั่วโลกเลิกกันมากเท่าไหร่ในช่วงโควิดนี้, ทำไมผู้หญิงถึงกล้าที่จะหย่าร้างมากขึ้น, และวิธีไหรที่จะช่วยประครองให้ความสัมพันธ์ไปรอดในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้”

  

  • สถานการณ์การหย่าร้างทั่วโลกเป็นอย่างไรในช่วงโควิดนี้?

จากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คู่รักทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาวะที่น่าอึดอัดและทรมานในการใช้ชีวิตร่วมกันกับคนรัก ที่ไม่ ใกล้กันเกินไป ก็อาจจะ ห่างกันเกินไป

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมข้อมูลจากประเทศต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้ ประเทศอเมริกา, ประเทศจีน, ประเทศออสเตรเลีย, และประเทศเกาหลีใต้  สถานการณ์การหย่าขาดแต่ละที่เป็นอย่างไรบ้าง ตามไปดูกัน

ประเทศอเมริกา ทางด้านบลูมเบิร์ก รายงานว่า ปี 2563 ที่ผ่านมาประชากรในประเทศทำการหย่าขาดกันสูงมากในช่วงครึ่งปีแรก แต่ในครึ่งปีหลังการหย่าขาดกันกับลดลง ด้วยเหตุผลที่ว่า หลายคนอาจเลือกที่จะอดทนไปก่อน เพราะการหารายได้และหาที่พักอาศัยใหม่ในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปได้ยาก และภาพรวมทั้งปี 2563 มีอัตราการแต่งงานของคู่รักที่ลดลง เนื่องจากได้ทำการเลื่อนหรือยกเลิกเพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด เช่นกัน

ในส่วนของประเทศจีน สำนักข่าวบีบีซี ได้เปิดเผยข้อมูลว่า จากสถานการณ์โควิดที่ทำให้ทุกคนต้องอาศัยอยู่ด้วยกันตลอดเวลาเป็นเวลายาวนาน การเงินติดลบ และปัญหารุมเร้าที่มากขึ้น ทำให้เกิดความขัดแย้งได้อย่างง่าย

ทางด้าน ประเทศออสเตรเลียสำนักข่าวเดอะออสเตรเลียน รายงานว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา การสมรสได้ลดต่ำลงถึง 30% นอกจากนี้สิ่งที่น่าตกใจคือ ทางกูเกิลได้รายงานว่า คำที่ถูกค้นหามากที่สุดใน กูเกิลของออสเตรเลียคือคำว่า “Divorce” (หย่าร้าง) ซึ่งพุ่งขึ้นสูงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ไปจนถึงช่วงสิ้นปี และช่วงปีใหม่ โดยที่เทศกาลต่างๆ ก็ไม่สามารถทำลายสติถิการค้นหาคำนี้ในประเทศได้  

นอกจากนี้ ประเทศเกาหลีใต้ สำนักข่าวโคเรียจุงอัง ภายใต้นิวยอร์กไทม์ ได้มีรายงานออกมาว่า คนเกาหลีได้ทำการหย่าร้างถึงเกือบ 1หมื่นคน คิดเป็น 3.1%  นอกจากนี้คนเกาหลียังได้มีการจัดงานแต่งงานที่ลดลงเหลือแค่ 17,080 คู่ ในปี 2563 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลสถานการณ์การระบาดของโควิดดังเช่นหลายๆ ประเทศ

   

  • ทำไมผู้หญิงถึงกล้าที่จะหย่าร้างมากขึ้น

จากสถิติขององค์การสหประชาชาติ (UN) เรื่อง อัตราการหย่าร้างทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2503 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 251.8% ในทุกๆ ปี โดย5 ประเทศที่มีอัตราการหย่าร้างมากที่สุดมีดังนี้ 

1. ประเทศลักเซมเบิร์ก (ประเทศเล็กๆ ในทวีปยุโรปที่มีประชากรเพียงครึ่งล้าน แต่กลับมีอัตราการหย่าร้างสูงถึง 87%) 2.ประเทศสเปน 65% 3.ประเทศฝรั่งเศส 55% 4.ประเทศรัสเซีย 51% และ 5.ประเทศอเมริกา 46% 

ทั้งนี้ในส่วนของ อัตราการหย่าร้างของประเทศไทยทางธนาคารไทยพาณิชย์ได้ทำการสำรวจและวิจัยผ่านหน่วยงานอีไอซี (EIC: Economic Intelligence Center) มีผลสรุปว่า ในปี 2560 คนไทยนิยมเป็นโสดมากขึ้น, ความถี่การแต่งงานต่ำลง, และอัตราการหย่าร้างสูงขึ้นเฉลี่ย 1.3 แสนคู่รักต่อปี

เหตุผลที่ผู้หญิงครองตัวเป็นโสด-กล้าที่จะหย่าร้างมากขึ้น

  • ต้องการที่จะเครียดน้อยลง เพราะการมีคู่ครองมาพร้อมด้วยภาระอันมากมายที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ เช่น งานบ้าน ต้องจัดเตรียมอาหาร และต้องเลี้ยงลูก เป็นต้น 
  • ไม่ชอบการคาดหวัง 
  • ต้องการมีสุขภาพจิตใจและร่างกายที่ดีขึ้น
  • เพิ่งรู้ตัวว่ารักในอิสระ-เสรีภาพมากกว่า 

นอกจากนี้ประเทศอื่นๆในโซนเอเชียอย่าง ประเทศจีน ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมีผู้หญิงเลือกที่จะครองสถานะ โสดมากขึ้นเฉลี่ยถึง 30% ในทุกๆ ปี โดย 90% ของประชากรหญิงส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า การเป็นโสดคือสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต

   

  • วิธีการรักษาความสัมพันธ์ในช่วงการระบาดของโควิด

1.ใช้เวลาห่างจากกันและกันบ้าง

เพราะหากอยู่ใกล้กันทั้งวันอาจสร้างความอึดอัดได้ อาจจะแยกห้องกันทำงานหรือทำกิจกรรม แต่ก็กลับมาใช้เวลานอนร่วมกัน โดยการห่างจากกันชั่วคราวจะทำให้มีสมดุลของความสัมพันธ์

2.หากิจกรรมใหม่ๆ ช่วยกันทำ

เพราะว่าจากสถานการณ์การระบาดของโควิดจึงทำให้ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้ อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้การอยู่บ้านกับคนรักอย่างไม่น่าเบื่อ คือการหากิจกรรมช่วยกันแก้ปัญหา เช่น เกมตัวต่อ จิ๊กซอว์ แก้ปัญหา หรือชวนกันทำอาหาร ประกอบเฟอนิเจอร์ โดยต้องเป็นสิ่งที่ทั้งคู่รู้สึกน่าท้าทายที่จะลอง

3.รับฟังกันและกันมากขึ้น

ไม่ควรมีใครที่เป็นฝ่ายออกสิทธิ์ ออกเสียงไปมากกว่ากว่ากัน เพราะนั่นเท่ากับว่าเสียงของอีกคนไม่ได้รับการเคารพ การรับฟังซึ่งกันและกันในยามสถานการณ์ที่ตึงเครียดเช่นนี้เป็นสิ่งที่ควรจะทำมากที่สุด และหมั่นชื่นชมกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งกันและกันเพื่อเป็นการเยียวยาจิตใจต่อกัน 

4.หลีกเลี่ยงการปล่อยพลังลบสู่กันและกัน

หากรู้สึกอารมณ์ไม่ดีหรือไม่อยู่ในมู้ดที่จะคุยสิ่งต่างๆ ให้เอาตัวเองออกจากผู้คน โดยให้ทำการพักผ่อนหรือทำกิจกรรมที่ทำให้ความเครียดทุเลาลง เช่น การล้างจาน พักสายตา งีบหลับ อาบน้ำ เป็นต้น

เกร็ดความรู้: “แม่หม้ายกับแม่ม่ายตกลงใช้คำไหนกันแน่?

-ในอดีต คำว่า แม่หม้าย ใช้เรียกผู้หญิงที่คู่สมรสเสียชีวิตและยังไม่ได้แต่งงาน เท่านั้น

-ส่วนคำว่า แม่ร้าง ใช้สำหรับเรียกผู้หญิงที่เลิกรากันไปกับฝ่ายชาย (สถานะหย่าร้าง กัน)

-แต่คนในปัจจุบันได้ใช้คำว่าแม่หม้าย ปนกันทั้งสองความหมายคือ คู่สมรสเสียชีวิต หรือได้ทำการหย่าร้างกับฝ่ายชาย

-ทางด้านคำว่า พ่อหม้ายและ พ่อร้าง ก็ใช้ในความหมายทำนองเดียวกันกับที่อธิบายไว้ข้างต้น เพียงแต่สลับตำแหน่งทางเพศกัน

-คำว่าหม้าย เป็นคำที่ใช้มาตั้งแต่โบราณ ส่วนคำว่า ม่าย เป็นคำที่ทำการใช้ทีหลัง แต่ก็สามารถใช้แทนได้เช่นกันในปัจจุบัน มีความหมายเหมือนกัน และทั้งสองคำนี้ได้ถูกบัญญัติขึ้นในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

-อันที่จริงแล้ว วันแม่หม้ายสากล มีขึ้นครั้งแรกในปี 2548 แต่ ที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งสหประชาชาติได้ทำการรับรองขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2553

อ้างอิง: CNAINDIA TODAYHealth essentialsBBCBLOOMBERGJAPAN TODAYTHE AUSTRALIANKorea JoongAng Daily