ใช้ 'ยาถ่ายพยาธิในสัตว์'รักษาโควิด-19ไม่ใช่แนวทางหลัก
กรมการแพทย์แจงใช้ยาถ่ายพยาธิในสัตว์รักษาโควิด-19ไม่ใช่แนวทางหลัก ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการรักษา ยังไม่มีประเทศไหนใช้อย่างชัดเจน จะใช้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ เร่งศึกษาด่วนใน 3-4 เดือน อย.เผยมายาตำรับคน 2 ทะเบียนจัดเป็นยาอันตราย รักษาพยาธิเส้นด้าย
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2564 ที่กรมการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการรักษาพยาบาลโควิด-19 ด้วยการใช้ยา ไอเวอร์เม็คติน ซึ่งเป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ ว่า แนวทางการรักษาโรคโควิด-19ได้มีการปรับปรุงทุกเดือน ล่าสุด ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมาให้ใช้ยาดังกล่าวได้นั้น เป็นเพียงแนวทางการรักษา แบบหมายเหตุ ไม่ได้มีการสนับสนุนให้ใช้ยานี้โดยตรง หรือห้ามใช้รักษาโดยเด็ดขาด ซึ่งให้เป็นดุลยพินิจของแพทย์ และขอให้ปฏิบัติแนวทางการรักษาหลักของประเทศก่อน เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการรักษา แม้มีการทดลองใช้รักษาในอินเดียก็เป็นเพียงการใช้ในระยะหนึ่ง และมีการประกาศยกเลิกการใช้แล้วอย่างเป็นทางการ เพราะการใช้ยาไอเวอร์เม็คตินรักษาโควิดให้ผลสำเร็จในหลอดทดลองเท่านั้น
แนวทางการรักษาหลักของประเทศไทย เน้นการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ส่วนการนำข้อมูลนี้ออกมาเผยแพร่ เชื่อว่าเกิดจากการอ่านรายงานทบทวนการศึกษาและทดลองในต่างประเทศที่ออกมาหลายฉบับ แต่ยังไม่มีประเทศไหนใช้อย่างชัดเจน โดยกลุ่มประเทศที่มีการใช้ ได้แก่ แอฟริกา เนื่องจากไม่มียาฟาวิพิราเวียร์ และการใช้ยาไอเวอร์เม็คติน ไม่ได้ให้ผลดีในคนไข้ทุกราย บางรายมีอาการแย่ลง แม้ยาไอเวอร์เม็คตินจะเป็นยาที่ปลอดภัย แต่ส่งผลต่อตับ ซึ่งคนไข้ไม่ใช่หนูทดลอง จึงไม่ได้สนับสนุนให้ใช้ยานี้ จนกว่าจะมีการศึกษาที่ชัดเจน โดยศ.เกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานที่ปรึกษาโควิดฯ เห็นว่าควรนำเรื่องนี้ศึกษาอย่างเร่งด่วน โดยมอบให้ ศ.พญ.ยุพิน ศุพุทธมงคล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เร่งศึกษาวิจัยเรื่องแนวทางการใช้ยาไอเวอร์เม็กติน ในผู้ป่วยจริง จำนวนมากหลักพันราย ให้แล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือน
“การศึกษาต้องนำยาใหม่ และยาเก่ามาเปรียบเทียบกัน โดยใช้ยาไอเวอร์เม็คติน ร่วมกับ ยาฟาวิพิราเวียร์ เทียบกับสูตรยาเดิม แต่ไม่ขอระบุรายละเอียด แต่หลักการศึกษาเบื้องต้นจะใช้ในรพ.ศิริราช และรพ.สังกัดกรมแพทย์ในพื้นที่กทม. ส่วนที่รพ.ใดมีการใช้ไปทั้งรพ.เอกชน หรือ โรงเรียนแพทย์ ถือเป็นดุลยพินิจแพทย์ เพราะการรักษาเป็นการประกอบโรคศิลปะ ทุกครั้งที่มีการใช้ยาตัวนี้ ต้องมีการรายงานกลับมาที่กรมการแพทยื”นพ.สมศักดิ์กล่าว
พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปกติยาไอเวอร์เม็คติน เป็นยาที่ใช้ถ่ายพยาธิในสัตว์ และมีข้อจำกัดในการใช้เพียง 2 วันเท่านั้น แต่สำหรับโควิด-19อาจต้องใช้นานกว่านั้น และในแนวทางการรักษาโควิดไม่ได้แนะนำให้ใช้ เป็นเพียงหมายเหตุไว้เท่านั้น
ด้านนพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ยาไอเวอร์ เม็คติน (Ivermectin)มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาสำหรับสัตว์ เป็นยาฆ่าพยาธิในกระเพาะและลำไส้ พยาธิในปอด โรคพยาธิหัวใจ ปัจจุบันมีทะเบียนตำรับสำหรับสัตว์ประมาณ 200 ทะเบียน และมีทะเบียนตำรับยาที่ใช้สำหรับมนุษย์เพื่อใช้ในการรักษาการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย 2 ทะเบียน จัดเป็นยาอันตราย และอยู่ในบัญชีรายการยากำพร้า และเป็นยาที่มีการใช้ค่อนข้างน้อย
จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยาไอเวอร์เม็คติน ไม่พิจารณาให้ใช้สำหรับผู้ป่วยโควิด -19 เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาพบว่าไม่ช่วยลดอัตราการตาย การใช้เครื่องช่วยหายใจ และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วย ส่วนทางด้านองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (USFDA) ไม่อนุมัติให้มีการใช้ยานี้ในการป้องกัน หรือการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในมนุษย์เช่นเดียวกัน ในขณะที่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการสนับสนุนการใช้ยาไอเวอร์เม็คติน สำหรับการป้องกัน หรือการรักษาโควิด-19 ในสหภาพยุโรป แต่ให้ใช้ในการศึกษาทางคลินิกเท่านั้น เนื่องจากมีผลการศึกษาระบุว่ายานี้สามารถป้องกันการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่สูงกว่าปกติ และการใช้ในปริมาณที่สูงกว่าปกตินี้ อาจส่งผลให้เกิดความเป็นพิษที่สูงขึ้นได้ เช่น เกิดความดันเลือดต่ำ อาการแพ้ วิงเวียนศีรษะ ชัก หรือโคม่าถึงแก่ชีวิตได้ EMA จึงไม่ให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19
“ยาไอเวอร์เม็คติน ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้สำหรับการป้องกัน หรือ รักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด ขณะนี้มีเพียงการใช้ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยทางคลินิก ซึ่งต้องใช้เวลาในการรอผลการศึกษา จึงขอประชาชนอย่าเพิ่งใช้ยาดังกล่าวเพื่อการรักษาโควิด-19 เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้”นพ.สุรโชคกล่าว