'การจัดการขยะ' ของไทย ทำอย่างไรให้ไปถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน
หากเทียบ 'กฏหมายจัดการขยะ' ของไทยและต่างชาติแล้ว ยังพบว่า 'การจัดการขยะ' แม้จะให้อำนาจท้องถิ่นจัดการ แต่ยังขาดการมีส่วนร่วมในอีกหลายภาคส่วนทั้งผู้ผลิต งบ และประชาชน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการจัดการ
“ขยะ” ยังถือเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายต้องร่วมกันจัดการอย่างเร่งด่วน จากรายงาน กรมควบคุมมลพิษ พบว่า ประเทศไทยสร้างขยะมากกว่าปีละ 27 ล้านตัน แม้สัดส่วนการนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงหลังจะเพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 5.81 ล้านตัน เป็น 11.93 ล้านตัน ในปี 2563 แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ได้รับการกำจัดไม่ถูกต้อง
จากผลการศึกษาปัญหา การจัดการขยะ ในประเทศไทย ช่องว่างของกฎหมาย “อ.ดร.ฤทธิภัฏ กัลป์ยาณภัทรศิษฏ์” รองคณบดี สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวภายในการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎหมายเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืนมุ่งสู่ เศรษฐกิจหมุ่นเวียน โดยให้ข้อมูลว่า สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย 2562 มีสถานที่กำจัดที่ดำเนินการถูกต้อง 409 แห่ง คิดเป็น 15.34% ขณะที่ สถานที่กำจัดที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง 2,257 แห่ง 84.66% พอมีการดำเนินการไม่ถูกต้อง ทำให้มีการเกิดปัญหามากมาย ซ้ำซาก หลายปี เช่น ไฟไหม้บ่อขยะ มลพิษจากการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง นำเสียจากบ่อขยะ สร้างผลกระทบต่อประชาชน
- สถานการณ์ขยะประเทศไทย
ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ พบว่า สถานการณ์การจัดการขยะในประเทศไทย
ปริมาณขยะชุมชน
- ปี 2559 จำนวน 27.06 ล้านตัน
- ปี 2560 จำนวน 27.37 ล้านตัน
- ปี 2561 จำนวน 27.93 ล้านตัน
- ปี 2562 จำนวน 28.71 ล้านตัน
- ปี 2563 จำนวน 27.35 ล้านตัน
ขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์
ปี 2559 จำนวน 5.81 ล้านตัน
ปี 2560 จำนวน 8.51 ล้านตัน
ปี 2561 จำนวน 9.76 ล้านตัน
ปี 2562 จำนวน 12.52 ล้านตัน
ปี 2563 จำนวน 11.93 ล้านตัน
ขยะที่กำจัดถูกต้อง
ปี 2559 จำนวน 9.57 ล้านตัน
ปี 2560 จำนวน 11.69 ล้านตัน
ปี 2561 จำนวน 10.85 ล้านตัน
ปี 2562 จำนวน 9.81 ล้านตัน
ปี 2563 จำนวน 11.19 ล้านตัน
ขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง
ปี 2559 จำนวน 11.68 ล้านตัน
ปี 2560 จำนวน 7.17 ล้านตัน
ปี 2561 จำนวน 7.32 ล้านตัน
ปี 2562 จำนวน 6.38 ล้านตัน
ปี 2563 จำนวน 4.23 ล้านตัน
ปริมาณขยะต่อคนต่อวัน
ปี 2559 จำนวน 1.13 กิโลกรัม
ปี 2560 จำนวน 1.14 กิโลกรัม
ปี 2561 จำนวน 1.15 กิโลกรัม
ปี 2562 จำนวน 1.18 กิโลกรัม
- การกำจัดขยะมูลฝอย 2562
สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย 2562 ได้แก่
สถานที่กำจัดที่ดำเนินการถูกต้อง 409 แห่ง คิดเป็น 15.34% แบ่งเป็น รัฐ 343 แห่ง และ เอกชน 66 แห่ง ได้แก่ ฝังกลบแบบถูกต้อง 372 แห่ง 13.96% เตาเผาที่มีระบบบำบัดอากาศ 5 แห่ง 0.19% เตาเผาเพื่อผลิตพลังงาน 6 แห่ง 0.22% หมักทำปุ๋ย 6 แห่ง 0.22% กำจัดแบบเชิงกล-ชีวภาพ MBT 9 แห่ง 0.34% และ เชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (RDF) 11 แห่ง 0.41%
สถานที่กำจัดที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง 2,257 แห่ง 84.66% แบ่งเป็น รัฐ 1,970 แห่ง เอกชน 287 แห่ง ได้แก่ เทกอง 2,130 แห่ง 79.90% เตาเผาไม่มีระบบบำบัดอากาศ 72 แห่ง 2.70% เผากลางแจ้ง 55 แห่ง 2.06%
- ค่าจัดการขยะขาดดุล 17,200 ล้านบาท
หากดูข้อมูลค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ จาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ค่าจัดการขยะ 13,000 ล้านบาท จัดเก็บได้ 2,300 ล้านบาท ขาดดุล 11,700 ล้านบาท กรุงเทพฯ ค่าจัดการขยะ 7,000 ล้านบาท จัดเก็บได้ 500 ล้านบาท ขาดดุล 6,500 ล้านบาท รวม ค่าจัดการขยะ 20,000 ล้านบาท จัดเก็บได้ 2,800 ล้านบาท หมายความว่า แต่ละปีรัฐบาลจะต้องให้เงินอุดหนุนเข้าไป (ขาดดุล) 17,200 ล้านบาท ซึ่งหากมีกฎหมายหรือระบบการจัดการขยะที่ดี ตัวเลขอาจจะลดลงมาได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เดินหน้าด้านการจัดการขยะ ทั้งแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ”, แผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน “จังหวัดสะอาด” รวมถึงแผนที่กำหนดมาตรการครอบคลุมระยะต้น กลาง และปลาย แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถปฏิบัติได้ตามที่กำหนดเอาไว้เพราะยังมีช่องว่างและงานอีกเยอะที่หน่วยงานหลายภาคส่วนต้องร่วมกัน
“กฎหมาย” เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการที่เจ้าหน้าที่รัฐนำไปใช้ในการจัดการขยะทั้งกำหนดอำนาจ ขอบเขต ขั้นตอน หลักเกณฑ์และทำหน้าที่บังคับประชาชนในการดำเนินการ ดังนั้น การจัดการขยะด้านหนึ่งต้องอาศัยทักษะการบริหาร และอีกด้านหนึ่งที่สำคัญ ก็คือกฎหมายในการกำหนดหน้าที่ทุกฝ่ายให้ชัดเจน รวมถึงบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม
- กฏหมายจัดการขยะในไทย
อ.ดร.ฤทธิภัฏ อธิบายต่อไปว่า สำหรับกฎหมายประเทศไทยหลักๆ ใช้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งทั้งสองมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เนื้อหาสำคัญ คือ กำหนดให้ อปท. มีหน้าที่เก็บขน กำจัดมูลฝอยชุมชน และกำหนดให้ท้องถิ่นสามารถมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐอื่นจัดการแทนได้ หรือมอบให้เอกชนจัดการขยะได้โดยขออนุญาตจาก อปท.
นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆและกฎหมายอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและการของเก่า พ.ศ. 2474 พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 และกฎหมายลูกบทที่เกี่ยวข้อง จะเห็นว่ามีกฎหมายหลากหลายฉบับในการกำหนดหลักเกณฑ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 4 ช่องว่าง 'กฏหมายจัดการขยะ'
หลายคนบอกว่ากฎหมายยิ่งเยอะน่าจะยิ่งดี แต่การมีกฎหมายหลายฉบับอาจจะเป็นปัญหา จากการรวบรวมข้อคิดเห็นจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องพบว่า ช่องว่างกฎหมายทั้งหมด 4 เรื่อง คือ
1. กฎหมายซ้ำซ้อน ทับซ้อน และยุ่งยากในการบังคับใช้ เพราะมีกฎหมายหลายฉบับ
2. กฎหมายไม่สมบูรณ์ ไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุมการจัดการขยะในทุกขั้นตอน เพราะกฎหมายขยะประชาชนมีส่วนสำคัญที่สุดในการจัดการ
“กฎหมายมุ่งไปที่ อปท. แต่ไม่ได้พูดถึงหน้าที่ประชาชน เช่น ต้องคัดแยกขยะ หรือ ส่งมอบขยะให้ถูกต้องตามที่กำหนด ในหลายประเทศที่มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ผู้ผลิตสินค้าในการคำนึงถึงว่าเมื่อเป็นขยะจะเป็นอย่างไร แต่กฎหมายไทยยังไม่เป็นอย่างนั้น แต่เน้นให้ท้องถิ่นจัดการทำให้ปลายทางเป็นเรื่องใหญ่ในการจัดการ”
3. การขาดองค์กรกลไกในการบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการ ท้องถิ่นยังไม่มีช่องทางในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะมากเท่าที่ควร
4. การกำหนดให้ท้องถิ่นรับผิดชอบการจัดการขยะชุมชน ซึ่งอาจมีปัญหาในท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กหรืองบประมาณน้อย ท้องถิ่นขนาดเล็กไม่สามารถจัดการขยะบางอย่างได้
- สร้างความร่วมมือ กับ ท้องถิ่น
“ขณะที่กฎหมายโดดเดี่ยวกับท้องถิ่นเกินไป เนื่องจากขยะเป็นเรื่องยากและใช้งบประมาณ ขยะต้องอาศัยความร่วมมือประชาชนและต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ท้องถิ่นหลายแห่งยินดีกำจัดขยะแต่ไม่มีพื้นที่และงบในการสร้างระบบกำจัดขยะ”
อ.ดร.ฤทธิภัฏ กล่าวต่อไปว่า หากมองในตัวกฎหมาย จะบอกว่าเป็นอำนาจในท้องถิ่น แต่หากประชาชนมีความก้าวหน้าในการจัดการกว่า การพิจารณากฎหมายต่อไปก็อาจจะต้องดูตรงนี้ว่าท้องถิ่นควรจะทำอย่างไรได้บ้าง และอาจจะมีองค์กรอื่นมาช่วยท้องถิ่นในการให้ความรู้ ทำให้ท้องถิ่นสามารถจัดการขยะสอดรับกับการจัดการขยะของประชาชนได้ อาจจะเป็นโซลูชั่นที่ดี ในทางกฎหมายอาจจะต้องสร้างกลไก ระดมความช่วยเหลือ ไม่ปล่อยให้ท้องถิ่นโดดเดี่ยว ดังนั้น อาจจะมีการแก้ไขปรับปรุงต่อไป
- กฏหมายจัดการขยะต่างประเทศ
เมื่อดูกฎหมายการจัดการขยะและเศรษฐกิจหมุนเวียนในต่างประเทศ “อ.ปกรณ์ ปาลวงษ์พานิช” รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยกตัวอย่าง “กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว” อย่างสหภาพยุโรป ซึ่งมีการจัดการขยะที่เป็นต้นแบบในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน เพิ่มพลังอำนาจให้แก่ผู้บริโภค ผลักดันภาคที่ใช้ทรัพยากรมากที่สุดและมีศักยภาพในการหมุนเวียนวัตถุดิบสูง ลดขยะให้น้อยลง
โดยกฎหมายของสหภาพยุโรป 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ “The Waste Framework Directive” กำหนดคำจำกัดความพื้นฐานของการจัดการของเสีย กำหนดขอบเขตความรับผิดชอบและมาตรการปฏิบัติตามกฎหมาย กำหนดวิธีการนำมาใช้ใหม่ วิธีกำจัด การขอใบอนุญาตประกอบการ และกำหนดให้หน่วยงานที่มีความรับผิดชอบต้องจัดทำแผนการจัดการของเสียจนสิ้นสุดการจัดการขยะ
ขณะที่กฎหมาย “The Landfill Directive” กำหนดรายละเอียดสถานที่ฝังกลบ การจัดการ ระบบวิศวกรรม มาตรการปกปิดมิดชิด การตรวจตราสถานที่ฝังกลบ ป้องกันสภาพแวดล้อมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง
และกฎหมาย “The Packaging Directive” รักษาสิ่งแวดล้อมและกระตุ้นการค้า , วางระบบในการรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว , Recovery/Recycle , ตั้งข้อกำหนดที่จำเป็นสำหรับบรรจุภัณฑ์ และรับรองการไหลเวียนของสินค้าในยุโรป
ขณะที่ มาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมกฎหมาย ได้แก่ กำหนดน้ำหนัก และปริมาตรขั้นต่ำของบรรจุภัณฑ์ กำหนดอัตราของสารประกอบเคมี , บรรจุภัณฑ์ต้องเหมาะต่อการ Reuse Recycle , จำกัดปริมาณสารโลหะหนัก , เครื่องหมายเพื่อการคัดแยก
“มาตรการต่างๆ ค่อนข้างชัดเจน รัดกุม มองตลอดวัฏจักรของสินค้านั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีกฎหมาย RoHS Directive ในการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ให้ผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบในการรวบรวม บำบัด กำจัดซากผลิตภัณฑ์ตามหลักวิชาการและควบคุม 10 กลุ่มผลิตภัณฑ์ รวมถึง จำกัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 10 รายการ โดยวางแผนปี 2025 ยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์ที่สามารถจะใช้ซ้ำได้ และตั้งเป้าปี 2030 บรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดใน EU สามารถนำมา Recycle ได้”
- นโยบายด้าน 'การจัดการขยะ' เยอรมนี
ด้าน “เยอรมนี” ซึ่งให้ความใส่ใจในการจัดการขยะเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีนโยบายด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ในช่วงเริ่มต้นเยอรมนีแก้ปัญหาโดยการเพิ่มสถานที่ทิ้งขยะ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงลดปริมาณขยะเพื่อความยั่งยืน เชื่อมโยงสู่การผลิตใช้วงจรของผลิตภัณฑ์ให้คุ้มค่ามากขึ้นเป็นนโยบายใหญ่ ตัวอย่างเช่น กฎหมาย The Waste Management Act 2012 มีถึง 5 ลำดับขั้น ตั้งแต่การป้องกันการเกิดขยะ เตรียมการเพื่อรีไซเคิล รีไซเคิล วิธีฟื้นฟูอื่นๆ เช่น นำไปใช้เป็นพลังงาน และกำจัด เช่น ฝังกลบ เผา รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ปกป้องสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้น Recycling และลดพื้นที่การกำจัดของเสีย ลดการใช้สารอันตรายในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเสริมให้กฎหมายใช้ได้จริง
- 'ญี่ปุ่น' ขยายความรับผิดชอบ ครอบคลุมทุกภาคส่วน
กลับมาดูในเอเชียอย่าง “ประเทศญี่ปุ่น” กฎหมายระดับโครงสร้าง ญี่ปุ่นมีตั้งแต่การแยกขยะรีไซเคิล การสร้างความเข้าใจผู้บริโภค การอุดหนุน และ EPR มีทั้งกฎหมายหลักเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะแต่ละชนิด มีมาตรการสนับสนุนครอบคลุม เช่น ส่งเสริมมาตรการ 3R รวมถึงให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนในการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐ ผู้ประกอบการ ประชาชน และองค์กรของรัฐในท้องถิ่นด้วยว่ามีหน้าที่อย่างไรในการจัดการขยะเหล่านั้น