แผนวัคซีนบริจาค 'ไฟเซอร์' เล็งฉีดบูสเตอร์โดสเข็ม 3 ให้หมอ

แผนวัคซีนบริจาค 'ไฟเซอร์'  เล็งฉีดบูสเตอร์โดสเข็ม 3 ให้หมอ

ศบค.เปิดแผนวัคซีนบริจาค 'ไฟเซอร์' และ'แอสตร้าเซนเนก้า' เตรียมฉีดบูสเตอร์โดส 'ไฟเซอร์'เข็มที่ 3 ให้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมย้ำมาตรการสธ.เร่ง'ฉีดวัคซีนโควิด 19' แก่กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มเรื้อรัง

หลังจากที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้นจนทะลุเกือบหมื่นราย วันนี้ (9 ก.ค.2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ครั้งที่ 9/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) เพื่อพิจารณายกระดับมาตรการ ล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19

โดยล่าสุด เวลา 16.00 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19  พร้อมแผนบริหารจัดการ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในแต่ละประเทศ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 จำนวนมาก ทำให้หลายประเทศมีมาตรการล็อกดาวน์ อาทิ  เวียดนาม ที่มีการล็อกดาวน์ ในพื้นที่โฮจิมิน เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.นี้ หรือ ไต้หวันที่จะจ่อล็อกดาวน์ในเร็วๆ นี้

  • แบ่งโซน 'พื้นที่ควบคุม'การแพร่ระบาดโควิด 19 ในประเทศ

ดังนั้น จากทิศทางของโลก ประเทศเพื่อนบ้านที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากขึ้น และในประเทศไทย มี ผู้ติดเชื้อรายใหม่  9,276 ราย และมีผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ใส่เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และการเดินทางกลับภูมิลำเนาของพี่น้องประชาชน

ทำให้รัฐบาล ได้มีการปรับเปลี่ยนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด 19  ซึ่งจะมีการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี สัปดาห์หน้า  ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนมาตรการดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการปฎิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงให้สามารถบูรณาการความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุข และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประชาชน

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า สำหรับมติที่ประชุม ศบค.นั้น ได้มีการเห็นชอบการปรับพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้

พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ได้แก่  กทม. นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา

พื้นที่ควบคุมสูงสุด 21 จังหวัด ได้แก่  กระบี่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตาก นครนายก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี  พระนครศรีอยุธยา  เพชรบุรี ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณ์บุรี อ่างทองและอุทัยธานี

พื้นที่ควบคุม 25 จังหวัด ได้แก่  กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยภูมิ ชุมพร ตรัง ตราด บุรีรัมย์ พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ  สตูล สระแก้ว สุโขทัย สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี

พื้นที่เฝ้าระวังจังหวัดสูงสุด 18 จังหวัด  ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ นครพนม น่าน บึงกาฬ พะเยา พังงา แพร่ ภูเก็ต มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ลำปาง ลำพูน สกลนคร หนองคาย อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์

  • ย้ำ 'เคอร์ฟิว' พื้นที่กทม.และปริมณฑล ห้ามออกจากบ้าน 3 ทุ่มถึงตี 4 

ทั้งนี้ สำหรับการปฎิบัติในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีดังนี้

 1.จำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด (เฉพาะพื้นที่เฉพาะกทม.และปริมณฑล 5 จังหวัด) คือ 

ขอให้มีการทำงานที่บ้าน หรือ Work from home ให้มากที่สุด  

ระบบขนส่งสาธารณะ ปิดให้บริการได้ในห้วงเวลา 21.00 ถึง 03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00 ถึง 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน ทั้งนี้เปิดได้ถึง 20.00น.

ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารและสุราในร้าน โดยเปิดให้บริการได้ถึง 20.00 น.

ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น นวดเพื่อสุขภาพ สปา และสถานเสริมความงาม

สวนสาธารณะ เปิดได้ถึง 20.00 น.

ห้ามการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกันของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

2.ห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็นและห้ามออกนอกเคหะสถานระหว่างเวลา 21.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

3.ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง

4.กำกับดูแลให้ประชาชนปฎิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล

5.ให้เริ่มดำเนินการตามข้อ 1-4 ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.2564 เป็นต้นไป

6.ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตั้งจุดตรวจ และชุดลาดตระเวน ให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.เวลา 06.00 เป็นต้นไป  

  • ตั้งเป้า'ล็อกดาวน์' เร่ง'ฉีดวัคซีนโควิด 19'แก่กลุ่มสูงอายุ-โรคเรื้อรัง ครบ 1 ล้านคน

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้มีการเพิ่มโอกาสเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ  รวมถึงเร่งรัดนำระบบการแยกกักแบบการแยกกักที่บ้าน และการแยกกันในชุมชน รวมทั้งการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลัก ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร เป้นต้น และเร่งรัดการจัดตั้ง ICU สนาม รพ.สนาม รวมถึงรพ.สนามชุมชน  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาล

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นจะมีการปรับแผนการ ฉีดวัคซีนโควิด แก่กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ในพื้นที่ระบาดรุนแรง เนื่องจากขณะนี้ผู้เสียชีวิตมากกว่า ร้อยละ 75 เป็นผู้สูงอายุ 60ปีขึ้นไป จะมีการระดมสรรพกำลังฉีดวัคซีนผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคในพื้นที่ระบาดรุนแรง ตั้งเป้าฉีดวัคซีนแก่ผู้สูงอายุมากกว่า 60ปีขึ้นไป จำนวน 1 ล้านคน ภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมวัคซีนกลุ่มนี้เป็น 85% และจะมีการสำรองวัคซีนบางส่วนเพื่อใช้ควบคุมการระบาดในกทม. และจังหวัดปริมณฑล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เช็คข้อเสนอ 'ล็อกดาวน์' กทม.-ปริมณฑล 14 วัน Work From Home 100%

                     ผ่า! 10 สัญญาณ 'ประยุทธ์' สู่ 'ล็อกดาวน์' กรุงเทพฯ-ปริมณฑล

                    'ศบค.' เคาะ 'ล็อกดาวน์' 14 วัน นายกฯ ประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน

  • แผนการจัดสรรวัคซีน 'ไฟเซอร์'และ 'แอสตร้าเซนเนก้า'

นอกจากนั้น มีข้อเสนอแนวทางบริหารจัดการวัคซีนบริจาคจากต่างประเทศ วัคซีนไฟเซอร์  1.5 ล้านโดส และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1.05 ล้านโดส นั้น

วัคซีนไฟเซอร์ จะมุ่งเน้นให้บุคลากรทางการแพทย์ด้านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 (ฉีดเป็นBooster dose จำนวน 1 เข็ม) ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรือรั้ง และผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียนนักศึกษา นักกีฬา นักการทูต

โดยจะเป็นการกระจาย สำหรับฉีด 2 เข็ม ห่าง 3 สัปดาห์ (ยกเว้นบุคลากรทางการแพทย์ด้านหน้า ฉีดเป็นBooster dose จำนวน 1 เข็ม) แบ่งเป็น สัญชาติไทย 1,350,000 โดส และต่างชาติ 150,000 โดส

พื้นที่เป้าหมาย คือ กทม. และพื้นที่ระบาดท่องเที่ยว อย่าง สมุทรสาคร ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา (มีการระบาดสายพันธุ์เบต้า)

ส่วน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะฉีดให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนก่อนเดินทาง

สำหรับ ฉีดเป็นเข็มที่ 1 สัญชาติไทย 945,000 โดส และต่างชาติ 105,000 โดส

พื้นที่เป้าหมาย คือ กทม. สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และภูเก็ต

การปฎิบัติในจังหวัดอื่นๆ  จะเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รับรับผิดชอบในกการกำหนดมาตรการอย่างเข้มงวดให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป รวมถึงให้นำมาตรการควบคุมบูรณาการสำหรับพื้นที่ระดับสถานการณ์และข้อห้าม ข้อปฎิบัติมาใช้บังคับ

“สำหรับการเปิดปิดสถานที่ต่างๆ นั้น  ขอย้ำว่า ในแง่ขอการจำกัดให้ยกเว้นออกนอกเคหะสถานของพี่น้องประชาชนในพื้นที่กทม.และปริมณฑลนั้น จะเป็นระยะเวลา 3 ทุ่ม ถึงตี 4  ดังนั้น การจำกัดการบริการขนส่งสาธารณะ เป็นมาตรการ ให้ปิดบริการตั้งแต่ 3 ทุ่ม ถึง ตี 4 หรือที่ทุกคนเข้าใจว่าเป็นเคอร์ฟิว ส่วนคำว่าล็อกดาวน์นั้น เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน และล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด  โดยเฉพาะในกทม.และปริมณฑล 6 จังหวัด” พญ.อภิสมัย กล่าว