'ซิงค์ออกไซด์นาโน' ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

'ซิงค์ออกไซด์นาโน' ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

'โรคพืช' เป็นอีกหนึ่งปัญหาของเกษตรกร การใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกัน มีเพียง 0.1% เท่านั้นที่ตรงแก้ปัญหา อีก 99% ปนเปื้อนสู่ดิน จึงมีการศึกษา 'ซิงค์ออกไซด์นาโน' เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกร ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ภาคการเกษตร เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เป็นสาเหตุให้เกิดเกิดภาวะโลกร้อน ทั้งเป็นแหล่งปล่อย ก๊าซเรือนกระจก และเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนในพืชและดิน ผ่านกิจกรรมการเกษตรต่างๆ เช่น การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ การปรับปรุงดินโดยใช้วัสดุอินทรีย์ หรือวัสดุที่มีคาร์บอนสูง โดยเฉพาะการเผาเศษซากพืชในพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลต่อการเกิดก๊าซเรือนกระจก

และอีกด้านหนึ่ง เกษตรกรเอง ก็ต้องเจอปัญหาในการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิตสูงและผลผลิตมีราคาไม่แน่นอน ปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรม ปัญหาขาดที่ดินทำกินและปัญหาการใช้ที่ดิน การขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีในแปลงเกษตร และการถูกเอารัดเอาเปรียบและผูกขาดในภาคเกษตร

เมื่อต้องเจอกับหลายปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ และ โรคพืช หนึ่งทางออก คือ การใช้สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ซึ่งผลิตขึ้นเพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ สามารถลดประชากรของศัตรูพืชได้อย่างรวดเร็ว แต่การใช้สารกำจัดศัตรูพืชมีเพียงร้อยละ 0.1 ที่จะไปถึงเป้าหมาย แต่อีกร้อยละ 99.9 จะปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทางดินและน้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และห่วงโซ่อาหาร

162635831742

 

  • 'ซิงค์ออกไซด์นาโน' ทางเลือกเกษตรกร

สารเคมีที่ตกค้างในดินเป็นระยะเวลานาน ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรน้อยลง จนท้ายที่สุดอาจไม่สามารถจะทำการเกษตรกรรมได้ และอีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อน้ำเกิดเป็นมลพิษทางน้ำ เป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำเสื่อมโทรมจนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้อีก และสุดท้ายก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของเกษตรกร ชุมชนอีกทั้งผู้บริโภคผลผลิตทางเกษตรอีกด้วย

“ซิงค์ออกไซด์นาโน” จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่เข้ามาช่วยให้เกษตรกรสามารถต่อสู้กับ โรคพืช โดยที่ผ่านมา “โครงการยกระดับความสัมพันธ์กับเกษตรกรรอบเขตประกอบการไออาร์พีซีโดยใช้ผลิตภัณฑ์นาโนอย่างยั่งยืน” โดย บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้ทำการวิจัย “ซิงค์ออกไซด์นาโน” ซึ่งพบว่ามีผลดีต่อสภาพแวดล้อม มีการนิยมใช้ในการบำบัดสิ่งแวดล้อม อย่างหลากหลาย เนื่องจากมีคุณสมบัติในด้านการดูดซับแสง และสมบัติด้านการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงได้ดี

 

  • ลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้เกษตรกร 

ทั้งนี้ มีการทดลองใช้กับเกษตรกร 4 ตำบล รอบโรงงานไออาร์พีซี ได้แก่ ตะพง นาตาขวัญ บ้านแลง และตาขัน จ.ระยอง โดยมีการสำรวจ พบว่า เกษตรกรต้องเจอปัญหาเชื้อราในพืชผล ทำให้ใบร่วง ต้นแห้ง รากเน่าโคนเน่า และยืนต้นตายในที่สุด หลังจากนำซิงค์ออกไซด์นาโน มาใช้ในพืชผลเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง พบว่า พืชผลมีความสมบูรณ์ แข็งแรง และมีผลผลิตเพิ่มขึ้นสูงสุดกว่า 30% สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร 691,000 บาทต่อปี ลดค่าใช้จ่ายซื้อสารเคมี ยากำจัดเชื้อรา 580,000 บาทต่อปี และเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ลดการสะสมของสารเคมีที่ ดิน น้ำ และอากาศ

อย่างไรก็ตาม ซิงค์ออกไซด์ เนื่องจากมีการใช้ในปริมาณที่น้อยมากจึงไม่ส่งผลทำให้เกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ ไม่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งได้มีการส่งทดสอบจากหน่วยงานภายนอก ผลออกมาว่า ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และไม่มีตกค้างในสิ่งแวดล้อม มีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีความเป็นพิษต่อร่างกาย นอกจากฆ่าแบคทีเรียแล้วยังช่วยป้องกันและยับยั้งการแบ่งเซลล์ของแบคทีเรีย