นาง(ร้าย) ... โวยวายทะลุจอแก้ว แล้วมาพาลต่อบนละครเวที

นาง(ร้าย) ... โวยวายทะลุจอแก้ว แล้วมาพาลต่อบนละครเวที

ละครเวทีกึ่งสารคดีชื่อ ‘นาง(ร้าย)’ ที่จะมาสะท้อนมุมมองของเหล่า ‘นักแสดง’ ที่ต้องรับมือกับบท ‘นางร้าย’  ซึ่งพวกเธอจะได้ระบายความรู้สึกจริง ๆ บนเวที

ละครโทรทัศน์เรื่องไหน หากไม่มีบทบาทของ ‘นางร้าย’ แล้วไซร้ ก็ยากที่จะได้รับความนิยมจากผู้ชม  เมื่อเหล่า ‘นางนาง’ จอมแสบสายพันธุ์นี้นี่แหละ ที่ได้กลายเป็นสีสันชูรสชูโรง สร้างอารมณ์ร่วมให้คนดูจนไม่สามารถทนอยู่เฉยได้ และต้องขอด่าบริภาษความหน้าด้านของเหล่า ‘นางนาง’ ที่ไม่เคยรู้จักมรรยาทหรือความเกรงใจ คอยสร้างแต่ปัญหาและอุปสรรคให้เรื่องราวไม่อาจลงเอยได้ร่ำไป จนใคร ๆ ต่างก็เกลียดก็ชังกันทั่วบ้านทั่วเมือง

ตัวละคร ‘นางร้าย’ จึงเป็นตำนานที่อยู่คู่กับวงการละครโทรทัศน์ไทยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และมักจะมีภาพพิมพ์เป็นผู้หญิงกล้าเสียงดังโวยวาย ถูกสปอยล์จนเอาแต่ใจ และมักเข้าใจผิดว่าพระเอกหลงรักนางอย่างจริงจังเสมอ  และเมื่อพบเจอตัวละครฝ่ายดีคราวใด ก็ไม่วายที่จะต้องมีเรื่องให้ทึ้งผมจิกตบสยบปากคำจนกลิ้งถลำไปกองกับพื้นกับดิน สวมวิญญาณเทพีแห่งความก้าวร้าว สามหาวกับทุกคนจนไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์ หน้าพรหมที่ไหน

ล่าสุดผู้กำกับละครเวทีสองหนุ่ม วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล หรือ พิชชี่ นักแสดงนำจากภาพยนตร์เรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ ที่หันมาทำละครเวที และ วิชย อาทมาท ผู้เคยมีผลงานละครสองเรื่องคว้ารางวัลละครพูดยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงติดต่อกันสองปีซ้อน เมื่อ พ.ศ. 2557-2558  ก็ได้จับมือกัน เชื้อเชิญนักแสดงหญิงผู้เจนจัดในการรับบท ‘นางร้าย’ ในละครโทรทัศน์ชื่อดังสามรุ่นสามราย คือ บุ๋ม-รัญญา ศิยานนท์  นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา และ ก้อย-อรัชพร โภคินภากร มาร่วมสำรวจปรากฏการณ์ ‘นางร้าย’ จากจอแก้ว ผ่านรูปแบบการนำเสนอของละครเวทีกึ่งสารคดีชื่อ ‘นาง(ร้าย)’ ที่จะมาสะท้อนมุมมองของเหล่า ‘นักแสดง’ ที่จะต้องรับมือกับบท ‘นางร้าย’  สร้างความหมายหลายมุมด้านในเชิงวิชาชีพและการทำงานที่พวกเธอจะได้ระบายออกมาจากปากให้พวกเราได้ฟังกันจริง ๆ บนเวทีละคร ณ ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแสงอรุณ ซึ่งเพิ่งกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง หลังจากปิดบริการไปยาวนานกว่า 10 ปี

  2019-02-21 11.56.44 1

..ละครเรื่อง ‘นาง(ร้าย)’ เปิดฉากด้วยการให้นักแสดงหญิงทั้งสามรายสลับกันเข้ามาแสดงบทบาทนางร้ายพิมพ์นิยมที่พวกเธอเคยได้รับ 

ด้วยลักษณะการแสดงที่ไม่ต่างไปจากสิ่งที่เรามักจะได้พบได้เห็นกันในจอแก้ว ทั้งยังมีกล้อง 1 กล้อง 2 ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ด้วยการยิงภาพบนฉากหลังพร้อม ๆ กันทันทีทันใด ขยายอารมณ์ทั้งหมดทั้งหลายให้ยิ่งใหญ่ไปถึงเพดานสตูดิโอ ซึ่งการแสดงส่วนนี้นี่เองที่กระตุ้นให้ผู้ชมได้ทบทวนถึง ‘ขนบ’ พิเศษอันเป็นเอกลักษณ์บางประการของละครโทรทัศน์ ที่อาจไม่สามารถพบเห็นได้จากมหรสพประเภทอื่นไหนหรือแม้แต่จากประเทศใด ๆ  ทั้งความกราดเกรี้ยว การสาดใส่อารมณ์ ที่นักแสดงหญิงทั้งสามต้องระบายความเคียดแค้นภายในออกมาด้วยการแสดงแบบเล่นใหญ่ ในขณะที่ต้องทำให้อารมณ์อันเยอะล้นฟูมฟายเหล่านั้นยังมีความชอกช้ำที่ดูจริงได้มากที่สุด

ความแพรวพราวด้านการแสดงของนักแสดงหญิงทั้งสามในช่วงนี้ทำให้ผู้ชมรู้สึกได้เลยว่าการเล่นบท ‘นางร้าย’ ให้ได้ดีจริง ๆ มิใช่เรื่องง่าย และพวกเธอจะต้องจัดการภาวะทางจิตวิทยาของตัวละครได้อย่างเข้าอกเข้าใจ จึงจะสามารถส่งเสียงหัวเราะกรี๊ดออกมาได้ด้วยความสาแก่ใจ หรือเจ็บปวดเจียนตายโดยไม่รู้สึกตอแหล!

หลังจากฉากนี้ นักแสดงทั้งสามก็หลบไปแต่งตัวใหม่หลังฉากเวที โดยมีกล้องอีกตัวติดซ่อนไว้ส่งสัญญาณภาพสมมาตรข้างกระจกแต่งหน้ามาให้ผู้ชมทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงที่พวกนางกำลังเตรียมตัว ช่วงสั้น ๆ ที่นำเสนอคล้ายสารคดีแอบถ่ายนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ชมได้เห็นเสี้ยวหนึ่งของตัวตนจริงของนักแสดงทั้งสามราย ว่าพวกเธอเจ๊าะแจ๊ะพูดคุยกันเองด้วยน้ำเสียงท่าทีแบบใด มีอุดมการณ์และเทคนิคด้านการแสดงเป็นแบบไหน และแอบซุบซิบนินทาผู้กำกับตัวเองว่าอย่างไร แม้ว่าสุดท้ายแล้วคนดูก็ยังรู้สึกได้ว่าทั้งหมดเป็นเพียงการจัดฉาก หลังจากแต่งตัวเสร็จทั้งสามนางก็ออกมาแสดงภาพยนตร์คาวบอยเสียงพากย์หน้าฉาก ฝากฝีมือการเล่นใหญ่ในอีกหนึ่งขนบการแสดงที่แตกต่างไป

2019-02-21 11.56.48 2

DSC09045

ส่วนที่น่าสนใจอีกช่วงของการแสดงคือการจำลองฉากรายการโทรทัศน์ Talk Show Variety โดยมีหนึ่งในนักแสดงทำหน้าที่เป็นพิธีกร แขกรับเชิญ และแขกเซอร์ไพรส์  ช่วงนี้เองที่ทั้งสามนางจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการแสดงอีกครั้งสู่โหมดเรียลแบบสมจริง นำเสนอบุคลิกดาราหญิงคนของประชาชนแสนดีที่แอบซ่อนความร้ายหรือเอาแต่ใจ ไล่สลับไปมาระหว่างช่วงที่กล้องกำลังเดินและช่วงที่ผู้กำกับสั่ง ‘คัท!’ จัดฉากให้เห็นการเป็น ‘นางร้าย’ ในโลกความเป็นจริงของนักแสดงหญิงผู้ทิ้งความอิสระในพื้นที่ส่วนตัว แล้วแสร้งยิ้มหัวแสดงมิตรภาพปลอม ๆ ใส่กัน ทั้ง ๆ ที่ภายในนั้นกลับเต็มไปด้วยความขุ่นมัว แสดงให้เห็นตัวตนความเป็นมนุษย์และการเป็นนางร้ายนอกจอที่ไม่มีใครสักคนได้ชื่อว่าเป็น ‘นางเอก’

ละครปิดท้ายด้วยส่วน monologue พูดเดี่ยว ให้ตัวแทนนักแสดงหนึ่งรายมานั่งหันหลังให้คนดูเผชิญหน้าสู้กล้องที่กำลังถ่ายทอด แล้วปล่อยให้เธอพลอดระบายเรื่องราวชีวิตส่วนตัวกับอาชีพการเป็นนักแสดงว่าพวกเธอต้องพบเจออะไรบ้างอย่างจริงใจและเป็นกันเอง คล้ายกำลังตอบคำถามที่ไร้เสียงปุจฉา ซึ่งก็เป็นช่วงตอนที่มีความคล้ายละครเล่นเดี่ยวเรื่อง ‘นาง...’ ที่ผู้กำกับ วิชย อาทมาท เคยชิมลางเชิญให้นักแสดงหญิงทั้งสามนี้ผลัดกันมาเล่าเรื่องราวชีวิตการเป็นนักแสดงของตัวเองในเทศกาลละครกรุงเทพฯ เมื่อปีกลาย ซึ่งก็น่าเสียดายที่ช่วงตอนของการแสดงที่เราจะมีโอกาสทำความรู้จักนักแสดงมากที่สุดดำเนินไปอย่างสั้นกระชับและจำกัด หนำซ้ำเรายังมีโอกาสได้ฟังปากคำจากนักแสดงเพียงรายเดียวต่อวัน  เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่ชอบทดลองอะไรใหม่ ๆ แล้ว วิชญ์วิสิฐ และ วิชย ย่อมไม่ยอมให้การแสดงแต่ละรอบออกมาเป็นพิมพ์เดียวกัน จึงได้จัดการสลับบทบาทวางตัวนักแสดงหญิงทั้งสามให้ทำหน้าที่แตกต่างกันไปในการแสดงทั้งเก้ารอบ จนผู้ชมจะต้องไปลุ้นเอาเองว่าจะได้เห็นนักแสดงรายไหนรับบทบาทใดในแต่ละวัน!

DSC09190

การยกเอาเรื่องราวชีวิตทั้งในจอและนอกจอของเหล่า ‘นางร้าย’ ทั้งสามมาให้เห็นกันแบบตัวเป็น ๆ บนละครเวที จึงมีนัยยะที่ต้องการถอยห่างเพื่อสำรวจปรากฏการณ์ตัวละครสุดแสบเหล่านี้ในแวดวงละครจอแก้วของไทยที่วางขนบเอาไว้จนกลายเป็นสถาบัน ซึ่งคนละครไม่ว่าจะรุ่นไหนก็ยังต้องยึดมั่นถือมั่นดำเนินตาม ความจริงอันนี้ย่อมสะท้อนกลับว่า ในฐานะคนดูชาวไทย เหตุใดเราจึงนิยมชมชอบอะไร ๆ เช่นนี้ มันมีภาพสะท้อนที่บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับความเป็นไทย ในขณะที่ละครของชาติอื่น ๆ เราจะแทบไม่เห็นการกรีดร้อง โหวกเหวก ฟูมฟาย และเล่นใหญ่กันถึงเบอร์นี้เลย

ละครเวที นาง(ร้าย) Siamese Femme Fatales ยังเหลือรอบจัดแสดงในวันที่ 8-10 มีนาคม 2562 (วันศุกร์และเสาร์ รอบ 20.00 น. วันอาทิตย์ รอบ 16.00 น.) ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแสงอรุณ ชั้น 6 อาคารแปลนเนรมิต สาทรซอย 10 (BTS สถานีช่องนนทรี) ราคาบัตรเริ่มต้นที่ 650-1,000 บาท จองบัตรได้ที่ www.ticketmelon.com/apropos/nangrai