ส่องจุดยืนที่เปลี่ยนไปต่อ 'COVAX' ทำไม 'ไทย' ไม่เข้าร่วมตั้งแต่แรก
ย้อนดูจุดยืนที่เปลี่ยนไปของ "ไทย" ต่อโครงการ "COVAX" ทำไมรัฐบาลถึงไม่ตัดสินใจเข้าร่วมตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะที่สถานการณ์การระบาดในปัจจุบันรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนมีผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งกว่าหมื่นรายติดต่อกันเกือบสัปดาห์แล้ว
ประเด็นการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ทำให้เกิดคำถามในสังคมเป็นวงกว้างว่า ไทยตกขบวนรับวัคซีนฟรีจากโครงการ COVAX หรือไม่
หลายเดือนก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยตั้งแต่ระดับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงมาถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และบรรดาเจ้าหน้าที่ในสังกัด สธ.ที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงสารพัดเหตุผลที่ประเทศไทยไม่เข้าร่วมโครงการ "COVAX" (โคแวกซ์) อย่างเป็นทางการมาโดยตลอด แต่สุดท้าย รัฐบาลก็ปรับท่าทีตอบรับมากขึ้น เพราะปัจจุบันยังไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอต่อสถานการณ์
วันที่ 21 ก.ค. 64 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงว่า ขณะนี้ สถาบันฯ ได้เริ่มประสานงานขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับโครงการโคแวกซ์ เพื่อการได้รับวัคซีนของปี 2565 พร้อมกล่าวขออภัยประชาชนที่จัดหาวัคซีนโควิดไม่ทันต่อสถานการณ์
"ประเทศไทยยังอยู่ในการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ เพียงแต่ยังไม่ได้มีการลงนามในการจัดหาวัคซีนร่วมกันผ่านโครงการโคแวกซ์ ส่วนนี้สถาบันได้เริ่มเจรจาและส่งข้อความประสานงานไปยังองค์กรกาวี ในการที่จะขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับโครงการโคแวกซ์มีเป้าหมายของการได้รับวัคซีนของปี 2565 เพิ่มเติมจากการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนลำพัง จะดำเนินการผ่านโครงการโคแวกซ์ และเมื่อได้ข้อสรุปเบื้องต้นชัดเจนก็นำเสนอผ่านคณะกรรมการ คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง" นพ.นคร ระบุ
'COVAX' คืออะไร
ทั้งนี้ โครงการ "โคแวกซ์" หรือ COVAX (Covid-19 Vaccines Global Access Facility หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก) เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI), องค์กรกาวี (Gavi, the Vaccine Alliance) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน
ขณะเดียวกัน โครงการโคแวกซ์ ซึ่งมีเป้าหมายจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึงทั่วโลก เริ่มดำเนินการจัดส่งวัคซีนให้ประเทศที่เข้าร่วมตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และถ้าเฉพาะในส่วนประเทศสมาชิกอาเซียน โครงการนี้ได้ส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ให้อาเซียนแล้วเป็นจำนวนประมาณ 33 ล้านโดส แต่ในจำนวนนี้ ไม่มีประเทศไทยร่วมด้วย
ไทม์ไลน์คู่ขนาน? 'ไทย' กับ 'COVAX'
หากนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 ที่นายอนุทิน เคยกล่าวว่า ได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ COVAX แต่หลังจากนั้นมา กลับไม่เห็นความคืบหน้าเพิ่มเติม อีกทั้งเจ้าหน้าที่หลายคนยังออกมาอ้างเหตุผลที่ประเทศไทย "ไม่ควรเข้าร่วม COVAX" ด้วยข้อเสียเปรียบต่าง ๆ นานา โดยไทมไลน์ด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึงคำพูดชี้แจงที่ผ่านมาของรัฐบาลที่มีต่อโครงการ COVAX
- ตอนนั้น -
๐ 19 ต.ค. 63
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข : ไทยส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมโคแวกซ์
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ : การสั่งจองวัคซีนกับโคแวกซ์น่าจะทำให้ไทยได้รับวัคซีน 20% จากเป้าหมายการจัดหาให้ได้ 50% ของประชากรทั้งประเทศ
๐ 24 ม.ค. 64
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค : ไทยจัดอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง จึงไม่ได้สิทธิ์รับวัคซีนฟรี // ไทยต้องนำเงินไปร่วมลงขันกับโคแวกซ์ในการจัดหาวัคซีน ขณะที่ตอนนั้นการพัฒนาวัคซีนยังมีความคืบหน้าไม่มาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะเอางบประมาณไปลงตรงนั้น
๐ 6 ก.พ. 64
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ : เหตุไม่เข้าร่วมโคแวกซ์เพราะไทยมีรายได้ปานกลาง หากร่วมเสี่ยงได้วัคซีนช้า ราคาสูงและต่อรองไม่ได้
๐ 14 ก.พ. 64
อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี : การที่ไทยทำข้อตกลงซื้อวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตโดยตรง เป็นทางเลือกที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นกว่า สามารถต่อรองราคาและเงื่อนไขได้โดยตรงกับผู้ผลิต
๐ 3 มิ.ย. 64
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี : เหตุผลที่รัฐบาลไทยไม่เข้าโคแวกซ์ เพราะไม่ได้อยู่ในเกณฑ์รับวัคซีนฟรี หากไทยเข้าร่วมจะจ่ายค่าวัคซีนแพง และไม่สามารถเลือกยี่ห้อได้ รวมถึงต้องจ่ายเงินล่วงหน้า
- ตอนนี้ -
๐ 21 ก.ค. 64
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงว่า ไทยยังอยู่ในการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ เพียงแต่ยังไม่ได้มีการลงนาม และขณะนี้ สถาบันฯได้เริ่มประสานงานขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับโครงการโคแวกซ์ เพื่อการได้รับวัคซีนของปี 2565
จะเห็นได้ว่า หากนับจากจุดยืนเริ่มต้นของนายอนุทินเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 63 จนมาถึงท่าทีล่าสุดที่ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติประกาศจะเจรจาเข้าร่วม COVAX อย่างจริงจังเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 64 เว้นช่วงห่างกันนานถึง 9 เดือน
ทำไมถึงรอนานขนาดนั้น?
กรณีนี้ รัฐบาลไทยยืนยันตั้งแต่ช่วงต้นปีว่า ไทยไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่เข้าร่วมโครงการนี้ ตามที่ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน รมว.สาธารณสุข ระบุว่า ไทยได้เจรจากับโคแวกซ์มาตลอด แต่ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับวัคซีนฟรี เนื่องจาก COVAX ให้สิทธิแก่ประเทศยากจนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และพันธมิตรวัคซีนกาวี (Gavi) ให้การสนับสนุนจำนวน 92 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศฐานะปานกลางค่อนข้างสูง หากจะร่วมกับโครงการนี้ ไทยต้องซื้อราคาแพงกว่าและไม่สามารถเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดได้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอน ทั้งชนิด จำนวน และราคา รวมทั้งต้องจ่ายเงินล่วงหน้า
สรุปคือ เหตุผลที่ 'ไทย' ไม่ร่วม 'COVAX' ในช่วงแรก มีดังนี้
- มีค่าธรรมเนียมดำเนินการ
- ต้องจ่ายเงินจองล่วงหน้า โดยไม่ทราบแหล่งที่มาผู้ผลิตและวันเวลาได้รับวัคซีน
- ไม่มีอิสระในการเลือกวัคซีน
- ต้องซื้อวัคซีนตามราคาจริงของผู้ผลิต ไม่มีอำนาจต่อรอง
- ค่าใช้จ่ายต่อครั้งอาจมากกว่าที่ระบุ เช่น ค่าขนส่ง ค่าขึ้นทะเบียน ภาษี
ต่อมา (ณ 21 ก.ค. 64) รัฐบาลปรับท่าทีเป็นตอบรับมากขึ้น โดยเหตุผลสำคัญที่ 'ไทย' เปลี่ยนใจร่วม 'COVAX' มีดังนี้
- การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ทำให้ระบาดเร็วและรุนแรงกว่าในปีที่แล้ว
- การจัดหาและกระจายวัคซีนในปัจจุบัน ไม่ทันกับสถานการณ์
- เพิ่มช่องทางในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 นอกเหนือจากเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนฝ่ายเดียว
สำหรับเงื่อนไขการซื้อวัคซีนผ่าน 'COVAX' มี 2 ทางเลือก
1. จองแบบเลือกผู้ผลิตไม่ได้ มีค่าธรรมเนียม 1.6 ดอลลาร์/โดส
2. จองแบบเลือกผู้ผลิตได้ มีค่าจอง 3.5 ดอลลาร์/โดส (รวมค่าธรรมเนียม 1.6 ดอลลาร์/โดส และค่าประกันความเสี่ยง 0.4 ดอลลาร์/โดส)
ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทยได้เข้าร่วม COVAX แล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้เข้าร่วมอย่างเร็วที่สุดภายในปี 2565 ก็จะต้องตัดสินใจจัดซื้อวัคซีนอย่างรอบคอบ ตามเงื่อนไขที่โครงการฯ กำหนดไว้
อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะไม่ได้เข้าเป็นโครงการแบ่งปันวัคซีน COVAX แต่ได้ร่วมบริจาคให้องค์การอนามัยโลกแล้ว 2 ครั้งเป็นจำนวน 200,000 ดอลลาร์ เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือกับ COVAX จึงทำให้ไทยสามารถแลกเปลี่ยน จำหน่าย หรือแจกจ่ายวัคซีนที่ไทยผลิตได้เองให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในอนาคตข้างหน้า
หนึ่งในข้อดีของการเข้าร่วม COVAX คือ ประเทศสมาชิกไม่เพียงสามารถเข้าถึงเครือข่ายวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ COVAX ยังสามารถติดตามและตรวจสอบผลจากการฉีดวัคซีน ด้วยการพิจารณาจากหลักวิทยาศาสตร์ รวมถึงประเมินความสามารถในการขยายการผลิต และทำงานร่วมกับผู้ผลิตเพื่อสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาเพิ่มความสามารถในการผลิตวัคซีนด้วย