'ไบโอพลาสติก' จาก 'มันสำปะหลัง' ทางเลือก ทางรอด สิ่งแวดล้อม
'ไบโอพลาสติก' นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในช่วงที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อน และการเพิ่มขึ้นของพลาสติก หนึ่งในวัสดุที่นำมาพัฒนาเป็นสินค้าไบโอพลาสติก คือ 'มันสำปะหลัง' ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรง ย่อยสลาย 100% ภายใน 60 วัน
เทรนด์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือว่าได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก “ไบโอพลาสติก” ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย แม้ในตลาดโลกจะยังมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไป แต่ก็เริ่มเห็นแนวโน้มเติบโตในอนาคต ขณะเดียวกัน ในเรื่องของสุขภาพและสุขอนามัย ก็เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มสำคัญที่คนเริ่มหันมาให้ความสนใจในช่วงโควิด-19
- ตลาด 'ไบโอพลาสติก' แนวโน้มโต
ศูนย์ข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติก คาดการณ์ปี 2564 ประเทศไทยจะมีมูลค่าของอุตสาหกรรมพลาสติกประมาณ 1.043 ล้านล้านบาท เติบโต 3.1% จากปีก่อน มูลค่าตลาดราว 1.01 ล้านล้านบาท โดยไทยจะมีการส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมดประมาณ2.67 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 2.7% ที่มีการส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมดประมาณ 2.53 แสนล้านบาท
ขณะที่ “เม็ดพลาสติกชีวภาพ” หรือ ไบโอพลาสติก (Bioplastic) ที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด คือ เม็ดพลาสติกชนิดพอลิแลคติคแอซิด (PLA) โดยคาดว่า ปี 2564 มูลค่าการส่งออกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 16.6% สร้างรายได้กว่า 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกมูลค่า 2,331 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก
“ไบโอพลาสติก” หรือพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ ช่วยลดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม วัสดุธรรมชาติที่สามารถนำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพมีหลายชนิด เช่น ชานอ้อย แป้ง โปรตีนจากถั่ว และข้าวโพด เป็นต้น โดยเฉพาะแป้งที่สามารถหาได้จากพืชชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง มันเทศ มันสำปะหลัง เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ไบโอพลาสติก” แก้ปัญหาขยะล้นโลก
“โฮ เรน ฮวา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การวิจัยและพัฒนา” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ เนื่องจากทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ได้มีการผลิตและจัดจำหน่ายสู่สากล ไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน และกว่า 32 ประเทศทั่วโลก จึงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการ
มีการ ”จัดตั้งศูนย์วิจัยนวัตกรรมที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนางานด้านการวิจัยเพื่ออาหารสุขภาพ และงานวิจัย และจัดตั้ง“เครือข่ายชาวไร่ไทยวา” รับซื้อวัตถุดิบด้วยราคายุติธรรม ปี 2563 รับซื้อหัวมันสดมากกว่า 120,000 ตัน จากสมาชิกเกษตรกรกว่า 6,000 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของปริมาณหัวมันสดทั้งหมดที่บริษัทฯ ต้องการทั้งปี
“เราทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในตะวันตก เพื่อการพัฒนา Healthy Food เป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค เช่น วุ้นเส้นดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นตัวเลือกให้กับผู้ป่วยเบาหวาน รวมถึงกำลังสนใจกลุ่ม plant based protein โดยนอกจากมันสำปะหลัง ยังมีการวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วยในประเทศไทย เช่น ข้าว ถั่วเขียว ข้าวโพด ในการพัฒนาเป็นโปรตีนทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในอนาคต”
- ไบโอพลาสติก จาก 'มันสำปะหลัง'
ล่าสุด “ไทยวา” มีการวิจัยพัฒนาสินค้า “ไบโอพลาสติก” เพิ่มเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจ โดยใช้แป้งมันเป็นวัตถุดิบ ผ่านกระบวนการสู่ไบโอพลาสติก ด้วยการวิจัยและพัฒนาใช้มันสำปะหลังเข้ามาแทนผลิตเป็นสินค้า เช่น จาน ชาม แต่สามารถย่อยสลายได้ 100% ภายใน 60 วัน
โฮ เรน ฮวา กล่าวต่อไปว่า สำหรับ ไบโอพลาสติก ปัจจุบัน ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้บริโภคไทย อย่างที่เห็นว่า มีการนำชานอ้อยมาทำไบโอพลาสติก แต่สำหรับมันสำปะหลัง ไทยวาน่าจะเป็นเจ้าแรกที่ทำในเชิงพาณิชย์ โดยคุณสมบัติของมันสำปะหลัง สามารถซึมซับความมันได้ดี แข็งแรง และทนความร้อนได้ดี
“แม้ว่าในตอนนี้ไบโอพลาสติก หากเทียบกับพลาสติกทั่วไปอาจจะยังมีราคาที่สูงกว่า แต่การพัฒนานำแป้งมันสำปะหลังมาผลิต จะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งลูกค้าในประเทศก็เริ่มให้ความสนใจ ขณะเดียวกัน ส่วนใหญ่ซึ่งเน้นการส่งออก เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ที่ทางรัฐบาลมีภาษีในการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้มีมูลค่ามากขึ้น โดยคาดว่าจะวางขายได้ปลายปีนี้” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา กล่าว
- สิ่งแวดล้อม สุขภาวะ เทรนด์อนาคต
สำหรับไบโอพลาสติก หากมองถึงส่วนแบ่งในตลาดโลกยังน้อยมาก เทรนด์ที่จะไปในอนาคต ทั้งวิกฤติโลกร้อน รวมถึงเหตุการณ์โควิด-19 ทำให้คนเริ่มมาสนใจเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Friendly) หรือ สุขภาพและสุขอนามัย (Health and Hygiene) มากขึ้น คิดว่าผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก น่าจะจับเทรนด์ผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ ยังมีแผนในการพัฒนาฟิล์มคลุมดิน โดยวิจัยร่วมกับเกษตรกรเครือข่าย เพื่อทดแทนแบบเดิมที่เป็นพลาสติก ซึ่งจะกลายเป็นขยะทางการเกษตรและกว่าจะย่อย
ปัจจุบันบริษัทฯ ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และอาหารจากแป้ง ประเภทวุ้นเส้นก๋วยเตี๋ยว และสาคู แบรนด์ที่คุ้นเคย อาทิ มังกรคู่ หงษ์ และกิเลนคู่ มีเป้าหมายกหาแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืน ช่วยพัฒนาชุมชนที่ให้ชีวิตมีสุขภาพดีขึ้น รวมถึง การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยกระดับคุณภาพชีวิตและนำไปสู่สุขภาพดีขึ้นในอนาคต
"ความยั่งยืนไม่สามารถสร้างได้จากคนเดียวแต่จะต้อง เกิดจากความร่วมมือกันของทุกฝ่ายทั้งในและนอกองค์กร ที่มีส่วนช่วยพัฒนา ให้องค์กรเจริญเติบโตยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนนั้นไม่ใช่เพียง แค่เป้าหมายในระยะยาวเท่านั้น แต่ควรเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจในทุกวัน" โฮ เรน ฮวา”กล่าว