'สอนทักษะเพาะปลูก' สู่ความมั่นคงทางอาหาร ผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19

'สอนทักษะเพาะปลูก' สู่ความมั่นคงทางอาหาร ผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19

สสส. เริ่มโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ผู้ได้รับผลกระทบจาก 'โควิด-19' นำร่องใน 5 จังหวัด 15 พื้นที่ 'สอนทักษะเพาะปลูก' คนตกงาน ปรับพื้นที่ว่างเปล่า สู่ความมั่นคงทางอาหาร 

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบโดยตรงกับประชาชนทั่วประเทศจากข้อมูลแนวโน้มคน 'ตกงาน' ในสถานการณ์วิกฤต ปี 2563 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าวัยทำงานมีแนวโน้มที่จะว่างงาน ร้อยละ 17.9 หรือกว่า 6 ล้านคน ที่สำคัญยังพบว่า คนว่างงานไม่มีทักษะที่ใช้ประกอบอาชีพอื่นได้ในทันที 

  • ป่วยสะสม 1 หมื่น เศรษฐกิจชะงัก

ที่น่าห่วงคือ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด พบจังหวัดทางภาคใต้ติดอันดับถึง 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี และยะลา รวมผู้ป่วยสะสมกว่า 1 หมื่นคน ทำให้เศรษฐกิจภายในพื้นที่ต้องหยุดชะงัก มีคนว่างงานจำนวนมาก ทั้งกลุ่มรับจ้างรายวันที่ถูกเลิกจ้างจากประเทศมาเลเซีย พนักงานโรงแรม โรงงาน ร้านค้า ที่ไม่มีเงินสำรองเลี้ยงชีพทำให้กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน

  • โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ฯ 

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ริเริ่มโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจาก 'โควิด-19' เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ โดยจัดทำโครงการนำร่องใน 5 จังหวัด 15 พื้นที่ ได้แก่ สงขลา 3 พื้นที่ ปัตตานี 3 พื้นที่ ยะลา 3 พื้นที่ นราธิวาส 3 พื้นที่ และสตูล 3 พื้นที่ภายใต้แนวคิด พื้นที่สีเขียวกินได้ โดยปรับพื้นที่ว่างเปล่าให้เปลี่ยนเป็นแปลงเกษตรแหล่งผลิตอาหารของชุมชน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

      

  • 'สอนทักษะเพาะปลูก' คนตกงาน 

พร้อมสอนทักษะอาชีพเพาะปลูกให้คนตกงานได้เข้ามามีส่วนร่วม สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชุมชนในระยะยาวเน้นให้ชุมชนมีแหล่งผลิตอาหารด้วยตัวเองขณะนี้มีคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นแกนนำในโครงการฯ แล้วทั้งสิ้นกว่า 300 คน โดยภายในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะขยายพื้นที่เพื่อกระจายความมั่นคงด้านอาหารไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้

  • ปาดังเบซาร์ ปรับพื้นที่ว่างเปล่า เป็นแหล่งอาหาร

ภาสกร เกื้อสุข ประธานสภาเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลามีผู้ป่วยโควิดสะสมกว่า 1.5 พันคนโดยเฉพาะพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่กว่า 100 คน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการปิดประเทศ ด่านศุลากร ธุรกิจการท่องเที่ยวชายแดน และการขนส่งสินค้าโลจิสติกส์ในพื้นที่ต้องหยุดชะงัก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ แรงงานไทยในประเทศมาเลเซียถูกเลิกจ้าง ตกงาน ขาดรายได้ ทำให้กระทบต่อคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ 16,189 คน 

โดยมีแกนนำชุมชนเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ทั้ง 8 ชุมชน ปรับพื้นที่ว่างเปล่าในสถาบันปอเนาะอัรฉาดียะฮ์ ศูนย์การเรียนรู้ด้านศาสนาและวัฒนธรรมอิสลาม ที่มีพื้นที่กว่า 10 ไร่ ให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร ทำให้คนในพื้นที่ปาดังเบซาร์มีอาหารไว้บริโภคตลอดทั้งปี 

   

 

สถาบันปอเนาะอัรฉาดียะฮ์ ที่มีนักเรียนประจำกว่า 40 คน ต้องหยุดการเรียนการสอนทำให้นักเรียนบางคนที่กำพร้าพ่อแม่ไม่มีที่อยู่ โครงการฯนี้ ทำให้นักเรียนได้กลับมาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีส่วนร่วมกับคนในชุมชนเปลี่ยนสถาบันปอเนาะฯ เป็นแปลงปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ ทั้งผักกาด ผักบุ้ง มะเขือ ฟาร์มเลี้ยงไก่-วัวอีกส่วนนำไปจำหน่ายเป็นเงินหมุนเวียน 200-300 บาททุกสัปดาห์ นักเรียนทำหน้าที่ดูแลฟาร์มเลี้ยงสัตว์ รวม 30 คนช่วยให้กลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงอาหารทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์วิกฤต 

ถือเป็นการเสริมทักษะทำเกษตรปลอดสารพิษเป็นอาชีพและรายได้เลี้ยงชีพในระยะยาวให้กับคนในพื้นที่และเยาวชนเพื่อรับความเสี่ยงว่างงานในอนาคตผู้ที่สนใจติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “เครือข่ายคนสร้างสุข / คนใต้สร้างสุข”