เปิดวิธีเลือกซื้อชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง 'Antigen Test Kit' สำหรับประชาชน
สัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ ชุดตรวจ 'Antigen Test Kit' ที่ประชาชนสามารถตรวจเองที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจ Antigen ซึ่งชุดตรวจมี 2 แบบ คือ สำหรับแพทย์ และประชาชน มีความแตกต่างกันจึงต้องซื้อให้ถูกต้อง
16 ก.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข อนุญาตให้ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kit ตรวจเองที่บ้านได้ แต่ต้องซื้อในร้านจำหน่ายที่ถูกต้อง และเลือกใช้ให้ถูกประเภท ถูกวิธี เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตผลิต นำเข้าชุดตรวจสำหรับ COVID-19 ประเภท Rapid Test แบบตรวจหา Antigen
ประกาศไว้วันที่ 21 ก.ค. 64 สำหรับใช้โดยประชาชนทั่วไป (Home use) จำนวน 8 ยี่ห้อ และรูปแบบการใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น (Professional Use Only) มีจำนวน 32 ยี่ห้อ
ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้ชุดตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง Antigen Test Kit ขายได้เฉพาะสถานพยาบาลของรัฐ รพ.ทั่วไป รพ.เฉพาะทาง คลินิกเวชกรรม คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์หรือสหคลินิกที่จัดให้มีการประกอบวิชาชีพเวชกรมหรือเทคนิคการแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล รวมถึงหน่วยงานของรัฐ เพื่อส่งต่อให้สถานพยาบาลของรัฐ และสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน ที่มีเภสัชกรรมทำหน้าที่ปฏิบัติการ
ว่ากันว่า ขณะนี้ ประชาชนมีความสงสัยในเรื่องของความแตกต่างของชุดตรวจ 2 แบบ คือ ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น (Professional Use Only) และ สำหรับใช้โดยประชาชนทั่วไป (Home use) ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ก้าน Swab แตกต่างกัน
“สมจิตร์ จินาภักดิ์” เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวในงานเสวนา ไขทุกข้อข้องใจในชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเอง SARS-CoV-2 Antigen Self-Test Nasal: Testing in your hands โดยระบุว่า ประสิทธิภาพการรู้ผลเร็วช้าของทั้งสองแบบไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ต่างคือ “Professional Use Only” จะแหย่ลงไปถึงหลังโพรงจมูก บางยี่ห้อไม่ได้เป็นพลาสติก ทำให้งอและหักง่าย ดังนั้น จึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการทำ เพราะเคยเกิดเคสในต่างประเทศ ที่เด็กดิ้นขณะทำการเก็บตัวอย่างทำให้หักและติดค้างในจมูก บุคลากรทางการแพทย์ มีความกังวลใจมากหากประชาชนนำไปใช้ ดังนั้น จึงต้องเร่งให้มีแบบ Self-Test สำหรับประชาชนออกมา
สำหรับ Antigen Test Kit ใช้โดยประชาชนทั่วไป (Home use) ก้านสำหรับเก็บตัวอย่าง จะสั้นกว่า โดยให้แหย่เข้าไปประมาณ 2 - 2.5 เซนติเมตร หรือตามวิธีที่แต่ละยี่ห้อแนะนำ เพื่อลดความอันตราย ให้ใช้ได้ถูกต้องจะปลอดภัย นอกเหนือจากนั้นทั้งสองแบบเหมือนกันหมด วิธีการอ่านค่า ผลช้าเร็ว ไม่ต่างกัน
“แนะนำว่าในขั้นตอนการ Swab เซลล์ที่ได้มาน้อยไปอาจจะไม่เพียงพอ หรือ Swab ไวไป แนะนำว่า ก่อน Swab หากมีน้ำมูกให้สั่งน้ำมูกออกมาก่อน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารคัดหลั่ง และแหย่เข้าไปซ้าย วน 5 ครั้ง และ ขวา วน 5 ครั้ง ให้สัมผัสกับผนังโพรงจมูกด้วย นอกจากนี้ Self-Test หมายถึง ต้องทำด้วยตัวเอง ไม่ควรให้คนอื่นทำให้ เพราะหากเกิดอันตราย อาจเกิดการฟ้องร้องกันได้ ยกเว้นว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์”
- Antigen Test Kit และ RT-PCR แตกต่างกันอย่างไร
ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบกับวิธีการตรวจแบบ RT-PCR ซึ่งมีความไวกว่าเพราะในการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ RT-PCR ถึงแม้จะเจอเชื้อน้อยเพิ่งติดมาก็เจอ ภายใน 1-2 วันหลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อโอกาสเจอสูงกว่า ดังนั้น RT-PCR ความแม่นยำสูงกว่าอยู่ แต่ Antigen เป็นการตรวจโปรตีนของเชื้อ คล้ายเปลือกไวรัส ต้องหลั่งโปรตีนมาอย่างน้อย 3-5 วัน หากรีบตรวจอาจจะไม่เจอ แนะนำให้รอ 3 วัน ค่อยตรวจหากมีอาการความแม่นยำจะยิ่งสูง เวลาเป็นตัวสำคัญ
- หากผลเป็นบวก ต้องทำอย่างไร
สมจิตร์ กล่าวต่อไปว่า หากพบผลเป็นบวก อันดับแรกอย่าเพิ่งตกใจ ต้องย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์ตัวเองว่ามีโอกาสสัมผัสความเสี่ยงหรือเปล่า เพราะมีทั้งบวกปลอม และ ลบปลอม ซึ่งเกิดจากการปนเปื้อนจากมือ และสถานที่ที่ทำไม่สะอาด หรือไวรัสตัวอื่นที่มีความใกล้เคียงกันในอาการ หากดูไทม์ไลน์แล้วไม่มีความเสี่ยง ก็ต้องเช็กว่ามีอาการหรือยัง ทั้งนี้ ขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขในตอนนี้ พยายามผลักดันให้เกิด Home Isolation
ดังนั้น หากตรวจเอง แล้วผลเป็นบวก ไม่มีอาการ สามารถเข้าระบบ Home Isolation แต่หากมีอาการ ไอ เจ็บคอ และต้องรับการรักษา ต้องทำการตรวจ RT-PCR เพื่อคอนเฟิร์มอีกครั้งว่าผลเป็นบวกจริง เพราะหากจะต้องรักษาต้องแน่ใจก่อนว่าติดจริง เพราะต้องกินยาจำนวนมาก และตอนนี้เตียงค่อนข้างมีจำกัด ส่วนคนที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว สามารถตรวจได้เช่นกัน และสามารถตรวจได้ทุกอายุ โดยการตรวจดังกล่าวสามารถตรวจได้กับโควิดทุกสายพันธุ์ แต่หากจะแยกสายพันธุ์ต้องไปตรวจเชิงลึกอีกครั้ง
“ขณะเดียวกัน ได้ยินมาว่าขณะนี้มีขายในตลาดค้าส่ง ซึ่งมีการซื้อต่อไปเพื่อโก่งราคา ขออย่าทำ เพราะบางครั้งเราพบว่า ร้านขายอาหารก็เอาไปขาย ประชาชนลำบาก เข้าถึงยาก และกังวลว่าจะได้ของไม่ดี เก็บไม่ดี และยังโดนโก่งราคาเป็นการซ้ำเติมประชาชน” เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าว
- สังเกต ระบุข้างกล่องก่อนซื้อใช้
ด้าน “พิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด 1 ใน 8 บริษัทที่นำได้รับการอนุญาตจาก อย. ในการจำหน่าย Antigen Test Kit กล่าวว่า Antigen Test Kit สำหรับคนทั่วไป จะสังเกตได้ว่า มีฉลาก อย. ระบุว่า “สำหรับตรวจทดสอบด้วยตัวเอง” จะเป็นตัวชี้วัดอันหนึ่งว่าสามารถตรวจเองได้ และหากแกะกล่องออกมา จะเห็นว่ามีตัวเก็บตัวอย่างตรวจ Swab ชิ้นจะสั้น แข็ง แต่หากสำหรับบุคลากรการแพทย์ จะยาวกว่าและอ่อน สำลีปลายเล็ก เพื่อ Swab หลังโพรงจมูก และระบุว่า “ห้ามขายบุคคลทั่วไป” ขณะที่ น้ำยาตัวทดสอบเหมือนกัน
- 2 ปัจจัย คุณภาพการตรวจ
ขณะเดียวกัน คุณภาพการตรวจขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ คุณภาพของน้ำยา การจัดเก็บ และ คุณภาพของการเก็บตัวอย่างตรวจ ดังนั้น สำคัญมากหากเก็บตัวอย่างไม่ดี ไม่ถูกต้องจะได้ตัวอย่างตรวจที่ด้อยคุณภาพ ส่งให้ผลให้การตรวจผิดพลาดไป ที่แนะนำไป คือ สั่งน้ำมูกก่อนค่อยเก็บทั้งสองข้าง เพราะบริเวรที่เชื้ออยู่เยอะ คือ โพรงจมูกด้านใน
ปัจจุบัน ราคาตลาดน่าจะอยู่ที่ราว 300-340 บาท แนะนำให้ประชาชนซื้อตรงตามช่องทางถูกกฎหมายดีกว่าในเว็บไซต์ สภาพด้านนอกกล่องดีหรือไม่ เก็บในอุณภูมิดีหรือไม่ มีฉลากภาษาไทย คิวอาร์โค้ดซึ่งจะบอกวิธีการใช้อย่างละเอียด มีวันหมดอายุ ส่วนใหญ่จะสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2 – 30 องศา หากนำเข้าแช่ตู้เย็น ก่อนใช้แนะนำให้วางไว้ด้านนอกก่อนสักพัก
“เวลาซื้อควรซื้อยกกล่อง ซึ่งมีอยู่ราว 5 ชุดแล้วแต่ยี่ห้อ เพราะหากมีความเสี่ยง เวลาตรวจก็ต้องรอระยะเวลา เพราะหากตรวจเลยผลเป็นลบ ต้องรอ 3-5 วัน แล้วตรวจใหม่ การใช้ไม่ได้ใช้แค่ครั้งเดียว ไม่ควรซื้อแยก แต่หากไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่มีอาการ ไม่ต้องตรวจ เสียดายเงิน”
“อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จะร่วมกันก้าวข้ามภาวะวิกฤติต้องมีความร่วมมือทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ ให้เข้าถึงการเข้าถึงการตรวจ เพื่อสกัดการแพ่ระบาดให้เร็ววัน เพื่อให้ประเทศเปิดได้ ทุกคนได้ผลประโยชน์มีงานมีการทำ ขอความร่วมมือกระจายในราคาเหมาะสมเข้าถึงง่าย” พิเชษฐพงษ์ กล่าว
- 10 ขั้นตอน 'การตรวจ Antigen ด้วยตัวเอง'
ขั้นตอนในการทดสอบ Antigen ด้วยตัวเอง ได้แก่
1. ทำความสะอาดมือ และความสะอาดพื้นที่ที่จะตรวจ
2. ดูว่าชุดตรวจไม่หมดอายุ สิ่งที่กังวล คือ หากซื้อตามออนไลน์อาจหมดอายุ อันตราย ทำให้ผลตรวจผิดพลาด
3. ตัวเทสต้องไม่มีสี ยังไม่ขึ้นขีด ให้แน่ใจว่ายังไม่ถูกใช้งาน
4. สั่งน้ำมูก เคลียร์ช่องจมูก
5. Swab ซ้ายและขวา วน ข้างละ 5 ครั้ง พยายามให้โดนผนังจมูก
6. ใส่ไม้ที่พันสำลีไว้ในหลอดสารละลาย บีบหลอดให้แน่น เพื่อให้เซลล์ที่ก้านสำลีผสมกับน้ำยาให้มากที่สุด
7. วางแถบตรวจ นำสารละลายมาหยดที่ช่องแถบตรวจน้ำยา (จำนวนหยดแล้วแต่ยี่ห้อแนะนำ)
8. อ่านผลตรวจใน 15 นาที ไม่ควรเกิน 30 นาที
9. หากขึ้นทั้งสองขีดทั้ง T และ C แปลว่าผลเป็นบวก อย่างไรก็ตามตัว C ต้องขึ้นทุกครั้ง หากไม่ขึ้นแสดงว่าชุดตรวจมีปัญหา หรือหากทิ้งไว้นานเกิน 30 นาที บางครั้งจะขึ้นสองขีด ดังนั้น อย่าอ่านเกินเวลา
10. ก่อนทิ้งให้ใส่อุปกรณ์ในซองที่ไม่ใช้แล้ว เติมน้ำยาล้างจาน หรือไฮเตอร์ ปิดให้มิดชิด ทิ้งให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย