ตามรอย ‘ลัมปี สกิน’ โรคระบาดในสัตว์ ที่แพร่ไปถึงสัตว์ป่า
การแพร่ระบาด ‘โควิด 19’ ยังไม่จางหาย โรคระบาดในสัตว์ ‘ลัมปี สกิน’ ก็เกิดขึ้นตามมาในประเทศไทย ระบาดไปแล้วกว่า 50 จังหวัด และอาจระบาดสู่สัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติด้วย
ปลายเดือนมีนาคม 2564 กรมปศุสัตว์ได้รับรายงานว่า พบโคเนื้อแสดงอาการของโรค 'ลัมปี สกิน' ซึ่งแพร่ระบาดครั้งแรกในประเทศไทย ที่อำเภอพนมไพร จ.ร้อยเอ็ด หลังจากนั้นได้มีการแพร่ระบาดกระจายไปเกือบ 50 จังหวัดทั่วประเทศไทย
สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ พบว่าสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน 2564 มีวัวเนื้อ ป่วยสะสม 346,717 ตัว วัวนม 1,705 ตัว วัวเนื้อตายไปแล้ว 14,532 ตัว วัวนม 85 ตัว
ไม่เพียงเท่านั้น วันที่ 20 มิถุนายน 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กร.1 (ป่ายาง) พบซากกระทิงเพศผู้ อายุ 15-20 ปี น้ำหนัก 1,200-1,300 กิโลกรัม นอนตายในลำห้วยบริเวณท้ายบ่อน้ำ 2 พบร่องรอยกระทิงต่อสู้กันเอง จึงเก็บชิ้นเนื้อส่งตรวจห้องปฏิบัติการ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ (วันที่ 12 กรกฎาคม 2564) พบว่า กระทิงติดเชื้อลัมปี สกิน
นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หัวหน้ากลุ่มจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงพื้นที่สอบสวนโรค เล่าถึงสถานการณ์ล่าสุดให้ฟังว่า กรมอุทยานฯ ตั้งรับเรื่องโรคระบาดนี้มานานแล้ว
“เราติดตามสถานการณ์ข้อมูลการระบาดโรค ลัมปี สกิน ของกรมปศุสัตว์ มาตั้งแต่เดือนมีนาคม ทำให้คาดการณ์แนวโน้มที่จะระบาดไปสู่สัตว์ป่าได้ เมื่อกรมปศุสัตว์ทำแผนที่การระบาด ที่เริ่มต้นจากภาคอีสานแล้วกระจายมาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เราก็เอาแผนที่ของกรมอุทยานฯที่มีสัตว์กีบอาศัยอยู่มาเทียบกัน
หลายๆ พื้นที่ที่กรมปศุสัตว์ประกาศให้เป็น พื้นที่สีแดง เช่น จ.เพชรบุรี มีอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีกระทิง และวัวแดง หรือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีกระทิง วัวแดง และช้างอยู่
เราก็ให้ความสำคัญกับพื้นที่อุทยานที่มีสัตว์ป่าให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษควบคู่กันไป เพราะตามแนวขอบป่าของพื้นที่อนุรักษ์จะมีชุมชน เพราะที่ไหนมีชุมชน ที่นั่นจะมีปศุสัตว์
‘ลัมปี สกิน’ เป็นโรคระบาดที่ติดต่อจากการสัมผัส มีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ ถ้าปศุสัตว์นำสัตว์ไปเลี้ยงไว้ในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีสัตว์ป่าอยู่ ก็จะนำโรคติดต่อสู่สัตว์ป่าโดยตรง ขณะเดียวกันสัตว์ป่าที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ถ้าออกมาหากินนอกพื้นที่ป่าหรือใช้พื้นที่ร่วมกับปศุสัตว์ ก็อาจจะติดโรคได้
กระทิงในอุทยานฯ ตายเพราะโรคลัมปี สกิน ?
“เคสนี้เกิดขึ้นวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี พบกระทิงเสียชีวิต สัตวแพทย์ได้ผ่าพิสูจน์ซากวินิจฉัยแล้วพบว่าตายจากการต่อสู้กัน และพบบนผิวหนังมีรอยตุ่มสะเก็ดแผล จึงเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อส่งไปตรวจ
ผลออกมาว่ามีรหัสพันธุกรรมของไวรัส ลัมปี สกิน สรุปว่าการตายคือการต่อสู้ แต่ปัจจัยเสริมที่ทำให้ตายเพราะเป็นโรคลัมปี สกินทำให้ร่างกายอ่อนแอ สู้ไม่ได้เลยถูกแทงตาย
ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 มีกระทิงอีกตัวหนึ่ง ตายจากการต่อสู้เหมือนกัน ตามตัวมีรอยโรคที่น่าสงสัยเป็นลัมปี สกินจึงเก็บตัวอย่างไปส่งตรวจว่าใช่หรือไม่
โดยปกติแล้วกระทิงเวลาสู้กัน จะไม่ถึงกับเอาให้ตาย ตัวไหนแพ้ก็หนีได้ ตัวแรกที่เราพบตาย เพราะอ่อนแอจากโรคระบาดเลยหนีไม่ได้ ส่วนตัวที่สองผลการตรวจยังไม่ยืนยันออกมา”
เฝ้าระวัง 5 พื้นที่เป็นพิเศษ
คุณหมอล็อตบอกว่า ได้ลงพื้นที่เฝ้าระวังโรคระบาดนี้มาก่อนหน้านานแล้ว ก่อนจะพบกระทิงตัวแรกที่ตายเสียอีก
“ผมลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน เข้าไปสำรวจ ไปดูรอยโรค ไปดูความผิดปกติ ไปวางมาตรการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษในการเกิดโรคลัมปี สกินในสัตว์ป่า 5 พื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขาแผงม้า ดงพญาเย็น และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนย
เพราะใน 5 พื้นที่นี้มีกระทิง, วัวแดง, ควายป่า ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็เป็นพื้นที่เฝ้าระวังด้วยเช่นกัน ตอนนี้กรมอุทยานฯเฝ้าระวังอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ มีสุ่มตัวอย่างมาตรวจด้วย ที่เขตพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า จะมีกระทิงออกนอกพื้นที่
เราก็สำรวจโรคเชิงรุกด้วยการเก็บตัวอย่างเลือดกระทิงมา 4 ตัว ไปส่งตรวจหาโรคลัมปีสกิน ผลปรากฎว่า เป็นลบ ไม่เป็นโรคลัมปี สกิน ทั้งๆ ที่กระทิงเหล่านี้ออกนอกพื้นที่ไปอยู่ในพื้นที่ปศุสัตว์"
โรคนี้อันตรายแค่ไหน
'ลัมปี สกิน' มีอัตราการตายไม่เกิน 10 % อัตราการป่วยอยู่ที่ 5-45 % ถ้าสัตว์ป่าตัวไหนเป็นก็จะมีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน หรือมีผลกระทบรุนแรง ในระยะฟักตัว 28 วันนั้น
มาตรการป้องกันเฝ้าระวังอันดับแรก หมอล็อต บอกว่า เน้นการป้องกันในสัตว์ที่สามารถควบคุมและเข้าถึงตัวได้ ด้วยการให้วัคซีนกับปศุสัตว์ในพื้นที่รอบๆ เขตอนุรักษ์ที่มีการระบาด เพราะถ้าติดสู่สัตว์ป่าแล้วจะควบคุมยาก
"ยิ่งปศุสัตว์รอบๆ พื้นที่ป่า ได้รับการฉีดมากเท่าไร โอกาสที่แมลงดูดเลือดจะนำโรคไปติดกับสัตว์ป่าก็จะลดน้อยลง ขณะเดียวกัน ปศุสัตว์เองก็ต้องดูแลเรื่องสุขอนามัย ทำความสะอาด พ่นยาป้องกันแมลง กำจัดแมลงในพื้นที่ปศุสัตว์ ไม่ให้มีแหล่งเพาะแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะแพร่เชื้อด้วย"
กรมอุทยานฯ จึงได้จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจ กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ ประสานกับกรมปศุสัตว์จังหวัดเข้าไปร่วมกันทำวัคซีน เฝ้าระวัง ป้องกันแมลงต่างๆ ภายใต้หลักการ ONE HEALTH 'สุขภาพหนึ่งเดียว' ได้แก่ สุขภาพคน, สุขภาพสัตว์, สุขภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งปศุสัตว์ก็คือสุขภาพสัตว์ กรมอุทยานคือสุขภาพสิ่งแวดล้อม หน่วยงานปกครองท้องถิ่นก็คือสุขภาพคน
แผนจัดการต้องทำอย่างไร
หมอล็อตบอกว่า เป็นการทำงานเชิงบูรณาการทุกภาคส่วนไว้ด้วยกัน
“เราจัดชุดคาราวาน ประกอบไปด้วย กรมปศุสัตว์, อุทยานฯ และหน่วยงานปกครอง ไปให้ความรู้และบริการกับประชาชนเลย นี่คือการควบคุมนอกป่า ลงพื้นที่ตามแนวขอบป่าที่มีเกษตรกรเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ให้คำแนะนำ ประชาสัมพันธ์ และสำรวจเกษตรกรรายย่อย จนได้ฐานข้อมูลปศุสัตว์ที่ตกหล่นเพิ่มมากขึ้น เพราะเกษตรกรรายเล็กบางรายมีวัวควายเป็นโรคลัมปีสกินก็ยังไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร คิดว่าโดนผึ้งหรือแตนต่อย
ส่วนการควบคุมในป่า เราได้จัดทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในพื้นที่อนุรักษ์ DNP : Department of National Parks, Wildlife and Plant Conservation ด้วยระบบ Bio security System เพื่อป้องกัน กำจัด และจำกัดการแพร่ระบาดโรคติดต่อจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในป่าอนุรักษ์ และป้องกันโลกจากป่าอนุรักษ์ออกมาสู่ภายนอก
ด้วยการทำ ‘บ่อน้ำยาฆ่าเชื้อ’ ทางเข้าพื้นที่อนุรักษ์ เพราะล้อรถยนต์อาจมีเชื้อโรคติดมา รถทุกคันต้องผ่านบ่อนี้ เราได้เพิ่มเติมการพ่น ‘น้ำส้มควันไม้’ ไล่แมลงตามซอกล้อรถ ใต้ท้องรถ ซอกกะบะด้วย เพราะเราจะไม่ไปพ่นน้ำยาฆ่าแมลงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เนื่องจาก
1) ไม่ได้ผล แมลงบินหนีไปได้ทั่ว แล้วแมลงก็มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ 2)สารเคมีที่ใช้อาจตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ เราจะใช้ยาฆ่าแมลงฉีดนอกพื้นที่ป่าเท่านั้น ส่วนในป่าเราใช้น้ำส้มควันไม้"
ข้อมูลคือ สิ่งสำคัญ
การทำงานครั้งนี้ อาศัยข้อมูลจากหน่วยลาดตระเวนเป็นหลัก เนื่องจากเป็นผู้เข้าไปสัมผัสในพื้นที่ป่าโดยตรง หมอล็อตชี้แจงว่าโรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในสัตว์ในประเทศไทย ตอนนี้เรามีเจ้าหน้าที่อุทยานติดตามฝูงกระทิง ฝูงวัวแดง ฝูงควายป่าอย่างใกล้ชิดเพื่อสังเกตรอยโรค สังเกตความผิดปกติ เราได้ข้อมูลจาก Smart Patrol 'ชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพ' ที่เดินลาดตระเวนทั่วไปในป่า เมื่อพบสัตว์ป่าที่ป่วย ที่เสียชีวิต สัตว์ป่าที่มีรอยโรค ก็บันทึกไว้
"ข้อมูลเหล่านี้เราสามารถเอามาวิเคราะห์เป็นไทม์ไลน์ได้ตั้งแต่มีนาคมถึงกรกฎาคม สืบค้นย้อนหลังดูได้ว่ามีการตายของสัตว์ป่าจำนวนมากหรือไม่ เพื่อประเมินความเสี่ยงช่วยสอบสวนสืบสวนโรคได้ด้วย ตอนนี้ทุกพื้นที่มีการเฝ้าติดตามทั้งภาพนิ่งและภาพวิดีโอ เพื่อสำรวจสัตว์ป่าว่ามีรอยโรคหรือไม่
ลักษณะของรอยโรคก็คือ มีตุ่มขนาด 2-5 ซม. ขึ้นทั่วร่างกาย มีตาอักเสบ น้ำตาไหล ขากะเผลก ตุ่มแตกออกมาเป็นสะเก็ดแผล เป็นแผลติดเชื้อมีหนอนมีแมลงวัน นี่คืออาการที่บ่งบอกว่าเป็น ‘สัตว์ป่วยสงสัย’ ซึ่งถ้ารอยโรคเหล่านี้ขยายกว้างมากขึ้น เราจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการ ซึ่งถ้าผลออกมาว่าเป็นลัมปี สกิน ถึงจะยืนยันได้ว่าเป็นสัตว์ป่วย"
ตอนนี้หลายๆ พื้นที่ยังไม่มีรอยโรคที่น่าสงสัย ไม่มีรอยโรคเพิ่มเติม ไม่พบการตาย หรือการเสียชีวิตของสัตว์จำนวนมาก หมอล็อตมีตัวช่วยสำคัญในการเก็บข้อมูลมาประเมินวินิจฉัยโรคคือ ‘ช่างภาพอาสาถ่ายภาพสัตว์ป่า’ เขามีซูมระยะไกลสามารถโฟกัสจุดที่เป็นรอยโรคที่น่าสงสัยส่งมาให้หมอวิเคราะห์ประเมินความรุนแรงของรอยโรคได้จำนวนมาก เป็นฐานข้อมูลที่ดีมากๆ
ทำไมสัตว์ป่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าปศุสัตว์
หมอล็อตบอกว่า สัตว์ป่าติดโรคระบาดลัมปี สกิน น้อยกว่าปศุสัตว์ เพราะมีปัจจัย 10 อย่าง ดังนี้
1)ห่วงโซ่ป้องกัน กระทิงทุกฝูง แทบทุกตัว มีนกเอี้ยง, นกกระยาง คอยจิกกินแมลงต่างๆ ที่เกาะตามตัวกระทิง
2)กระทิงอยู่ในทุ่งหญ้า ที่โล่ง โอกาสได้รับเชื้อจากแมลงที่มากัดจะน้อยกว่าสัตว์ที่อยู่ในคอกที่โดนกัดซ้ำๆ
3)กายวิภาคป้องกัน สัตว์กีบพวกวัว ควาย กระทิง วัวแดง จะมีกล้ามเนื้อสั่นกระตุก cutaneous trunci เวลาแมลงมาเกาะ เพื่อไล่แมลง
4)โป่ง เป็นแหล่งอาหารเสริมของสัตว์กิน มีเกลือแร่ แร่ธาตุมากมาย ใช้ไล่แมลงและพยาธิ รักษาบาดแผลได้
5) ในป่ามีสปาบำบัด ปลัก แหล่งน้ำ สัตว์ลงไปคลุกดินโคลนพอกตัว กันแมลง สร้างความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง หนีแมลงนำโรคได้
6)กระทิง วัวแดง ควายป่า อยู่ในธรรมชาติ กว้างขวาง ปลอดภัย ไม่มีความเครียด ทำให้ภูมิคุ้มกันดีกว่าสัตว์ที่ถูกขัง
7)มีพืชบางชนิด ให้สัตว์ที่ป่วยหรือบาดเจ็บไปกิน เป็นสมุนไพรรักษาตัวเอง
8)อยู่กันเป็นฝูง ครอบครัวอบอุ่น เอาตัวมาเบียดถูกัน ป้องกันแมลงให้กัน
9)ห้องน้ำกว้างใหญ่ ลดการหมักหมมของมูลและฉี่
10)กระทิงมี Wax น้ำมันสีดำ เคลือบผิวหนัง ลดการเสียดสี การเกิดบาดแผล แมลงมาเกาะก็ลื่น
โลกกำลังเอาคืนมนุษย์ที่ทำลายธรรมชาติ
ภาวะโลกร้อน กำลังส่งผลกระทบต่อทุกคนในหลายประเทศที่ประสบกับภัยพิบัติต่างๆ หมอล็อตบอกว่า จากนี้ไปเราทุกคนต้องเตรียมพร้อมตั้งรับล่วงหน้า
“ถ้าวันไหนมีสัตว์ป่าตัวใดมีรอยโรคเพิ่มขึ้น เรามีชุดพร้อมสแตนบายรออยู่ เรามีหน่วยงานหลายๆ หน่วย มาเฝ้าระวังร่วมกัน เราไม่ประมาท เราคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าหลายๆ แบบว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้เราจะดำเนินการอย่างไร มีการจัดตั้งวอร์รูม มีหมอในพื้นที่ี มีหมอจากส่วนกลาง คอยประสาน
ขณะนี้ได้มีการฉีดวัคซีนในปศุสัตว์ให้ครอบคลุม วัคซีนในปัจจุบันไม่ได้มีรูปแบบที่ใช้ฉีดอย่างเดียว ในต่างประเทศมีการทำวัคซีนพิษสุนัขบ้าแบบโปรยในอากาศ ตกลงมาให้สัตว์กินก็ได้รับวัคซีน นี่คือนวัตกรรมใหม่"
โรคระบาดคือสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบจากโลกร้อน Climate Change ทำให้เชื้อโรคมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง มีโรคอุบัติใหม่ในคนและสัตว์ ต่อจากนี้ไป การเฝ้าระวังรับมือกับการระบาด เป็นสิ่งที่คนทั้งโลกจะต้องเตรียมพร้อม
มนุษย์โลกกำลังเผชิญกับสิ่งที่ธรรมชาติตอบโต้ ในสองรูปแบบคือ
1) ภัยธรรมชาติ
2)โรคติดต่อ โรคอุบัติใหม่ ซึ่งบางทีก็มาพร้อมๆ กัน
นอกจากนี้หมอล็อต บอกว่า ในส่วนของกรมอุทยานเอง เราทำงานเชิงรุก เตรียมความพร้อมมา 20 ปีแล้ว เราไม่ประมาท เราไม่ไปวิ่งตาม แต่จะกระโดดข้ามหัวไปดักมันอยู่ข้างหน้า
"เราทำความรู้จักกับมันให้มาก สำรวจและเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าสู่คน เพื่อการอยู่รอดของมนุษยชาติ”