บทเรียนบล็อกเกอร์ ปั้น คอนเทนท์ จนเกิดดราม่า

บทเรียนบล็อกเกอร์ ปั้น คอนเทนท์ จนเกิดดราม่า

เบื้องหลังยอดวิวของการผลิตคอนเทนท์ออนไลน์ ซึ่งบางทีก็ทำให้ บล็อกเกอร์ หรือผู้ผลิตรายการ (บางส่วน) ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่รู้ตัว จนเป็นที่มาของคำว่า "Human Zoo" (สวนสัตว์มนุษย์)   

หลังจากกรณีบล็อกเกอร์สาวชาวไทย ที่เดินทางไปทำรายการท่องเที่ยวในประเทศ อัฟกานิสถาน ณ เวลานี้ ที่หลายๆ ประเทศไม่แนะนำให้เดินทางไป เนื่องจากมีการต่อสู้ระหว่างกองกำลังภาครัฐกับกลุ่มตาลีบัน หลังกองกำลังนานาชาติถอนทหารออกไปเพื่อยุติปฏิบัติการในอัฟกานิสถานที่ดำเนินมานานกว่า 20 ปี

จนก่อให้เกิดคำถามและความคิดเห็นมากมาย อาทิ เป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ คอนเทนท์ที่ได้กับความเสี่ยงมันคุ้มไหม, กล้าแบบไร้สาระมาก, สถานการณ์ในอัฟกานิสถานน่ากลัวเกินกว่าที่จะเดินทางเพื่อค้นหาความหมายของชีวิตในช่วงนี้, มันไม่ใช่ทุ่งลาเวนเดอร์ที่ให้มาเดินเล่นถ่ายคลิป ถ่ายเซลฟี่, เขาไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน, สิทธิส่วนบุคคลที่จะเดินทาง เสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น, อาชีพนักสร้างคอนเทนท์, ได้กระแส ได้เงิน ฯลฯ

 

มุมมองหนึ่งที่น่าสนใจคือ A LITTLES STORY TELLER กล่าวใน Blockdit เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ว่า

บล็อกเกอร์สาวมองผู้คนในพื้นที่ที่ลำบากเป็น Human Zoo เพราะประเทศที่ลำบาก มีปัญหาสงคราม ผู้คนอยู่กินอย่างแร้นแค้น 

ถ้าการเข้าไปไม่ได้สื่อสารเพื่อการพัฒนา (Communication for development) หรือไม่ได้เข้าไปเพิ่มคุณค่า คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คน (Add value)

หรือพูดง่ายๆ เธอไม่ได้เข้าไปสร้างประโยชน์ใดๆให้ชีวิตใครเลย แต่เข้าไปเพื่อสร้างคอนเทนท์ตัวเองเท่านั้น มันก็เหมือนกับการเดินเข้าสวนสัตว์แล้วก็เดินออกมานั่นแหละค่ะ...”

162788320958 Cr.กาญจนา หงษ์ทอง

Human Zoo คืออะไร

คำว่า Human Zoo เป็นคำที่คนมากมาย เข้าใจและตีความแตกต่างกันไป

Human Zoo คือ สวนสัตว์มนุษย์ เป็นการจัดงานแสดงชนเผ่าพื้นเมืองและวัฒนธรรม ให้ชาวยุโรปได้ชม ในศตวรรษที่ 19-20 เรียกว่า นิทรรศการทางชาติพันธุ์ ครั้งแรกจัดขึ้นในเม็กซิโก มีทั้งสัตว์และมนุษย์ 

ช่วงปีค.ศ.1870 มีการจัดสวนสัตว์มนุษย์ควบคู่กับการจัด World Fair นำชนเผ่าพื้นเมืองจากที่ต่างๆ มาแสดง พร้อมข้าวของเครื่องใช้ จนโลกเข้าสู่ยุคใหม่ มนุษย์เริ่มคิดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และต่อต้านการเหยียดผิว ทำให้สวนสัตว์มนุษย์กลายเป็นสิ่งต้องห้ามและได้รับการต่อต้านจากทั่วโลก 

แต่ในปัจจุบัน คำๆ นี้ถูกนำมาใช้ในแง่ลบ คือ การมองคนที่แตกต่างจากตัวเองเป็นสิ่งอื่น มีสถานะต่ำกว่าตัวเอง

บทความที่น่าสนใจ :

การตลาดที่บิดเบี้ยว ?

กาญจนา หงษ์ทอง นักเดินทางที่เดินมาเกือบรอบโลก และพิธีกรรายการท่องเที่ยวหลายรายการ มองว่า ยอดวิวที่สูงขึ้นนำมาซึ่งรายได้ ทำให้เกิดการแข่งขันสูงมาก 

ทุกวันนี้คนมีความสุขอยู่ได้ด้วยยอดไลค์ ยอดคนติดตาม ยอดคนเข้าถึง จึงแข่งขันกันในออนไลน์ เพื่อให้ตัวเองมียอดสูงขึ้น เห็นใครทำอะไร ก็ต้องทำ เช่น คนไทยไปฉีดวัคซีนที่อเมริกา ถ้าเป็นยูทูบเบอร์ก็ต้องไป 

ขณะที่มียูทูบเบอร์หน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน คนเก่าก็ต้องทำตัวเองให้เจ๋ง ต้องนำคนอื่น หรือไปในที่ๆ อันตราย ถ้ารอดกลับมาเราเจ๋ง แล้วจะมีสปอนเซอร์ตามมา ทำให้มาร์เก็ตติ้งบิดเบี้ยวไป

โลกโซเชียลมีเดีย ทำให้คนเผอเรอ และซุ่มซ่ามมากขึ้น คนส่วนมากทำแล้วไม่คิดถึง ไม่ให้เกียรติคนอื่น ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น เป็นความซุ่มซ่ามในเรื่องสิทธิมนุษยชน บางคนไม่ได้เจตนา คิดว่าจะต้องถ่ายมือชนเผ่าเหี่ยวๆ โดยพื้นฐานจิตใจไม่ได้เจตนาร้ายอะไร คิดแต่เรื่องคอนเทนท์มันต้องมา เราเข้าใจนะ ก่อนถ่ายทำ เราอาจจะขอต่อหน้า ขอถ่ายรูปได้ไหมคะ ขออัดวิดีโอได้ไหมคะ

หรืออย่างบางคนไปฉีดวัคซีน แล้วถ่ายภาพมาโพสต์ ติดคนรอบข้างมาด้วย นั่นคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แล้วโพสต์ลงไปในโซเชียล เขาก็ไม่ได้ยินยอมด้วย เขาอาจจะมาเห็นทีหลัง หรือเพื่อนหรือญาติเขามาเห็นทีหลัง บางคนโอเค, บางคนก็ไม่โอเค, นี่เป็นเรื่องพลั้งเผลอ

162788329180 Cr.กาญจนา หงษ์ทอง

สิทธิส่วนบุคคล เป็นเรื่องสำคัญ

กาญจนาแนะนำว่า คนทำรายการทุกคน ไม่ว่ายูทูบเบอร์ หรือบล็อกเกอร์ ควรระมัดระวังเรื่องสิทธิส่วนบุคคลให้มาก

คนทำคอนเทนท์รายการ ไม่ว่าจะเป็นรายการอะไร หรือไม่ใช่รายการท่องเที่ยว จะเป็นรายการสั้น 10 นาที 15 นาที หรือแค่เอามาโพสต์ลง Instagram หรือเฟซบุ๊ค หรือติ๊กต๊อกสั้นๆ ก็ซุ่มซ่ามไม่ได้ ต้องระวัง ถ้ามันต้องไปเกี่ยวกับคนอื่น หรือถ้าเราถูกเชิญให้ไปถ่ายรายการที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ถือว่าเรามีเจ้าบ้าน มี Host ให้ไปถ่ายโรงงานช็อกโกแลต ถ่ายป้าคนนี้ทำขนม เราอยู่ภายใต้การเชิญ แต่พอเราเห็นอะไรเจ๋งๆ แล้วเราแอบถ่าย หรือว่าขอเขาตรงนั้นแล้ว แต่เมื่อกระบวนการผลิตและตัดต่อจบออกมาแล้วมันเป็นยังไง เขาไม่ได้เห็นหรอก บางคนอาจจะไม่โอเค.ก็ได้

กฎที่ต่างกันของแต่ละประเทศ

นอกจากนี้ แต่ละประเทศก็มีความแตกต่าง มีข้อห้ามที่ต่างกันออกไปอีก โดยเฉพาะเรื่องของเพศหญิงเพศชาย กาญจนา เล่าต่อว่าการทำรายการท่องเที่ยวในต่างประเทศ มีข้อห้ามที่ต้องปฏิบัติตาม ที่แตกต่างกันไป บางประเทศ บางสถานที่ 

"ยกตัวอย่าง วัดมหามัยมุนี ประเทศพม่า ต้องตื่นไปล้างหน้าตอนตี 4 เขาให้แต่ผู้ชายขึ้น ผู้หญิงไม่มีสิทธิขึ้น หรือประเทศมุสลิม ผู้ชายเข้าได้ ผู้หญิงไม่ได้ หรือบางประเทศ เช่น โมร็อกโก ไม่เคร่งเลย แต่คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามห้ามเข้า

ถ้าเราทำงานมาระดับหนึ่งก็เหมือนเราสอบผ่านชั้นอนุบาล ประถม มัธยม จนจบมหาวิทยาลัย พอไปประเทศยากๆ ก็เหมือนจบปริญญาเอก ในโลกของการเดินทาง เราไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ เรียนรู้ชั้นเชิงมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องการดูแลตัวเอง รู้ว่าถ้าไปประเทศอย่างนี้ต้องทำตัวยังไง ประสบการณ์มันจะบอกเราเอง

แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีข้อผิดพลาด ทุกครั้งของการเดินทาง มีเรื่องให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะนี่คือเสน่ห์ของการเดินทาง มันมีเรื่องที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ รออยู่ที่ปลายทาง ต่อให้เรียนระดับไหน ก็มีเรื่องให้เรียนรู้ มีเรื่องให้แก้ปัญหาไม่รู้จบ”

 เนื้อหาคือสิ่งสำคัญ

กาญจนาบอกว่า ในโลกเราตอนนี้มีสื่อหลากหลายมาก ไม่มีสื่อใดทำได้ดีกว่าสื่อใด อยู่ที่ผู้ผลิตรายการนั้นๆ มากกว่า

จะพูดว่าทีวีฉาบฉวย สื่อโซเชียลไม่ฉาบฉวยไม่ได้ เพราะรายการในยูทูบเบอร์บางอัน ทำเข้มข้นกว่ารายการทีวีอีก หรือรายการทีวีบางรายการ พิธีกรก็ไม่ได้ทำการบ้านอะไรเลย ขณะที่ในสื่อโซเชียลพิธีกรทำการบ้านเข้มข้นมากกว่า อย่างบางคนทำคอนเทนท์คุณภาพไม่ได้แต่อยู่ในทีวีก็เยอะแยะ

บางคนมีรายการทีวี แต่เนื้อหาเบาบาง แทบไม่มีสาระอะไรเลย เดินไปกินโน่น กินนี่ เที่ยวโน่น เที่ยวนี่ แทบไม่ได้รู้เรื่องราว หรือได้เรียนรู้อะไรจากครึ่งชั่วโมงนั้นเลย ก็มีเหมือนกัน พอแลนด์สเคปมันเปลี่ยน คนก็ไม่อยากทำทีวีแล้ว หาสปอนเซอร์ยากก็ไปทำในยูทูบ มันจึงไม่มีอะไรมากกว่าอะไร”

162788353672 Cr.กาญจนา หงษ์ทอง

แบบไหนเรียกว่า ‘Human Zoo’

นอกจากการเป็นผู้ผลิตเนื้อหารายการที่ดีแล้ว กาญจนาบอกว่าจะต้องมี ความรับผิดชอบด้วย

ความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ให้เกียรติคนอื่น ไม่ควรเอาชีวิตที่น่าสงสารของคนอื่นมาดันยอดวิวของตัวเอง ชีวิตของเขา ที่เราเข้าไปเห็นแค่ 3-4 วัน แล้วเอามาบอก โอโห ประเทศนี้ ตอนนี้ดีขึ้นแล้วค่ะ ดูหน้าผู้คนสิคะที่ไหนได้ เขาผจญกับสงครามมาไม่รู้กี่สิบปี เหมือนตัดสินเขา แล้วไม่ได้รู้เลยว่ามุมที่ตัวเองใส่เข้าไป มันใช่ ไม่ใช่ มีผลกระทบอะไรกับผู้คน และคนติดตามเราอีกมากมาย ซึ่งคนที่ติดตามคนฉาบฉวย ก็มักเป็นคนฉาบฉวย เพราะเขามีรสนิยมเหมือนกัน

ความสำคัญจึงอยู่ที่ ความรับผิดชอบของเรา ไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมหรอก รับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ เช่นเดียวกับทุกความสัมพันธ์ของความเป็นมนุษย์ 

เราต้องไม่ซุ่มซ่ามในความสัมพันธ์ของการเป็นแฟนกัน การไปเที่ยวกับเพื่อน หรือไปถ่ายรายการ ไปทำคอนเทนท์ ก็ไม่ต้องเอาความเจ็บปวด ความน่าสงสารของคนอื่นมาทำคอนเทนท์ให้ตัวเอง เพื่อจะได้ยอดวิว เพราะถ้าทำแบบนี้ มันก็คือ Human Zoo นั่นเอง"       

162788336324 Cr. กาญจนา หงษ์ทอง

กาญจนาเอง แม้จะเดินทางมาเกือบรอบโลก 139 ประเทศ ก็ยังกลับมาถามตัวเองว่า 

"เราเคยซุ่มซ่ามเรื่องอะไรพวกนี้บ้างหรือเปล่า ไล่ย้อนไปหมดเลย ตอนเดินทางไปซีเรีย ตอนนั้นยังไม่มีสงคราม หรือตอนที่ไปอิสราเอล เพราะอยากเห็นคนที่มีความต่างทางศาสนา 3 ศาสนา เขารบกันจะเป็นจะตาย แต่ทำไมเขาอยู่ร่วมกันได้

อินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลาย ลองย้อนกลับไปดูตัวเองว่า มีแบบนี้ไหม ถ้ามีให้รู้ตัวเอง ทุกคนต้องเคยสะดุดขาตัวเองกันทั้งนั้น มันคือเรื่องผิดพลาด อย่าให้มีเกิดขึ้นอีก ที่เอาความเจ็บปวด ความน่าเวทนา มาทำคอนเทนท์ 

บางเรื่องไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ตรง เราเรียนรู้ความผิดพลาดจากคนอื่นได้ แล้วเอามาใช้กับตัวเอง ทุกวันนี้ดราม่าเกิดขึ้นง่าย มีเรื่องดราม่าได้ทุกวัน ชั่วข้ามคืน พอวันรุ่งขึ้นก็มีดราม่าใหม่แล้ว"