'Antigen Test Kit' ตรวจพบ ติดเชื้อ เข้าระบบการรักษาอย่างไร

 'Antigen Test Kit' ตรวจพบ ติดเชื้อ เข้าระบบการรักษาอย่างไร

แม้จะมีการให้ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจ 'แอนติเจน' หรือ 'Antigen Test Kit' มาตรวจเองที่บ้าน แต่ก็ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อแตกต่างระหว่าง แอนติบอดี และ แอนติเจน รวมถึง ผลตรวจที่เป็นได้ทั้งบวกปลอม ลบปลอม และการเข้าระบบการรักษาเมื่อพบเชื้อ

วันนี้ (2 ส.ค.64) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในการแถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ถึงนโยบายและแนวทางการใช้ชุดตรวจแอนติเจน (Antigen Test Kit) ว่า ขณะนี้ ชุดตรวจอย่างง่ายในตลาดมี 2 ประเภท คือ "แอนติเจน" และ "แอนติบอดี" หรือตรวจภูมิคุ้มกัน หน้าตาคล้ายกัน

"ที่ให้ใช้ตรวจด้วยตัวเอง คือ แอนติเจน ใช้สารคัดหลังในการตรวจ ส่วนใหญ่จะมาจากโพรงจมูก ในชุดตรวจที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนชุดตรวจที่สามารถใช้ได้เองเรียกว่า Self Test หรือ Home Use มีทั้งหมด 19 ยี่ห้อ (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ส.ค. 64) แบ่งเป็น 17 ยี่ห้อ ตรวจตัวอย่างจากจมูก 1 ยี่ห้อ ที่ตรวจได้ทั้งจมูกและน้ำลาย และ 1 ยี่ห้อ ที่ตรวจด้วยน้ำลาย 

"เวลาเลือกซื้อ ต้องเลือกแบบที่เก็บจากโพรงจมูกหรือน้ำลายเท่านั้น อย่าเลือกซื้อที่เก็บตัวอย่างหลังโพรงจมูก เพราะใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการดำเนินการ"

162790865055

โดยหลัก 19 ยี่ห้อ หน้าตาจะคล้ายกัน คือ มีตลับตรวจ ไม้พันสำลี และน้ำยาใช้ในการเทส หลักการง่ายๆ ซึ่งมีวิธีสอนสามารถเข้าไปในเว็บไซต์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงวิดีโอ ที่สามารถเรียนรู้ได้ง่าย วิธีการ ดังนี้   

  • หากเก็บจากจมูกก็ให้แหย่จมูกทั้งสองข้าง ให้ถึงผนังจมูก
  • หมุนวนเพื่อให้ได้สารคัดหลั่งพอสมควรติดสำลี
  • เอามาจุ่มในหลอดที่มีน้ำยา
  • หมุนวนเพื่อให้สารคัดหลังผสมน้ำยา
  • ปิดจุกและหยอดในตลับที่วางบนพื้นที่สะอาด 
  • รอดูผล 15-30 นาที 

  • ตรวจเจอผลลบ ทำอย่างไร

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อไปว่า ในกรณีที่ทำเอง และผลเป็นลบ ซึ่งแปลได้สองกรณี คือ ไม่ติดเชื้อ และ อาจจะเกิดผลลบลวง คือ ติดเชื้อแต่เชื้อจำนวนน้อย เทสไม่ไวพอที่ทำให้ผลเป็นบวก วิธีคือ ต้องเคร่งครัดในการกักตัวในกรณีเสี่ยงสูง อย่าสรุปว่าไม่ติดเชื้อและไปแพร่เชื้อ และอีก 2-3 วันอาจจะตรวจซ้ำได้อีก หากเชื้อมากขึ้นอาจตรวจเจอในภายหลัง ทั้งนี้ การตรวจ Antigen Test Kit ควรตรวจหลังคาดว่าจนสัมผัสกลุ่มเสี่ยง 5 วัน ก่อนหน้านั้นอาจจะต้องกักตัวอย่างเคร่งครัด หากตรวจเร็วเกินไป ตรวจได้แต่โอกาสเจอมีไม่มาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • หากตรวจเจอผลบวก

หากผลเป็นบวก แปลว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่จะมีจำนวนเล็กน้อยที่เป็นบวก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ติดเชื้อ เกิดขึ้นได้จากข้อจำกัดของเทส เช่น การปนเปื้อน หรือไวรัสตัวอื่น ที่เทสแยกไม่ออก อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผลเป็นบวก ขอให้แจ้งศูนย์บริการ คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือ รพ. เอาผลที่ว่าไปให้ดู จะมีการประเมินสีเขียว เหลือง แดง ในการดำเนินการ หรือมีการตรวจยืนยัน RT-PCR ซ้ำ หรือไม่อย่างไร 

  • ปัจจัยที่ทำให้เกิดบวกปลอม ลบปลอม

162789546097

  • อภ.ขายไม่เกิน 200 บาท

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อไปว่า ชุดตรวจเป็นเครื่องมือแพทย์ ไม่อนุญาตให้ขายออนไลน์ ขายตามตลาดนัด หรือร้านสะดวกซื้อ ต้องซื้อในร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ เพราะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ ที่มาที่ไป และมีคำอธิบายเพื่อให้เข้าใจว่า การตรวจมีผลอย่างไร ขณะนี้ มีการลักลอบขายตามออนไลน์ ราคาค่อนข้างสูง เหมือนหน้ากากอนามัยในช่วงแรก หากราคาสูงเกินไปขอความกรุณาอย่าเพิ่งซื้อเพราะตอนนี้มี 19 ยี่ห้อแล้ว และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ราคาจะถูกลง ขณะเดียวกัน องค์การเภสัชกรรม ได้นำมาจำหน่ายไม่เกิน 200 บาท ต่อชุด ซื้อได้ไม่เกิน 3 ชุดต่อคน ตามร้านขององค์การเภสัชกรรมทั่วไป

ความไวของการตรวจโดยจมูกและน้ำลาย ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน เพียงแค่ตรวจจากน้ำลาย เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้น  เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่น้องประชาชนสะดวกมากขึ้น แต่หากเทียบกันจริงๆ การตรวจจากจมูกจะมีประสิทธิภาพดีกว่าเล็กน้อย 

“การใช้เครื่องมือ ATK ดังกล่าว ราคาถูกและหาได้ง่าย รู้ผลเร็ว 15 นาที เป็นเครื่องมือที่สามารถเลือกใช้ในการคัดกรองเบื้องต้นได้ ที่ผ่านมา ทางสภาอุตสาหกรรม ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดอบรมออนไลน์ มีคนสนใจเข้ามาฟังการอบรมมากกว่า 1000 ราย และอาจจะมีรุ่นที่ 2- 3 ต่อไป หากสถานประกอบการมีความสนใจ สามารถประสานได้ รวมถึงการทำบับเบิ้ลแอนด์ซีล ที่ถูกวิธีว่ามีรายละเอียดอย่างไร” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว 

 

  • ตรวจพบเชื้อ จะเข้ารักษาอย่างไร

สถานการณ์วันนี้ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นทั่วประเทศไทย ประชาชนยังมีความต้องการเข้าสู่ระบบการรักษา หลายคนเกิดคำถามว่า จะนำตัวเองเข้าสู่ระบบการบริการสาธารณสุขได้อย่างไร "นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์" กล่าวว่า เริ่มแรก หากไม่มีอาการหรือมีอาการสงสัย สามารถตรวจได้ทุก รพ. ทั้งภาครัฐ เอกชน ในพื้นที่ กทม. มี รพ. อย่างน้อย 132 แห่ง และหากตรวจแล้วไม่ว่าจะ ATK หรือ RT-PCR สามารถที่จะสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ ประชาชนทุกคนที่มาถึง รพ.และมีผลการติดเชื้อเป็นบวก เราจะจัดบริการ ดังนี้ 

กรณีตรวจที่ รพ. 

  • ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย แยกกักได้ ให้ Home Isolation ขั้นตอนคือ ลงทะเบียน , กล่องอุปกรณ์ในการดูแลตัวเอง ประกอบด้วย เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เทอร์มอมิเตอร์วัดอุณหภูมิ ช่องทางติดต่อดูแลรักษาทางไกล ยาจำเป็น หากต้องใช้ฟาวิพิราเวียร์จะต้องได้รับในวันนั้น และติดตาม 14 วัน โดยขณะนี้มีหน่วยงานที่ดูแล 226 แห่ง มีประชาชนในระบบ Home Isolation เต็มรูปแบบกว่า 6 หมื่นราย และตั้งเป้าว่าสามารถดูแลในระบบนี้ได้กว่า 1 แสนราย

  • สำหรับคนไม่สามารถแยกกักที่บ้านได้ จะมีระบบส่งต่อ Community Isolation หรือ ในกทม. เรียกว่า ศูนย์พักคอย ณ วันนี้ เป้าหมายเปิดให้ได้มากกว่า 68 แห่ง สามารถนอนได้กว่า 10,000 เตียง ขณะนี้มีอยู่ 46 แห่ง จำนวน 5,295 เตียง มีผู้ป่วย 4,000 กว่าราย และมีศูนย์พักคอยที่ดำเนินการโดยภาคประชาสังคมอีกกว่า 100 แห่ง โดยจะให้กลุ่มดังกล่าว มาลงทะเบียนกับเขตกทม. เพื่อให้ทางราชการสนับสนุนบางอย่าง เช่น ระบบสุขาภิบาล การกำจัดขยะติดเชื้อ อาหารและยา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์พักคอย กทม.อย่างเดียว

  • ผู้ป่วยอาการมากหนัก สามารถเข้าสู่ระบบ รพ.ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการเหลือง แดง สามารถเข้าระบบได้ ตอนนี้มี รพ.สนาม 14 แห่ง 7,000 กว่าเตียง ฮอสพิเทล 121 แห่ง 35,000 เตียง แต่ต้องดูตามอาการของแต่ละคน รวมถึง รพ.หลักไอซียู เตียงระดับแดง มีทั้งหมด 4,000 เตียงรวมทั้งภาคเอกชนด้วย ดังนั้น ทุกคนที่ไปตรวจที่รพ. ไม่ใช่เพียงแค่ได้ผลแล็บกลับไป แต่ยังได้บริการเหล่านี้

162790304589

ตรวจเชิงรุก

สำหรับกรณีอยู่บ้าน มีหน่วยเชิงรุก CCRT ที่มีทั้งหมด 226 ทีม เดินเท้า สามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้น สอบสวนโรค ให้ยา ฉีดวัคซีน เบ็ดเสร็จในตัว พี่น้องประชาชนไม่ต้องไป รพ. สามารถเข้าสู่ Home Isolation ได้ทันที หรือส่งต่อในขั้นตอนต่อไป

เข้าระบบด้วยตนเอง

สำหรับผู้ที่คาดว่าน่าจะติดเชื้อ จากการตรวจ ATK และ ยืนยันติดเชื้อ PCR สามารถนำตนเองเข้าระบบบริการที่เหมาะสมภาครัฐ และเอกชน ได้ โดยสามารถโทรสายด่วน สปสช. 1330 ไลน์แอด สปสช. @nhso และ ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ สปสช. http://crmsup.nhso.go.th รวมถึง เบอร์โทรทั้ง 50 สำนักงานเขต เขตละกว่า 20 คู่สาย และในกรณีอาการหนักเร่งด่วนฉุกเฉิน โทร 1669 

  • เปลี่ยนระบบส่วนกลาง 1330 เบอร์เดียว

“ยืนยันว่าผู้ป่วยที่เป็นผลบวก จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยรายใดที่จำเป็นต้องได้รับยาจะต้องได้รับ ยืนยันว่ายาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอ ขณะที่ยาอย่างอื่น เช่น ฟ้าทะลายโจร ก็มีจุดบริการให้ด้วย ขณะที่ พี่น้องประชาชนที่รักษาที่บ้าน เร่งด่วน ฉุกเฉิน สามารถขอความช่วยเหลือ 1669 ได้เพื่อจัดสรรไปยัง รพ.หลัก ทุกคนที่ป่วยด้วยโควิด จะต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม สุดท้าย ด้วยระบบบริการดังกล่าว ผ่านการกลั่นกรองและดำเนินการคู่ขนาน สิ่งสำคัญ คือ เราเปลี่ยนระบบการโทรหาส่วนกลาง 1668 , 1669 และ 1330 เหลือเบอร์เดียว คือ 1330 เบอร์เดียว โดย 1330 เมื่อลงในระบบ สปสช. จะมีการจ่ายรายชื่อในหน่วยบริการ ในวันนั้นจะมีการตอบรับก่อน หากยังไม่สามารถเข้า รพ. หรือ รพ. สนาม หน่วยงานในพื้นที่นั้นๆ จะดูแลเบื้องต้นก่อน" รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว 

  • สปสช. ย้ำลงข้อมูลให้ถูก เพื่อติดต่อกลับ

ด้าน นพ.สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวเสริมว่า ในส่วนของการเข้าสู่ระบบบริการ สามารถเข้าระบบการรักษาได้ แต่หากยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา สามารถติดต่อที่ 1330 กด 14 ขณะที่ เขตกทม. มีเบอร์ทั้ง 50 เขต เพื่อกระจายสาย ให้ประชาชนติดต่อแต่ละเขตได้ โดยรวบรวมข้อมูลเข้าระบบเดียวกับ 1330 เพื่อรวบรวมข้อมูลในการลงทะเบียนผู้ที่ตรวจพบว่ามีผลบวก 

ขณะเดียวกัน อีกช่องทางหนึ่ง คือ ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของ สปสช. สามารถกรอกข้อมูลในการลงทะเบียน เมื่อพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อ จะต้องลงทะเบียนเลขบัตรประชาชนเบอร์โทร และผลตรวจ อยากให้ตรวจสอบข้อมูลด้วยว่าบันทึกถูกต้องหรือไม่ ทั้งเลขบัตรและเบอร์ เพราะเป็นข้อมูลเบื้องต้น เพื่อรวบรวมเข้าสู่ระบบ Home Isolation และจัดสรร จับคู่ หน่วยบริการ ที่อยู่ใกล้ที่พักอาศัยของท่านเป็นหลัก หรือหน่วยบริการใกล้เคียง

162824208916

เมื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation แล้ว ทางหน่วยบริการจะติดต่อกลับไปยังท่าน โดยที่จะโทรไปสอบถามอาการ เพื่อประเมินว่ามีสภาวะการป่วยระดับไหน หากเป็นระดับเขียว จะดูแลในเรื่องของระบบ Home Isolation หากเหลือง แดง ก็จะเข้าสู่การจัดสรรเตียง เมื่อเข้าสู่ระบบลงทะเบียน Home Isolation หน่วยบริการจะดูแลไปจนกว่าจะหาย หรือหากอาการเปลี่ยนแปลง สามารถประสานไปยังหน่วยบริการได้

  • เช็กผลการจับคู่คลินิกรักษาที่บ้าน

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้เลขบัตรประชาชน เช็กว่าตนเองถูกจับคู่กับคลินิกหรือยัง เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารให้กับพี่น้องประชาชน ในส่วนของการบันทึกข้อมูลแล้ว จะมีการตอบ SMS กลับไปว่าได้รับข้อมูลแล้ว และเมื่อมีการจับคู่หน่วยบริการ ก็จะมี SMS อีกครั้งเพื่อแจ้งไปว่าได้รับบริการจากหน่วยบริการใด เพื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation โดยเร็ว

"เน้นย้ำว่า แนวทางการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็น เพราะที่ผ่านมา พบว่า ข้อมูลหลายอย่าง ประชาชนอาจจะให้ข้อมูลไม่ตรงหรือคลาดเคลื่อน ขอความกรุณาในเรื่องของการให้ข้อมูล เช่น บัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ขอให้ตรวจสอบ เพื่อสามารถติดต่อกลับไปได้ ณ วันนี้ มีการเพิ่มคู่สาย 3,000 คู่สาย 1330 โดยมีการรับพนักงานรับโทรศัพท์เข้ามาอีกราว 500 คน เพื่อรองรับประชาชนที่จะติดต่อเข้ามา" ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว